ของที่ระลึกจากต่างประเทศ

ร้านขายของที่ระลึกตามสถานที่ต่างๆ

ร้านขายของที่ระลึกที่ Hue citadel ประเทศเวียดนาม

ของฝากจากเกาหลี

1. โสมเกาหลี (GINSENG)

     ตำราทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์หยางของจีนกล่าวไว้ว่า โสม ที่มีคุณภาพดีที่สุดอยู่ในเกาหลี โสมเกาหลีจึงมีราคาสูงเป็นพิเศษ เพราะเป็นโสมบำรุงพลังวังชาดั่งยาทิพย์ เพาะปลูกได้ยากมากไม่เพียงแต่มันโตช้ามาก แต่พื้นที่ที่เคยใช้เพาะปลูกจะต้องถูกทิ้งไว้นานถึง 15 ปี หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์อาหารสมุนไพรต่างๆ เช่น ชาโสม ผงโสมยอดนิยมหรือ โสมสกัดเข้มข้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่คำนึงถึงสุขภาพ

     การเลือกซื้อโสม ควรเลือกซื้อจากบริษัทผู้ผลิตที่มีคุณภาพรับรองอย่างถูกต้อง โสมแท้คุณภาพดีต้องมีรสชาติขม ชุ่มคอ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ควรเก็บไว้ในที่เย็น (ไม่ใช่เย็นจัด) ไม่ควรโดนแดด ความร้อนและความชื้นสูง เพราะจะเสียคุณค่าและอาจเกิดการเปลี่ยนสภาพของตัวโสมเอง รากของโสมที่นำมาผ่านขั้นตอนกรรมวิธีในการผลิตต่าง ๆ แล้วจะมีหลายประเภท เช่น ประเภทรากโสม รากโสมผสมน้ำผึ้ง โสมเป็นไซรับ โสมเป็นผง หรือโสมที่บรรจุเป็นแคปซูล

ต้นโสมเกาหลีและผลิตภัณฑ์จากโสม

2. กิมจิ (KIMJI)

     กิมจิจัดว่าเป็นเครื่องเคียงประจำโต๊ะสำหรับอาหารเกาหลีทุกมื้อก็ว่าได้ คู่กับข้าวสวยร้อนๆ กิมจิเป็นอาหารประเภทหมักดอง ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงชนิดหนึ่ง มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มีส่วนของเครื่องปรุงที่ประกอบด้วย ผักต่างๆ ซอสมีรสเค็ม พริกแดงและกระเทียมผสมคลุกเคล้ากันอย่างดีจนมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น และประเพณีการปรุงของแต่ละภาค กิมจิ มีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย กิมจิน้ำ และกิมจิผักกาดขาว เป็นที่นิยมในฤดูใบไม้ผลิ กิมจิแตงกวาสอดไส้ และกิมจิยอดหัวไช้เท้าอ่อน สำหรับฤดูร้อน ส่วนกิมจิหัวกะหล่ำ กิมจิหัวไช้ท้าว และ กิมจิอัลตาริ จะนิยมรับประทานในฤดูใบไม้ร่วง สำหรับ กิมจิ หลากหลายชนิดนั้นจะพบได้ในฤดูหนาว ซึ่งจะเก็บกักตุนไว้เรียกว่า กิมจัง

     การเลือกซื้อกิมจิ  หากต้องการแบบสดและธรรมชาติ ควรซื้อกลับในวันที่กลับบ้านเพื่อการเก็บรักษาที่นานขึ้น เนื่องจากกิมจิจะเก็บไว้ในตู้เย็นไม่เกิน 2 เดือน หากเก็บในช่องน้ำแข็งของตู้เย็นจะมีอายุนานขึ้น ที่สำคัญควรชิมรสชาติว่าถูกใจหรือไม่

กิมจิ

3. สาหร่ายหิน(DOLGIM)

     กิม ในภาษาเกาหลี คือ สาหร่าย สาหร่ายเกาหลีถือว่าเป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญสำหรับผู้รักสุขภาพ เนื่องจากว่าปัจจุบันนี้น้ำและอากาศที่ทำให้เกิดมลภาวะอากาศเป็นพิษ ประเทศ เกาหลี ใต้มีสภาพภูมิประทศเป็นภูเขาถึงร้อยละ 70 จึงมีน้ำแร่ธรรมชาติอยู่ทั่วไปของประเทศ โดยเฉพาะในเขตทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ น้ำแร่เหล่านี้จะชำระแร่ธาตุต่างๆ ของดิน ลงไปยังทะเล สาหร่ายป่าธรรมชาติเหล่านี้จะได้รับสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ เมื่อเรารับประทานสาหร่ายเราจะได้รับแร่ธาตุสารอาหารที่จะช่วยให้เลือดของเราเป็นด่างมากขึ้นซึ่งหมายถึงสุขภาพที่ดีช่วยต่อต้านความเหนื่อยล้าและความกดดันในชีวิตประจำวัน สาหร่าย มีมากมายหลายประเภท แต่ประเภทที่นิยมบริโภคมากที่สุดคือ สาหร่ายอบแห้งโดกิม เพราะต้องผ่านการอบด้วยน้ำมันงาที่บริสุทธิ์และเกลืออนามัยในอุณหภูมิที่ความร้อนสูง ถือว่าเป็นอาการสุดยอดชนิดหนึ่งเนื่องจากคุณค่าทางโภชนาการที่สูง เนื่องจากช่วยลดคลอเรสเตอรอล เป็นแหล่งวิตามินบี 5  และ บี 2 บี 1  และบีรวม รวมถึงแร่เหล็กซึ่งช่วยป้องกันโรคเบาหวานและโรคหัวใจ สำหรับใครก็ตามที่ทานสาหร่ายอบแห้งกรอบเพื่อสุขภาพนี้ ประมาณ 1 กิโลกรัม หมายถึงการบริโภคผักสดประมาณ 5 กิโลกรัม และสาหร่ายของเกาหลีมีความแตกต่างจากญี่ปุ่นในเรื่องของการผลิตที่ใช้น้ำมันงาและเกลือในการแต่งรส ส่วนญี่ปุ่นจะใช้ซอสในการแต่งรส

     การเลือกซื้อสาหร่าย ควรเลือกซื้อชนิดที่แห้งกรอบผ่านการอบและปรุงด้วยสารธรรมชาติบริสุทธิ์ของน้ำมันงาหรือเกลือเท่านั้น โดยไม่มีการปรุงแต่งหรือใช้สารกันบูด เพื่อการเก็บไว้บริโภคได้นานในประเทศที่มีอากาศร้อนอย่างประเทศไทย ควรฝากเพื่อนช่วยแนะนำเพราะเนื่องจากมีหลากหลายยี่ห้อ หลายคุณภาพ หลายราคามากเหมือนกับการซื้อโสมเกาหลีในประเทศเกาหลี

สาหร่าย

4. ไวน์และสุราเกาหลี (TRADITIONAL LIQUORS & WINES)

     เบียร์ของเกาหลี และโซจูเป็นเหล้ากลั่นชนิดหนึ่งที่นิยม หากคุณอยากจะลองลิ้มรสเหล้าโดยเฉพาะแบบโบราณของเกาหลีก็ได้เช่น ซองจู ไวน์ที่ทำจากข้าวรสเข้มข้น อิมขัมจู เหล้าผสมโสมและมักคอลลี่ ไวน์รสอ่อนที่ทำมาจากข้าวคล้ายกระแช่ของไทย เป็นต้น และแต่ละจังหวัดก็มีเหล้าพิเศษของตนเอง มุนแบจู – โซล, อิกางจู – จังหวัดซอลลาบุก-โด, อันดองโซจู – อันดอง, เคียงจูป๊อปจู-จังหวัดเคียงซางบก-โด, ชางกุนจู-วอนจู, แพจิลจู-คงจู เหล่านี้เป็นบรรดาเหล้าที่ขึ้นชื่อของแต่ละท้องถิ่น

     การเลือกซื้อ ควรลองซื้อขวดเล็กชิมดูก่อน และส่วนมากเหล้าเกาหลีจะทำมาจากข้าวผลไม้เป็นสำคัญ ราคาขึ้นอยู่กับความนุ่ม กลมกล่อมและความนิยม

เหล้าโซจูและไวน์ราสเบอร์รี่

5. ผ้าและเสื้อผ้า  เกาหลีผลิตทั้งผ้าและเสื้อผ้าสำเร็จรูปคุณภาพดี ทำจากวัตถุดิบหลายชนิดหลากหลายหลากสีสันให้เป็นที่ถูกใจผู้ใช้ แฟชั่นเสื้อผ้าจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดู เลือกซื้อตามตลาดพื้นเมือง โดยเฉพาะ ตลาดโทงแดมุน ในส่วนของเครื่องหนังไม่ว่าจะเป็นเสื้อแจ็คเก็ต กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด และอื่น ๆ ออกแบบตามแฟชั่น มีขายในราคาถูกเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว สามารถเลือกซื้อได้ที่ ถนนอิแทวอน ควรมีเพื่อนพาไปถึงแหล่งหรือร้านที่เชื่อถือได้ (ปัจจุบันนี้ราคาสินค้าเครื่องหนังเลียนแบบค่อนข้างราคาสูงเพราะผลิตจำนวนน้อยและหาซื้อได้ลำบากขึ้น)

6. เครื่องไฟฟ้า  เกาหลีถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำซึ่งผลิตขึ้นเองในประเทศ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ให้เลือกมากและหลายระดับราคา ที่ย่าน ยงซาน หรือ เทคโนมาร์ท ในกรุงโซล (ไม่แนะนำให้ซื้อนัก เพราะราคาแพงกว่าที่ฮ่องกงหรือ สิงคโปร์ ถ้าเปรียบเทียบกับเมืองไทยก็อาจจะแพงกว่า)


7. รองเท้ากีฬาชั้นนำ เช่น รีบ๊อกซ์ ไนกี้ มิชิโนะ หาซื้อได้ถูกในเกาหลี ไม้เทนนิสและอุปกรณ์กีฬาอื่นๆ ตามร้านค้าที่มีป้ายเครื่องหมายถูกต้อง ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลอดภาษี แต่ถ้าเป็นถุงมือหรืออุปกรณ์กอล์ฟควรซื้อที่ ถนนอิแทวิน (ซื้อของแท้ดีที่สุด ถ้าอยากได้เลียนแบบ สามารถซื้อได้ตามตลาดพื้นเมือง ทงแดมุน แต่ควรตรวจสอบคุณภาพดีๆ จะได้ทั้งของถูกและดี)


รองเท้ารีบ๊อกซ์รุ่นใหม่ล่าสุดที่วางจำหน่ายในปี 2009 โดยใช้วง Shinee มาเป็น presenter

8. อัญมณีและเครื่องประดับ   อัญมณีที่มีชื่อเสียงของเกาหลีหรือเขี้ยวหนุมาน (Amethyst) และบุษราคัม (Smoky Topaz) ซึ่งมีขายทั้งเม็ดร่วงและในรูปของเครื่องประดับต่างๆ เช่น ต่างหู สร้อยคอ แหวน และอื่นๆ ซื้อตามห้างสรรพสินค้าหรือโรงงานผู้ผลิตหรือ ดิวตี้ฟรี 
ด้านขวาคือ Amethyst หรือ เขี้ยวหนุมาน ส่วนด้านซ้ายคือ Smoky Topaz หรือ บุษราคัม

9. สินค้าของที่ระลึกพื้นเมือง     เช่น พวงกุญแจ แก้วน้ำ แก้วเหล้า ชุดน้ำชา กลอง ตุ๊กตาเกาหลี ช้อน ตะเกียบ ชามข้าว กระเป๋าสตางค์ ปากกา เป็นต้น ควรซื้อที่รถกระบะเล็กตามหน้าร้านอาหาร เพราะจะได้ราคาค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อที่อื่นๆ

 
ของที่ระลึกต่าง ๆ

10. ศูนย์รวมของพื้นบ้าน    มีขนมท้องถิ่นหลากหลายรสชาติและรูปแบบ เช่น ท๊อฟฟี่หลากหลายรส ช็อกโกแลตกลิ่นและรสต่างๆ แยมส้มสุขภาพเพื่อชงดื่ม ชาโสมเกาหลี สบู่โสมเกาหลี เยลลี่โสม สาหร่ายผัดงาเกลือและน้ำตาล สาหร่ายปรุงรสคาลบี (วาซาบิ ไม้ไผ่ กิมจิ) ชิงราเมน กิมจิรสยอดนิยม หมอนเพื่อสุขภาพใบเล็กใบใหญ่ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางโสมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ครีมล้างหน้าโสม โคลนพอกหน้าโสม แผ่นมาร์กหน้า ไนท์ครีม เดย์ครีม เอ๊กเซ้นส์ เป็นต้น


หน้ากากผีตาโขน

 ผีตาโขนมีที่มาจากประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆปี ในช่วง เดือนเจ็ด ถึงเดือนแปด (ตามจันทรคติ) เป็นประเพณีที่รวมเอาความเชื่อและศรัทธาของชาวอีสานมารวมกันไว้ คือ งานประเพณีบุญพระเวส (บุญมหาชาติชาวด่านซ้ายเรียกบุญหลวง) บุญบั้งไฟ(ชาวอีสานทั่วไปจะจัดงานบุญพระเวส ในเดือน สี่ และบุญบั้งไฟ ในเดือน หก) ซึ่งในประเพณีดังกล่าวจะมีลักษณะที่แสดงออกถึงความสนุกสนานบรรดาผีตาโขน ที่ตามเสด็จของขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ซึ่งบรรดาผู้เข้าร่วมจะสวมหน้ากาก ทำจากหวดนึ่งข้าวและทางมะพร้าวตัดเป็นรูปหน้าและประกอบจมูกยื่นยาว ตัดรูปตาและเขียนลวดลายตามความถนัดของช่างแต่ละคน เพื่อสวมบนศีรษะและผู้ที่สวมหน้ากากจะสวมชุดที่ยาวรุ่มร่าม ขาดรุ่งริ่ง คล้ายผี เพื่อให้เกิดความน่ากลัว แต่ปัจจุบันรูปแบบได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเน้นที่ลวดลายความสวยงาม สามารถนำไปเก็บหรือประดับตกแต่งได้ (เดิมหน้ากากผีตาโขนเมื่อสวมใส่เสร็จพิธีงานบุญแล้วจะต้องทิ้งลงแม่น้ำเท่านั้น ถ้าผู้ใดเก็บไว้จะมีเหตุที่ไม่ดีเกิดขึ้น) โดยในตำนานที่เล่าขาน คำว่า “ผีตาโขน” มีที่มาจากหลายลักษณะ คือ บางกลุ่มก็บอกว่าผีตาโขน มาจาก คำว่า ผีตามคน(ตามขบวนพระเวสสันดร) และเพี้ยน เป็นผีตาโขน ประเด็นที่ 2 คือผีที่ใส่หน้ากากคล้ายสวมหัวโขน แต่ก็มีบางกลุ่มที่เล่าว่าที่มาของผีตาโขน เดิม เรียก ม้าตาโขน เพราะขบวนที่ตามเสด็จส่งพระเวสสันดร จะขี่ม้าซึ่งตกแต่งลวดลายบนใบหน้า คล้ายการเขียนรูปหน้ากากในปัจจุบัน

ลวดลายที่เชื่อมโยงกับความเชื่อพื้นบ้านของคนไทย

ลวดลายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในศิลปะผ้าทอไทยนั้นเชื่อกันว่ามีความเชื่อมโยงกับคติความเชื่อของคนไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เราอาจศึกษาเปรียบเทียบลวดลายสัญลักษณ์เหล่านี้กับสัญลักษณ์อย่างเดียวกันที่ปรากฏอยู่ในศิลปะประเภทอื่น ๆ เช่น ในจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และแม้แต่ในตำนานพื้นบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมา หรือในวรรณกรรมต่าง ๆ ลวดลายที่เชื่อมโยงกับความเชื่อพื้นบ้านไทยอย่างเห็นได้ชัด มีดังนี้

ลวดลายพญานาคบนผ้าทอ

สัญลักษณ์งูหรือนาค งูหรือนาคปรากฏอยู่ในลายผ้าพื้นเมืองของคนไทยกลุ่มต่างๆ เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในล้านนาและในอีสาน นอกจากนี้ยังพบในศิลปะของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท ที่อาศัยอยู่นอกดินแดนของไทยในปัจจุบัน เช่น ในสิบสองปันนา ในลาว อีกด้วย

ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง คนไทยและคนลาวต่างมีความเชื่อสืบทอดกันมา เรื่องพญานาค ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองบาดาลใต้แม่น้ำโขง จนกระทั่ง ทุกวันนี้ผู้คนในแถบนั้นก็ยังเชื่อว่าเวลามีงานบุญประเพณี เช่น งานไหลเรือไฟ พญานาคก็จะขึ้นมาเล่นลูกไฟด้วย ดังที่มีผู้เห็นลูกไฟขึ้น จากลำน้ำในช่วงเทศกาลงานไหลเรือไฟเป็นประจำเกือบทุกปี

ผ้าทอที่มีลายนก

สัญลักษณ์นกหรือห่านหรือหงส์ นกหรือหงส์เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในศิลปะผ้าทอพื้นบ้านในภาคเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็มีปรากฏมากในผ้าทอมือของลาวสิบสองปันนา และในหมู่พวกคนไทในเวียดนามในสถาปัตยกรรมล้านนาและล้านช้างจะพบนกหรือหงส์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญประดับอยู่บนหลังคาโบสถ์ คู่กับสัญลักษณ์นาค หรือบางแห่งก็มีแต่หงส์ประดับอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในวัดในสิบสองปันนา สัญลักษณ์นกหรือหงส์หรือนกยูง จะปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และบนผืนผ้า นกยูงเป็นสัญลักษณ์ที่ รัฐบาลจีนปัจจุบัน ได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของยูนาน และได้มีการประดิษฐ์นาฏลีลาสมัยใหม่ซึ่งใช้แสดงเป็นสัญลักษณ์ของชาวไทลื้อในสิบสอบปันนา เรียกว่า ระบำนกยูง


ผ้าทอลายขิด

การทอลายขิด คือ ผ้าที่ทอเก็บแบบขิด หรือเก็บดอก เหมือนผ้าที่มีการปักดอกด้วยฝีมือประณีต ซึ่งชาวอีสานถือว่ากระบวนการทอผ้าพื้นบ้านด้วยกันแล้ว การทอผ้าขิดต้องใช้ความชำนาญ และมีเชิงชั้นด้านฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอย่างอื่นเพราะทอยาก การทอผ้าขิดต้องใช้ไม้เก็บขิดเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทอตลอดเวลา ไม้เก็บขิดทำด้วยไม้ไผ่เหลาเล็กๆกลมยาว ขนาดความกว้างของผ้าทอประมาณ2ศอกใช้ไม้เก็บขิดประมาณ 2030 อัน ไม้เก็บขิดจะเป็นสิ่งบังคับให้เกิดลวดลายต่างๆบนเนื้อผ้าซึ่งผู้ทอสอดใส่ไว้ในขณะที่ทอไปก็เก็บไม้ทอขึ้นไปดูคล้ายๆกับการทอเสื่อยกสองข่มสาม ยกสองไล่ไปจนสุดฟืมเรื่อยไป จนกว่าจะเป็นลวดลายขึ้นมา ซึ่งจะมีรูปทรงแบบลาเรขาคณิต ลายทอซ้ำกันตลอดผืนขนาดเล็กใหญ่ตามประโยชน์ใช้สอย ลายขิดต่างๆได้มาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่ได้พบเห็น และมีความหมายในการใช้งานเช่น ขิดดอกแก้ว ได้มาจากดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอม เป็นลายที่ใช้สำหรับไหว้ผู้ใหญ่ ขิดแมงเงาได้มาจากแมงมีพิษชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายแมลงป่อง แต่ตัวเล็กกว่าเป็นลายที่ใช้สำหรับรับแขกที่บ้าน ขิดขันกระหย่องได้ลายมาจากขันชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านใช้สำหรับใส่ดอกไม้บูชาพระ ลายนี้เก็บไว้บนแท่นบูชาเดิมทีชาวอีสานถือว่าผ้าขิดเป็นของสูงจึงทอสำหรับทเป็นหมอนขิดเพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเท่านั้น ต่อมาได้ดัดแปลงให้เป็นประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ เช่นเสื้อผ้าเครื่อแต่งกาย ผ้าม่านผ้าคลุมเตียง กระเป๋าถือ ดคมไฟ ซองแว่นตาฯลฯท้องถิ่นที่มีการทอผ้าขิดมีอยู่ทั่วไปในภาคอีสานโดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีเชื้อสายภูไทอยู่อาศัยเพราะชาวภูไทมีฝีมือในการทอผ้าขิดมาช้านาน ที่เป็นแหล่งทอผ้าขิดใหญ่ๆ เช่น บ้านนาข่า อำเภอเมือง อุดรธานีบ้านสีฐานอำเภอป่าติ้วยโสธรบ้านหนองเขื่องช้างอำเภอโกสุมพิสัยมหาสารคามบ้านท่าพระอำเภอเมืองขอนแก่นเป็นต้น

ผ้าทอลายยก

การยก เป็นเทคนิคการทอยกลายให้เห็นเด่นชัด มีลักษณะคล้ายกับการทอลายขิด แต่ใช้เส้นพุ่งพิเศษ เช่น ไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง มีชายมีเชิง ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากกว่าผ้าทอลายขิดมาก


ผ้าทอลายจก

การจก เป็นเทคนิคการทอลวดลายบนผืนผ้า ด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปขณะที่ทอเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้ากระทำโดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือ ยกหรือจกด้วยเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งพิเศษต่อไปตามจังหวะของลวดลาย สามารถสลับสีได้หลากหลายสี


ผ้าทอลายน้ำไหล

การทอลายน้ำไหล เป็นเทคนิคการทอแบบลายขัดธรรมดา แต่ใช้ด้ายหลากสีพุ่งเกาะเกี่ยวกันเป็นช่วง ๆ ให้เกิดจังหวะของลายน้ำไหล เป็นลักษณะเฉพาะของชาวเมืองน่าน เรียกกรรมวิธีการทอนี้ว่า “ล้วง” แต่ชาวไทลื้อ อำเภอเชียงของ และเชียงคำ จังหวัดเชียงราย เรียกว่า “เกาะ” เทคนิคนี้อาจดัดแปลงพัฒนาเป็นลายอื่น ๆ เรียกว่าลายผักแว่น ลายจรวด ฯลฯ เป็นต้น


ผ้าทอลายยกมุกสลับสี

ผ้าทอลายยกมุก 

การยกมุก เป็นเทคนิคการทอ โดยใช้เส้นยืนพิเศษเพิ่มบนกี่ทอผ้าลายยกบนผ้าเกิดจากการใช้ตะกอลอยยกด้ายยืนพิเศษ ลวดลายที่เกิดจากเทคนิคนี้คล้ายกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิค ขิต จก แทบจะแยกไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องเทคนิคการทอผ้าที่ลึกซึ้ง ชาวไทยพวนที่ตำบลหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย และที่ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เทคนิคนี้ในการทอส่วนที่เป็นตัวซิ่น บางครั้งอาจจะนำเชิงซิ่นมาต่อเป็นตีนจกเรียกว่า ซิ่นมุก

หนังตะลุง


 

แสดงการละเล่นหนังตะลุง

หนังตะลุง

ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง

นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงาจำพวกหนังตะลุงนี้ เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติ เคยปรากฏแพร่หลายมาทั้งในแถบประเทศยุโรป และเอเชีย โดยอ้างว่า มีหลักฐานปรากฏอยู่ว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะเหนืออียิปต์ ได้จัดให้มีการแสดงหนัง (หรือการละเล่นที่คล้ายกัน) เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะและประกาศเกียรติคุณของพระองค์ และเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงานี้มีแพร่หลายในประเทศอียิปต์มาแต่ก่อนพุทธกาล ในประเทศอินเดีย พวกพราหมณ์แสดงหนังที่เรียกกันว่า ฉายานาฏกะ เรื่องมหากาพย์รามายณะ เพื่อบูชาเทพเจ้าและสดุดีวีรบุรุษ ส่วนในประเทศจีน มีการแสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกแห่งจักรพรรดิ์ยวนตี่ (พ.ศ. 411 – 495) เมื่อพระนางวายชนม์

ในสมัยต่อมา การแสดงหนังได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และประเทศไทย คาดกันว่า หนังใหญ่คงเกิดขึ้นก่อนหนังตะลุง และประเทศแถบนี้คงจะได้แบบมาจากอินเดีย เพราะยังมีอิทธิพลของพราหมณ์หลงเหลืออยู่มาก เรายังเคารพนับถือฤๅษี พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ ยิ่งถือว่าเป็นเรื่องขลังและศักดิ์สิทธิ์ หนังใหญ่จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกคงไม่มีจอ คนเชิดหนังใหญ่จึงแสดงท่าทางประกอบการเชิดไปด้วย

เชื่อกันว่าหนังใหญ่มีอยู่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะมีหลักฐานอ้างอิงว่า มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครูหรือพระโหราธิบดี และมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนัง (หนังใหญ่) อันเป็นของเก่าแก่ขึ้นใหม่ ดังปรากฏในสมุทรโฆษคำฉันท์ว่า

ไหว้เทพยดาอา-                    รักษ์ทั่วทิศาดร

ขอสวัสดิขอพร                       ลุแก่ใจดั่งใจหวัง

ทนายผู้คอยความ                 เร่งตามไต้ส่องเบื้องหลัง

จงเรืองจำรัสทั้ง                      ทิศาภาคทุกพาย

จงแจ้งจำหลักภาพ                 อันยงยิ่งด้วยลวดลาย

ให้เห็นแก่ทั้งหลาย                 ทวยจะดูจงดูดี

หนังใหญ่ แต่เดิมเรียกว่า “หนัง” นิยมเล่นกันแพร่หลายในแถบภาคกลาง ส่วนหนังตะลุง แต่เดิมคนในท้องถิ่นภาคใต้ก็เรียกสั้นๆว่า “หนัง” เช่นกัน ดังคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยว่า “ไปแลหนังโนรา” จึงสันนิษฐานว่า คำว่า “หนังตะลุง” คงจะเริ่มใช้เมื่อมีการนำหนังจากภาคใต้ไปแสดงให้เป็นที่รู้จักในภาคกลาง จึงได้เกิดคำ “หนังตะลุง” และ “หนังใหญ่” ขึ้นมาเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หนังจากภาคใต้เข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ ครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้นเป็นนายหนังจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯจึงเรียก “หนังพัทลุง” ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น “หนังตะลุง”

เชื่อกันว่า หนังตะลุงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ โดยย่อรูปหนังให้เล็กลง ในยุคแรกๆคงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกัน แต่เปลี่ยนบทพากย์มาเป็นภาษาท้องถิ่น เปลี่ยนเครื่องดนตรีจาก พิณพาทย์ ตะโพนมาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิมในภาคใต้ หลักฐานที่บอกว่าหนังตะลุงคงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่

ต่อมา หนังภาคใต้หรือหนังตะลุง รับอิทธิพลของหนังชวาเข้ามาผสมผสาน จึงทำให้เกิดวิวัฒนาการใน “รูปหนัง” ขึ้นมา รูปหนังใหญ่จะเป็นแผ่นเดียวกันทั้งตัว เคลื่อนไหวอวัยวะไม่ได้ แต่รูปหนังชวาเคลื่อนไหวมือและปากได้ ส่วนใหญ่รูปหนังจะเคลื่อนไหวมือได้เพียงข้างเดียว ยกเว้นรูปกาก หรือตัวตลก และรูปนางบางตัว ที่สามารถขยับมือได้ทั้งสองข้าง รูปหนังชวามีใบหน้าที่ผิดไปจากคนจริง และหนังตะลุงก็รับแนวคิดนี้มาปรับใช้กับรูปตัวตลก เช่น แกะรูปหนูนุ้ยให้หน้าคล้ายวัว เท่งหน้าคล้ายนกกระฮัง เป็นต้น

หนังตะลุงเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด นักวิชาการสันนิษฐานว่าคงเป็นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะกลอนหนังตะลุงนิยมแต่งเป็นกลอนแปด ซึ่งในสมัยอยุธยากลอนแปดไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ยิ่งในภาคใต้ วรรณกรรมพื้นบ้านรุ่นเก่าแก่ล้วนแต่งเป็นกาพย์ทั้งสิ้น กลอนแปดเพิ่งมาเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางก็เมื่อหลังสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีออกเผยแพร่แล้วนี่เอง  หนังตะลุงเกิดขึ้นในภาคใต้ครั้งแรกที่จังหวัดใด ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด

แต่เมื่อเวลาผ่านไป หนังตะลุงกลับกลายเป็นความบันเทิงที่ต้องจัดหามาในราคาที่ “แพงและยุ่งยากกว่า” เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ เพราะการจ้างหนังตะลุงมาแสดง เจ้าภาพต้องจัดทำโรงหนังเตรียมไว้ให้ และเพราะหนังตะลุงต้องใช้แรงงานคน (และฝีมือ) มากกว่าการฉายภาพยนตร์ ค่าจ้างต่อคืนจึงแพงกว่า ยุคที่การฉายภาพยนตร์เฟื่องฟู หนังตะลุงและการแสดงท้องถิ่นอื่นๆ เช่น มโนราห์  รองเง็ง ฯลฯ ก็ซบเซาลง ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกบ้านมีโทรทัศน์ดู  ละครโทรทัศน์จึงเป็นความบันเทิงราคาถูกและสะดวกสบาย ที่มาแย่งความสนใจไปจากศิลปะพื้นบ้านเสียเกือบหมด  นอกจากจะถือ ว่าหนังตะลุงเป็นเรื่องบันเทิงใจอย่างมหรสพทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ปะปนอยู่ด้วยหลายประการ ซึ่งจะประมวลเป็นข้อๆ ต่อไปนี้คือ.

1. ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอ ครูหมอคือบูรพาจารย์และบรรพบุรุษที่นายหนังแต่ละคนสืบเชื้อสายมา โดยเชื่อว่าครูเหล่านั้นยังห่วงใจผูกพันกับนายหนัง หากนายหนังบูชาเซ่นพลีตามโอกาสอันควร ครูหมอก็จะให้คุณ แต่หากละเลยก็อาจให้โทษได้ หนังตะลุงแทบทุกคนจึงมักตั้ง ตั้งหิ้ง (ชั้นไม้ขนาดเล็ก แขวนไว้ข้างฝาในที่สูง) ให้เป็นที่สถิตของครู ปักธูปเทียนบูชาและจะมีพิธีไหว้ครูเป็นระยะๆ เช่น 3 ปีต่อครั้ง ปีละครั้งเป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่จะตกลงกับครูไว้อย่างไร

2. ความเชื่อเกี่ยวกับรูปหนัง เชื่อว่ารูปทุกตัวที่ผูกไม้ตับ ผูกมือ เบิกปาก เบิกตา ชุบร่าง แล้วย่อมมีอาถรรพณ์ผู้ใดเล่นด้วยความไม่เคารพย่อมไม่เกิดมงคลแก่ตน อีกประการหนึ่งรูปแต่ละประเภทมีศักดิ์ไม่เท่ากัน การจัดเก็บต้องเป็นระเบียบ เป็นหมวดหมู่ และต้องเอารูปที่มีศักดิ์สูงไว้บนเสมอนอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ รูปศักดิ์สิทธิ์ การทำรูปชนิดนี้ต้องเลือกหนังสัตว์ที่ตายไม่ปรกติ เช่น ถูกฟ้าผ่าตาย คลอดลูกตาย และหากเลือกชนิดสัตว์ได้เหมาะกับรูปก็ยิ่งจะทำให้ขลัง เช่น รูปตลกทำด้วยหนังหมี รูปฤๅษีทำด้วยหนังเสือ เป็นต้น

3. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเดินทาง ก่อนออกเดินทางต้องทำพิธี ยกเครื่อง โดยประโคมดนตรีอย่างสั้นๆ นายหนังบอกกล่าวขอความสวัสดีจากครูหมอ ขณะเดินทางถ้าผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือวัดวาอารามเก่าๆ จะหยุดประโคมดนตรีถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่นั้น เมื่อถึงบ้านเจ้าภาพจะว่าคาถา ทักเจ้าบ้าน (ทักทายเจ้าที่รักษาบ้าน) แล้วประโคมดนตรีสั้นๆ เรียกว่า ตั้งเครื่อง (บางคณะอาจตั้งเครื่องก่อนทำพิธีเบิกโรงก็ได้)     4. ความเชื่ออื่นๆ  ซึ่งมักเป็นเรื่องไสยศาสตร์ที่ทำเพื่อป้องกันปัดเป่าเสนียดจัญไร ขอความสวัสดีมีชัย สร้างเมตตามหานิยม เช่น ก่อนขึ้นโรงดินเวียนโรงทำพิธีปัดเสนียด ผูกหนวดราม (เชือกผูกจอ) เส้นสุดท้ายพร้อมว่าคาถาผูกใจคน เป็นต้น

ความเชื่อของหนังตะลุงมีมาก ในอดีตถือว่าไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่นายหนังต้องเรียนรู้ แสดงหนังได้ดีเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องรอบรู้ไสยศาสตร์อย่างดีด้วยจึงจะเอาตัวรอด แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องนี้เท่าใดนัก

ตัวอย่างการแสดงหนังตะลุง

ตุ๊กตาเสียกบาล


ภาพตัวอย่างตุ๊กตาเสียกบาล

การปั้นตุ๊กตาชาวบ้านส่วนใหญ่จะผูกพันถึงเรื่องไสยศาสตร์ ตลอดจนความเชื่อต่างๆ ของชาวบ้าน การปั้นตุ๊กตาดินเผาหรือตุ๊กตาดินเหนียวของไทยในอดีต หรือปัจจุบันก็ยังมีอยู่เพื่อการเซ่นไหว้ การบวงสรวง ตามความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้นว่า การใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนศัตรูหรือการทำลายล้างศัตรู ด้วยการใช้เวทมนต์คาถาอาคมเสกเป่า ทำร้ายด้วยการใช้เข็มเสียบตามอวัยวะตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนของศัตรู หรือด้วยการหักแขน หักขา ศัตรูเพื่อให้เกิดอันตราย เกิดความเจ็บปวดหรือความตายเกิดขึ้นแก่ฝ่ายตรงกันข้าม

นอกจากนั้นมีตุ๊กตาอีกชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นตามความเชื่อถือของชาวบ้าน คือ ตุ๊กตาเสียกบาลเป็นตุ๊กตาที่ทำขึ้น เพื่อปัดเป่าอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนเจ็บป่วย ด้วยการนำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ นั่งพับเพียบ ตุ๊กตาตัวนี้อาจเป็นดินเหนียวธรรมดา หรือดินเผา มีการทำกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนใหญ่จะพบตุ๊กตาไม่มีหัวจะพบที่สมบูรณ์ก็มีอยู่บ้าง ตามเตาเผาของสุโขทัยบ้าง จึงทำให้เรียกว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” คือ “เสียหัว”

ตุ๊กตาเสียกบาล ส่วนใหญ่ยังคงมีการทำอยู่ตามชาวชนบทหรือตามท้องถิ่น ที่ยังคงมีความเชื่อต่างๆ แฝงอยู่ เช่น ความเชื่อถือทางด้านคาถา, ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งสะท้อนความเป็นอยู่ของท้องถิ่นซึ่งต้องอาศัยสิ่งอื่นมาช่วยชีวิตของคนให้ดีขึ้น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับตุ๊กตาเสียกบาล

เป็นวิธีสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อของคนโบราณ เริ่มจาก เลือกวันเสาร์ ที่ท้องฟ้าแจ่มใส แสงแดดดี  ตอนเช้าให้ปั้นดินเหนียวเป็นตุ๊กตาเพื่อเป็นตัวแทน แล้วตากแดดให้ตุ๊กตาแข็งตัว  รอจนเวลาเย็น พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ให้เตรียมเครื่องเซ่นแก่เทวดาให้พร้อม จากนั้น เอาตุ๊กตาแนบไว้กับตัวตลอดเวลาที่เดินไป เพื่อจะได้ดูดสิ่งไม่ดีต่างๆออกจากตัว เดินไปถึงที่ ทางสามแพร่ง แล้วนำเอาตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนวางลง   จุดธูปเทียนบวงสรวงเทวดา แล้วจึงให้ต่อยหัวตุ๊กตาให้หลุดไป เป็นการแสดงว่าตุ๊กตาได้รับเคราะห์แทน  พิธีนี้ที่จริงเป็นการเลียนแบบมาจากการ ตัดหัวนักโทษในสมัยโบราณ เขาจะทำกันในเวลาพระอาทิตย์ กำลังจะตกดิน ตรงทางสามแพร่ง เพื่อฆ่าให้ตายแล้วก็ถือว่าเป็นการสาปแช่งให้ผู้นั้นลับไป อย่าให้ผุด ให้เกิดอีกเหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน จะได้ไม่มาทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกต่อไป

การสานปลาตะเพียนใบลาน

 

การสานปลาตะเพียนใบลานเป็นอาชีพเก่าแก่ที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่ บรรพบุรุษนานกว่า 100 ปี โดยสันนิษฐานว่าชาวไทยมุสลิมซึ่งล่องเรือขายเครื่องเทศอยู่ตามแม่น้ำเจ้า พระยาและอาศัยอยู่ในเรือเป็นผู้ประดิษฐ์ปลาตะเพียนสานด้วยใบลานขึ้นเป็น ครั้งแรก แรงบันดาลใจอาจจะมาจากความรู้สึกผูกพันอยู่กับท้องน้ำ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวและความคุ้นเคยกับรูปร่างหน้าตาของปลาตะเพียนเป็นอย่างดี โดยใช้วัสดุจากท้องถิ่น เช่น ใบมะพร้าว ใบลาน ใบตาล ปลาตะเพียนที่สานด้วยใบลานในสมัยก่อนนั้นไม่สวยงามและมีขนาดใหญ่โตเช่น ปัจจุบันนี้ ปลาตะเพียนรุ่นแรกที่สร้างขึ้นเรียกว่า “ปลาโบราณ” โดยจะทำเป็นตัวปลาขนาดเล็กๆ ขนาด 1-3 ตัวเท่านั้น ปลาตะเพียนใบลานมักทาด้วยสีเหลืองซีดๆ ที่ทำด้วยวัตถุดิบตามธรรมชาติที่เรียกว่า “รงค์” ผสมกับน้ำมันวานิช แล้วนำไปเสียบไม้สำหรับห้อยแขวนเลยและปลาตะเพียนใบลานในสมัยก่อนยังมีจำนวน น้อยมากถ้าเทียบกับปัจจุบัน

 

ปลาตะเพียนใบลานเป็นงานหัตถศิลป์ฝีมือชาวมุสลิมในท้องที่ท่า วาสุกรี บ้านหัวแหลมที่อยู่คู่อยุธยามาเป็นเวลาร่วมร้อยปีจนถึงวันนี้ ก็ยังนับได้ว่าอยุธยาเป็นแหล่งผลิตปลาตะเพียนสานใบลานใหญ่ที่สุดในประเทศคน ไทยคุ้นเคยและใกล้ชิดกับปลาตะเพียนมานานแล้วและสมัยก่อนเชื่อกันว่าปลา ตะเพียนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะช่วงที่ปลาโตเต็มที่กินได้อร่อยเป็นช่วงที่ข้าวตกรวงพร้อมเก็บเกี่ยวพอ ดีเรียกว่าเป็นช่วง “ข้าวใหม่ปลามัน” ด้วยความเชื่อในเรื่องดังกล่าว จึงมีผู้นิยมนำใบลานแห้งมาสานขดกันเป็นปลาตะเพียนจำลองขนาดต่างๆ แล้วผูกเป็นพวงๆ แขวนไว้เหนือเปลนอนของเด็กอ่อนเพื่อให้เด็กดูเล่น และถือเป็นสิ่งมงคลสำหรับเด็ก เท่ากับอวยพรให้เด็กเจริญเติบโตมีฐานะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดุจปลาตะเพียนใน ฤดูข้าวตกรวง บ้างก็มีความเชื่อว่า ปลาตะเพียนเป็นสิ่งสิริมงคล ทำให้เงินทองไหลมาเทมา บ้างก็ว่า หากบ้านไหนแขวนปลาตะเพียนไว้หน้าบ้านจะทำให้บ้านนั้นมั่งมีศรีสุข ทำมาค้าขึ้น นอกจากนี้ปลาตะเพียนยังมีนัยยะที่บ่งบอกถึงเรื่องความขยันหมั่นเพียรอีกด้วย ปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องแขวนที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ 6 ชิ้นคือ กระโจม แม่ปลา กระทงเกลือ ปักเป้า ใบโพธิ์ และลูกปลา มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่เขียนเป็นลวดลายตกแต่งสวยงามสำหรับแขวนเหนือเปลลูกผู้มีบรรดาศักดิ์ และ ชนิดเป็นสีใบลานเรียบๆ ไม่มีการตกแต่งอย่างใดใช้แขวนเหนือเปลลูกชาวบ้านธรรมดาสามัญ ปลาตะเพียนใบลานที่มีลวดลายสีสันต่างๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เป็นปลาตะเพียนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 สืบทราบได้เป็นเลาๆ ว่าหลวงโยธาฯ ข้าราชการเกษียณผู้มีนิวาสสถานอยู่ใกล้สะพานหัน ตำบลวังบูรพา กรุงเทพฯ เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำให้สวยงามขึ้น แล้วนำออกจำหน่ายตามงานวัดต่างๆ นับแต่นั้นมาคนก็หันมานิยมปลาตะเพียนสานกันมากขึ้น ปัจจุบันความนิยมการสานปลาตะเพียนไปแขวนเปลให้เด็กอ่อนอาจจะเหลือน้อยมากแต่ กลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี

 

ในอดีต  ปลาตะเพียนใบลานมีอยู่ 2 ชนิด คือ แบบเขียนลวดลายลงสีสวยงามสำหรับแขวนเหนือเปลของลูกผู้มีบรรดาศักดิ์  และแบบที่เป็นสีใบลานเรียบๆ  ไม่มีการตกแต่งเพิ่มเติม ใช้แขวนเหนือเปลลูกชาวบ้านธรรมดาสามัญ  แต่ในปัจจุบัน ปลาตะเพียนใบลานมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปหลายลักษณะ ซึ่งแหล่งผลิตปลาตะเพียนใบลานที่สำคัญนั้นอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา โดยกลุ่มชาวไทยมุสลิม แถบชุมชนหัวแหลม ตำบลท่าวาสุกรี ผู้คนที่ชุมชนนี้ประกอบอาชีพสานปลาตะเพียนใบลานสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนานกว่า 100 ปี มาตั้งแต่ครั้งยังอาศัยอยู่ในเรือสินค้าเร่ หรือ เรือนแพ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าปัจจุบันได้อพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือนอยู่บนบกแล้ว  แต่ก็ยังยึดอาชีพการสานปลาตะเพียนใบลานเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมกันเรื่อยมา

 

ปลาตะเพียนแบบตกแต่งสวยงามวิจิตร  เป็นรูปแบบของปลาตะเพียนของลูกผู้สูงศักดิ์

ปลาตะเพียนใบลาน  แบบสีเรียบ  เป็นรูปแบบปลาตะเพียนใบลานของลูกชาวบ้าน


ขั้นตอนการสานปลาตะเพียน

ที่มา : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=excuseme&date=24-06-2007&group=6&gblog=6

ภาพตัวอย่างขั้นตอนการสานปลาตะเพียนใบลาน


1. นำใบลานมาตัดเป็นเส้นยาว จำนวน 2 เส้น
2. นำใบลานเส้นที่ 1 มาพันมือ 2 รอบ
3. นำใบลานหั่นได้แล้วดึงมือที่พันออก ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับไว้
4. นำใบลานใบที 2 มาพับครึ่งแล้วสอดเข้าไปในใบมะพร้าวที่พันไว้ในรอบแรก
5. เสร็จแล้วให้ใช้ใบลานเส้นที่ 2 เส้นล่างสอดช่องใบลานเส้นที่ 1 ห่วงแรก
6. กลับด้านหลังขึ้นมานำใบลานเส้นที่ 2 ปลายด้านล่างสอดช่อง แล้วดึงจัดให้สวยงาม
7. ใช้กรรไกรตกแต่ง ครีบและหาง
8. สานใบลานส่วนที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆ เช่น กระโจม กระทงเกลือ ใบไพ เม็ดปักเป้า
และลูกปลานำตัวปลาและเครื่องประกอบอื่นๆระบายสีให้สวยงาม
9. นำลูกปลาเละเครื่องประกอบอื่นๆที่ตกแต่งแล้วมาประกอบกับปลาตัวใหญ่ จะได้ปลาตะเพียนเป็นพวงสวยงาม

วัฒนธรรมการให้ของขวัญในประเทศญี่ปุ่น


ของขวัญ : วัฒนธรรมของญี่ปุ่น : โอะคุริโมะโนะ

การให้ของขวัญ เป็นการแสดงความยินดี เป็นประเพณีร่วมกันของคนทุกเชื้อชาติ ทุกประเทศ สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้วมีการส่งของขวัญเพื่อเป็นการฉลองโอกาสต่าง ๆ เช่น
– การฉลองการมีบุตร
– งานฉลองสำหรับ 1 เด็ก ที่อายุครบ 3 ขวบ 5 ขวบ 7 ขวบ
– วันเกิด
– การเข้าศึกษาต่อ
– การจบการศึกษา
– การเข้าทำงาน
– การแต่งงาน
– การขึ้นบ้านใหม่
– การเลื่อนตำแหน่ง
– การฉลองอายุครบ 60 ปี เป็นต้น

การส่งของขวัญ ความหมายดั้งเดิมของการส่งของขวัญคือ การสื่อความรู้สึกไปสู่อีกฝ่ายหนึ่งในรูปของสิ่งของ เวลาส่งของขวัญคนญี่ปุ่นจะให้การเอาใจใส่กับการห่อ ทั้งนี้เพราะประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว การไม่แสดงความรู้สึกออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ถือเป็นความงดงามทางคุณธรรมอย่างหนึ่ง คนญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการ “ห่อหุ้มความรู้สึก” อย่างมาก คนญี่ปุ่นสมัยก่อนได้พยายามหาวิธีที่จะห่อของขวัญให้ดูสวยงาม จึงได้ให้กำเนิด “วิธีการห่อของขวัญ” ที่งดงามเกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตามวิธีการเช่นนี้บางครั้งทำให้มีการให้ความสำคัญกับลักษณะภายนอก ของห่อของขวัญมากกว่าสิ่งของที่อยู่ภายใน
นอกจากนั้นการห่อที่มากเกินไป ยังก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม ห้างสรรพสินค้าหรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต มักห่อของขวัญ ด้วยกระดาษรีไซเคิล หรือไม่ก็ห่อแบบง่ายๆ นอกจากนั้นการใช้ ผ้าห่อของ ที่เรียกว่า ฟูโระชิกิ แบบดั้งเดิมก็กลับมานิยมอีกทั้งที่เวลาที่จะมอบของขวัญที่ห่อด้วยผ้าฟูโระชิ กิ ให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยทั่วไปจะเอาผ้าออกต่อหน้าอีกฝ่ายหนึ่งก่อนที่จะมอบให้ ส่วนการไม่เปิดของขวัญทันทีที่ได้รับนั้น มีความเป็นมาจากประเพณีการถวายของแก่เทพเจ้าในสมัยโบราณ โดยเริ่มแรกจะนำของขวัญนั้นถวายแด่เทพเจ้า หลังจากนั้นหัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้เปิด จากประเพณีนี้จึงถือเป็นมารยาทที่ไม่เปิดของขวัญทันทีที่ได้รับ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเคร่งครัดมากนัก
ประเพณีการให้ของขวัญในญี่ปุ่น มีลักษณะพิเศษ คือ มีการให้ของขวัญตามฤดูกาล กล่าวคือ

โอะ-ชูเง็น- ในฤดูร้อน  และโอะ-เซะอิโม – ในฤดูหนาว
ซึ่งแตกต่างจากการให้ของขวัญ เพื่อแสดงความยินดีโดยเป็นการส่งของขวัญเพื่อเป็นการขอบคุณต่อผู้ให้ความ ช่วยเหลือด้วยดีเสมอมานั่นเอง
คนทั่วไปจะส่งของขวัญให้พ่อแม่หรือนะโกโดะ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในงานแต่งงานหรือพ่อสื่อ แม่สื่อ นั่นเอง เจ้านาย ครู แพทย์ประจำครอบครัว ในกรณีของบริษัทส่วนใหญ่จะส่งของขวัญให้กับบริษัทที่ติดต่อค้าขายกันอยู่ นั่นเอง

การห่อของขวัญด้วยผ้าของประเทศญี่ปุ่น


การให้ของขวัญตอบแทน – โอะ – คะเอะชิ

การให้สิ่งของเพื่อตอบแทนของขวัญที่ได้รับ นับเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการให้ของขวัญในญี่ปุ่น และไม่ต้องกังวลว่าอุตส่าห์มอบของขวัญให้แล้วอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่เข้าใจความ ปรารถนาดีของผู้ให้ เพราะคนญี่ปุ่นจะแสดงความขอบคุณต่อของขวัญที่ได้รับ โดยการมอบของขวัญตอบแทน ที่เรียกว่า โอะ-คะเอะชิ การแสดงความขอบคุณด้วยการส่งบัตรแสดงความขอบคุณนั้นยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่การส่งของขวัญตอบแทนในทันทีจะเป็นการเสียมารยาท ถ้าเป็นกรณีแสดงความยินดีควรส่งภายในรอบสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ได้รับของขวัญ
ส่วนกรณีการแสดงความเสียใจควรส่งหลังจากประกอบพิธีที่ระลึกถึงผู้ตายเมื่อครบสี่สิบเก้าวัน หรือถ้าไม่ส่งของตอบแทนก็จะจดบันทึกไว้ก็ได้ เมื่อถึงโอกาสที่อีกฝ่ายหนึ่งเกิดกรณีแบบเดียวกันนี้ขึ้นจึงส่งของขวัญไปให้
สำหรับกรณีการตอบแทนการมอบเงินช่วยในงานศพ  จะไม่มีการส่งบัตรขอบคุณ ทั้งนี้เพื่อมิให้ครอบครัวของผู้ตายรู้สึกเศร้าโศกยิ่งขึ้นและแม้แต่เงินที่ ได้รับมอบในงานศพก็ยังมีการให้ของขวัญตอบแทนอย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ระยะหลังๆ มักนำไปบริจาคให้องค์การการกุศลมากขึ้น
ในกรณีของการแสดงความยินดีต่อเด็กแรกเกิดและงานฉลองอื่นๆ ภายในครอบครัว จะให้ของขวัญตอบแทนเป็น ข้าวแดง (เซะกิซัน) และน้ำตาลสีแดงและขาว เพื่อเป็นการแบ่งปันความปิติยินดี ให้กับผู้ที่ส่งของขวัญมาอวยพร
ในงานเลี้ยงฉลองการแต่งงาน  แขกที่มาร่วมงานจะได้รับของขวัญตอบแทนที่เรียกว่า มิกิเดะโมะโระ ในประเทศญี่ปุ่น มีการให้ เงินสด เป็นของขวัญในหลายๆ กรณีการแสดงความยินดีในโอกาสของการเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษา การจบการศึกษา การบรรลุตินิภาวะ การแต่งงาน การไปเยี่ยมไข้และการไปเยี่ยมเยียนเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งประสบความเดือดร้อนจาก ไฟไหม้ จะให้ของขวัญเป็นเงินสดเป็นส่วนใหญ่
ชาวญี่ปุ่นเรียกการให้ของขวัญปีใหม่ว่า โอะโทะชิตะบะ ส่วน โคเค็น คือการได้สิ่งของหรือเงินเพื่อแสดงความเสียใจในงานศพ ส่วนใหญ่จะให้ของขวัญเป็นเงินสด โดยปกติจะไม่มีการส่งของขวัญตอบแทน ในกรณีของการให้ของขวัญเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษา การจบการศึกษา วันเกิดและการเยี่ยมเยืยน การเจ็บป่วย หรือได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ แต่เป็นมารยาทที่ควรจะต้องส่งบัตรแสดงความขอบคุณกลับไป