ชาใบหม่อน
ชาใบหม่อน จังหวัดบุรีรัมย์
ประวัติความเป็นมา
ต้นหม่อนเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านในบ้านเกตุเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านตะโก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ และหมู่บ้านใกล้เคียงปลูกเพื่อไว้เลี้ยงไหม ผลิตเส้นไหมไว้สำหรับทอผ้าในการนุ่งห่ม ผู้หญิง สตรี ในอดีตจะทอผ้าไหมเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มกันเอง โดยใช้วัสดุที่มีขึ้นเองในธรรมชาติ และมีการสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหมแก่ลูกหลานสืบทอดกันต่อๆ มา นอกจากนี้ชาวบ้านนิยมทอผ้าไว้ใช้ในงานประเพณีท้องถิ่น เช่น บวชนาค งานแต่งงาน งานกฐิน ผ้าป่า ฯลฯ
จุดเริ่มต้นที่มีการแปรรูปจากใบหม่อนไว้เลี้ยงไหมมาผลิตเป็นใบชาเขียวใบหม่อน จากคำเล่าขานกันมา ในช่วงปี พ.ศ. 2542 ผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายสิทธิ์ สุทธะ ได้ทดลองแปรรูปไว้บริโภคเอง แบบลองผิดลองถูก ต่อมามีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ เกษตรอำเภอ ได้เข้ามาให้คำแนะนำขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้อง จึ่งได้พยายามผลิตใบชาจากใบหม่อนเพื่อจำหน่ายอีกครั้งและเข้าไปอบรมเพิ่มเติมที่สถานีทดลองหม่อนไหมจังหวัดบุรีรัมย์ เรื่องการแปรรูปใบหม่อนให้มีมูลค่าเพิ่ม และได้รวบรวมสมาชิกในหมู่บ้านที่กำลังว่างงานเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ จำนวน 8 ราย ระดมทุนเริ่มต้นคนละ 200 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์และวัสดุต่าง ๆ เนื่องจากสมาชิกมีความอดทนและความพยายามหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ตลอดจนเข้าหาส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านวิชาการงบประมาณ การตลาด การวางแผนบริหารจัดการกลุ่ม ให้แก่สมาชิกอย่างสม่ำเสมอ
จนสามารถเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคและสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกนอกเหนือจากฤดูการทำนาจนสมาชิกเพิ่มขึ้น มีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000-7,000 บาท/คน และสามารถเป็นที่ยอมรับของตลาดจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของชาวบ้านเกตุเหนือ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชาเขียวใบหม่อนโดยเฉพาะเนื่องจากรายได้ดีกว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหม
เอกลักษณ์/ จุดเด่นผลิตภัณฑ์
ชาเขียวใบหม่อน เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภท เครื่องดื่ม มีจุดเด่นที่เป็นภูมิปัญญาคนไทย สามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบในพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วไปมาปรับเป็นผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มมูลค่า มีคุณค่า มีกลิ่นหอม
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. ใบหม่อนพันธ์ บร.69
2. มีดและเขียง
3. หม้อ
4. กะทะ
5. เตาแก็ส
6. ตะแกรง
7. ตู้อบ
8. กาละมัง
ขั้นตอนการผลิต
1. เลือกใบหม่อนประมาณใบที่ 4-5 ห่างจากยอด
2. หั่นใบหม่อนขนาดประมาณ 4 x 0.5 ซม.
3. ลวกน้ำร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 90 องศา นาน 20 นาที
4. นำลงไปแช่น้ำเย็น
5. นำไปคั่วให้แห้ง
6. นำไปอบในตู้อบ อุณหภูมิประมาณ 100 องศา 1 ชั่วโมง
7. บรรจุภัณฑ์ตามต้องการ
เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต
การผลิตชาเขียวใบหม่อนวัตถุดิบหลักที่สำคัญ คือ ใบหม่อนจะต้องใช้ใบหม่อนที่ไม่อ่อนเกินไปและไม่แก่เกินไป หรือประมาณห่างจากยอดใบที่ 4-5 เท่านั้น จึงจะได้ใบชาที่มีคุณภาพ และกลิ่นหอม ปัจจุบันพันธุ์ที่ใช้ผลิตชาเขียวใบหม่อนใช้พันธุ์หม่อน บร 69 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นผู้คิดค้น มีลักษณะใบใหญ่หนามีน้ำหนักมาก ลำต้นแข็งแรงเหมาะกับสภาพดินในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงจะได้ใบหม่อนเมื่อนำไปแปรรูปจะมีกลิ่นหอม สีชาสวยงาม
ใส่ความเห็น
Comments 0