ภูมิปัญญาเครื่องเบญจรงค์
5 สี “เบญจรงค์” ชื่อเรียกเครื่องถ้วยชนิดหนึ่งที่มีใช้ในประเทศไทยแต่ครั้งอยุธยาสืบถึงรัตนโกสินทร์ เป็นเครื่องถ้วยที่สั่งทำพิเศษจากแผ่นดินใหญ่โพ้นทะเล ช่างไทยออกแบบ ให้ลาย ให้สี ส่งไปให้ช่างจีนผลิตในประเทศจีน แล้วช่างไทยก็ตามไปควบคุมการผลิตให้ออกมาได้รูปลักษณะงามอย่างศิลปะไทย โดยเฉพาะลวดลายสีสันแสดงเอกลักษณ์ไทยชัดเจน
เครื่องเบญจรงค์หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ เขียนลายโดยลงยาด้วยสีต่างๆ นอกจากสีหลักทั้ง 5 อันมีสีดำ ขาว เหลือง แดง และเขียว(หรือคราม) ยังมีสีรองอย่างชมพู ม่วง น้ำตาล แสด มาเสริมสวย เป็นเครื่องถ้วยที่ต้องใช้ฝีมือสูง ต้องละเอียด ประณีต จากเครื่องใช้ในรั้วในวังถึงปัจจุบันเครื่องเบญจรงค์ยังได้รับความนิยมโดยเฉพาะในแง่เป็นตัวแทนแสดงความเป็นไทย (แม้รากฐานจะเป็นของจีนก็ตาม)
ย้อนอดีตสู่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 รัชสมัยจักรพรรดิซวนเต๊อะ (ครองราชย์พ.ศ.1969-1978) ราชวงศ์หมิง มีการผลิตเครื่องเคลือบเขียนลายลงยาขึ้นครั้งแรกที่แคว้นกังไซ (ไทยเรียกกังไส ที่มาของชื่อเรียกเครื่องกังไส) มณฑลเจียงซี และพัฒนาต่อมาจนเป็นที่นิยมอย่างมากในรัชสมัยจักรพรรดิเฉิงฮั่ว (พ.ศ.2008-2030) การเขียนลายโดยวิธีลงยาดังกล่าวใช้ตั้งแต่ 3 สีขึ้นไป
ถึงยุคจักรพรรดิวั่นลิ (พ.ศ.2116-2162) มีการผลิตเครื่องเคลือบแบบเบญจรงค์มากที่สุด ติดต่อมาถึงสมัยราชวงศ์ชิง (ปกครองจีนระหว่างพ.ศ.2187-2454) ความสวยงามเข้าตาสยาม จีนรับออร์เดอร์ไม่หวัดไหวให้ผลิตภาชนะเป็นแบบไทย มีการเขียนลาย ให้สี ส่งเป็นตัวอย่างมาให้ เป็นเบญจรงค์ที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นของไทยอย่างยิ่ง ครั้นจะผลิตเองยามนั้นก็ออกจะติดขัดอยู่ เนื่องจากไทยยังไม่มีเทคนิคการผลิตที่ดี มีแต่ฝีมือเยี่ยมในการออกแบบลวดลายได้วิจิตร
เครื่องเบญจรงค์มาแรกเริ่มผลิตในประเทศไทยในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง เป็นเตาเผาของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ
เครื่องเบญจรงค์ หรือเรียกเครื่องถ้วย มีทั้งแก้วน้ำ ถ้วยกาแฟ กาน้ำชา ชุดถวายข้าวพระพุทธ ตลับใส่ของ และนานา ขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก 1.นำเครื่องเคลือบขาวมาล้างให้สะอาด (หากสามารถ เป็นเครื่องดินเผาที่ปั้นเองก็เข้าที แล้วนำมาเคลือบขาว) 2.ตั้งแป้นวนเส้นกำหนดลาย 3.เขียนลายด้วยน้ำทอง 4.ลงสี 5.วนทองส่วนที่เหลือ และ 6.เข้าเตาเผา
ลายยอดนิยมคือลายกระหนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพนม นรสิงห์
เครื่องเบญจรงค์ เป็นงานหัตถศิลปล้ำค่า ที่มีความสวยงามแสดงถึงวิถีวัฒนธรรม รสนิยม และเอกลักษณ์ของไทย รัฐบาลจึงเลือกนำมาเป็นภาชนะสำหรับจัดเลี้ยงอาหารค่ำ ต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภูมิภาคเอเซีย และแปซิฟิค (เอเปค 20003) ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ 20 – 21 ตุลาคมนี้ นอกจากนี้ยังจัดทำเป็นของที่ระลึกเพื่อมอบให้กับผู้นำประเทศต่างๆ อีกด้วย
เครื่องเบญจรงค์มีการผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานจากการขุดพบที่พระนครศรีอยุธยา และจากลักษณะของลวดลาย สี เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเครื่องถ้วยจีน และบางชิ้นที่มีเครื่องหมายบอกรัชกาล เชื่อว่ามีการสั่งทำเครื่องเบญจรงค์จากประเทศจีนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยช่างคนไทยจะเป็นผู้วาดลวดลาย และเขียนสี ส่งไปผลิตในจีน ดังนั้นลักษณะของเครื่องเบญจรงค์จึงมีความงดงามอย่างไทย ยิ่งกว่าเครื่องปั้นดินเผาประเภทอื่นๆ แม้แต่เครื่องสังคโลกซึ่งเป็นของไทย ผลิตในประเทศไทย ก็ยังไม่แสดงเอกลักษณ์ไทยอย่างเครื่องเบญจรงค์
ผ้าไหมไทย
ผ้าไหมไทย เป็นผลงานอันเกิดจากความตั้งใจของผู้ทอที่แฝงไว้ด้วยความหมายแห่งศิลปะและจินตนาการ สะท้อนให้เห็นถึง เอกลักษณ์และความผูกพันระหว่างธรรมชาติกับวิถีชิวิตของคนไทยในแต่ละภาคของประเทศ ณ วันนี้ ผ้าไหมไทย จึงมิใช่เป็นเพียงตำนานที่เล่าขาน แต่ทุกเส้นใยที่สอดประสานจนเกิดเป็นลวดลายแห่งศิลปะบนผืนผ้า คือ มรดกอันล้ำค้าแห่งภูมิปัญญาของบรรพชนไทยทีอนุชนรุ่นหลังควรร่วมมือร่วมใจกันส่งเสริมสืบสาน และอนุรักษ์ให้อยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไป
ศ.ศ.ป.ส่งเสริมงานสร้างสรรค์ อวดผลิตภัณฑ์ศิลปหัตกรรมไทย ร่วมจัดแสดงในงาน Maison et Objet 2011 ประเทศฝรั่งเศส
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ผลักดันการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เน้นนำเสนอผลงานใหม่ๆ ที่สร้างความโดดเด่น อวดผลงานสู่เวทีระดับนานาชาติ ในงานแสดงสินค้า Maison et Objet ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เปิดเผยว่า การผลักดันผลิตภัณฑ์ศิลปหัตกรรมไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ และสามารถเข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มผู้บริโภคที่มีใจรักในงานศิลปาชีพได้นั้น “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์” นับว่ามีความสำคัญยิ่ง ศ.ศ.ป.จึงได้ส่งเสริมให้นำผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่เป็นเป้าหมาย อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้า, ผลิตภัณฑ์เครื่องโลหะ, ผลิตภัณฑ์เซรามิก, ผลิตภัณฑ์จักสาน ก้าวเข้าสู่ตลาดระดับสากล ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในงานแสดงสินค้า Maison et Objet ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 — 13 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และเป็นเวทีพบปะเจรจาที่รวบรวมนักออกแบบและผู้ผลิตงานชั้นนำ เข้ามานำเสนอผลงานใหม่ๆ ที่มีความโดดเด่น เพื่อเสนอให้กับผู้บริโภคทั่วโลก
ทั้งนี้ ศ.ศ.ป. ได้นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบเข้าร่วมจัดแสดงภายในงาน ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นให้สามารถนำมาต่อยอดใช้งานได้จริง อาทิ พัฒนาให้มีความร่วมสมัย ยังคงความเป็นไทย และสามารถนำไปเป็นของใช้ของประดับตกแต่งบ้านในต่างประเทศได้อย่างลงตัวโดยเน้น ความเรียบง่าย เอกลักษณ์ไทย และ ประโยชน์ใช้สอย , ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานหัตถกรรมอย่างกว้างขวางจากวัตถุดิบต้นแบบธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่ผสมผสานงานศิลปหัตถกรรมไทยด้วยความประณีต สวยงาม ให้เข้ากับความทันสมัย ความร่วมสมัยของงานแฟชั่นปัจจุบันอย่างลงตัว เป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศ.ศ.ป. จึงได้เลือกทีมงานนักออกแบบไทย และออกแบบชิ้นงาน ออกมาภายใต้คอนเซป “นกยูง” ซึ่งเป็นสัตว์ที่นิยามได้ในเรื่องของความสวยงาม ความสง่างาม ความรัก ความรู้สึกภูมิใจและทะนงตน จิตวิญญานและความสงบ มาเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นตัวแทนมนุษย์ที่ยึดมั่นในคุณธรรม ความงามทั้งด้านรูปร่าง จิตใจ โดยถ่ายทอดออกมาทางสีสัน ลวดลายที่อยู่วาดอยู่บนตัวนกยูง ที่ชวนมองอย่างเห็นได้ชัด มารังสรรค์ให้เกิดงานผลงานที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ ด้วยจินตนาการ พิจารณาจากต้นแบบลวดลายของนกยูงมาปรุงแต่งลงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความลงตัว โดยประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ ในการตกแต่งเพิ่มเติม ให้ลวดลายมีความทันสมัย เมื่อออกแบบชิ้นงานแล้ว จึงทำการคัดเลือกผู้ผลิตชิ้นงานที่มีมาตราฐาน และมีประสบการณ์จากศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ/กลุ่มชาวบ้าน/วิสาหกิจชุมชนต่างๆ ผลิตชิ้นงานต่างๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์
สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของงานหัตถกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศได้ และจะนำมาซึ่งรายได้ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่พัฒนาเพื่อนำเสนอในงาน แบ่งโดยวัตถุดิบได้ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1 งานไม้ : ได้นำงานหัตกรรมจากไม้มะม่วง ซึ่งผลิตจากไม้มะม่วงในชุมชน จ. เชียงใหม่ มาตกแต่งลายเพิ่มเติมโดยการปั้นบนผิววัสดุและลงสีให้เกิดลวดลาย เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า
2 งานผ้า : ได้มีการนำผ้าไหมจากมูลนิธิศิลปาชีพฯ มาปักเป็นลวดลายที่มีความสวยงาม โดยได้มีการพัฒนาลวดลายที่ซับซ้อนจากธรรมชาติของหางนกยูง เป็นลายปักบนหมอนผ้าไหม นอกจากนี้ ยังมีงาน ถักโครเชต์ มาถักเป็นเปลและชิงช้าจากงานฝีมือถักของชุมชน จ.ขอนแก่น มาประยุกต์เข้ากับงานเฟอร์นิเจอร์ โดยพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการถักเพื่อให้เกิดสีสันมากขึ้น
3 งานหล่อจากวัสดุโลหะ ทองเหลือง และเงิน : ได้มีการนำวัสดุโลหะ ทองเหลือง และเงิน มาหล่อเป็นของใช้บนโต๊ะอาหาร อาทิ ชุดช้อนส้อม ที่ออกแบบให้ปลายด้ามจับมีลวดลายของหางนกยูงตกแต่ง ที่ใส่ผ้าเช็ดปาก ชามผลไม้ เชิงเทียน แจกันทองเหลืองโดยมีการนำเอาลวดลายบนตัวนกยูงมาหล่อเรียงบนภาชนะต่างๆ โดยใช้เทคนิคการลงยาเพื่อให้เกิดสีสันสวยงาม และเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ด้วยฝีมืออันประณีต
4 งานเครื่องปั้นดินเผา : ได้ทำชุดถ้วยเบญจรงค์เป็นรูปลายนกยูง ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์เป็นถ้วยซุปและจานข้าวลายขอบนกยูงที่สวยงาม
คาดการณ์ว่า ภายหลังการเข้าร่วมนำเสนอผลงานศิลปหัตถกรรมไทยในงาน Maison et Objet จะเป็นโอกาสสำคัญ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และช่วยให้ตลาดต่างประเทศรับรู้ว่า “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)” คือ ศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมของประเทศไทยที่รังสรรค์งานศิลปาชีพอันทรงคุณค่า และคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย
ฐานข้อมูล “ของที่ระลึก”
ฐานข้อมูล “ของที่ระลึก”
ภูมิปัญญาโดยคนไทย เพื่อคนไทย ยินดีต้อนรับค่ะ
ของที่ระลึก เป็นเครื่องเตือนความจำเกี่ยวกับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดการระลึกถึงผู้ให้ หรือระลึกถึงสถานที่ท่องเที่ยว เหตุการณ์ต่างๆ เว็บไซต์ฐานข้อมูลเรื่อง “ของที่ระลึก” นี้ เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับของที่ระลึกโดยคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งของที่ระลึกของคนไทย ก็จะเป็นสิ่งของที่ทำด้วยมือหรือที่เรียกว่า “งานหัตถกรรม” ในฐานข้อมูลนี้จะแบ่งเนื้อหาออกเป็นสัดส่วน ชัดเจน ง่ายต่อการค้นหาข้อมูล โดยส่วนใต้ head website จะเป็นเนื้อหาที่ให้ความรู้ครอบคลุมเกี่ยวกับของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเบื้องต้น การออกแบบ เรื่องธุรกิจ ทั้งยังมีคลังภาพ คลังคำศัพท์อีกด้วย นอกจากนี้เว็บไซต์ฐานข้อมูลที่ระลึกของเรายังรวมคลังสื่อ วิดีโอต่างๆ ซึ่งจะไว้ด้านขวาของเว็บไซต์ เพื่อไม่ให้รวมกับเนื้อหาหลัก หวังว่าท่านคงได้รับประโยชน์จากเว็บไซต์ของเราค่ะ
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ขอความกรุณาท่านช่วยแจ้งให้เราทราบ ทางเราจะดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงอย่างรวดเร็วที่สุด ขอขอบพระคุณที่เยี่ยมชมเว็บไซต์ฐานข้อมูลของเราค่ะ