การทำเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ ม.4 ต.สทิงหม้อ อ.เมือง จ.สงขลา

หัวข้อเรื่อง: การทำเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ หมู่ที่ 4 ตำบลสทิงหม้อ  อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ชื่อผู้เขียน: สุภาคย์ อินทองคง

สรุปผลการวิจัย  อภิปรายและข้อเสนอแนะ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพการทำเครื่องปั้นดินเผา  ที่มีผบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคม  เอกลักษณ์ของเครื่องปั้น  ปัญหาอุปสรรคในการทำ  แนวทางแก้ไขและการอนุรักษ์ส่งเสริมและเพื่อแสวงหาคุณค่าทางวัฒนธรรม  ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับการทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้านสทิงหม้อ  ตำบลสทิงหม้อ  อำเภอเมือง  จังหวัดสงขลา

การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยแบบสำรวจเก็บข้อมูลจากภาคสนามเป็นหลัก  โดยเก็บทั้งในบริเวณบ้านสทิงหม้อและบริเวณสำคัญที่มั่นใจและคาดคะเนว่ามีส่วนสัมพันธ์กับบ้านสทิงหม้อ  โดยยึดเอาเส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นสำคัญ  ทั้งด้านฝั่งทะเลด้านตะวันออก (อ่าวไทย) ฝั่งทะเลสาบสงขลาและฝั่งทะเลด้านตะวันตก (ทะเลอันดามัน) ใน 12 จังหวัดภาคใต้    คือ  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช พัทลุง  สงขลา  ปัตตานี ยะลา  นราธิวาส สูตล  ตรัง  ภูเก็ตและพังงา  โดยสำรวจหมู่บ้านในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวทั้งสิ้น 15 หมู่บ้าน  และสำรวจร้านค้าเครื่องปั้นในเมืองใหญ่ๆ ของภาคได้ทุกเมือง  โดยการใช้แบบสอบถามและเก็บรวบรวมชิ้นส่วนเครื่องปั้นสำคัญที่สำรวจพบ  และเก็บข้อมูลเอกสารเท่าที่แสวงหาได้ประกอบสรุปผลการวิจัยเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้

1. สภาพการทำเครื่องปั้นดินเผาของบ้านสทิงหม้อ  ในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ  กล่าวคือ  ในอดีตเมื่อประมาณ 80-90 ปีล่วงมาแล้ว  มีผู้ประกอบการ 40-50 ครอบครัว  แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 9 ครอบครัว  จำนวนผู้มีความรู้  ความชำนาญจำนวนเตาเผารายได้ที่ส่งผลต่อการอดออมและผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของชุมชนในอดีตมีปริมาณสูงกว่าในปัจจุบัน  และคุณภาพของเครื่องปั้นในเชิงศิลปในอดีตก็สูงกว่าปัจจุบัน

2. ผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจและสังคม  ในทางบวกอันเกิดจากการทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีต่อชาวสทิงหม้อ  สรุปได้ดังนี้

2.1 การใช้แรงงาน  มีการใช้แรงงานอย่างทั่วถึง  ถ้าการประกอบการดำเนินไปด้วยดีจะไม่มีผู้ว่างงาน

2.2 การแบ่งงาน  มีการแบ่งงานกันรับผิดชอบระหว่างเพศชาย หญิง  ตามลักษณะของหน้าที่ คือ หญิงปั้น-ชายเผา

2.3 รายได้  มีการขึ้นลงตามความต้องการของตลาดผู้ใช้  เมื่อพิจารณาจุดกึ่งกลางของการขึ้นลงสังเกตได้ว่า  ผู้ประกอบการมีรายได้พอแก่การดำรงชีพโดยไม่ต้องประกอบอาชีพอื่น

2.4 ความเป็นเมือง  ผลจากการเติบโตของกิจการทำเครื่องปั้นในช่วงระยะหนึ่งในอดีต  ก้อให้เกิดชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นคล้ายกับจะเป็นชุมชนเมือง

2.5 ความสัมพันธ์ทางสังคม  จากลักษณะของอาชีพมีส่วนในการเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างสามี-ภรรยา  และเป็นผลดีต่อการให้การอบรมบ่มนิสัยแก่บุตร-ธิดาอีกด้วย

2.6 สุขภาพอนามัย ลักษณะของอาชีพมีส่วนในการเสริมสร้างพลานามัยไปโดยอัตโนมัติ

2.7 การปกครอง  การไม่ว่างงาน  การมีรายได้พอประมาณ  การมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างหัวหน้าครอบครัว  การมีโอกาสให้การอบรมลูกๆ อย่างใกล้ชิด  ส่งผลดีต่อการปกครองท้องที่ได้เป็นอย่างดี

3. กรรมวิธีอุปกรณ์เครื่องมือ  และเทคนิคในการผลิตเครื่องปั้น  ยังอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม  มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงน้อยมาก  การเตรียมดิน  คือ  การนวดดิน  ผสมดินก่อนนำมาปั้นรูป  ใช้แรงงานคนทั้งหมด  อุปกรณ์เครื่องมือมีจอบ  เสียม  เป็นต้น  การผสมส่วนก็ใช้วิธีประมาณการหรือใช้สายตาคาดคะเนเอาเอง  การปั้นรูปขึ้นรูปกระทำโดยใช้แป้นหมุนชนิดมือหมุนทั้งหมด  ไม่มีการขึ้นรูปโดยวิธีอื่น  การตบแต่งรูปทรงและลวดลายหลังจากขึ้นรูปแล้วมีไม่มากนัก  มีการขัดผิว  ทำก้น  ตีลาย  ขีดลาย  และฉลุลาย  การเผาใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด  การกำหนดอุณหภูมิใช้วิธีการสังเกตสีของเครื่องปั้นและสีของปล่องไฟ  อาศัยประสบการณ์ความชำนาญของผู้เผาเป็นหลัก  จึงจะได้ผลดี ในอดีตไม่มีร่องรอยการเผาเคลือบ  ในปัจจุบันมีการทดลองเผาบ้าง  แต่ไมได้ผลเพราะขาดประสบการณ์ทางเทคนิคและทุนดำเนินการ  เตาเผาด้านปริมาณในอดีตมีจำนวนมากกว่าปัจจุบัน  ด้านขนาดมี 2 ขนาดคือ ขนาดกลางและขนาดเล็ก  ด้านลักษณะหรือชนิดมี 2 ชนิด  คือ  เตากลมหรือเตายืน  และเตากูบและเตานอน  ความสามารถในการใช้งานของเตา  ใช้สำหรับเผาดิบอย่างเดียว

4. เอกลักษณ์ของเครื่องปั้นบ้านสทิงหม้อ  เอกลักษณ์ทั่วไปที่กำหนดได้  มีดังนี้

4.1 เนื้อดิน  เนื้อดินอันเป็นตัวของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด  จะมีสีและความละเอียดต่างจากเครื่องปั้นแหล่งสำคัญ  คือ  ปากเกร็ด  นนทบุรี  คือ  มีเนื้อสีอ่อนกว่าและหยาบกว่า

4.2 ลักษณะรูปแบบ  ลักษณะรูปแบบที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมี 3 ชนิด คือ หม้อหุงต้ม  หม้อสวดหรือสวดและเพล้ง

4.3 สีผิว  สีผิวของผลิตภัณฑ์จะเป็นสีแดงเรื่อคล้ายสีหมากสุกเข้มกว่าสีของเครื่องปั้น  ซึ่งผลิตจากซอยโรงอ่าง  อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี  แต่อ่อนกว่าผลิตจากปากเกร็ด  นนทบุรี

4.4 ลวดลาย  มีทั้งลายที่เป็นของตนเอง  และรับเข้ามาดัดแปลงเลียนแบบลวดลายที่มั่นใจได้ว่าเป็นของตนเอง  ได้แก่  ลายก้านมะพร้าว  ลายดอกจิก  ลายดอกพิกุล  ลายคิ้วนาง  และลายลูกคลื่น  ลายที่รับเข้ามาและดัดแปลงเลียนแบบมีลายท่าแนะ  ลายลูกแก้ว  เป็นต้น

5. ปัญหาอุปสรรคในการประกอบการ  ปัจจัยสำคัญที่เข้ามามีส่วนทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินสทิงหม้อลดน้อยลงนั้น  มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน  ปัจจัยภายนอกมีการกระจายของสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่  การขาดการเอาใจใส่ของผู้เกี่ยวข้องและปัญหาโจรสลัด  ซึ่งคอยบุกปล้นสะดมเมื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างเมือง  ปัจจัยภายในมีการขาดผู้ช่วยเหลือแรงงาน  ราคาผลิตภัณฑ์ตกต่ำ  เพราะผลกระทบจากปัจจัยภายนอก  ขาดพาหนะขนส่ง  และความชราภาพของผู้ประกอบการเอง  ปัญหาอุปสรรคที่ผู้ประกอบการในปัจจุบันประสบอยู่  แยกได้เป็น 3 ประการ  คือ  ปัญหาการผลิต  การจำหน่าย  และการรักษาเอกลักษณ์

5.1 ปัญหาด้านการผลิต  ได้แก่  ปัญหาเกี่ยวกับวัตถุดิบ  ช่างฝีมือ  การสร้างแบบ  การปั้นหรือการขึ้นรูป  การเผาและแรงจูงใจ

5.1.1 วัตถุดิบ (ดินเหนียวและทราย) แหล่งดินและทรายอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน  มีความไม่สะดวกต่อการขนส่ง  เพราะขาดพาหนะเป็นของตนเองและขาดความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของวัตถุดิบ

5.1.2 ช่างฝีมือ  มีช่างฝีมือเหลือน้อยจำนวนไม่เกิน 20 คน  และใช้แรงงานอยู่จริงไม่เกิน 9 คน  ช่างเผามีไม่เกิน 10 คน  ทั้งหมดอยู่ในหมวดอายุ 50-75 ปีโดยเฉลี่ย  การถ่ายทอดความรู้นั้นมีน้อย  อีก10-20 ปีข้างหน้าคงจะจบลงเพราะขาดการสืบต่อ  และช่างฝีมือทั้งหมดยังขาดความรู้ในเทคนิค  วิธีการขั้นพื้นฐานที่ควรรู้

5.1.3 การสร้างแบบ  ขาดแคลนความคิดในการสร้างแบบที่ดีของผลิตภัณฑ์  เพราะไม่มีการศึกษาสั่งสมผลงานของตนที่เคยทำมาในอดีต  และขาดความรู้ความเข้าใจในการแสวงหา

5.1.4 การปั้นหรือการขึ้นรูป  ช่างปั้นส่วนใหญ่มีความรู้ ความชำนาญในการปั้นภาชนะแบบดั้งเดิม  ผู้ที่สามารถฝึกฝนปั้นภาชนะแบบใหม่ๆ ได้มีเพียงคนเดียว  คือ  นางพร้อม สังฆะโร  เทคนิคในการขึ้นรูปอาศัยแป้นหมุนโดยใช้มือหมุน  ขาดความเที่ยงตรงในแรงเหวี่ยง  จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มีขนาดไม่ได้มาตรฐานและผลิตได้ช้า

5.1.5 การเผา  ช่างยังขาดความรู้พื้นฐานและเทคนิคที่ดีกว่า  ขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่มีคุณภาพดี  ทุกอย่างยังอยู่ในสภาพดั้งเดิม

5.1.6 แรงจูงใจ ขาดแรงจูงใจจากผู้เกี่ยวข้องทางบ้านเมืองและรายได้ลดลง  เกิดความท้อแท้ที่จะประกอบการต่อไป

5.2 ปัญหาด้านการจำหน่าย  ได้แก่ปัญหาเกี่ยวกับตลาดหรือความต้องการของผู้ใช้คุณภาพและทุนในการขยายกิจการ

5.2.1 ตลาดหรือความต้องการของผู้ใช้ตลาดยังอยู่ในวงจำกัด  ด้านพื้นที่จำกัดอยู่เฉพาะในภาคใต้บางส่วน  ผลิตภัณฑ์แบบใหม่ๆ แพร่หลายเฉพาะในเขตเมือง  ผลิตภัณฑ์แบบเดิมแพร่หลายเฉพาะในเขตชนบท

5.2.2 คุณภาพ  ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพด้อยกว่าในหลายด้าน  เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่ได้รับการพัฒนาแล้ว  เช่น  ปากเกร็ด

5.2.3 ทุนในการขยายกิจการ  มีการสะสมอดออมได้น้อยไม่เพียงพอต่อการลงทุนขยายกิจการ  และยังขาดประสบการณ์และความรู้ในการทำกิจการให้ใหญ่โตกว้าง

5.3 ปัญหาด้านการรักษาเอกลักษณ์  ผู้ประกอบการขาดความรู้  ความเข้าใจและความภาคภูมิใจในเรื่องเอกลักษณ์ของผลงานของตน  แต่มีความกระหายในอันที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากแรงผลักดันด้านเศรษฐกิจ

6. คุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคม  ผลจากการศึกษาพบว่า  เขตการกระจายตัวของวัฒนธรรม คือ  เครื่องปั้นสทิงหม้อได้กระจายไปตามฝั่งทะเลด้านตะวันออก (อ่าวไทย) และฝั่งทะเลสาบสงขลาเกือบทั่วบริเวณภาคใต้  ส่วนฝั่งทะเลด้านตะวันตก (ทะเลอันดามัน) ไม่พบร่องรอยในอดีต  และพบว่ามีร่องรอยวัฒนธรรมเครื่องปั้นในอดีตที่ยาวนาน  ทั้งที่เป็นของสทิงหม้อเองและที่กระจายมาจากแหล่งอื่น  เช่น สุโขทัย  อยุธยา  และเวียดนาม  จากร่องรอยของชิ้นส่วนและซากเตาเผาที่พบมีส่วนช่วยเสริมข้อสันนิษฐานเรื่องที่ตั้งของชุมชนโบราณชุมชนหนึ่งของภาคใต้ที่มีผู้ให้ความเห็นว่า  น่าจะตั้งอยู่ที่ปากคลองสทิงหม้อได้โสดหนึ่ง  และช่วยพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่า  มนุษย์สร้างวัฒนธรรมในรูปศิลปวัตถุขึ้นมาโดยอิงอาศัยอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี  เพราะพบลายเครื่องปั้นที่คิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม  เช่น  ลายลูกคลื่น  ลายดอกพิกุล  เป็นต้น

ด้านประโยชน์ใช้สอยหรือบทบาทของเครื่องปั้นพบว่า  เครื่องปั้นสทิงหม้อมีบทบาทกว้างขวางเกี่ยวกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของชาวใต้  เช่น  บทบาทในการอุปโภคในครัวเรือน  คือ  การหุงต้ม  บทบาทในการรักษาสุขภาพอนามัย  คือ  การต้มยาสมุนไพร  เป็นต้น  บทบาทในการช่วยเสริมสร้างความสงบเยือกเย็นของจิตใจ  คือ  ใช้เป็นกระถางปลูกไม้ประดับ  เป็นต้น  และบทบาทที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง  คือ  บทบาทในการช่วยเสริมสร้างเอกลักษณ์  อันเป็นคุณสมบัติที่ดีให้แก่เยาวชนสตรีของชาวไทยภาคใต้และผู้ใช้ทั่วไป  คือ  ใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องมือในการเสริมสร้างนิสัยรักงานบ้านงานเรือนให้แก่เด็ก  คือ  เครื่องปั้นประเภทของเด็กเล่น  ซึ่งเป็นเครื่องใช้ในครัว  เช่น  หม้อ กระทะ เตาหุงข้าว ต้มแกง  และกระปุกออมสิน  เป็นต้น

อภิปรายข้อเสนอแนะ

จากผลการศึกษามีข้อน่าสังเกตและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1. การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคและการส่งเสริม  เมื่อพิจารณาตามสภาพปัญหาอุปสรรคซึ่งผู้ประกอบการประสบอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการผลิต  การจำหน่ายและการรักษาเอกลักษณ์แล้ว  แนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค  รวมถึงการส่งเสริมซึ่งอยู่ในวิสัยที่น่าจะกระทำได้  มีดังต่อไปนี้

1.1 การผลิต  คือ  ปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับวัตถุดิบ  ช่างฝีมือ  การสร้างแบบ การปั้น การเผา และแรงจูงใจ

1.1.1 วัตถุดิบ  แม้ว่าแหล่งดินที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องปั้นมีมากเป็นร้อยไร่  แต่ยังไม่ปรากฏว่าทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานอื่นใดได้ทำการสำรวจแหล่งดินว่า  แหล่งดินดังกล่าวจะมีปริมาณเท่าใดและอย่างไรแน่  ถ้ามุ่งจะส่งเสริมและพัฒนาให้หัตถกรรมประเภทนี้ของหมู่บ้านเจริญก้าวหน้า  ควรได้มีการสำรวจแหล่งดินดังกล่าวและแหล่งใกล้เคียง  เพื่อพบแหล่งดินแหล่งอื่นและประเภทอื่นได้บ้าง

1.1.2 ช่างฝีมือ  ในเบื้องต้นควรหาโอกาสให้ช่างฝีมือที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้านได้ใข้ความรู้ ความชำนาญของตน  โดยการส่งเสริมให้มีการผลิตมากขึ้น  และควรมีช่างฝีมือที่มีความรู้ ความชำนาญ  ทั้งด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาแนะนำช่างฝีมือพื้นบ้าน  พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจโดยการนำไปศึกษาดูงานที่ทันสมัยกว่า  เพื่อให้ช่างฝีมือเหล่านั้นเกิดความมานะภูมิใจ  พอใจในงานของตน  และหาทางให้ผู้ชำนาญพิเศษในหมู่บ้านได้ถ่ายทอดความรู้ความชำนาญแก้คนรุ่นหลังด้วยอีกทางหนึ่ง  อาจคัดเลือกตัวแทนของหมู่บ้านหรือเยาวชนในหมู่บ้านที่มีพื้นฐานความรู้สามัญพอควรเข้ารับการศึกษาอบรมเรื่องนี้โดยตรงก็น่าจะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยรักษาและพัฒนาหัตถกรรมประเภทนี้ของหมู่บ้านไว้ได้

1.1.3 การสร้างแบบ  การออกแบบเป็นเรื่องค่อนข้างยาก  เพราะนอกจากต้องอาศัยการศึกษาอบรมแล้ว  ผู้จะออกแบบอะไรได้ดีนั้นจะต้องมีความสามารถพิเศษในตัว  หรือพรสวรรค์อีกด้วย  การแก้ปัญหาเรื่องนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายส่งเสริมที่จะแสวงหาผู้มีความรู้ ความชำนาญในการออกแบบและสร้างแบบให้  แล้วมอบให้ผู้ผลิตรับเอาไปดำเนินการก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ทางหนึ่ง

1.1.4 การปั้นหรือการขึ้นรูป  การปั้นเป็นกรรมวิธีในการผลิตที่ส่งผลทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของเครื่องปั้น  กรรมวิธีที่ใช้อยู่เดิม  ถ้าความต้องการของตลาดเพิ่ม  ก็จะมิอาจสนองความต้องการได้เต็มที่เพราะผลผลิตต่อเดือนยังต่ำ  การใช้แป้นหมุนด้วยมือสร้างรูปเครื่องปั้นต้องอาศัยความชำนาญพิเศษ  และต้องออกแรงหมุนถ้าขาดความชำนาญก็จะได้เครื่องปั้นไม่ดีพอ  ควรได้หาทางปรับปรุงและสนับสนุนให้ได้ใช้วิธีปั้นรูปแบบอื่นบ้าง  เช่น  การปั้นรูปด้วยการหล่อแบบ เป็นต้น  หรือไม่ก็ควรใช้เครื่องทุ่นแรงในการหมุนแป้น  คือ  ใช้มอเตอร์แทนแรงคน  ผลผลิตที่ได้ก็จะเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ  คือความประณีตสวยงาม

1.1.5 การเผา  การแก้ปัญหาเรื่องการเผา  การกระทำในลักษณะเดียวกันกับการแก้ปัญหาเรื่องช่างฝีมือ  คือ  ให้ความรู้ในเรื่องการเผาแก่ผู้ประกอบการโดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ  ทั้งในการเผาดิบและเผาเคลือบ

1.1.6 แรงจูงใจ  รายได้และแรงสนับสนุนจากภายนอกเป็นแรงจูงใจให้เกิดวิริยะอุตสาหะในการเพิ่มผลผลิต  ทั้งสองประการมีความสำคัญ  แต่ประการแรกสร้างได้ยากกว่าประการที่สอง  ทั้งสองประการมีความสัมพันธ์กัน  การให้การสนับสนุนทั้งในด้านการผลิตและด้านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์  ให้ผลิตได้ปริมาณมากขึ้นและมีคุณภาพดี  จะส่งผลให้ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น  เพราะมีผลดีเรื่องประโยชน์ใช้สอย  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะส่งผลออกมาเป็นการเพิ่มรายได้ของผู้ผลิต  เมื่อมีรายได้ดีกำลังใจหรือขวัญในการทำงานก็จะมีมากขึ้นและจะดีขึ้น  เมื่อกำลังใจหรือขวัญดีก็มีส่วนช่วยในการผลิตครั้งต่อไป  ฉะนั้น  แรงจูงใจด้านให้การสนับสนุนจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้โสดหนึ่ง

1.2 การจำหน่าย  คือปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับตลาด  คุณภาพของเครื่องปั้นและทุนดำเนินการ

1.2.1 ตลาดหรือความต้องการของผู้ใช้  ถ้าแยกประชากรโดยอาศัยองค์ประกอบ  คือ  อาชีพหลัก  ก็จะได้กลุ่มอาชีพชาวนา  ชาวสวน  หรือเกษตรกรรมมากกว่ากลุ่มอื่น  แต่การใช้เครื่องปั้นประเภทหุงต้มในกลุ่มคนดังกล่าวก็กำลังมีแนวโน้มลดลง  และการใช้เครื่องปั้นประเภทเครื่องประดับตกแต่งก็ยังมีความนิยมน้อย  จึงควรให้ฝ่ายออกแบบได้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยของชาวนา  ชาวไร่  หรือเกษตรกร  แล้วออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของเขา  ก็จะขยายตลาดออกไปในกลุ่มอาชีพดังกล่าวได้ด้วย  แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรละการพิจารณากลุ่มอาชีพอื่น  เพราะกลุ่มชาวนาชาวไร่เป็นต้นนั้นน  แม้จะมีจำนวนมากก็จริงแต่ฐานะทางการเงินไม่ดีพอที่จะนำเงินมาใช้ซื้อของที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพน้อย  ฉะนั้น  ฝ่ายออกแบบก็ต้องคำนึงถึงการหาทางเพิ่มหรือขยายตลาดในหมู่อาชีพพ่อค้า  นักธุรกิจ  ข้าราชการ  นิสิต  นักศึกษาด้วย  นอกนั้นฝ่ายสนับสนุนอาจหาทางให้คนทั่วไปได้รู้จักกับเครื่องปั้นบ้านสทิงหม้อ  เช่น  การจัดนิทรรศการและเสนอข่าวสารทางสื่อมวลชนประเภทต่างๆ เป็นต้น

1.2.2  คุณภาพ  คุณภาพของเครื่องปั้น คือ ความคงทนถาวรและประณีตสวยงามนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญสามประการ คือ  วัตถุดิบ ได้แก่คุณสมบัติของเนื้อดินและส่วนผสม  กรรมวิธี ได้แก่กระบวนการในการผลิต และทุน ได้แก่  ความมากน้อยของต้นทุนที่ใช้ในการลงทุน  การจะให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพดีจึงต้องศึกษาค้นคว้าปรับปรุงแก้ไขทั้งในด้านวัตถุดิบและกระบวนการในการผลิต  ข้อแก้ไขที่อาจทำได้คือ  ให้ความรู้  ความเข้าใจในการผลิตแก่ผู้ประกอบการ  ซึ่งจะสอดคล้องกับประเด็นที่ว่าด้วยกรรมวิธีการขึ้นรูป เป็นต้น

1.2.3 ทุนดำเนินการ  การแก้ปัญหานี้ฝ่ายสนับสนุนมีทางที่จะช่วยแก้ไขได้  โดยวิธีการหาแหล่งทุนให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำเพื่อผู้ประกอบการได้กู้ยืมมาลงทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทันสมัยมาใช้ในการผลิตและให้ส่งคืนตามระบบผ่อนส่งระยะยาวหรือสั้นแล้วแต่จะตกลงกัน  อีกทางหนึ่งหาวิธีการ  ให้ผู้ประกอบการได้ร่วมกันลงทุนในการซื้ออุปกรณ์  เช่น  เครื่องโม่ดิน  เครื่องทุ่นแรงในการหมุนแป้น  เป็นต้น  แล้วแบ่งผลกำไรกัน  ก็น่าจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาเรื่องทุนทางใดทางหนึ่ง

1.3 การรักษาเอกลักษณ์  เรื่องของเอกลักษณ์เป็นเรื่องของคุณค่าทางวัฒนธรรมประจำกลุ่ม  ประจำถิ่นหรือประเทศ  เป็นเรื่องลึกซึ้งละเอียดอ่อน  การที่จะมองเห็นเอกลักษณ์ของตนเอง  และความสำคัญของเอกลักษณ์ที่มีต่อตนตลอดจนการสร้างเอกลักษณ์ใหม่ให้กับตนเองนั้น  เป้นเรื่องที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง  ประการหนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญ  คือ  การศึกษาให้รู้ให้เข้าใจว่า  ตนเองมีอะไรเป็นเอกลักษณ์  สิ่งนั้นให้คุณค่าแก่ตนเองอย่างไรบ้าง  และถ้าจะสร้างสิ่งใหม่  ควรกรองมาจากของเก่าและใหม่อย่างละเท่าใด  ตามสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  การแก้ไขปัญหาอุปสรรคส่งเสริมด้านนี้ก็ควรใช้หลักการดังกล่าว  คือ  ศึกษาเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นสทิงหม้อให้เข้าใจลึกซึ้งมากกว่านี้แล้วนำผลจากการศึกษานั้นมาเผยแพร่แก่ผู้ประกอบการและผุ้ที่สนใจทั่วไป  แล้วขั้นตอนต่อไปก็ร่วมมือกันคิดค้นเอกลักษณ์เพิ่มเติมโดยยึดของเดิมที่ดีแล้วเป็นแกนกลาง  ในทางปฏิบัติเพื่อการอนุรักษ์และสร้างสรรค์เอกลักษณ์  สิ่งที่ผู้ประกอบการหรือผู้เกี่ยวข้องควรทำ  คือ  การรวบรวมสะสมผลิตภัณฑ์ทุกประเภท  ทุกชนิดของหมู่บ้านที่เคยผลิตและกำลังผลิตอยู่ในปัจจุบัน  เพราะวัฒนธรรมระดับสูงที่เรียกว่า “อารยธรรม” นั้น  เกิดจากการรวบรวมสะสมนี้เอง

2. สภาพการทำเครื่องปั้นในปัจจุบันอยู่ในลักษณะทรงกับทรุด  อันสืบเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการทั้งภายนอกและภายใน  สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง  คือ  แรงจูงใจให้เกิดความสนใจ  ซึ่งลบเลือนไปจากจิตใจของเยาวชนผู้เป็นทายาทของหมู่บ้าน  เมื่อผู้ประกอบการที่กำลังประกอบการอยู่ถอยหลังและเลิกร้างลง  การประกอบการก็จะจบลงด้วย  ซึ่งมิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับหัตถกรรมทำเครื่องปั้นดินเผาเพียงอย่างเดียว  แต่จะเกิดขึ้นกับการทำหัตถกรรมประเภทอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน  เช่น  หัตถกรรมจักสาน  การทอผ้า  การทำย่านลิเภาและใบลำเจียก  เป็นต้น  จุดที่น่าจะได้รับการพิจารณาแก้ไขส่งเสริมก่อนอื่น  จึงน่าจะได้แก่  การให้ความรู้  ความเข้าใจแก่เยาวชนผู้เป็นทายาทหรือผู้ที่สนใจ  ทั้งทางตรงและทางอ้อมในทางปฏิบัติ  ควรที่โรงเรียน วัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือดำเนินการ

3. เกี่ยวกับกระบวนการในการผลิต  และเทคนิคต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ได้รับการพัฒนานั้น  รัฐโดยกรม  กองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องน่าจะได้ให้ความสนใจแนะนำ  ช่วยเหลือด้านต่างๆ ได้ เช่น  การสำรวจวิเคราะห์แหล่งดินและคุณภาพดิน  ให้ความรู้ด้านเทคนิคการปั้นและการเผา  เป็นต้น

ใส่ความเห็น