ตำนานผ้าไหมบ้านหัวฝาย

ตำนานผ้าไหมบ้านหัวฝาย  จังหวัดขอนแก่น

 

 

ประวัติความเป็นมา

ผ้าไหมและลวดลายไหม มีต้นกำเนิดมาแต่บรรพบุรุษ โดยเริ่มมาจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แล้วนำไปสาวเป็นเส้นไหมเล็ก ๆ ต่อจากนั้นก็นำไปฟอก มัดเป็นลายต่าง ๆ เช่น ลายกงเจ็ด ลายกระจับหว่าน ลายน้ำฟองเครือ ลายกงห้า ลายขาเปีย ฯลฯ

ต่อมามีการพัฒนาโดยการนำลวดลายโบราณ หลากหลายลายมาดัดแปลง เติมสีสัน เกิดเป็นลวดลายใหม่ ๆ ผ้าไหมมัดหมี่ของอำเภอชนบท ได้รับรางวัลจากการส่งเข้าประกวดงานต่าง ๆ มากมาย และลวดลายถือเป็นสุดยอดและเป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่มีที่ไหนเลียนแบบได้ ลวดลายสีสัน ประยุกต์กับยุคสมัยนิยม และสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น เอกลักษณ์เหล่านี้ จึงทำให้ผ้าไหมมัดหมี่ของอำเภอชนบท มีมนต์เสน่ห์ น่าหลงใหล และภูมิปัญญาที่งดงามเหล่านี้ ก็มีกลุ่มที่สืบทอดภูมิปัญญา ได้อย่างงดงาม นั่นคือ กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้าน OTOP VILLAGE CHAMPION ( OVC) ของจังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการทอผ้าไหมของอำเภอชนบท และของจังหวัดขอนแก่น

ฟองน้ำหัวฝาย คือลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหัวฝาย สืบเนื่องจากบ้านหัวฝาย เป็นหมู่บ้านที่มีหนองน้ำ หัวฝาย ชุมชนได้ใช้ประโยชน์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยความสัมพันธ์กับหนองน้ำ บรรพบุรุษของบ้านหัวฝาย มองเห็นคลื่นฝองน้ำจากหนองน้ำ เห็นว่ามีความสวยงาม จึงนำมามัดหมี่เป็นลาย และตั้งชื่อลายผ้าไหมว่า “ ลายฟองน้ำหัวฝาย” จนมีชื่อเสียงและเป็นลายผ้าไหมที่สวยงามของบ้านหัวฝายมาจนถึงทุกวันนี้ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตของชาวบ้านหัวฝายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความเกี่ยวพันกับผ้าไหมมัดหมี่ เป็นอย่างมาก ด้วยการแต่งกายด้วยผ้าไหมมัดหมี่ในงานพิธี

ต่าง ๆ โดยเฉพาะลายน้ำฟอง มีการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ ให้คงอยู่เคียงคู่บ้านหัวฝาย ตลอดไป

ดั่งคำขวัญที่ว่า “ ชนบทเมืองไหม เที่ยวไปภูระงำ น้ำศักดิ์สิทธิ์ภูหัน ดูตะวันหนองกองแก้ว ”

 

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์

  ผ้าไหมที่ผลิตจากกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหัวฝาย เป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพ มีสีสัน ลวดลาย สวยงาม ประณีต มีความหลากหลาย ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ( มผช.) มีการควบคุมคุณภาพการผลิต สีไม่ตก และมีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด และปรับลวดลายและสีสันให้ทันสมัยอยู่เสมอ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกเพศทุกวัย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทุกชิ้น ถักทอด้วยฝีมืออันละเอียด ประณีต สวยงาม

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1. เส้นไหมยืน

2. เส้นไหมพุ่ง

3. สีย้อม

4. ฟาง

5. ด่างฟอก / ล้าง

 

ขั้นตอนการผลิต

1.จากการเลี้ยงไหม โดยนำตัวอ่อนของไหม (ดักแด้)มาเรียงไว้ในกระด้งเลี้ยงไว้ประมาณ 1 เดือน โดยให้อาหาร4-5 ครั้งต่อวัน

2.หลังจากนั้น จะได้ตัวไหมที่เข้าฝักเรียบร้อย แล้วก็เตรียมนำไปต้ม เพื่อทำการสาวไหม ส่วนหนึ่งจะแยกไว้ เพื่อเป็นพ่อ แม่พันธุ์ต่อไป

3. นำไยไหมที่สาวได้มาทำการฟอกสี เพื่อให้ได้สีต่างๆ ตามต้องการ

4. นำเส้นไหมที่ได้มาทำการฟอกสี เพื่อให้ได้สีต่าง ๆ ตามความต้องการจากนั้นก็นำไหมที่ทำการมัดไว้ ไปย้อมสี พอย้อมเสร็จก็นำไปตากให้แห้ง

5. นำไหมที่ย้อมเรียบร้อยแล้วมาทำการปั่นใส่หลอด

6. จากนั้นก็ทำการขึงผ้าใส่ที่ทอผ้า (หูก) แล้วนำมาใส่กระสวย แล้วทำการทอผ้าไหมขั้นต่อ ๆ ไป โดยระยะเวลาในการทอผ้า จะต้องใช้เวลานานพอสมควร และจะต้องมีสมาธิ มีความอดทนเป็น อย่าง มาก กว่าจะได้ผ้าไหมเป็นผืนผ้าที่มีความสวยงาม ประณีต

 

เทคนิค/ เคล็ดลับในการผลิต

1. เลือกสรร วัตถุดิบต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น เส้นไหม สีย้อมไหม ฯลฯ

2. ในการฟอก การย้อม ต้องใช้ไฟ ที่มีอุณภูมิพอเหมาะ และอุณภูมิคงที่

3. ในการมัดลายต้องใช้ความละเอียด ประณีต

4. การทอต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ความละเอียด ประณีต

5. ในการสร้างสรรค์ลาย ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี และประยุกต์ลายให้เกิดลายสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย กับแฟชั่น และความต้องการของตลาด แต่อยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม

การดูแลรักษา  ควรรักษาด้วยวิธีการซักแห้ง เพื่อให้คงสภาพเดิมอยู่เสมอ ในกรณีที่ซักด้วยมือ ควรใช้สบู่ที่มีกรดอ่อน ๆ ในน้ำอุ่น ห้ามขยี้ ห้ามใช้แปรงขัดถูแรง ๆ ควรตากผ้าไว้ในที่ร่ม และในขณะที่ผ้าเปียก ไม่ควรปิดผ้าแรง ๆ การรีดผ้าไหม ควรพรมน้ำให้ชุ่ม แล้วรีดด้านในของผ้า โดยใช้ความร้อนไม่เกิน 330 องศา ฟาเรนไฮต์ กรณีที่ใช้น้ำยาอัดกลีบ ควรใช้น้ำยาหลังจากพรมน้ำให้ชุ่ม เพื่อคงสภาพสีผ้าให้สดใส ไม่ควรใช้น้ำยาฉีดผ้าในขณะที่ผ้าแห้ง และควรแยกซักผ้าไหมออกจากผ้าชนิดอื่น

ใส่ความเห็น