ภูมิปัญญากุ้งแก้วสอลีฮะ

ภูมิปัญญากุ้งแก้วสอลีฮะ

 

ประวัติความเป็นมา

กุ้งแก้วเป็นสินค้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของอำเภอปากพะยูน มานามเนื่องจากกุ้งทะเลสาบปากพะยูนเป็นกุ้งน้ำกร่อย เนื้อกุ้งมีรสหวาน สามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลายชนิด เช่น กุ้งแก้ว กุ้งไม้ กุ้งเสียบ กุ้งหวาน ผู้บริโภคนิยมรับประทานและเป็นของฝาก

กุ้งแก้วเป็นการถนอมอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนอำเภอปากพะยูน ที่ต้องการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าให้กับกุ้งขาว ซึ่งเป็นกุ้งที่มีมากในทะเลสาบปากพะยูน ที่ชาวประมงจับขึ้นมาขายเป็นกุ้งสด แล้วยังมีกุ้งเหลือเป็นจำนวน จึงคิดหาวิธีในการรักษากุ้งไว้บริโภคได้นาน จึงได้คิดวิธีในการทำกุ้งแก้วขึ้น จากการทำกุ้งไม้กุ้งริ้วที่มีการทำกันอยู่แล้ว ทำให้ได้ผลิตที่มีลักษณะ เป็นมันแววเหมือนแก้ว มีรสหวานเนื้อกุ้ง จึงได้ตั้งชื่อว่า “กุ้งแก้ว” ในช่วงแรกยังไม่มีคนนิยมรับประทาน จึงได้นำไปฝากขายที่ตลาดกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต้องใช้กลยุทธทางการตลาดทั้งแจก ลดราคา แถม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทดลองบริโภค บัดนี้เป็นเวลา 30 กว่าปี กุ้งแก้วจึงเป็นอีกหนึ่งของฝากที่คนรู้จักและนิยมอย่างแพร่หลาย

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์

1. กลิ่นหอม กรอบ

2. หวานด้วยรสกุ้งธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งกลิ่น สี รส ไม่ใส่สารกันบูด

3. นำไปประกอบอาหารได้หลายหลายชนิด เช่น ต้มโคล้ง แกงเลียง น้ำพริก ยำ ทอดรับประทาน

4. เก็บไว้ได้นาน 

 วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1. กุ้งสด 7 กิโลกรัม

2. น้ำ 10 ลิตร

3. ถ่าน 3 กิโลกรัม

4. เตาถ่าน 2 ลูก

5. ตะกร้า

6. ตะแกรง

ขั้นตอนการผลิต

1. นำกุ้งไปเด็ดหัว ล้างให้สะอาด

2. แช่น้ำเกลือ 30 นาที

3. วางให้แห้งหมาดๆ

4. นำไปย่างไฟอ่อน ๆ บนตะแกรงที่เตรียมไว้ ประมาณ 5 ชั่วโมง

5. นำไปบรรจุถุงเพื่อส่งจำหน่าย

เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต

1. คัดเลือกเฉพาะกุ้งขาวจากทะเลสาบปากพะยูน ซึ่งเป็นทะเลสามน้ำ ทำให้กุ้งมีเนื้อหวานตามธรรมชาติ

2. รักษาคุณภาพ รักษาความสะอาดในทุกขั้นตอนการผลิต

3. ย่างไฟให้แห้งพอประมาณ โดยกุ้งสดจำนวน 7 กิโลกรัม ย่างให้แห้งเหลือ 1 กิโลกรัม

ใส่ความเห็น