เครื่องทอง

          
           ในดินแดน “สุวรรณภูมิ”  นี้ ทุกคนล้วนนิยมชมชอบ “ทองคำ” กันทั้งนั้น จะเห็นว่าทุกชาติทุกภาษาต่างก็นิยมใช้ทองคำทำเป็นเครื่องใช้เครื่องประดับเสื้อผ้าอาภรณ์ ทำเป็นรูปเคารพ ประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมชั้นสูง ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินตรา  หรือใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ฯลฯ แต่คงไม่มีชาติไหนที่ใช้ทองคำมากมายในชีวิตประจำวันเท่าคนไทย คนไทยเราใช้ทองคำเรื่อยเปื่อยไปจนถึงเป็นส่วนผสมของยา เช่น ยาหอมบางตำรับก็ผสมทองคำเปลว บางตำรับก็ปิดทอง นอกจากนั้น ยังใช้ทำขนม เช่น ขนมทองเอกและขนมจ่ามงกุฎ  หรือถ้าไม่ใช้เนือ้วัตถุตรงๆ อย่างที่กล่าวมา ก็ยังใช้ในทางอ้อม เช่น ใช้ตั้งชื่อคน ชื่อต้นไม้ ชื่อขนม ชื่อสถานที่ ลำพังเพียงชื่อจังหวัดและชื่ออำเภอก็นับไม่ถ้วนแล้ว ยกตัวอย่าง เท่าที่นึกได้ก็มี  สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง อู่ทอง กาญจนดิษฐ์  ทองผาภูมิ จอมทอง วังทอง โพนทอง โพธิ์ทอง พานทอง บ่อทอง โนนสุวรรณ สุวรรณภูมิ บางบัวทอง ร่องคำ ลำปลายมาศ เชียงคำสุวรรณคูหา ทองแสนขัน คำเขื่อนแก้ว  ฯลฯ
             ความสำคัญของทองมีมากปานนี้ก็เพราะว่าทองคำนั้นเป็นโลหธาตุที่โดดเด่นกว่าโลหธาตุใดๆ ในโลก ทองคำแท้จะมีสีสันเหลืออร่ามสุกใสอยู่เสมอไม่มีหมอง ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใดๆ ทองคำไม่ทำปฏิกิริยาหรือกรดใดๆ (ยกเว้นกรดกัดทองหรือน้ำประสานทอง) นอกจากนั้น แม้ทองคำจะเป็นโลหะหนัก แต่กลับมีความอ่อนตัวสูงสุด ทองคำ 1 กรัม สามารถรีดเป็นแผ่นบางๆ ที่มีความหนาเพียง 1 ในล้านส่วนของเซนติเมตร สามารถตีเป็นทองคำเปลวได้ถึง 180 ตารางเซนติเมตร หรือสามารถดึงเป็นเส้นที่มีความยาวเท่าเส้นรอบวงของโลก (นี่ไม่ได้โม้นะ) แต่ทองก็เป็นโลหะที่หาได้ยากมาก บนโลกนี้ในหินหนัก 1 ล้านกิโลกรัม จะมีแร่ทองคำปนอยู่เพียง 4 กรัม  และในน้ำทะเลหนัก 9 ล้านกิโลกรัม จะมีแร่ทองคำปนอยู่เพียง 1 กรัมเท่านั้น ยิ่งในเมืองไทยเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีแหล่งแร่ทองคำอยู่เพียง 3 แห่งเท่านั้น (รู้สึกเดี๋ยวนี้จะเลิกไปแล้วด้วย) ทองคำจึงเป็นวัตถุยอดนิยม เป็นของเชิดหน้าชูตาและมี ราคาแพง
            ในสมัยของกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893-2301) นั้น ถือได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของไทย “ทอง” ทั้งในความหมายว่าเจริญรุ่งเรือง และในความหมายตรงๆ ตัวว่าเป็นยุคที่นิยมใช้ทองมากที่สุด ชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อด้านการคาและการฑูตกับกรุงศรีอยุธยามักบันทึกไว้ในจดหมายเหตุต่างๆ ถึงความมั่งคั่งร่ำรวยและการใช้ทองของชาวกรุงศรีอยุธยา เช่น บาทหลวง เดอ ชัวสี ผู้ช่วยฑูตแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรี เมื่อ พ.ศ. 2228 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ได้กล่าวถึงพระศรีสรรเพชญ์ว่าเป็นพระพุทธรูปสูงประมาณ 42  ฟุต กว้างประมาณ 14 ฟุต หุ้มทองคำหนาถึง 3 นิ้วฟุตทั้งองค์ ทั้งในโบสถ์ วิหาร ในพระอารามหลวงต่างๆ ล้วนแต่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ  สูงประมาณ 17-18 ฟุต อีกหลายองค์ พระพุทธรูปซึ่งประดับด้วยเครื่องทองนั้นมีอีกนับร้อยๆ  องค์ ต่อมาอีก 2 ปี ใน พ.ศ. 2230 มงชิเออร์ ชิมง เดอ ลาลูแบร์ อัครราชฑูตฝรั่งเศสแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเดินทางมาเจริญพระราชไมตรีอีกเช่นกัน ก็ได้กล่าวว่า พระพุทธรูปและรูปหล่อที่ทำด้วยทองในกรุงศรีอยุธยามีมากมายเหลือคณานับ ช่อฟ้า ใบระกา เพดาน โบสถ์ วิหาร ยอดปรางค์ ปราสาท เจดีย์ ล้วนแต่หุ้มทองคำดูพราวตาไปหมด ราชฑูตลังกาที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) บันทึกไว้ว่า “นภศูล” ของพระปรางค์วัดมหาธาตุนั้นทำจากทองคำ ฯลฯ  แสดงว่าทองคำที่ใช้กันส่วนใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาเกือบตลอดยุคนั้นมาจากนอกประเทศ นั่นคือ มาจากชัยชนะในสงคราม ซึ่งมีอยู่หลายครั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น การชนะศึกเขมร ตีนครธมแตกในปี พ.ศ.1974 เป็นต้น     มาจาก     การค้าขายแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ ชวา มลายู จัมปา เวียดนาม ญี่ปุ่นและ ประเทศในยุโรป   มาจากเครื่องราชบรรณาการของประเทศราช ซึ่งต้องถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองแด่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เช่น ล้านนา ล้านช้าง แสนหวี เชียงตุง ตองอู โคตรบอง เรวแกว กัมพูชา เชียงไกร เชียงกราน เมืองน่าน อุยองตะหนะ มะละกา มลายู วรวารี ฯลฯ นอกจากนั้น ยังเป็นเครื่องราชบรรณาการตอบแทนจากษัตริย์เมืองอื่นที่กษัตริย์กรุงสรีอยุธยาแต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายเพื่อเจริญพระราชไมตรี

เครื่องทองในยุคกรุงศรีอยุธยามีกรรมวิธีในการทำต่างๆ กัน ดังนี้

                “ตีเป็นแผ่น” นำทองแผ่นมาตีเป็นแผ่นบางๆ ถ้ายังมีเนื้อทองมากเรียกว่า “ทองใบ” อาจนำมาตัดเป็นแผ่นเล็กลงอักขระด้วยวิธี “จาร” หรือ “จารึก” ด้วยเหล็กแหลมแล้วม้วนเป็นตะกรุด ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง นำมาจารึกข้อความเป็นแผ่นลานทอง นำมาทำเป็นสุพรรณบัตร คือแผ่นจารึกพระนามหรือชื่อของกษัตริย์ พระบรมวงศ์หรือขุนนางชั้นสูง นำมาจารึกข้อความเป็นพระราชสาส์นสำหรับเจริญพระราชไมตรี นำไปหุ้มรูปเคารพ ภาชนะ เครื่องใช้ไม้สอย หรือชิ้นส่วนศิลปะสถาปัตยกรรม เช่น พระแทนราชบัลลังก์ บุษบก ยอดปราสาท ยอดเจดีย์ ฯลฯ การหุ้มแบบนี้ถ้าเป็นการหุ้มพระพุทธรูปแล้วมีหมุดตรึง หรือมีลวดทองเย็บให้แผ่นทองติดกันตลอดองค์พระ เรียกว่า “หุ้มแผลง” ถ้านำมาหุ้มปลายหรือขอบ เช่น ปากถ้วย ยอดฉัตร ปลายพวกา ฯลฯ เรียกว่า “เลี่ยม” ถ้านำแผ่นทองมาทำให้เป็นรอยนูนขึ้นมาเป็นรูป เช่น พระพุทธรูปหรือลวดลาย โดยใช้เครื่องมือตอก กด จากด้านหลัง เรียกว่า การ “ดุน”

                ถ้าแผ่นทองนั้นถูกตีให้มีเนื้อทองบางมากๆ จนเป็น “ทองคำเปลว” ก็จะนำทองนั้นไป “ปิด” ลงบนผิวของวัสดุต่างๆ โดยใช้วัสดุอื่น เช่น ยางรัก เป็นตัวประสานให้ติดแน่น ทำให้วัสดุที่ได้รับการ “ปิดทอง” นั้น มีผิวเป็นสีทองงดงาม
              “บุ” หมายถึง การตีทองขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ ที่ต้องการเช่น บุชัน บุพระพุทธรูป ฯลฯ การบุขึ้นรูปนี้จะได้สิ่งของที่บางเบากว่าการหล่อ ใช้ทองน้อยกว่า แต่ต้องใช้ฝีมือมากกว่า หรือการทำทองเป็นแผ่นบางๆ หุ้มข้างนอกหรือรองข้างในวัสดุอื่นก็เรียกว่าการ “บุ” ได้

              “หล่อ” หมายถึง การทำแม่พิมพ์เป็นรูปทรงสิ่งของที่ต้องการนำทองมาหลอมละลายจนเป็นของเหลวแล้วเทลงในแม่พิมพ์ รอจนเย็นลงแล้วจึงนำมาถอดพิมพ์และตกแต่งรายละเอียด มักใช้งานสำคัญๆที่เป็นของสูง เช่น พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องราชนูปโภค ฯลฯ การหล่อนี้ถ้าเป็นของใหญ่ ๆ ก็ต้องใช้ความชำนาญและเทคนิคมาก เพื่อป้องกันการแตกร้าวของเนื้อทอง ทั้งยังใช้เนื้อทองมากกว่าการบุขึ้นรูป สิ่งของที่ได้จากการหล่อโดยเฉลี่ยจะหนาและหนักกว่าการบุ (ในปัจจุบันช่างฝีมือในการบุหาได้ยาก ขณะที่เทคโนโลยีการหล่อทำได้ง่ายขึ้น สิ่งของที่แต่โบราณนิยมทำโดยการบุ เช่น ขัน กระโถน กาน้ำ ฯลฯ จึงหันมาใช้วิธีหล่อแทน)

              “สลัก” คือการทำลวดลายโดยใช้เครื่องมือปลายแหลมคมตอกลงไปบนผิวทองให้เป็นลวดลายจากด้านหน้าของวัตถุ ถ้าตอกจนผิวทองนั้นขาดทะลุเป็นลายโปร่งเรียกว่า “ฉลุ”

              “คร่ำ” คือ การรีดทองเป็นเส้นเล็กๆ แล้วตอกฝังเป็นลวดลายลงไปบนโลหะอื่น เช่น เหล็ก นิยมทำกับใบมีด ใบกรรไกร สันดาบ ด้ามมีด ด้ามดาบ ด้ามกรรไกร หรือฝักมีด ฝักดาบ (การคร่ำนี้ ในแถบสเปน โปรตุเกส ก็ยังนิยมทำเป็นของใช้และเครื่องประดับอยู่ เขาเรียกของพวกนี้ว่าเครื่อง “ดามัสกัส” ส่อให้เห็นว่าสเปนและโปรตุเกสได้มาจากพวกแขกมัวร์)

             “เปียกทอง” หมายถึง การนำทองไปละลายกับปรอท แล้วนำมาทาลงบนผิวโลหะอื่น เช่น เงิน จากนั้นใช้ความร้อนไล่ปรอทออกไป เนื้อทองก็จะติดแน่นกับสิ่งของนั้นๆ ( ติดแน่นและคงทนกว่าการ “ชุบ”  ทองด้วยไฟฟ้าในปัจจุบัน) ถ้าทำเป็นบางจุดเช่นในเครื่องถม เพื่อให้ลวดลายเด่นขึ้นเรียกว่า “ตะทอง” เครื่องถมชนิดนั้นเรียกว่า “ถมตะทอง”

            “กาไหล่” หรือ “กะไหล่” เป็นการเคลือบโลหะอื่น เช่น เงินหรือทองแดง ด้วยทองคำ ทำให้ผิววัสดุแลดูเป็นสีทอง (การกะไหล่ทองก็คงทนกว่าการ “ชุบ”ทองเช่นกัน)

                “ถม” คือการขูดผิววัสดุที่เป็นทองให้เป็นลวดลาย แล้วนำ “น้ำยาถม” ซึ่งมีสีดำเนื้อข้นมาทาถมลงไปจนเต็ม แล้วขัดแต่งจนเรียบสนิทเป็นผิวเดียวกัน ทำให้เกิดลวดลายดำบนผิวสีทอง เรียกว่า “ถมทอง” สิ่งของที่เป็นถมทองมีน้อยและหายาก (เพราะทองคำแพงนั่นเอง) ส่วนใหญ่จะพบ “ถมเงิน” และ “ถมตะทอง” (ซึ่งเนื้อวัสดุเป็นเงิน แล้วเปียกทองเป็นจุดๆ) บางครั้งนำภาชนะที่เป็น “ถมเงิน” มา “เปียกทอง” กันหมด แล้วอนุโลมเรียกว่า “ถมทอง” ก็มี เพราะแลดูเหมือนกัน ถมก็เป็นวิธีการที่ไทยรับมาจากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน
                 นอกเหนือจากวิธีการหลักต่างๆ นี้แล้ว ยังมีเทคนิคปลีกย่อยที่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการอีก เช่น การ “ถัก” ทองเส้นเล็กๆ เป็นสายสร้อยอ่อน หรือถักเป็นตาข่าย การนำมา “แล่ง” เป็นเส้น แล้วทอควบกับไหมเป็นลวดลายทองในเนื้อผ้า หรือนำทองมาป่นละเอียดผสมน้ำยา เขียนเป็นลวดลายบนผืนผ้า การนำอัญมณีมาฝังประดับบนทอง การฝังอัญมณีนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยานิยมทำเป้นเป้ายกขอบหุ้มอัญมณีโดยรอบ บางทีมีเขี้ยวเล็กๆ เกาะกันหลุด ไม่นิยมทำเป็นแบบสาแหรกโปร่งเปิดด้านบนด้านล่างแล้วมีเขี้ยวเกาะโดยรอบแบบสมัยปัจจุบัน
                   เครื่องทองชิ้นสำคัญๆ สมัยกรุศรีอยุธยาส่วนใหญ่สูญไปเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่สอง แต่นับว่าโชคดี (หรือโชคร้ายก็ไม่รู้) ที่เกิด “กรุแตก” ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2499 และ พ.ศ. 2500 ชนรุ่นหลังจึงได้มีโอกาสชื่นชมฝีมือช่างทองชั้นสูงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นว่างามวิจิตรพิสดารอย่างไร กรุที่ว่านี้คือกรุ “วัดมหาธาตุ” และกรุ “วัดราชบูรณะ”

               วัดมหาธาตุ เป็นวัดใหญ่และสำคัญมาก สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว พ.ศ.1913-1931) กษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยาแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและเป็นหลักพระนคร พระปรางค์ประธานขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็น “หลักเมือง” และ “หลักศรัทธา” ของประชาชนนั้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เฉพาะยอดนภศูลที่ราชฑูตลังกากล่าวว่าทำด้วยทองคำนั้น ก็สูงถึง 6 เมตรเข้าไปแล้ว สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงศรีอยุธยาก็สถิต ณ วัดนี้ แม้วัดมหาธาตุจะเสียหายมากจากการถูกทำลายเมื่อครั้งกรุงแตก แต่องค์ปรางค์ประธานก็ยืนหยัดผ่านพ้นเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพิ่งจะมาถล่มทลายลงหลือเพียงส่วนล่างของ “ครรภคฤหะ” และส่วนฐานเมื่อ พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง น่าเสียดายม

               วัดราบชบูรณะ เป็นวัดใหญ่และสำคัญอีกวัดหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่เคียงข้างกันกับวัดมหาธาตุเหมือนเป็นวัดคู่แฝด ตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่า สมเด็จพระ                 บรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา พ.ศ. 1967-1991) ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1967 ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนครินทราธิราช (พ.ศ. 1952-1967) สมเด็จพระราชบิดา และทรงสร้างเจดีย์ 2 องค์ ทับบริเวณที่เจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทรงชนช้างกันถึงแก่พิราลัยทั้งสองพระองค์ ณ  สะพานป่าถ่านใกล้ๆ กัน (วัดราชบูรณะนี้ เอกสารของกรมศิลปากรระบุว่า เจ้าสามพระยาทรงสร้างตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา ข้อมูลขัดแย้งกันอยู่) จึงนับได้ว่าทั้งสองวัดนี้อยู่ในยุคสมัยใกล้เคียงกัน แต่ปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะยังคงสภาพอยู่จนถึงทุกวันนี้

              กรุที่ว่าแตกนั้น ก็คือห้องบรรจุพระบรมธาตุและสิ่งของมีค่าที่ถวายเป็นพุทธบูชาซึ่งซ่อนอยู่ภายในปรางค์ประธานของทั้งสองวัดนี้เอง การที่มักพบสิ่งของมีค่าอยู่ภายในกรุของปรางค์หรือเจดีย์นี้  ก็เพราะคนไทยเรามีธรรมเนียมอย่างหนึ่งเรียกว่าการ “ประจุพระ” คือเมื่อก่อสร้างพระธาตุเจดีย์สำเร็จแล้วมีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น จะมีสิ่งของมีค่าอื่นๆ ที่ถวายเป็นพุทธบูชา หรือพระพุทธรูปใหญ่น้อย ทำด้วยเงินและทองทั้งแบบหล่อ หุ้ม บุ ดุน และพิมพ์ ถือเป็นการต่ออายุพระศาสนาบรรจุตามลงไปด้วย เช่น เครื่องราชูปโภคจำลอง ต้นไม้เงินทอง พระพิมพ์ แผ่นลานทอง ฯลฯ แต่ก็ยังมีเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ของมีค่าต่างๆ ที่ผู้มีศรัทธาอุทิศถวายร่วมด้วยอีกเป็นจำนวนมาก ถือว่าได้บุญกุศลสูง เพราะเป็นการร่วมสร้างพระธาตุเจดีย์ ดังนั้น กรุที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจึงมิได้มีเพียงสิ่งอันควรเคารพเท่านั้น แต่ได้กลายเป็น “กรุมหาสมบัติ” ไปในตัวด้วย

              ในช่วงปี พ.ศ.2454 ที่พระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุถล่มลมานั้น ก็เริ่มมีคนลักลอบขุดหาของมีค่าอยู่ประปรายแล้ว โดยอาศัยลายแทง ก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง โดนผีหลอกเอาบ้าง กำแพงถล่มทับตายบ้าง (สมน้ำหน้า) แต่ที่เกิดเรื่องฮืออากันขึ้นก็เพราะเมื่อ พ.ศ.2499 กรมศิลปากรได้เริ่มโครงการบูรณะโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยา ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ขุดแต่งพระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุนั้น ได้พบปล่องระบายอากาศที่มุมห้อง “ครรภคฤหะ” จึงลองขุดพื้นลงไปพบว่าได้เคยถูกลักลอบขุดมาแล้ว แต่ขุดไม่เสร็จ ทีนี้ก็เลยขุดกันจนพบเครื่องทองและ “เครื่องประจุพระ” จำนวนมาก ในกรุชั้นล่างซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 17 เมตร หรือที่เรียกว่าห้อง “ธาตุนิธาน” นั้น ได้พบพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่กลางห้อง มีพระพุทธรูปทองคำสำริด และชินประเภทต่างๆ อยู่ตามซอกอิฐเป็นจำนวนมาก ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นผอบหินรูปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานมีรางน้ำแบบฐานศิวลึงค์หรือฐานเทวรูป ภายในผอบหินบุทองโดยรอบและบรรจุเครื่องทองคำ “ประจุพระ” จนพูนปากผอบ ตรงกลางเป็นสถูปเจ็ดชั้น ซ้อนกันบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เรียงตามลำดับจากชั้นนอก ดังนี้

                ชั้นที่ 1     เป็นพระสถูปทำด้วยชิน

                ชั้นที่ 2     เป็นพระสถูปเงินมียอดนภศูล

                ชั้นที่ 3     เป็นพระสถูปนากมียอดนภศูล

                ชั้นที่ 4     เป็นพระสถูปไม้สีดำยอดทองคำ (อาจเป็นไม้มะเกลือ)

                ชั้นที่ 5     เป็นพระสถูปไม้สีแดงยอดทองคำ (อาจเป็นไม้จันทน์ แต่หมดกลิ่นไปนานแล้ว)

                ชั้นที่ 6     เป็นพระสถูปแล้วผลึก แก้วโกเมน แก้วมรกต และทับทิม ใช้ทองคำเป็นสาแหรกรัดประดับพลอยสีต่างๆ          

                ชั้นที่ 7     เป็นตลับทองคำเล็กๆ มีฝาปิด มีพระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะคล้ายเกล็ดพิมเสนสีขาวเป็นรุ้งพราว ขนาด 1 ใน3 ของเม็ดข้าวสารประดิษฐานอยู่ในน้ำมันจันทน์ในตลับทองนี้

                 พระพุทธรูปที่พบส่วนใหญ่เป็นศิลปะลพบุรีและศิลปะอู่ทองเก่ากว่าศิลปะอยุธยา  ทั้งยังพบแผ่นทองสลักและดุนเป็นรูปสัตว์มงคล เช่น ช้าง ม้า ปลา เต่า และสัตว์หิมพานอีกจำนวนหนึ่ง พบพระพิมพ์จำนวนมาก ซึ่งสร้างขึ้นตามความนิยมการสร้างพระเท่าจำนวนวันเกิดของผู้สร้าง ที่รู้ก็เนื่องจากพบจารึกแผ่นดีบุกบอกไว้ว่า “พ่ออ้าย” อายุเจ็ดสิบห้าปี นับเป็นวันได้สองหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยวัน จึงสร้างพระเท่าจำนวนวันไว้ ส่วน “แม่เฉา” (โถ ทำไมชื่ออย่างนั้น) อายุเจ็ดสิบปี นับเป็นวันก็ได้สองหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยวันอีกเหมือนกัน จึงสร้างพระเท่าจำนวนวันไว้ (ไม่รู้แม่เฉานับยังไง ปีหนึ่งของแกจึงเกิน 365 วันไปมาก…อาจเผื่อๆ ไว้เกินดีกว่าขาด) นอกจากนั้น ยังได้พบเครื่องทองอีกจำนวนหนึ่งบรรจุอยู่ในปลาหินเขียนลายทอง ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร จำนวน 20 อย่าง ล้วนมีฝีมือวิจิตรบรรจง เช่น ตลับรูปสิงโตทองคำฝังทับทิม ลูกปะวะหล่ำทองคำ ตลับทองคำสลักดุนนูน ฯลฯ ของเหล่านี้ กรมศิลปากรได้นำขึ้นมาเก็บรักษา  

             สิ่งของมีค่าที่พบในกรุวัดราชบูรณะมีจำนวนมากกว่าที่พบในกรุวัดมหาธาตุ ทั้งยังมีเครื่องทองที่เป็นเครื่องราชนูปโภคชิ้นเอกๆ หลายชิ้น ได้แก่ จุลมงกุฎ (ใช้ครอบพระมาลีของเจ้านายผู้ชาย) พระแสงดาบฝักทองคำฝังอัญมณี ด้ามเป็นแก้วผลึกและทองคำประดับอัญมณี (พระแสงดาบนี้มักมีผู้ใจผิดคิดว่าเป็นพระแสงขรรค์ชัยศรี แต่รองศาสตราจารย์เสนอ นิลเดช ได้กรุณาอธิบายให้ผมฟังเมื่อหลายปีมาแล้วว่าคงไม่ใช่พระขรรค์แน่ น่าจะเป็นดาบสองคบแบบ “กั้นหยั่นไ ของจีนที่ผู้ใดผู้หนึ่งถวายมา แล้วโปรดให้ทำฝักและทำด้ามใหม่เป็นแบบไทยมากกว่า เพราะถ้าเราพิจาณา “ใบดาบ” และโคนใกล้ๆ “กั่นดาบ” แม้จะผุกร่อนไปบ้างแล้ว จะเห็นว่าไม่มีร่องรอยว่าเคยมีเส้นขอบป่องกลางแบบ “ใบพระขรรค์” เลย) กรองศอ ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ ปั้นเหน่ง สร้อยพระศอ และที่เป็นที่สนใจกันมากในช่วงนี้ ก็คือพระมาลา หรือคอบพระเกศาของเจ้านายสตรี ซึ่งทำด้วยเส้นทอง ถักเป็นตาข่ายโปร่ง มีลวดลายดอกไม้และเว้าเป็นช่องโค้งเพื่อรับกับมวยผมแบบรวบต่ำ เครื่องราชูปโภคเหล่านี้มีลวดลายและเทคนิคการทำแบบสมัยอยุธยาตอนต้นดังที่อธิบายมาแล้ว  โดยเฉพาะลวดลายนั้น ยังเป็นกระหนักฝักกูดอยู่

          นอกจากเครื่องราชูปโภคดังกล่าวแล้ว ยังมีเครื่องราชูปโภคที่เป็นของใช้ (เช่น พระเต้าสุวรรณภิงคาร พระสุพรรณศรี ชุดเครื่องพระศรีฯลฯ) เครื่องอุทิศ (เช่น พระปรางค์จำลองทองคำประดับอัญมณี ที่มีรายละเอียดแม้แต่รูปครุฑแบกเครื่องสูงจำลอง เครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลอง พระคชาธารทองคำฝังอัญมณี ตลับเครื่องหอมทองคำเล็กๆ ทำเป็นรูปหงส์ ฯลฯ) เจดีย์ทองคำที่สันนิษฐานว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพิมและพระพุทธรูปทองคำประเภทต่างๆ จารึกลานทองภาษาไทย (อักษรขอม) แผ่นทองคำจารึกภาษาจีนและภาษาอาหรับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของคนต่างชาติต่างศาสนาที่อาศัยอยู่ร่วมแผ่นดินเดีวกันในการทำสาธารณกุศลร่วมกัน อันเป็นลักษณะเด่นของคนไทยมาแต่โบราณ แผ่นทองฉลุรูปสัตว์มงคลและสัตว์หิมพานต์ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองฯลฯ  เหลือจะบรรยาย  เครื่องทองอันมีค่าควรเมืองเหล่านี้ ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่ห้องเครื่องทองและห้องพระบรมสารีริกธาตุชั้นบนของอาคารหนึ่ง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

 ทองพระกรทองคำประดับทับทิม มรกต เพชร และพลอยสี มีทั้งแบบทองฉลุลายและกำไลก้านแข็ง มีจี้ทองคำรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนอยู่ด้วย

ทองพระกรทองคำสลักลายฝังอัญมณีสีต่างๆ ลายดอกจอก การฝังอัญมณีใช้วิธีทำเป็นเบ้าหุ้ม ถ้าเม็ดใหญ่จะมีเขี้ยวเล็กๆ เกาะด้วย เป็นวิธ

เครื่องทรงและเครื่องประดับทองคำต่างๆ มีพาหุรัด (กำไลต้นแขน) ทองพระกร (กำไลข้อมือ) แบบต่างๆ พระพรวนทองคำ (ลูกกระพรวน) พระธำมร

ชิ้นส่วนของกรองพระศอทองคำสลักลายฝังอัญมณีสีต่างๆ กรองศอเป็นเครื่องประดับรอบคอเจ้านาย นิยมกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยหลังๆ

 พระแสงดาบ ด้ามเป็นแก้วผลึกประกอบทองคำ ส้นและกั่นดาบ รวมทั้งฝัก เป็นทองคำสลักลายฝังอัญมณี ในพระแสงดาบเป็นเหล็กสองคมคล้ายกั้น

เครื่องราชูปโภคทองคำดุนและสลักลายต่างๆ เช่น ถาดพระศรีรูปรีมีเครื่องพร้อม ผอบขนาดต่างๆ พระสุพรรณศรี ตลับ จอก ป้านน้ำชาเลี่ยม

                       พระเต้าสุวรรณภิงคารทองคำดุนและสลักลาย ฝาเป็นรูปพรหมพักตร์

                                          จอกทองคำดุนและสลักลายทรงแปดเหลี่ยม
                       พระพุทธรูปทองคำและดุนนูนปางสมาธิ ภายในซุ้มเรือนแก้วปรกโพธิ์

                   เครื่องสูงทองคำจำลอง มีพระแส้จามรี วิชนีฝักมะขาม วาลวิชนี และจามร

ครุฑยุดนาคบนฐานสามขา ทองคำสลักลายดุน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: