กระเป๋าใบเตย

กระเป๋าใบเตย ศรีษะเกษ

 

ประวัติความเป็นมา

ชาวบ้านตาทึง คุ้นเคยกับต้นเตยหนามมาช้านาน เพราะต้นเตยหนามเป็นพืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พบได้มากภายในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง คนในสมัยก่อนได้นำเอาต้นเตยหนามมาถักทอโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน มาทำเป็นเสื่อไว้ใช้ปูนอนในครัวเรือน ครอบครัวเกษตรกรในหมู่บ้านตาทึงส่วนใหญ่ ทำนาเป็นอาชีพหลัก เมื่อว่างจากการทำนาจะใช้เวลาในการทอเสื่อจากใบเตย เพื่อเก็บไว้ใช้ในครอบครัว หรือเอาไว้ ขายและบางครั้งก็เอาไว้แลกข้าวจากหมู่บ้านอื่นเพื่อไว้เลี้ยงครอบครัว ตามวิถีชีวิตชาวบ้านแบบไทยในชนบท ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2540 บรรดาแม่บ้านได้รวมกลุ่มกันว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในรูปแบบใดจึงจะได้รับความสนใจประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอขุขันธ์ (กศน.) ได้นำกลุ่มไปทัศนศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เพื่อให้กลุ่มสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบเตยได้หลากหลายรูปแบบ โดยใช้ต้นเตยหนาม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่มากในท้องถิ่น

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์

ต้นเตยหนามมีใบที่มีเส้นใยเหนียวมีคุณสมบัติที่ดี่เหมาะแก่การนำมาถักสานเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋า, เสื่อ,หมอน กรรมวิธีในการผลิตตั้งแต่เริ่มใช้ทักษะความชำนาญของช่างประกอบกับภูมิปัญญาของช่างตั้งแต่การกรีดใบเตย ต้มใบเตยในช่วงเวลาที่พอเหมาะ การถักในสภาพอากาศที่ไม่ร้อนจนเกินไปเพราะการถักในช่วงที่อากาศร้อนจะทำให้ใบเตยที่ตากแห้งแล้วกรอบขึ้นรูปยาก ชิ้นงานที่ผลิตขึ้นช่างจะใช้มือทำเกือบจะทั้งหมด

ขั้นตอนการผลิต

1. ตัดใบเตยหนามและใช้มีดกรีดเอาส่วนหนามที่อยู่ด้านข้างของใบออกทั้งสองข้าง

2. นำใบเตยที่ตัดหนามออกแล้วมากรีดเป็นเส้นโดยใช้กบกรีดใบเตย

3. นำใบเตยที่กรีดเป็นเส้นแล้ว มาต้ม 30นาที เสร็จแล้วนำไปตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน

4. เมื่อใบเตยแห้งสนิทแล้ว นำมาย้อมสีโดยใช้สีย้อมใบเตยหรือสีย้อมกก เสร็จแล้วนำไปผึ่งไว้ในที่ร่ม 4-5 วัน

5. นำใบเตยที่ย้อมสีแล้วมาถักสาน ก่อนถักให้ใช้มีดกรีดใบเตยเพื่อให้ใบเตยมีเส้นที่ตรงถักง่าย โดยถักใบเตยเป็นผืนก่อน ขนาดตามความต้องการที่จะใช้ทำผลิตภัณฑ์ ลายถักที่ใช้ส่วนมากใช้ลายขัดสอง

6. เมื่อถักสานเป็นผืนแล้ว นำมาแบบกระเป๋ามาวางผืนใบเตย ตัดตามแบบโดยใช้สองแผ่นซ้อนกัน และใช้ผ้าซับในบุด้านในแล้วเย็บให้เรียบร้อย

7. ใช้จักรแย็บประกอบชิ้นงาน และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ช่างจะใช้เข็มเบอร์10 เย็บเก็บตะเข็บ ขอบมุม ช่างเรียกการทำแบบนี้ว่า การทำคัทเวิร์ค

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

  • ต้นเตยที่จะนำมาทำผลิตภัณฑ์ได้ต้องมีอายุ 1 ปี ขึ้นไป
  • การต้มใบเตยเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อรา และยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์
  • การถักใบเตยในสภาพอากาศที่ร้อนจะทำให้ใบเตยแห้งและกรอบ ควรถักสานใบเตยในที่อากาศชื้นจะทำให้ใบเตยอ่อนตัวขึ้นรูปง่าย

ใส่ความเห็น