ภูมิปัญญาผ้าบาติก

ภูมิปัญญาผ้าบาติก

ประวัติความเป็นมา

จุดเริ่มเกิดจากนางภัณฑิลา เหมรักษ์ เป็นคนชอบงานศิลปะทั้ง ๆ ที่เรียนสายวิทย์ต่อมาได้ซื้อภาพเขียนผ้าบาติกมาติดฝาผนังที่บ้าน และนั่งมองภาพเขียนผ้าบาติกแล้วสร้างจินตนาการขึ้นมา จึงอยากทดลองเขียนผ้าบาติกดูบ้าง จึงไปซื้อผ้าและอุปกรณ์มาทดลองทำ แรกๆ ผลงานไม่สวย แต่ก็ได้ทำตามความตั้งใจ เพราะมีใจรักในงานศิลปะการทำผ้าบาติก และได้ทำผ้าบาติกเป็นงานอดิเรกเรื่อยมาเป็นการฝึกฝนพัฒนาฝีมือขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมา ปี 2540 รู้จักกับคนขายเสื้อบาติกบนแหลมพรหมเทพ ก็เลยฝากผลงานไปขาย ปรากฏว่าขายได้ ทำให้มีรายได้ ต่อมาความต้องการของตลาดมีมากขึ้น จึงหันมาทำผ้าบาติกเป็นอาชีพหลัก และได้เผยแพร่ความรู้และสอนการทำผ้าบาติกให้กับผู้ที่สนใจในหมู่บ้าน เพื่อกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน จนกระทั่งปี 2546 จึงได้รวบรวมผู้ที่สนใจจัดตั้งเป็นกลุ่มทำผ้าบาติก หมู่ที่ 5 ตำบลท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาวขึ้น โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มรักษ์บาติก” เพราะเกิดจากความรักในศิลปะการทำผ้าบาติกและต้องการจะสืบสานศิลปะบนผืนผ้าอันงดงามนี้สืบไป โดยองค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาวได้สนับสนุนงบกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเงิน 100,000 บาท ซึ่งทางกลุ่มก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนของหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชน อุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ และอีกหลายๆ หน่วยงาน และต่อมาได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก OTOP และปี 2553 ได้ส่งเสื้อเชิ้ตบาติกเข้าคัดสรรฯ ได้ระดับ 5 ดาว

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์

ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าบาติก คือ ศิลปหัตถกรรมบนผืนผ้าอันงดงาม เกิดจากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เขียนลวดลายสีสรรและเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมความเป็นชาตินั้นๆ เช่น การนำเสนอภาพธรรมชาติ ภาพวัฒนธรรม และภาพจากจินตนาการของผู้เขียน เป็นภาพเขียน Free Hand 1 ตัว 1 ลาย 1 เดียวในโลก (กรณีไม่ใช่เสื้อที่สั่งทำเป็นหมู่คณะ)

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1. ผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้ามัสลิน ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าไหมไทย (ก่อนนำผ้ามาใช้ควรซักทำความสะอาดก่อนโดยซักผ้ากับน้ำเปล่าหรือน้ำส้มสายชูเพื่อให้สารฟอกขาวหรือแป้งที่ติดอยู่กับผ้าออกให้หมด)

2. ปากกาเขียนเทียน ใช้ตักน้ำเทียนเพื่อเขียนเส้นเทียนลงบนผ้าสร้างสรรค์เป็นลวดลายต่างๆ

3. เทียนสำหรับเขียนบาติก ใช้สำหรับเขียนลวดลายต่างๆ บนผืนผ้า เพื่อกั้นสีไม่ให้ไหลซึมเข้าหากัน

4. สีสำหรับทำผ้าบาติก เป็นสีย้อมเย็น มีลักษณะเป็นผง นำสีมาผสมกับน้ำอุ่น ปัจจุบันมีสีให้เลือกหลากหลาย

5. ไส้แทงปากกาเขียนเทียน เป็นอุปกรณ์ที่มีด้ามเป็นไม้ ส่วนปลายเป็นเส้นลวดขนาดเล็ก หรืออาจจะใช้สายกีต้าร์เส้นเล็กๆ แทนก็ได้ เพื่อแก้ปัญหาการอุดตันของปากกาเขียนเทียน โดยใช้ส่วนที่เป็นเส้นลวดแทงที่ปลายท่อของปากกา

 6. น้ำยาเคลือบผ้ากันสีตกหรือโซเดียมซิลิเกต

7. พู่กันใช้สำหรับระบายสีผ้าควรเป็นพู่กันสำหรับระบายสีน้ำ ใช้ได้ทั้งชนิดกลมและแบน

8. ภาชนะต้มเทียน ควรเป็นโลหะที่ทนต่อความร้อนได้ดี เช่น อลูมิเนียม สแตนเลส เหล็ก เป็นต้น

9. เตาต้มเทียน ควรเป็นเตาไฟฟ้าที่ปรับอุณหภูมิได้ เพื่อควบคุมความร้อนของน้ำเทียนได้พอดี ทำให้การเขียนเส้นเทียนไม่มีปัญหา

10. เฟรมไม้ขนาดตามผลิตภัณฑ์ เช่น

– ผ้าเช็ดหน้า ใช้เฟรมขนาด 12 X 12 นิ้ว หรือ 17 X 17 ซม.

– เสื้อ ใช้เฟรมขนาด 135 X 180 ซม.

11. อุปกรณ์สำหรับต้มผ้า ได้แก่ กะละมังอลูมิเนียมหรือสแตนเลส ปิ๊บน้ำ หรือหม้อที่สามารถต้มน้ำเดือดได้ ส่วนเตาที่ใช้ต้มผ้าจะเป็นเตาแก๊สหรือเตาถ่านก็ได้

12. อุปกรณ์ทั่วไป ได้แก่

– แปรงขนาดใหญ่หรือลูกกลิ้ง สำหรับทาน้ำยาเคลือบกันสีตก

– กระป๋องพลาสติกขนาดเล็กสำหรับเก็บสีที่ผสมแล้ว

– จานสีหรือรางพลาสติกสำหรับทำน้ำแข็งภายในตู้เย็นสำหรับผสมสีเพื่อระบายควรเป็นสีขาว

– ดินสอ 2B หรือ 3B /ยางลบ /ไม้บรรทัดขนาดยาว

– สายวัด /กรรไกร /คัดเตอร์

– กะละมังหรือถังน้ำพลาสติกใช้ในการซักล้าง

– ถุงมือยางใช้ป้องกันไม่ให้มือสัมผัสกับสารเคมีจากน้ำยาโซเดียมซิลิเกต

– สบู่เหลวหรือผงซักฟอก

ขั้นตอนการผลิต

1. ขึงผ้าบนกรอบไม้ ให้นำผ้ามาขึงบนกรอบไม้ที่ทาเทียนไว้แล้ว โดยใช้ด้ามพู่กันถูบนผ้าไปมาทั้ง 4 ด้าน ดึงผ้าให้ตึงทีละด้าน

2. ร่างแบบ นำแบบมาวางด้านล่างกรอบไม้ที่ขึงผ้าไว้ ใช้ดินสอร่างภาพตามแบบที่ต้องการ

3. เขียนเทียน ใช้ปากกาเขียนเทียนเขียนตามเส้นดินสอที่ร่างแบบไว้

4. ระบายสี ระบายสีภาพตามแบบที่ร่างไว้

5. เคลือบน้ำยากันสีตก ใช้แปรงจุ่มโซเดียมซิลิเกตทาให้ทั่วผืนทิ้งไว้ 6-12 ชั่วโมง

6. ซักน้ำยาเคลือบ นำผ้าไปซักล้างโซเดียมซิลิเกตด้วยน้ำธรรมดา เปลี่ยนน้ำบ่อยๆ จนน้ำที่ซักใส

7. ต้มลอกเทียนและทำความสะอาดผ้า 2 ครั้ง ดังนี้

8. ต้มผ้าครั้งแรกด้วยน้ำร้อนให้ทั่วผืน แล้วใช้ไม้เกี่ยวผ้ายกขึ้น – ลงหลายๆ ครั้งให้เทียนหลุด

– ต้มผ้าครั้งที่สอง โดยใช้สบู่เหลวหรือผงซักฟอกใส่ลงไปในน้ำร้อน แล้วล้างผ้าให้สะอาด นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่มหรือแดดอ่อน

จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการตกแต่งผ้าหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกอื่น ๆ เช่น เย็บผ้าเป็นผ้าเช็ดหน้า หรือตัดผ้าเป็นเสื้อสุภาพบุรุษ – สตรี และอื่น ๆ ตามต้องการ

เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต

ขณะทำผ้าบาติก การผสมน้ำเทียนต้องพอดี เวลาเขียนลายเส้นเทียนจะคมชัดและสวยงาม ไม่แตกง่าย สำหรับสีลงผ้าบาติกจะผสมน้ำอุ่นเพื่อให้สีแตกตัวได้ดี และมีสีสดสวย การผสมสีควรผสมให้พอดีในการใช้งาน ไม่ให้เหลือแต่ละครั้ง

การเคลือบน้ำยากันสีตก ต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำยาทำปฏิกิริยาจับเนื้อผ้าให้คงทนยิ่งขึ้น

ใส่ความเห็น