การศึกษาหัตถกรรมจักสานครุน้อย บ้านสะอาง ต.ห้วยเหนือ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ

ชื่อเรื่องภาษาไทย:  การศึกษาหัตถกรรมจักสานครุน้อย บ้านสะอาง  ตำบลห้วยเหนือ  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ: A  study  of Kru Noi  Handicraft  Sa-ang Village Huai Nua  Sub-District    Khu Khan District  Sisaket  Province

 

สรุปภาษาไทย

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์

1.  เพื่อศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในวิถีชีวิตของชาวบ้าน

2.  เพื่อศึกษาการสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมที่กำลังจะสูญหายให้คงอยู่กับเยาวชนรุ่นหลัง

3.  เพื่อศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน  เก็บข้อมูลด้วยวิธีทดลองปฏิบัติ สังเกต สัมภาษณ์เจาะลึกเป็นรายบุคคล (In-depth Interview) และสนทนากลุ่ม (Focus Group Interview) ผลการศึกษาวิจัยดังนี้

1. ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในวิถีชีวิตของชาวบ้าน พบว่า ชาวบ้านสะอางในอดีตใช้ภูมิปัญญาเพื่อช่วยเหลือตัวเอง ผลิตปัจจัยการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ครุตักน้ำไว้ใช้สอยในครัวเรือน เพราะพื้นที่บริเวณเขตอำเภอขุขันธ์ และบ้านสะอาง มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ  มีต้นสะแบง ให้ผลผลิตน้ำมันยาง (ขี้ยาง) และต้นจิกให้ผลผลิตชัน (ขี้ซี) นำมาผสมกันใช้สำหรับทาครุกันน้ำรั่วซึมใช้สำหรับตักน้ำ  แต่ในปัจจุบันป่าถูกจับจองเป็นพื้นที่นา คงเหลือต้นไม้ที่ให้ผลผลิตน้ำมันยาง และชันจำนวนน้อยมาก  ต้องหาซื้อจากที่อื่นและมีราคาแพง ประกอบกับปัจจุบันไม่นิยมใช้ครุไปตักน้ำ เนื่องจากมีครุสังกะสีที่คงทนกว่าและมีราคาถูกกว่ามาแทนที่  ชาวบ้านจึงเลิกสานครุขนาดใหญ่ขาย  ต่อมามีการดัดแปลงหาทางออกเพื่อจะสานครุขายให้ได้ราคาดี  ประมาณปี พ.ศ. 2494  นายบุญทิศ  ดวงจันทร์  ประชาชนชาวบ้านสะอาง เป็นผู้ดัดแปลงการสานขนาดของครุจากขนาดใหญ่ให้เล็กลง เรียกว่า “ครุน้อย”  ครุน้อยที่นายบุญทิศ  ดวงจันทร์  สานเป็นที่สนใจของท้องตลาด จึงมีชาวบ้านทำตามสืบมาจนถึงปัจจุบัน

2. การสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมที่กำลังจะสูญหายให้คงอยู่กับเยาวชนรุ่นหลัง พบว่า หลังจากที่นายบุญทิศ  ดวงจันทร์ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสานครุให้เล็กลง  อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าหน้าที่กองศิลปาชีพ สวนจิตรดา นำโดย หม่อมราชวงศ์จิริกัญญา  กิติยากร (โชติกเสถียร)  ได้มาเยี่ยมหมู่บ้านนี้ ได้พบเห็นครุน้อยที่บ้านของคุณเอ็นดู  ศรีแก้ว (ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มหัตถกรรมจักสานครุน้อย) เป็นที่น่าสนใจจึงมอบหมายให้ทำส่งไปยังวังสวนจิตรดา ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันกิจกรรมการจักสานครุน้อยก็เกิดขึ้น มีการจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมจักสานครุน้อยเพื่อเป็นสื่อกลางรับซื้อ  และจำหน่ายครุน้อยภายในชุมชน  ภายในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านสะอางมีรายได้ดีขึ้นและการสานครุน้อยทำเป็นอาชีพเสริม รองจากอาชีพการทำนา ทำไร่ ปัจจุบันโรงเรียนบ้านสะอาง (ประชาสามัคคี) ได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง การจักสานครุน้อย สอนเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5-6  เพื่อให้เยาวชนเห็นคุณค่าทางภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน และอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านนี้ไว้สืบไป  นอกจากนั้นยังเปิดทำการฝึกอบรมอาชีพการจักสานครุน้อยที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ  ขุขันธ์  วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ  และชุมชนบ้านตะแบก  คุณเอ็นดู  ศรีแก้ว  ผู้นำกลุ่มหัตถกรรมจักสานครุน้อย รับเป็นวิทยากรพิเศษฝึกอบรมอาชีพการสานครุน้อยให้แก่เยาวชนผู้สนใจอีกด้วย

3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิม ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน พบว่า กลุ่มหัตถกรรมจักสานครุน้อยได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ครุน้อย จากที่เคยสานครุขนาดใหญ่ดัดแปลงสานให้เล็กลงตามความต้องการของตลาด หลายขนาดจนถึงขนาดจิ๋วและคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ แล้วนำครุน้อยไปประดิษฐ์เป็นพวงกุญแจ  พวงองุ่น  เข็มกลัด ต่างหู ดอกกุหลาบ  ดอกทานตะวัน และครุน้อยขนาดต่างๆ เป็นของที่ระลึก ตามความต้องการของท้องตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น  และยังมีการพัฒนาการผลิตตามตัวอย่างแบบที่ลูกค้าต่างประเทศสั่งซื้อด้วย เช่น กรณีของลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาให้ชาวบ้านแกะลายสานทำตามแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการแล้วส่งออกเป็นรายเดือน

ใส่ความเห็น