ผ้าขาวม้าทอมือไทยทรงดำ

ผ้าขาวม้าทอมือไทยทรงดำ จังหวัดราชบุรี

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือไทยทรงดำ

ผ้าทอมือ

 

ผ้าขาวม้า ทอมือไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน เลขที่ 92 หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เกิดจากชนเผ่าไทยทรงดำ(ลาวโซ่ง)ซึ่ง มีนิสัยชอบประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เอง โดยเฉพาะเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามของวัฒนธรรมไทยทรงดำ  และผ้าขาวม้าทอมือไทยทรงดำ ก็เป็นสินค้าที่สำคัญของบ้านหัวเขาจีน เพราะเป็นผ้าขาวม้าทอมือ และมีสีสันที่สวยงาม ราคาไม่แพง สีไม่ตก เนื่องจากใช้ไหมประดิษฐ์โทเรในการทอผ้าขาวม้า

จากรากฐานของข้อมูล แสดงให้เห็นว่าผ้าขาวม้า เป็นผ้าโบราณ ที่ใช้ประโยชน์กันมานานแล้ว คนไทยรู้จักใช้ผ้าขาวม้า มาตั้งแต่ สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ถ้านับเวลาย้อนไป จะตรงกับยุคสมัยแก่ ผู้หญิงมักนุ่งผ้าถุง ส่วนผู้ชายเริ่มใช้ผ้าเคียนเอว ผ้าขาวม้า ซึ่งได้วัฒนธรรมมาจากไทยใหญ่ (ไทยใหญ่ใช้โพกศีรษะ) ส่วนไทยเรายังมุ่นมวยผมอยู่ เมื่อเห็นประโยชน์ของผ้าจึงนำมาใช้บ้าง แต่เปลี่ยนมาเป็นผ้าเคียนเอว เมื่อเดินทางไกลจึงนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งให้ประโยชน์มาก เช่น ใช้ห่ออาวุธ และเก็บสัมภาระในการเดินทาง ปูที่นอน นุ่งอาบน้ำ ใช้เช็ดร่างกาย เมื่อไทยใหญ่เห็นประโยชน์ของการใช้ผ้า จึงนำมาเคียนเอวตามอย่างบ้าง

ผ้าขาวม้า เป็นอาภรณ์อเนกประสงค์ มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่ทอมาจากฝ้าย แต่บางครั้งอาจทอจากเส้นไหม ในบางท้องถิ่นนิยมทอจากเส้นด้ายดิบและเส้นป่าน นิยมทอสลับสีกันเป็นลายตาหมากรุกหรือเป็นลายทาง โดยมากผลิตในแถบภาคเหนือหรือภาคอีสาน มีขนาดความกว้าง – ยาวแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะกว้างประมาณ 3 คืบ ยาว 5 คืบ อายุของการใช้งานจะประมาณ 1 – 3 ปี สำหรับราคาก็จะแตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่ใช้ (ถ้าเป็นผ้าไหมเนื้อดีจะมีราคาแพง ซึ่งนิยมใช้แตะพาดบ่า หรือพาดไหล่)

ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่อำนวยความสะดวกให้กับคนไทยไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ภาษาไหน ก็นิยมใช้ผ้าขาวม้ามาหลายศตวรรษ โดยไม่มีทีท่าว่าจะสูญหายไปง่ายๆ เนื่องด้วยประโยชน์ของผ้ามีมากมายนานัปการ ทั้งนี้เพราะ ผ้าขาวม้า มีความเกี่ยวข้องกับวิถีทางแห่งการดำรงชีวิตมากมายหลายอย่างด้วยกัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ผ้าขาวม้า” คือสิ่งมหัศจรรย์แห่งสายใยที่ถักทอไว้อย่างประณีต จากตำนานกาลเวลา และคุณค่าอันน่ายกย่อง สรุปความได้ว่าประโยชน์ของผ้าขาวม้า ใช้กันตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย.

ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือ ไทยทรงดำที่มีคุณค่า การถักทอผ้าแต่ละชิ้นเต็มไปด้วยสายใยแห่ง ภูมิปัญญา คุณค่าแห่งวัฒนธรรม จึงทำให้เกิดผ้าทอมือที่มีคุณค่า ผ้าขาวม้า จึงเป็นผ้าเอนกประสงค์ที่มีประโยชน์มากมาย และที่สำคัญผ้าขาวม้าทอมือ บ้านหัวเขาจีน มีสีสันสวยงาม สะดุดตา นิยมใช้ ผูกเป็นเปลปูที่นอน นุ่งอาบน้ำ ใช้เช็ดร่างกาย โพกศรีษะ ทำความสะอาดร่างกายใช้ซับเหงื่อ โพกศีรษะกันแดด ปัดฝุ่น – แมลง – ยุงใช้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า และยังใช้ทำพวงหรีดได้อีกด้วย

การทอผ้าขาวม้าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและคนโซ่ง(ชาวไทยทรงดำ) เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำ ผูกพันกับประเพณีและวัฒนธรรม คณะกรรมการกลุ่มทอผ้าไทยทรงดำ เป็นไปด้วยความรัก ความสามัคคี ความเสียสละ ความซื่อสัตย์ และการเอื้ออาทรซึ่งกันและกันทำให้กลุ่มทอผ้าไทยทรงดำ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุก ๆด้าน เช่น ด้านการบริหารงาน ด้านการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้านการตลาด ด้านบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของกลุ่มทอผ้าไทยทรงดำกลุ่มทอผ้าไทยทรงดำ ทำให้เกิด ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือ ไทยทรงดำที่มีคุณค่า การถักทอผ้าแต่ละชิ้นเต็มไปด้วยสายใยแห่งภูมิปัญญา คุณค่าแห่งวัฒนธรรม และนำไปสู่ผลิตภัณฑ์แหล่งความภูมิใจที่ชาวไทยทรงดำจะนำเสนอ คือ ผ้าทอ แพรไทย สายใยชีวิตให้กับคนทั่วไปรู้จัก ผ้าขาวม้าทอมือไทยทรงดำมากขึ้นด้วย

 

วัสดุที่ใช้ทอผ้าขาวม้า

ในอดีตส่วนใหญ่จะใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใยฝ้าย ใยไหม และสีธรรมชาติ ปัจจุบันมีการใช้วัสดุที่สังเคราะห์จากสารเคมีเพิ่มมากขึ้น เช่น ใยประดิษฐ์ และสีสังเคราะห์

 

อุปกรณ์ทอผ้าขาวม้า

– อุปกรณ์เตรียมด้ายยืน ด้ายพุ่ง

1. กง ใช้พันเส้นด้าย เพื่อเตรียมไจด้ายสำหรับฟอกและย้อม

2. อัก ใช้พันเส้นด้าย เพื่อจัดระเบียบ

3. กระบอกไม่ไผ่ ใช้สำหรับพันเส้นด้าย ใช้แทนหลอดด้าย

4. แกนกระสวย ใช้สำหรับพันด้ายพุ่งเป็นหลอดเล็กๆ

5. ไน เป็นเครื่องมือสำหรับกรอด้ายเข้าหลอดด้าย ก่อนที่จะนำไปใส่กระสวย ต้องนำไปใช้ร่วมกับระวิง มีลักษณะด้านหนึ่งเป็นกงล้อขนาดใหญ่มีเพลาหมุนด้าย มีสายพานต่อไปยังท่อเล็กๆ ที่ปลายอีกข้างหนึ่ง

6. หลักเปีย (หลักเผีย) โครงไม้สำหรับเตรียมด้ายยืน สามารถเตรียมด้ายยืนยาว 20 – 30 เมตร (ปัจจุบันมีหลักเปียขนาดใหญ่ เตรียมด้ายยืนได้ยาวกว่า 100 เมตร)

7. แปรงหวีด้ายยืน

ส่วนประกอบของกี่ทอผ้า

1. ฟืมหรือฟันหวี (reed) เป็นกรอบไม้แบ่งเป็นช่องถี่ๆด้วยลวดซี่เล็กๆ สำหรับจัดระเบียบเส้นด้ายยืน ตีกระทบเส้นด้ายพุ่งเพื่อให้ผ้ามีเนื้อแน่นเป็นผืนผ้า

2. ตะกอหรือเขาหูก (harness) ส่วนใหญ่เป็นตะกอเชือก จัดกลุ่มเส้นด้ายยืนเปิดช่องด้ายยืน สำหรับใส่ด้ายพุ่ง

3. แกนม้วนผ้าหรือไม้กำพั่น ใช้ม้วนผ้าที่ทอแล้วใช้ลำต้นไม้ที่มีขนาดสม่ำเสมอ และเหยียดตรง

4. แกนม้วนด้ายยืน ใช้ม้วนด้ายยืนขณะทอ

5. เท้าเหยียบ ใช้ควบคุมการยกตะกอ

6. ที่นั่ง สำหรับนั่งขณะทอผ้า

7. กระสวย ใช้สอดใส่ด้ายพุ่งจะมีลักษณะคล้ายเรือ มีร่องใส่แกนกระสวยมีทั้งแบบแกนเดี่ยวและแกนคู่

8. ผัง

– ไม้เล็ก เรียว ยาวกว่าหน้าผ้าเล็กน้อย ปลาย 2 ข้างเป็นเหล็กแหลม

– ใช้สำหรับขึงหน้าผ้าให้ตึง และมีขนาดคงเดิมขณะทอ

 

อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดลวดลาย

1. อุปกรณ์สำหรับผ้าจก ประกอบด้วย ขนเม่น ไม้หลาบสำหรับเก็บลวดลายและจัดแยกเส้นด้ายยืนขณะทอ

2. อุปกรณ์สำหรับผ้าขิตไม้หลาบ ใช้จัดแยกด้ายยืนขณะทอ ไม้สอด ใช้เก็บลาย

 

วิธีการทอผ้าขาวม้า

ปัจจุบันถึงแม้ว่ายังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดบ่งบอกถึงต้นกำเนิดของการ ทอผ้า แต่ก็สามารถเทียบเคียงกับหลักฐานอื่นๆ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันโดย มีเหตุผลหลายอย่างสนับสนุนแนวคิดที่ว่า การทอผ้ามีวิวัฒนาการมาจากการ ทำเชือก ทอเสื่อ และการจักสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลายเชือกทาบที่ปรากฏ ร่องรอยให้เห็นบนภาชนะดินเผา ซึ่งพบเป็นจำนวนมากตามแหล่งโบราณคดี ก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ เรื่อยมาจนถึงแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เอง จึงกล่าวได้ว่าการทอผ้าเป็นงานหัตถกรรม ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกงานหนึ่ง

หลักของการทอผ้า ก็คือการทำให้เส้นด้ายสองกลุ่มขัดกัน โดยทั้งสอง พวกตั้งฉากกัน เส้นด้ายกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ด้ายยืนและอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ด้ายพุ่ง ลักษณะของการขัดกันของด้ายพุ่งและด้ายยืน จะขัดกันแบบธรรมดาที่เรียกว่าลายขัดหรืออาจจะเพิ่มเทคนิคพิเศษเพื่อให้ผ้ามีลวดลาย สีสันที่สวยงาม

 

ขั้นตอนการทอผ้าขาวม้า

1. สืบเส้นด้ายยืนเข้ากับแกนม้วนด้ายยืน และร้อยปลายด้ายแต่ละเส้นเข้าในตะ กอแต่ละชุดและฟันหวี ดึงปลายเส้นด้ายยืนทั้งหมดม้วนเข้ากับแกนม้วนผ้าอีกด้านหนึ่ง ปรับความตึงหย่อนให้พอเหมาะ กรอด้ายเข้ากระสวยเพื่อใช้เป็นด้ายพุ่ง

2. เริ่มการทอโดยกดเครื่องแยกหมู่ตะกอ เส้นด้ายยืนชุดที่ 1 จะถูกแยก ออกและเกิดช่องว่าง สอดกระสวยด้ายพุ่งผ่าน สลับตะกอชุดที่ 1 ยกตะกอชุดที่ 2 สอดกระสวยด้ายพุ่งกลับ ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ

3. การกระทบฟันหวี ( ฟืม ) เมื่อสอดกระสวยด้ายพุ่งกลับก็จะกระทบ ฟันหวี เพื่อให้ด้ายพุ่งแน่นหนาติดกันได้เนื้อผ้าที่แน่นหนา

4. การเก็บหรือม้วนผ้า เมื่อทอผ้าได้พอประมาณแล้วก็จะม้วนเก็บใน แกนม้วนผ้า โดยผ่อนแกนด้ายยืนให้คลายออกและปรับความตึงหย่อนใหม่ ให้พอเหมาะ

 

ขั้นตอนที่ 1 การกรอด้าย

การกรอด้ายเป็นขั้นตอนแรกของการทอผ้า

ขั้นตอนที่ 2 การตั้งหลอดด้ายเมื่อผ่านขั้นตอนการกรอด้ายแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการจูงต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 การจูงเมื่อตั้งหลอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนของการจูงด้ายจุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้ความยาวและขนาดของ ความกว้างของด้ายตามที่เราต้องการ

ขั้นตอนที่ 4 การแหย่ฟันหวีเมื่อผ่านขั้นตอนการจูงมาแล้ว ก็จะนำด้ายทีละเส้นมาแหย่งลงตามช่องฟันหวี เพื่อเตรียมที่จะใส่ม้วนต่อไป

ขั้นตอนที่ 5 การหวีเมื่อผ่านขั้นตอนการแหย่ฟันหวีแล้ว ก็จะถึงการหวีจุดประสงค์ของการหวีก็เพื่อเก็บเส้นด้าย เรียงเส้นด้ายเรียงลายให้สวยงาม

ขั้นตอนที่ 6 การเก็บตะกอเมื่อผ่านขั้นตอนการหวีเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการเก็บตะกอ เพื่อเตรียมพร้อมในขั้นตอนของการทอต่อไป

ขั้นตอนที่ 7 การทอเมื่อผ่านขั้นตอนการเก็บตะกอแล้ว ขั้นตอนต่อจากนั้นก็ดำเนินการทอต่อไป

ขั้นตอนที่ 8 การนำผ้าออกจากกี่เมื่อทำการทอเสร็จแล้วก็จะได้ผ้าม้วนใหญ่ จากนั้นเรานำม้วนผ้าออกจากกี่ ทำการคลี่ผ้าออกจากม้วน เพื่อที่จะได้ตัดแบ่งเป็นผืนต่อไป

ขั้นตอนที่ 9 การตัดเมื่อผ้าออกจากม้วนแล้ว ก็ทำการตัดตามขนาดแบ่งเป็นผืนละเท่ากัน

ใส่ความเห็น