หัตถกรรมไม้ไผ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หัวข้อเรื่อง: หัตถกรรมไม้ไผ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ชื่อผู้เขียน: บุญเลิศ สดสุชาติ
สรุปภาษาไทย
การวิจัยเรื่องหัตถกรรมไม้ไผ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
1. เพื่อทราบถึงประเภทและรูปแบบของหัตถกรรมไม้ไผ่ที่ชาวบ้านผลิตและใช้งานตามรูปแบบดั้งเดิมกับลักษณะที่อาจเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
2. เพื่อทราบถึงปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาหัตถกรรมไม้ไผ่
การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีทดลอง การสัมภาษณ์ผู้รู้ การสังเกตและการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ ผลการวิจัยพบว่า ช่างชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมใช้ไม้สีสุกในงานหัตถกรรมประเภทเครื่องจักสานมากที่สุด หัตถกรรมที่ชาวบ้านผลิตใช้ในชีวิตประจำวัน แบ่งเป็น 9 ประเภท คือ 1) ภาชนะประกอบอาหาร 2) เครื่องมือจับสัตว์ 3) เครื่องใช้ภายในบ้าน 4) ส่วนประกอบสิ่งก่อสร้าง 5) เครื่องมือเพาะปลูก 6) เครื่องใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ 7) เครื่องมือประกอบนันทนาการ 8) เครื่องใช้ประอบความเชื่อ และ 9) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับร่างกาย เช่น หมวก พัดและอื่น ๆ
การพัฒนาหัตถกรรมไม้ไผ่ควรอนุรักษ์คุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ ได้แก่ วัสดุ กรรมวิธีการผลิตและอุปกรณ์ในการผลิต ส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์ควรประยุกต์ในด้านสัดส่วน รูปทรง พื้นผิว สี ลวดลายและประโยชน์ใช้สอย
ปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาหัตถกรรมไม้ไผ่ พบว่า ค่านิยมของคนส่วนใหญ่เห็นว่า งานหัตถกรรมไม้ไผ่ไม่เหมาะสมสำหรับคนธรรมดา แต่ควรเป็นงานของนักโทษมากกว่า ความสนใจศึกษาและฝึกฝนงานด้านนี้ของคนหนุ่มสาวลดลง คงเหลือแต่คนสูงอายุเท่านั้นที่ยังคงทำอยู่ บุคคลเหล่านี้มักไม่ค่อยยอมรับแนวคิดใหม่ในการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ วัตถุดิบที่สำคัญ คือ ไม้ไผ่และหวายขาดแคลน ชาวบ้านไม่นิยมปลูกไม้ไผ่เพราะความเชื่อที่ว่าจะทำให้ผู้ปลูกอายุสั้น ปัญหาแหล่งตลาดสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ยังอยู่ในวงแคบ ควรหาทางขยายให้กว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ
ใส่ความเห็น
Comments 0