ลงพื้นที่: ศูนย์จักสานที่ใหญ่ที่สุดในโลก อำเภอพนัสนิคม

บรรยากาศศูนย์จักสานบ้านคุณปรานี  ที่อำเภอพนัสนิคม

ไม้ไผ่ พืชธรรมชาติหลากชนิดที่ขึ้นอยู่กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ป่าทั่วประเทศ นำมาซึ่งประโยชน์ใช้สอยได้ในทุกส่วน ทั้งหน่อ ราก ลำต้นและใบ ก่อให้เกิดความผูกพันกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบันจากการเรียนรู้คุณสมบัติจากพืชใกล้ตัว สนองประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน  บ้างใช้สร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัย บ้างผลิตเป็นภาชนะเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน บ้างนำมาทำเป็นเครื่องดนตรีนานาชนิด อาทิ ระนาด ขลุ่ย อังกะลุง บ้างนำมาเหลาเป็นอาวุธ คันธนู ลูกศร คันกระสุน หรือแค่ปาดปลายให้แหลมเรียวก็เพียงพอที่จะมีไว้ใช้การ หากลำไหน ขนาดและน้ำหนักเหมาะถนัดมือ อาจนำมาทำเป็นไม้กระบอง หรือ ตะพดช่วยพยุงยามชรา

ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติที่ดีของไม้ไผ่ ที่มีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ประกอบมีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวตลอดลำจึงทำให้มีเนื้อเหนียวไม่หักง่ายและมีแรงดีดคืนตัว เมื่อนำลำต้นมาจักตอกเป็นเส้นๆ ดัดโค้งขึ้นรูปตามความต้องการ เพื่อสานเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประเภทต่างๆ สามารถรับแรงดึง และแรงกดได้ดีโดยไม่แตก หรือหักง่าย
คุณสมบัติพิเศษเช่นนี้และเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทำให้เป็นที่นิยมนำมาทำเครื่องจักสานกันแพร่หลายและใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปที่สุด ในรูปแบบของภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระบุง ตะกร้า กระจาด กระติ๊บ พ้อม รวมถึงเครื่องมือสำหรับ ดัก จับ ขัง สัตว์น้ำจำพวก ไซ ข้อง กระชัง สุ่ม ฯลฯ

ภูมิปัญญาอันเกิดจากการเรียนรู้ชีวิตเกี่ยวโยงกับธรรมชาติ ท้องที่และคนในชุมชน ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่อุดมไปด้วยไม้ไผ่มากมายในอดีตตามความหมายเดิม “หมู่บ้านในป่าทึบ” จากการพึ่งพาตนเองโดยใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น และวัตถุดิบที่หาได้ง่าย นำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องจักสานสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวัน กลายมาเป็นสินค้าที่สร้างชื่อให้กับอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

นางปราณี มูลผลา ประธานกลุ่มจักสานชุมชนย่อยที่ 1 กล่าวว่าเดิมตนเป็นผู้รับเครื่องจักสานจากชาวบ้านมาจำหน่ายอีกต่อหนึ่งกระทั่ง มีการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อจัดตั้ง “กลุ่มจักสาน ชุมชนย่อยที่ 1 “ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ในปี 2544 จำนวนสมาชิก 45 คนเพื่อผลิต ผลงานและพัฒนาสินค้าเกี่ยวกับการจักสานไม้ไผ่ต่าง ๆ เอาไว้จำหน่ายเป็นรายได้ให้แก่สมาชิกใน ชุมชนที่ 1 ได้รับการคัดสรร สินค้าสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ 2549 ประเภทผลิตภัณฑ์ ของใช้ ของประดับตกแต่ง และของที่ระลึก ระดับ 4 ดาว  “ผลผลิตแต่เดิมจะเป็นงานที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในการดำรงชีพของชาวบ้าน เช่น ไซ สุ่ม กระบุง ตะกร้า เพราะมีป่าไผ่มาก และคนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา หาปลา จึงมีการนำไม้ไผ่ที่หาได้ในละแวกบ้าน ตัดเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ในการจับสัตว์น้ำ เช่น ไซ ข้อง ตุ้ม ลอบ ไว้ใช้ช้อน กุ้ง หอย ปู ปลา และผลิตเพื่อจำหน่ายเพิ่มรายได้

กระทั่งพัฒนามาเป็นฝาชีครอบกับข้าว ซึ่งได้รับความนิยมจากคนทั่วไปและมีการจำหน่ายกันแพร่หลายมากขึ้น ที่เห็นวางขายกันทั่วไปส่วนใหญ่นำจากอำเภอพนัสนิคมไปจำหน่ายต่อทั้งนั้น  ไม้ไผ่ที่นำมาทำจักสานนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของเครื่องใช้ที่ต้องการจะผลิตออกมาใช้สอย นำมาจากหลายพื้น อาทิ จากเขาเขียว ปราจีนบุรี และจันทบุรี ซึ่งแต่เดิมจะเป็นไม้ไผ่ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตำบลพนม บ่อขาว และบ้านซ่อง ประเภทไม้ไผ่บ้าน และไม้สีสุกปล้องสั้น แต่ต่อมาจำนวนไม้ไผ่ได้ลดน้อยลงมากจนต้องซื้อจากจังหวัดอื่น

งานจักสานเป็นงานฝีมือที่อาศัยเรียนรู้จากการสืบทอดกันภายในครอบครัว จากปู่ ย่า ตา ยาย สอนลูกหลานให้ได้รู้วิธีการจักสาน อาทิ ให้ช่วยผ่าไม้ไผ่ จักตอก และหัดสาน เล็กๆ น้อยๆ จนเกิดความชำนาญ แต่คนรุ่นหลังๆ ไม่ค่อยสนใจงานประเภทนี้มากนัก ส่วนใหญ่ไปทำงานโรงงานกันหมด

เทศบาลเมืองพนัสนิคมจึงคิดจัดงาน ประเพณี “บุญกลางบ้านและเผยแพร่เครื่องจักสานพนัสนิคม” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2537 เพื่ออนุรักษ์ให้ประชาชนรุ่นหลังได้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ในงานบุญกลางบ้านและเครื่องจักสาน ซึ่งเป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวอำเภอพนัสนิคม โดย ชาวบ้านจะนำอาหารมาร่วมกันทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้พระภูมิเจ้าที่เจ้ากรรมนายเวร ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อขับไล่สิ่งเลวร้าย ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ของสัปดาห์แรกเดือนพฤษภาคม หรือเดือน 6 ของไทย

“กลุ่มผู้ผลิตทั้ง 7 ชุมชนต่างร่วมกันส่งผลงานสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จักสานที่ใหญ่ที่สุดเข้าประกวดกันทุกปี เมื่อเสร็จงานไม่รู้จะไปเก็บไว้ไหนก็รวบรวมมาอยู่ที่นี่ ค่อยๆสะสมมาเรื่อยๆ และปรับแต่งบ้านไทยโบราณ เป็น พิพิธภัณฑ์เครื่องจักสานที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนพื้นที่ 3 ไร่ โดยมีเทศบาลเมืองพนัสนิคม สนับสนุนเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ สาธิตการจักสาน ซึ่งเข้าชมฟรีทุกวัน ในเวลาราชการ”

ปัจจุบันกลุ่มผู้เข้ามาเยี่ยมชม ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการ กลุ่มแม่บ้าน คณะครู เท่านั้น ซึ่งหาก “ศูนย์เครื่องจักสานใหญ่ที่สุดในโลก” ได้รับการบรรจุไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับเครื่องจักสานขนาดใหญ่ นานาชนิด ไม่เพียงแต่เผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ยังเพิ่มโอกาสขยายตลาดระดับชุมชนให้นักท่องเที่ยวคนทั่วไปได้รู้จัก และมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มาแหล่งผลิตสร้างรายได้ให้คนในชุมชน

สนใจเยี่ยมชมสินค้าจักสาน สั่งซื้อสินค้าจักสานร้านคุณปราณี  มูลผลา

ศูนย์เครื่องจักสานใหญ่ที่สุดในโลก

ที่อยู่: เลขที่ 60 ซอยโรงฆ่าสัตว์ ถนนจันทร์อำนวย ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 20140

หมายเลขโทรศัพท์: 084-769-5814
e-mail: pp_pom@hotmail.com
twitter: @sarawutpat

ใส่ความเห็น