สาเหตุที่ทำให้ของที่ระลึกพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป

การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของ “ของที่ระลึก” ทั้งในด้านจุดประสงค์แห่งการสร้างรูปแบบ  รูปทรงและในการนำไปใช้นั้นอาจเนื่องมาจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการ คือ

1. มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม  รูปแบบค่านิยมหรือประเพณีในท้องถิ่น  ที่สร้างวัตถุขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายการบริโภค  จุดมุ่งหมายในการใช้สอยหรือเพื่อประดับตกแต่ง  และเป็นวัตถุทางศิลปะ  โดยมีเป้าหมายแห่งการนำไปใช้และรูปแบบที่สืบทอดกันมา  นับชั่วอายุคนของแต่ละท้องถิ่น  อันถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรม (Culture) ของท้องถิ่นนั้นๆ เมื่อมีการติดต่อกันในระหว่างกลุ่มชนต่างวัฒนธรรม  ไม่ว่าจะด้วยระบบแลกเปลี่ยนหรือระบบซื้อขายก้ตาม  แนวคิดเปรียบเทียบในสิ่งที่แตกต่างกัน  ย่อมทำให้เกิดการลอกเลียนการประยุกต์  การดัดแปลง  ในสิ่งที่ได้รับรู้ใหม่ให้เหมาะสม  กลมกลืนกับสิ่งเดิมที่มีอยู่  สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ก็จะมีพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ดังเช่น  การสร้างเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านด่านเกวียน  จังหวัดนครราชสีมา  ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวบ้านกับชาวเมือง  จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง คือ การสร้างเครื่องปั้นดินเผา  เดิมสร้างไหปลาร้าเพื่อการใช้สอย  ได้เปลี่ยนหน้าที่และรูปแบบมาเป็นรูปนกฮูก ฯลฯ  สำหรับใส่หลอดไฟฟ้า  หรือสำหรับประดับตกแต่งบริเวณ  เปลี่ยนบุคคลผุ้ใช้จากชาวบ้านมาเป็นชาวเมือง  เปลี่ยนรูปแบบจากดั้งเดิมมาเป็นรูปแบบสมัยใหม่  หรือความรู้เรื่อง “ดีบุก” ครั้งแรกแพร่หลายมากในยุโรป  เนื่องจากมีทรัพยากรเป็นของตนเอง  การติดต่อค้าขายทำให้ความรู้นี้แพร่ไปยังอินเดียและจีน  ซึ่งนำมาใช้และเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น  ทั้งทำเป้นภาชนะรูปร่างต่างๆ อาวุธ และเครื่องประดับ  ซึ่งล้วนแต่ทำด้วยสำริด (Bronze  เป็นโลหะผสมโดยการนำดีบุกกับทองแดงผสมกัน) ทั้งสิ้น  ความชำนาญในการนำโลหะมาใช้งานนั้น  ช่างจีนชำนาญทางด้านสำริด  ส่วนช่างอียิปต์เชี่ยวชาญมากทางด้านเครื่องทอง  ความเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์เครื่องทองของชาวอียิปต์  ปรากฏชัดในพีระมิดของกษัตริย์ทุตังคาเมน  ที่สร้างในราว 3350 ปีมาแล้ว  และ ณ ที่นี้ได้พบว่า  พวกอียิปต์ได้เริ่มรู้จักใช้เหล็ก (Iron) แต่ว่าพวกนี้ได้รับความรู้มาจากพวกฮิตไทต์  ซึ่งอยู่บริเวณเอเชียไมเนอร์และซีเรียตอนใต้ของทะเลดำ  พวกฮิตไทต์นี้ได้พบวิธีถลุงเหล็กมาตั้งแต่ 5000 ปีมาแล้ว  และปกปิดเป็นความลับมากว่าศตวรรษ  แต่ในราว 3283 ปีมาแล้ว (1283 ปีก่อนคริสตกาล) ได้ถูกรุกราน  มีบันทึกว่าพวกอียิปต์ต้องจ่ายด้วยทองและเงินจำนวนมากเพื่อให้วิธีการทำเหล็กหรือการถลุงเหล็ก

2. ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม วัฒนธรรม  กาลเวลาเมื่อล่วงพ้นไป  สภาพสรรพสิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาคลี่คลายไปด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นปัจจุบันกัน  ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในสรรพสิ่งเหล่านี้พอที่จะแยกแสดงให้เห็นเป็นระบบตามลำดับแห่งเวลาดังนี้

2.1  ในทางเศรษฐกิจ  ก่อนที่จะมีระบบการใช้เงิน  การผลิตสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นก็เพื่อประโยชน์เพื่อความปลอดภัย  เพื่อคุณค่าทางความงาม  เพื่อความสะดวกสบาย  ในการใช้เฉพาะตนและสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น  ผลงานที่จะทำถูกกำหนดขึ้นมาจากความพึงพอใจและจากคุณค่าเพื่อประโยชน์ใช้สอย  ดังนั้น  รูปแบบของงานจึงไม่แน่นอน  บุคคลสามารถกระทำในรูปแบบที่ต่างกันออกไปและเมื่อเป็นงานส่วนตัว  ผลงานจึงเป็นรูปแบบเฉพาะตน  มีการกำหนดโครงสร้างและลวดลายตกแต่งตามความพอใจ  ซึ่งความพอใจนี้  ระยะเวลาหนึ่งอาจผูกพันอยู่กับความเชื่อ ความศรัทธา  ที่บุคคลผุ้สร้างงานมีต่อสิ่งต่างๆ ด้วย  ระยะต่อมางานส่วนตัวก็เริ่มเปลี่ยนเข้าสู่งานอาชีพ  เมื่อบุคคลบางคนได้ใช้ความสามารถพิเศษในการกระทำผลงานเป็นที่สนใจของคนอื่นๆ  เกิดมีความปรารถนาในสิ่งของหรือผลงานนั้นร่วมกัน  การกระทำผลงานในเรื่องระบบจำนวนจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการเลือกใช้และแลกเปลี่ยนผลงานซึ่งกันและกัน  และพัฒนามาถึงการแลกเปลี่ยนผลงานกับสิ่งของเครื่องใช้  กับอาหารและกลายเป็นระบบซื้อขายขึ้น  เมื่อบุคคลคนหนึ่งได้รับความสำเร็จในผลงานจากการได้กระทำผลงานขึ้นมา  บุคคลอื่นซึ่งก็มีความสามารถเหมือนกันก็มีความประสงค์จะได้รับความสำเร็จในผลงานจากการกระทำของเขาบ้าง  ระบบการทำงานเพื่อการแข่งขันจึงเริ่มขึ้น  การแข่งขันก้มักจะแข่งขันกันในเรื่องของอรรถประโยชน์ก่อน  จากนั้นก้มาแข่งขันกันในเรื่องของรูปแบบส่วนโครงสร้าง  เรื่องของขนาดและสัดส่วน  ต่อมาจึงแข่งขันกันในเรื่องของความสะดวกสบาย  ในการนำไปใช้ในเรื่องความปลอดภัย  และในเรื่องของความสวยงาม  พอมาถึงระยะนี้ผลงานนั้นๆ  ก็ได้รูปแบบแน่นอนว่าเป็นอะไร และเป็นอย่างไร เป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องใช้ หรือเป็นเครื่องประดับ  เป็นวัตถุทางศิลปะ  ก็หมายความว่า  บุคคลส่วนหนึ่งในกลุ่มสังคมนั้นๆ ไม่ต้องทำการเพาะปลูก  ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ก็สามารถจะมีอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ  เพื่อประโยชน์ส่วนตนได้จากการทำผลง่านสิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ ขึ้นมาเพื่อการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขาย  ให้ได้มาซึ่งอาหารและเครื่องนุ่งห่มนั้นๆ ก็นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นงานอาชีพของบุคคล  ต่อมาก็เป็นงานอาชีพของครอบครัว  และอาจถึงขั้นอุตสาหกรรมโรงงาน  แต่เดิมการผลิตงานต่างๆ นับแต่ต้นจนจบมักจะทำโดยคนๆ เดียว  ต่อมาเมื่อเกิดการผลิตขึ้นเป็นสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น  จึงมีการแบ่งงานกันทำ  ดังเช่น การทำร่ม  มีการแบ่งงานกันทำโดยแยกเป็นงานกลึงหัวร่ม  ตุ้มร่มด้วยเครื่องจักร  งานเจาะซี่ร่มด้วยเครื่องจักร  การมัดหัวร่มติดกับซี่ยาว การร้อยดึงร่ม  การผ่าโครงร่ม  การติดกระดาษร่ม  การร้อยด้ายประดับร่ม  และการเขียนดอกหรือลวดลายร่ม  เป็นแผนกแยกกันออกไปตามทักษะและความชำนาญ  ส่วนรูปแบบและผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายนี้  มีรูปแบบ  ขนาด  ลวดลาย ฯลฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปให้สอดคล้องกับความนิยม  และความต้องการของผุ้บริโภค  โดยคำนึงถึงความสวยงามมากกว่าประโยชน์ใช้สอย

2.2 ในทางสังคม  เมื่อสภาพการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับพัมนาสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน  จากการสร้างสรรค์เพื่อเพียงพอแก่ความต้องการของตนเองและครอบครัวมาเป็นการสร้างเพื่อการแลกเปลี่ยนซื้อขายจากชีวิตความเป็นอยู่ที่มีเอกลักษณ์ของกลุ่ม  ของชุมชน  ของท้องถิ่น  เมื่อมีการแลกเปลี่ยนหรือครอบงำทางวัฒนธรรมจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะการดำรงชีพในสังคม  ย่อมทำให้ผลผลิตอันเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยความเหมาะสมเช่นกัน  เช่น  ในด้านชีวิต  ความเป็นอยู่ของคนไทย  แต่เดิมนิยมกินหมากจึงใช้หมากพลูเป็นเครื่องต้อนรับแสดงไมตรีจิต  เมื่อเวลาแขกไปใครมาก็ยกเชี่ยนหมากออกมารับรอง  การไปสู่ขอก็มีขันหมากเป็นเครื่องคำนับ  จะเป็นขันทอง นาค ถมเงิน ทองเหลือง  หรือขันชนิดอะไรก็แล้วแต่ฐานะ  และแม้เครื่องยกก็ต้องมีหีบหมากเป็นเครื่องสำคัญ  แต่ในปัจจุบันสภาพชีวิต สังคม ความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไป  คนที่กินหมากใกล้หมดไป  ความนิยมในเรื่องการกินหมากหมดไป  ทำให้รูปแบบ ภาชนะเครื่องใช้รับรองแขกที่เคยเป็นของขวัญ  ของฝาก  อย่างเช่น  พานหมาก  หรือเชี่ยนหมาก  ตลอดจนเครื่องมือ  อุปกรณ์ในการตำหมาก  ครกทองเหลือง  ตะบันหมาก (รูปร่างคล้ายกระบอก  ล่างเรียว เป็นทองเหลือง เขมรเรียก ตปล) กรรไกรผ่าหมาก  ก็กำลังจะหมดไป  กลายเป็นของที่หาดูได้ยาก

 

เชี่ยนหมากถมทอง

(เชี่ยนหมากนิยมทำกันท์ในหมู่ผู้มีฐานะดี  เริ่มทำมาจนถึงสมัยสมัยรัชกาลที่ 5

เชี่ยนหมากชุดนี้ลวดลายและฝีมือเป็นของช่างถมที่ตำบลบ้านพารถม กรุงเทพมหานคร)

เชี่ยนหมากแบบฝรั่ง

(เชี่ยนและเครื่องเชี่ยนทำด้วยเงินสาน  เป็นของที่ทำจากยุโรป นิยมเล่นและสะสมกันในสมัยรัชกาลที่ 5)

            นอกจากนี้ยังมีเชี่ยนหมากแบบอื่นๆ อีกมากมาย  เช่น  เชี่ยนหมากมลายู ทำด้วยทองเหลือง  เชี่ยนทำเป็นกระบะมีลิ้นชัก  มีล้อรองฐาน 4 ล้อ  เป็นของนำเข้ามาใช้แต่ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ด้วยเห็นว่าเป็นของแปลก  และยังมีเชี่ยนหมากลาว  ซึ่งทำด้วยเงินชุบทอง  ประกอบด้วยเชี่ยนกระบะสี่เหลี่ยม  เครื่องเชี่ยนตลับกลม  ขนาดไล่เลี่ยกัน  พร้อมด้วยตะบันหมากเป็นของใช้ติดตัวเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5

อีกทั้งสังคมการผลิตได้เจริญพัฒนาไปสู่ระบบอุตสาหกรรม  เทคโนโลยีใหม่ๆ เครื่องมือ  เครื่องใช้  ตลอดจนวัสดุใหม่ๆ  ทำให้กรรมวิธีการผลิตสามารถสร้างสิ่งที่อยู่เหนือขีดจำกัดในการสร้างของมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ  จำนวนคุณภาพ ฯลฯ  ทำให้รูปแบบของสิ่งต่างๆ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป  ขณะเดียวกันรูปแบบเดิมของสิ่งต่างๆ บางอย่างก็กลายมาเป็นสินค้า  ที่ขายในฐานะเป็นของที่ระลึกในท้องถิ่น  ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สอยในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป  เช่น  เมื่อคนในหัวเมืองพูดถึงรูปแบบ “เครื่องใช้พื้นบ้าน” นั่นอาจหมายถึงของที่ระลึกสำหรับจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว  อันเป็นศิลปะสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น  พานใส่ดอกไม้  หรือจะเรียกว่า “ขันโตกดอกไม้” ก็ได้  ชาวบ้านเอาไว้ใส่ดอกไม้ไปทำบุญที่วัด  โครงภายในมีทั้งที่เป็นไม้สักกลึงและเป็นไม้ไผ่ขดเป็นรูปร่างแล้วลงรักแดงทับ

 

ขันโตกดอกไม้

            2.3 ในทางวัฒนธรรม  ความเจริญทางวัตถุ  ความสำเร็จในทางวิทยาศาสตร์  ตลอดจนมาตรฐานการครองชีพ ที่สูงของสังคมแห่งหนึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความสนใจยอมรับจากสังคมอีกแห่งหนึ่ง เมื่อสังคมกลุ่มที่รับเอาวัฒนธรรมของผู้อื่นเข้ามา  ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองถูกทอดทิ้ง  ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมค่อยๆ สูญไป  รูปแบบสิ่งของเครื่องใช้ในพิธี ประเพณี ตลอดจนความเชื่อต่างๆ ในอดีตพลอยสูญหายไป  หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป

ใส่ความเห็น