วิสาหกิจชุมชน


วิสาหกิจชุมชนเป็นคำใหม่ที่ใช้กันแพร่หลายไม่กี่ปีมานี่เอง เป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเมื่อเดือนมกราคม 2548 หลังจากที่มีการเสนอเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายตั้งแต่ปี 2544 โดยผู้นำชุมชนผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ความจริง ผู้คนคุ้นเคยกับคำว่ารัฐวิสาหกิจ (State Enterprise) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Small and Medium Enterprises) คำแรกหมายถึงการประกอบการโดยรัฐ คำที่สองเป็นการประกอบการโดยเอกชน ส่วนวิสาหกิจชุมชนเป็นการประกอบการโดยชุมชน

วิสาหกิจชุมชนเกิดจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาข้อจำกัดของ “สหกรณ์” และ “บริษัท” หาทางให้ชุมชนรวมตัวกันเพื่อจัดการการกินการอยู่ของตนเอง โดยเฉพาะการผลิต การแปรรูป การตลาด และอื่นๆ ทำให้คล่องตัว ไม่ใช่เทอะทะเหมือนสหกรณ์ แต่ก็ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดและเข้าสู่ระบบการแข่งขันเต็มรูปแบบอย่างบริษัท

วิสาหกิจชุมชนเปรียบได้กับรถตู้ ที่ออกมาวิ่งบริการประชาชน เพราะการนั่งรถเมล์ (อย่างในกรุงเทพฯ) หรือรถบัสประจำทางไปต่างจังหวัด (ที่เรียกกันว่ารถทัวร์บ้าง บขส.บ้าง) มันไม่สะดวก ไปไม่ถึงที่หมายที่เป็นซอกเป็นซอย เป็นหมู่บ้าน ต้องต่อรถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์ รถสองแถวให้ยุ่งยากวุ่นวายเสียค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก  รถตู้ออกจากหมู่บ้านไปส่งถึงที่หมายในกรุงเทพฯ เลยโดยไม่ต้องต่อแท็กซี่ให้เสียอีกหลายร้อย

วิสาหกิจชุมชนเป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 7 คนขึ้นไป รวมกันทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำคนเดียวไม่ได้ ไม่เป็น ไม่สะดวก เพราะไม่มีทุนพอ ไม่มีฝีมือพอ ไม่มีวัตถุดิบพอ ไม่มีตลาดพอ หรือข้อจำกัดอื่นๆ  การมารวมตัวกันทำให้ทำได้ง่าย เช่น สมาชิกแม่บ้าน 20 คนมารวมกลุ่มกันทำเครื่องแกง บางคนมีฝีมือ บางคนมีวัตถุดิบ (พริก ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว ฯลฯ) ลงหุ้นกัน มารวมกันทำ ช่วยกันขาย กระจายไปในที่ต่างๆ ตามเครือข่าย เครือญาติ ในหมู่บ้าน

ปัญหาของวิสาหกิจชุมชนที่ชาวบ้านบ่นกันวันนี้ คือ ผลิตแล้วขายไม่ออก ขายไม่ได้ ไม่มีตลาด ขาดทุน ไม่มีทุน ไม่มีวัตถุดิบ ฯลฯ  จริงๆ แล้ว ปัญหาวิสาหกิจชุมชนเป็นอะไรมากกว่าที่ว่ามาทั้งหมด เป็นปัญหาวิธีคิดมากกว่าอย่างอื่น คิดกันอย่างเดียวว่าทำอย่างไรจะผลิตแล้วจะขายที่ไหน โดยไม่ได้เข้าใจหลักของวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่ต้นว่า ทำเพื่อกินเพื่อใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ของชุมชน ของท้องถิ่นเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ไม่น้อย เพราะแต่ละปี ตำบลหนึ่งๆ ซื้อกินซื้อใช้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท หลายแห่งกว่า 100 ล้านบาท ตลาดไม่เล็กเลย

แต่คนคิดถึงแต่ตลาดภายนอก และคิดแต่จะทำอะไรที่ใครๆ ก็ทำกัน เฮตามเขา เขาทำแชมพูก็แชมพู เขาทำสบู่ก็สบู่ เขาทำขนมก็ขนม โดยที่ไม่ได้ดูว่าฝีมือของตนเองเก่งกว่าเขาหรือไม่ กระโดดเข้าสู่เวทีการแข่งขันโดยที่ไม่ประมาณความสามารถของตนเอง ก็อาจเหมือนมวยวัดขึ้นเวทีราชดำเนิน ลุมพินีประมาณนั้น

วิสาหกิจชุมชนเริ่มต้นจากการทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ฝึกฝนฝีมือดีแล้วอยากลองออกไปข้างนอกก็ได้ถ้าเชื่อว่าของตนเองดีพอ ไม่ใช่เอะอะก็จะขอไปเมืองทองธานี อยากได้สามด้าวห้าดาว ก้าวกระโดดไปสู่ตลาดใหญ่ โดยมองข้ามความสำคัญของตลาดท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวทีเรียนรู้ เรียนเรื่องการบริหารจัดการ ฝึกฝนทักษะในทุกกระบวนการขั้นตอนของการประกอบการ ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ใช่ง่ายๆ  ชาวบ้านอาจจะชำนาญการผลิต แต่เรื่องการจัดการเชิงธุรกิจเป็นอะไรที่ต้องเรียนรู้และมีประสบการณ์ ถ้าคิดง่ายๆ ก็เจ๊งง่ายๆ ได้เหมือนกัน  ถ้าเข้าใจวิสาหกิจชุมชนอย่างที่คนที่คิดคำนี้แรกๆ เขาเข้าใจกัน งานนี้ก็ไม่น่าจะเป็นแค่เรื่องการไปจดทะเบียนชื่อกลุ่มแล้วรอความช่วยเหลือจากรัฐ

 

วิสาหกิจชุมชน สร้างฐานการพัฒนา

ปัญหาวิสาหกิจชุมชนเป็นปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนา ชาวบ้านถูกทำให้คุ้นเคยกับการพัฒนาแบบ “สงเคราะห์” คือ เป็นผู้รับจากรัฐ จากหน่วยงานราชการหรือเอกชน ซึ่งนำ “โครงการ” ไปให้ชุมชน โครงการแล้วโครงการเล่า สี่ห้าสิบปีมีหลายสิบโครงการก็ไม่เห็นเกิดการพัฒนายั่งยืน ชุมชนเข้มแข็งจึงแข็งแต่ป้าย ที่ไปปักไว้ถ่ายรูปเอาไปทำรายงานความดีความชอบ

ชาวบ้านเข้าใจว่า วิสาหกิจชุมชนเป็น “โครงการ” ที่รัฐไปบอกชาวบ้านให้รวมตัวกันทำ โดยจะให้การสนับสนุน การสนับสนุนที่ชาวบ้านคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากงบประมาณที่จะตกถึงชุมชนในรูปเงินให้เปล่าหรือเงินกู้เงินยืมก็ยังดี

วิสาหกิจชุมชนเป็นแนวคิดที่เกิดจากชุมชน ที่ต้องการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันในการดำเนินกิจการต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นการประกอบการ บริหารจัดการเชิงธุรกิจ แต่ไม่ได้ต้องการทำธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงให้สมาชิก ซึ่งถ้าทำคนเดียวจะทำไม่ได้ หรือถ้าไปรวมกับสหกรณ์ใหญ่ๆ ก็ลำบาก เป็นการร่วมกันสร้างระบบสวัสดิการให้ตนเอง หรืออีกนัยหนึ่ง สร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่ม ให้ชุมชน

วิสาหกิจชุมชนมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 7 ประการ คือ

1. ชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ ไม่ใช่เป็นลูกจ้างอย่างที่ทำกันในหลายชุมชน ที่มีเถ้าแก่คนนอก หรือคนรวยคนเดียวเป็นเจ้าของ ให้ชาวบ้านเป็นแรงงาน เป็นเหมือนโรงงานในหมู่บ้าน แทนที่จะตั้งอยู่ในเมือง  และดำเนินการโดยชุมชน ไม่ใช่ไปจ้างคนต่างถิ่นต่างแดนมาทำงานให้

2. ผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน เป็นงานที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ไมใช่ไปลงทุนที่อื่นที่ไหน

3. ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของชุมชน เป็นอะไรที่ไม่ใช่ทำตามคนอื่น แต่เป็นผลผลิตของกระบวนการเรียนรู้ การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือเป็นการค้นคิดอะไรใหม่ๆ ซึ่งถ้าหากเหลือใช้เอาไปขายข้างนอกก็จะแข่งขันกับคนอื่นได้ ไม่ใช่ได้แต่เลียนแบบคนอื่น

4. มีฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาสากล ทำให้ผลผลิตมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เอาไปขายข้างนอกก็น่าจะแข่งขันกับคนอื่นได้ เพราะมีทั้งของเก่าและของใหม่ผสมผสานกัน ทำให้ได้ของดีท้องถิ่นและรูปแบบหรือเทคนิคสากลมาเสริมหรือผสานให้กลมกลืน
5. มีการดำเนินการแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นระบบ  หมายถึงการดำเนินการวิสาหกิจชุมชนไม่ใช่เน้นที่การผลิตเรื่องหนึ่งสองเรื่องเพื่อขายอย่างเดียว แต่ผลิต แปรรูป จัดการให้เกิดการประกอบการในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นเป็นหลัก แปลว่าต้องทำหลายๆ อย่าง ต้องมีข้อมูล ต้องวิจัยเอาเองว่า ชุมชนกินอยู่อย่างไร ซื้อกินซื้อใช้อะไรบ้าง และจะทำอะไรเพื่อลดการซื้อกินซื้อใช้ลงให้ได้สัก “เศษหนึ่งส่วนสี่” ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  ถ้ามีข้อมูลที่ชุมชนวิจัยเองก็จะพบว่า มีมากกว่านี้อีกที่ชุมชนทำเองได้
6. มีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจ  วิสาหกิจชุมชนเกิดได้ สำเร็จได้ด้วย “ความรู้และปัญญา” ไม่ใช่เพียงเพราะมีเงินมีงบแล้วจะเกิดได้ การใช้ “เงินนำหน้าปัญญาตามหลัง” อาจเกิดได้แต่เพียงโครงการ แต่ไม่อาจเกิดการพัฒนายั่งยืน  การเรียนรู้จะทำให้เข้าใจกระบวนการวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด และจะเข้าใจข้อสุดท้ายต่อไปนี้ คือ
7. มีการพึ่งตนเองเป็นเป้าหมาย ถ้าไม่มีการเรียนรู้ก็จะไม่เข้าใจความข้อนี้ และจะคิดเพียงสั้นๆ ว่า ทำอย่างไรจึงจะผลิตเยอะๆ ขายเยอะๆ จะได้เงินเยอะๆ ซึ่งก็เหมือนหลอกตัวเอง เพราะที่สุดก็วนไปมากับการผลิตแล้วขายไม่ออก เป็นหนี้เป็นสิน ท้อ หมดกำลังใจ เลิกทำ หันไปรับจ้าง หาเงินไปซื้ออยู่ซื้อกินเหมือนเดิม
วิสาหกิจชุมชนไม่ได้เริ่มจากการเรียนรู้วิธีทำ แต่เริ่มจากการเรียนรู้วีคิดที่ถูกต้องต่างหาก

 

ใส่ความเห็น