ผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน

ภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน 

ประวัติความเป็นมา

ต้นเตยปาหนันชอบขึ้นตามริมหาด ชายทะเล ป่าโกงกาง ลักษณะลำต้นเป็นกอ และแตกกิ่งใบยาวเป็นพุ่ม ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามอายุและสภาพดิน สูงประมาณ 5 เมตร การทำเครื่องจักสานเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน พื้นเมืองที่ทำกันมาแต่โบราณ และมีทั่วไปในทุกภาคของประเทศ คำว่า เครื่องจักสาน นั้น โดยทั่วไปมักจะหมายถึงสิ่งที่ผลิตขึ้นด้วยมือ โดยวิธี จัก สาน ถัก และทอ เป็นหลัก การเรียกเครื่องจักสาน ว่า จักสานนั้น เข้าใจว่าเป็นคำที่เรียกขึ้นตามวิธีการที่ทำให้เกิดเครื่องจักสานขึ้น นั่นเอง เพราะเครื่องจักสานต่างๆ จะสำเร็จเป็นรูปร่างที่สมบูรณ์นั้น จะต้องผ่านกระบวนการที่ประกอบขึ้นด้วยการจัก การสาน และการถัก หรือการขัดกันของวัสดุที่ผ่านกระบวนการเตรียมด้วยการจัก เพื่อแปรรูปวัสดุ หรือวัตถุดิบให้สอดคล้องกับการใช้สอยเสียก่อน

เครื่องจักสานจากเคยปาหนัน

เครื่องจักสานของภาคใต้ทางด้านชายฝั่งตะวันตก หรือชายฝั่งทะเลอันดามัน ถือได้ว่าเป็นเครื่องจักสานเฉพาะถิ่น มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองอยู่บ้าง ได้แก่ พวกเครื่องจักสานที่สานด้วยใบเตย ใบลำเจียก หรือปาหนัน ซึ่งส่วนมากนิยมสานเสื่อ สอบ หรือกระสอบสำหรับใส่ข้าว หรือใส่พืชผลต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่ มีการสานไว้ใช้ในครัวเรือน

จังหวัดกระบี่ มีการสานเสื่อปาหนัน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีความประสานกลมกลืนกับประเพณีนิยมของท้องถิ่นและวิธีการสาน ตลอดจนการใช้วัสดุในท้องถิ่นที่ต่างจากเครื่องจักสาน อื่นๆ มีการสืบทอดภูมิปัญญาการสานมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน และเรียนรู้กันภายในครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม นิยมใช้เสื่อในการปูนอน และนำไปรองนั่งที่สุเหร่า และใช้เป็นเสื่อปูนอนของคู่บ่าวสาว ที่จะแต่งงานใหม่ โดยคู่บ่าวสาวจะต้องช่วยกันสานไว้หลายๆ ผืน เพื่อใช้รองแทนที่นอนในสมัยโบราณ และปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ จึงได้คิดพัฒนารูปแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป็นสินค้าของฝากประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงที่สวยงาม ทนทาน ได้แก่ เสื่อปาหนัน หมอน กระเป๋า ซองบุหรี่ หมุกใส่ของเครื่องใช้สอย เป็นต้น

เตยปาหนัน

เตยปาหนัน เป็นพืชตระกูลปาล์ม บางคนรู้จักชื่อทั่วไปว่า ต้นลำเจียก จะชอบขึ้นตามริมหาด ชายทะเล ป่าโกงกาง ลักษณะลำต้นเป็นกอ และแตกกิ่งใบยาว เป็นพุ่ม ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามอายุและสภาพดิน สูงประมาณ 5 เมตร

ใบ ใบเตยปาหนัน จะมีสีเขียวยาว มีรูปพรรณคล้ายกับใบเตยหอม ต่างกันที่ใบเตยปาหนันนั้น จะมีหนามริมใบทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านข้าง 2 ด้านและตรงกลางหลัง นำมาแปรสภาพเป็นตอก ใช้สานเป็นภาชนะต่างๆ ได้

ราก นำมาใช้ประโยชน์ โดยนำมาต้มกินขับปัสสาวะแก้นิ่วได้

ดอก นำมาใช้เป็นตอกสานให้เด็กใช้ประดับร่างกาย

ผล นำมาใช้หั่นเป็นชิ้นๆ ผสมกับต้นตายปลายเป็น ใช้กรอกให้วัวกิน ทำให้วัวที่เบื่อหญ้ากินหญ้าได้มากขึ้น

วิธีขยายพันธ์ของเตยโดยการใช้เมล็ดและหน่อ

ต้นลำเจียก หรือปาหนัน เป็นวัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องจักสานเฉพาะถิ่นของภาคใต้ มาแต่โบราณ โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลอันดามัน นิยมนำมาสานเป็นเสื่อ สานเป็นกระสอบ และภาชนะอื่นๆ การสานเสื่อปาหนันในบางท้องถิ่น ได้เข้าไปมีความสัมพันธ์กับขนบธรรมเนียมประเพณีชาวบ้าน เช่น ใช้เป็นเสื่อสำหรับนำติดตัวไปวัด ไปสุเหร่า หรือใช้สำหรับรองศพผู้ตายก่อนนำไปฝัง ใช้เสื่อสำหรับพิธีแต่งงานของบ่าวสาว โดยเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะช่วยกันไปตัดใบลำเจียก และจะช่วยกันสานเสื่อไว้สำหรับใช้ในงานแต่งงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการสานเสื่อนั้น ทำสืบต่อกันมาช้านาน เพราะในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง กล่าวถึงเรื่องราวของเสื่อลำเจียก หรือเสื่อปาหนันไว้

เตยปาหนัน เป็นพืชที่อยูในพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าชายเลน ลำต้นสูงประมาณ 2 เมตร ใบมีหนาม นางละมุล หลีดี ประธานกลุ่มพัฒนาหัตถกรรมบ้านวังหิน ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านการจักสานใบเตยปาหนันมาจากมารดา ครั้งแรกที่ทำได้จักสานเป็นกระสอบ เพื่อใช้ในการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูการทำนา และใส่ข้าวสารใช้ในครัวเรือน หลังจากนั้นเมื่อว่างจากการทำนา เห็นว่าต้นเตยปาหนันซึ่งขึ้นอยู่ธรรมชาติ มีจำนวนมาก จึงได้ตัดมาจักสาน และพัฒนารูปแบบเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ของครอบครัว

เนื่องจากใบเตยปาหนันมีความเหนียวกว่าเตยชนิดอื่น ๆ เช่น เสื่อปูนั่ง หมวก หมอน หมุกยา หมุกใส่ของใช้ต่าง ๆ เมื่อนำไปจำหน่ายในงานต่าง ๆ ผู้คนสนใจให้การยอมรับ มีการสั่งทำเป็นจำนวนมาก จึงได้ถ่ายทอดให้เพื่อนบ้าน แม่บ้านที่ว่างจากการทำสวนได้หัดทำและรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อแบ่งงานกันทำและส่งให้ลูกค้าได้ทัน สร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่มเป็นอย่างดี เป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านในหมู่บ้าน

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์

–                   เป็นงานฝีมือ หัตถกรรมท้องถิ่นที่มีความงามและมีศิลปะที่เกิดจากการผสมกลมกลืนของรูปทรง โครงสร้าง และลวดลายเป็นอย่างดี มีความละเอียดและปราณีต

–                   ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม ทั้งด้านรูปแบบ สีสัน ลวดลายในการจักสาน

–                   ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย

–                   ใช้วัสดุในท้องถิ่นในการจักสาน สะท้อนให้เห็นคตินิยมของท้องถิ่น ลักษณะวัฒนธรรมการประกอบอาชีพ การดำรงชีพ และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น

งานฝีมือ หัตถกรรมท้องถิ่นที่มีความงามและมีศิลปะที่เกิดจากการผสมกลมกลืน ของรูปทรง โครงสร้าง และลวดลายเป็นอย่างดี มีความละเอียดและประณีต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1.ใบเตยปาหนัน ตัดมาจากต้นเตยปาหนันที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติและจากการปลูกเอง
2. เส้นตอก ตอกจากใบเตยปาหนันที่ผ่านขั้นตอน การทำเป็นวัสดุพร้อมที่จะเป็นเสื่อ และผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ
3. เครื่องรีด ใช้สำหรับรีดใบเตย และเส้นตอกเตยให้แบนเรียบและนิ่ม
4. ไม้กรีด ใช้สำหรับกรีดใบเตยดิบให้เป็นเส้นตอก ตามขนาดที่ต้องการหรือเรียกว่า ย่าหงาดหรือเล็บแมว
5. มีด ใช้สำหรับตัดหนามหลังของใบเตยดิบให้เป็น 2 ซีก
6. กรรไกร ใช้สำหรับตัดเส้นตอกใบเตยให้ได้ความยาวที่ต้องการหรือเส้นใยต่าง ๆ
7. ไม้ขูด ใช้สำหรับขูดรีดเส้นตอกขณะกำลังนั่งสานให้เรียบนิ่ม
8. ไม้ทับ ใช้สำหรับเหยียบทับเส้นตอกขณะนั่งสานเป็นผืนเสื่อ ให้ผืนเสื่อตรงและสานได้ ง่ายขึ้น
9. สารเคมี ใช้สำหรับย้อมเส้นตอกเตยให้เป็นสีต่าง ๆ ตามต้องการ
10. เตาถ่าน ใช้สำหรับก่อไฟต้มเส้นตอกใบเตยดิบ และต้มย้อมสีเส้นตอก
11. กระทะ เป็นภาชนะใช้สำหรับต้มน้ำย้อมสีเส้นตอกเตย

ขั้นเตรียมการ (การเตรียมใบเตยให้เป็นเส้นตอก)

1. การเลือกตัดวัตถุดิบจากต้นเตยปาหนัน จะต้องเลือกใบที่มีขนาดไม่อ่อนและแก่จนเกินไป

2. เมื่อตัดใบเตยได้แล้ว นำมามัดกับเชือกเถาให้เป็นกำ ตัดโคนใบและตัดปลายให้ได้ใบเตยมีความยาวเสมอกัน เพื่อความสะดวกในการนำกลับไปทำขั้นตอนต่อไป

3. ใบเตยดิบที่ตัดมาจากต้นแล้ว นำแต่ละใบมากรีดหนามหลังใบออกจะได้ใบเตยเป็น ๒ ซีก นำไปผึ่งแดดประมาณ ๕-๑๐ นาที ให้พอใบเริ่มเหี่ยว

4. นำใบเตยดิบที่ผึ่งแดดแล้วมารีดด้วยเครื่องรีด ให้แบบเรียบและนิ่ม

5. นำใบเตยที่รีดแล้วมากรีดเป็นต้นตอก ด้วยอุปกรณ์กรีด เรียกว่า ย่าหงาด ตามขนาดที่ต้องการแล้วแยกหนามข้างใบและเส้นตอกเตยออกจากกัน

6. นำเส้นตอกเตยมารีดด้วยเครื่องรีดอีกครั้ง และรวบรวมเป็นกำผูกมัดด้วยเชือกให้เป็นก้อน ขนาดพอประมาณ

7. นำเส้นตอกเตยที่มัดเป็นกำหรือก้อนแล้วไปต้มในน้ำที่เดือด ประมาณ 3- 5 นาที

8. นำเส้นตอกเตยที่ผ่านการต้มแล้วไปแช่น้ำเปล่า โดยนำของหนักไปทับให้ตอกเตยจมอยู่ใต้น้ำ แช่ไว้ประมาณ 2 คืน จะทำให้สีเขียวของเตยละลายปนอยู่กับน้ำจะได้เส้นตอกเตยสีขาวเหลือง

9. น้ำเส้นตอกเตยที่แช่น้ำไว้ ประมาณ ๒ คืน มาตากแดดให้แห้งประมาณ ๑ วัน

10. จะได้เส้นตอกเตยที่ตากแดดแห้งแล้วเป็นสีขาวนวล รวบรวมมัดเป็นกำให้มีขนาดและความยาวเท่าๆ กัน เก็บไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก จะทำให้เส้นตอกเตยไม่อับชื่น จะเป็นเส้นตอกเตยปาหนันที่พร้อมจะใช้สานเป็นอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ที่มีสีนวลเป็นสีธรรมชาติ หรือสานเป็นภาชนะต่างๆ ที่ต้องการได้

ขั้นตอนการย้อมสี

หากต้องการเสื่อ หรือภาชนะที่มีสีสันสวยงาม จะต้องนำเส้นตอกเตยมาย้อมสี ด้วยสีเคมี จะได้เส้นตอกเตยที่มีสีต่างๆ ตามที่ต้องการ

1. นำสีเคมีที่จะย้อมมาผสมกับน้ำละลายในอัตราส่วนที่ต้องการสำหรับการย้อม ใส่ในกระทะสำหรับย้อมสี

2. นำกะทะไปตั้งไฟต้มน้ำให้เดือด

3. นำเส้นตอกเตยแห้งมัดเป็นกำ ไปแช่น้ำให้เปียกทั่วทุกเส้นและเพื่อชำระสิ่งสกปรกอันจะเป็นอุปสรรคต่อการย้อมสีได้ แล้วผึ่งให้น้ำสะเด็ดแห้งพอหมาด

4. น้ำตอกเตยที่แห้งพอหมาดๆ ใส่ในกะทะย้อมสี คนให้เส้นตอกเตยติดสีให้ทั่วทุกเส้น ประมาณ ๓-๕ นาท

5. นำใบเตยที่ผ่านการย้อมแล้วไปแช่ด้วยน้ำเย็น ชำระล้าง ๒-๓ ครั้ง ให้น้ำสีออกหมดเป็นน้ำใสสะอาด แล้วจึงนำไปผึ่งตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1 วันจะได้เส้นตอกใบเตยที่ผ่านการย้อมสี เป็นสีต่างๆ ตามที่ต้องการ ที่พร้อมจะใช้งาน สานเป็นเสื่อหรือสิ่งต่างๆ ที่ต้องการ

ขั้นการผลิต( สานเป็นเสื่อ )

1. สถานที่สานภายในบ้านหรือชานเรือนหน้าบ้านที่เป็นพื้นเรียบ

2. นำเส้นตอกเตยมารีดด้วยเครื่องรีดให้เรียบและนิ่มให้พอประมาณสำหรับการใช้งาน

3. รวบรวมเส้นตอกเตยที่ผ่านการรีดแล้วจับเป็นกำให้มีความยาวเท่ากันแล้วพับกึ่งกลาง

4. การนั่งสานด้วยท่านั่งขัดสมาธิหรือ นั่งชันเขาข้างเดียวตามถนัด โดยเริ่มสานจากกึ่งกลางของเส้นตอกที่พับไว้แล้ว นำเส้นตอก 2 เส้นมาสานเป็นลายขัดหรือเรียกว่าลายหนึ่ง โดยนำเส้นตอกมาขัดยกหนึ่งข่มหนึ่งไปเรื่อยๆ จนหมดเส้นตอกหรือได้ความยาวของเสื่อที่ต้องการ แล้วตกแต่งริมเก็บขอบให้สวยงาม จะได้เป็นผืนเสื่อที่ต้องการ

5. การเก็บขอบ หรือพับริมเสื่อ หรือชาวบ้านเรียกว่า “เม้น” เป็นการตกแต่งปลายตอกที่เหลือก่อนจะเป็นผืนเสื่อที่สวยงาม ทำได้มี ๒ แบบ คือ การพับกลับและแบบช่อริม

การพับกลับ เป็นการพับปลายเส้นตอกกลับเข้ามาผืนเสื่อสานตามลายเดิม ประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วตัดส่วนตอกที่เหลือออกตกแต่งให้สวยงาม

การช่อริม  เป็นการพับปลายตอกที่เหลือให้คุมกันเองคล้ายกับการถัก แล้วตัดส่วนตอกที่ เหลือออกให้สวยงาม

ขั้นหลังการผลิต

1. เสื่อที่สานเสร็จเรียบร้อยแล้วจะถูกเก็บเก็บรักษาไว้ในที่ร่ม ไม่ให้ถูกน้ำฝน เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย วิธีการเก็บรักษา มี ๒ แบบ คือ เก็บเป็นม้วนๆ และนำแต่ละผืนมาซ้อนๆ กันทับกันเป็นชั้นๆ

2. เมื่อได้ผืนเสื่อ ตามขนาดและสีสันที่ต้องการ แล้ว สามารถนำออกไปจำหน่าย หรือใช้งานตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมีราคา ตั้งแต่ ๕๐ – ๑,๐๐๐ บาท ตามขนาดรูปร่างหรือรูปแบบของลายต่างๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น

เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต

ใช้ใบเตยขนาดพอดี ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ให้ความสำคัญกับการจักตอกให้เส้นมีขนาดเท่ากัน การย้อมเส้นสีตอกจะต้องมีความสม่ำเสมอ สีที่ย้อมต้องมีคุณภาพดีสีไม่ตก และเมื่อย้อมเสร็จแล้วจะต้องตากแดดให้แห้งเพราะไม่เช่นนั้นเส้นตอกจะมีความชื้นและเป็นเชื้อรา ก็จะได้ผลิตภัณฑ์เตยปาหนันที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้า

 

ใส่ความเห็น