มาลัยดินหอม

มาลัยดินหอม  จังหวัดสุโขทัย

ประวัติความเป็นมา
เมื่อปี 2539 นางเรไร ชาวบ้านตำบลป่ากุมเกาะ ได้เดินทางไปทำงานเกี่ยวกับการประดิษฐ์มาลัยดินหอมมะลิที่กรุงเทพ จนเกิดความชำนาญ ต่อมาจึงได้นำความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวมาเผยแพร่ และเปิดสอนวิธีทำให้แก่ชาวบ้าน ณ สถานีอนามัย มีคนในชุมชนสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และเริ่มผลิตเป็นอุตสาหกรรมภายในหมู่บ้าน ได้รับการตอบรับจำนวนมากจากลูกค้าซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านเองและลูกค้าที่สัญจรไปมา จนผลิตไม่ทัน จึงก่อเกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตสินค้าให้ทันต่อความต้องการของตลาด และต่อมาได้มีการติดต่อรับงานสั่งทำจากกรุงเทพ เป็นบริษัทที่ส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างประเทศ กลุ่มจึงได้มีประสบการณ์ในการพัฒนาการประดิษฐ์อย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ มากมายตามที่ลูกค้าต้องการ

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์

ลักษณะที่โดดเด่นของผลิตภัณฑ์คือ มีความคงทนถาวร สามารถเก็บรักษาได้นานต่างกับมาลัยดอกไม้สด รวมทั้งมีสีสันสดใส เหมือนจริง มีกลิ่นหอมที่ติดทนยาวนาน มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จึงเป็นที่นิยมในการใช้เป็นของประดับตกแต่ง หรือของชำร่วยในงานมงคลต่างๆ คือ งานมงคลสมรส งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และยังเป็นของฝากในเทศกาลต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วย

เป็นการรวมกลุ่มก่อให้เกิดอุดมการณ์กลุ่มคือ สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน สร้างรายได้เสริมให้แก่สมาชิกกลุ่มและครอบครัว ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นและลดปัญหาการว่างงานในชุมชน ทั้งยังเสริมสร้างความชำนาญด้านศิลปกรรม ให้แก่คนในชุมชน รวมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนและประชาชนทั่วไปที่สนใจเรียนรู้การทำมาลัยเพื่อประกอบอาชีพเสริม

วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1.ดินหอม

2.เครื่องรีดดิน

3.แม่พิมพ์

4.สีน้ำมัน

5.น้ำมันมะกอก

6.ตุ้มและด้ายสำเร็จเพื่อร้อยพวงมาลัย

ขั้นตอนการผลิต
1.นำดินมาผสมสีน้ำมัน

2.นำดินที่ผสมสีเสร็จแล้วมารีดด้วยเครื่องรีดดิน

3.ปั้นเป็นดอกไม้ต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของมาลัย เช่น ดอกมะลิ ดอกรัก และดอกกุหลาบ เป็นต้น

4.ประกอบตัวมาลัยโดยการร้อยเป็นพวงให้สวยงามด้วยความประณีต

5.เคลือบแลคเกอร์เคลือบเงาอีกครั้งเพื่อความสวยงามของผลิตภัณฑ์

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
การผสมสีให้ติดทนและสวยงาม
ต้องใช้สีน้ำมันเพื่อให้ได้สีสันที่สดใสเหมือนของจริง และได้สีที่ติดทนนาน

การร้อยมาลัย
ต้องใช้ความละเอียดประณีตและความชำนาญในการสร้างชิ้นงาน

ใส่ความเห็น