เครื่องกระดาษ
เครื่องกระดาษ
เครื่องกระดาษ เป็นงานหัตถกรรมชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการต่างๆ กัน คือ เพื่อใช้สอย เช่น สมุดไทย ร่ม ฯลฯ เพื่อประดับตกแต่งในโอกาสต่างๆ เช่น สายรุ้ง ธงฉัตร เพื่อการบันเทิงอารมณ์ เช่น หัวโขน หน้ากาก (กระตั้วแทงเสือ) หัวโต รูปสัตว์ (หมู ช้าง สิงห์) ตุ๊กตา และว่าว เป็นต้น
หัวโขน
หัวโขน คือ หน้ากากสวมหัวที่ใช้ในการแสดงแบบหนึ่งของไทย มีลักษณะต่างๆ กันไปตามฐานะของผู้แสดงซึ่งไม่อาจจะขับร้องหรือเจรจาเองได้ จึงทำให้เกิดการพากย์ขึ้น ผู้แสดงและผู้พากย์จะต้องมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ขณะที่เราชมการแสดงโขน จะรู้สึกว่าผู้แสดงที่สวมหัวโขนจะแสดงอาการดีใจ เศร้าโศก ได้เหมือนกับมนุษย์ธรรมดา หัวโขนได้ถูกนำมาใช้ในการแสดงตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ( พ.ศ. 2300 ) ตามปกติจะมีเพียง 2 แบบ คือ แบบสวมมงกุฎและไม่สวมมงกุฎ หรือที่เรียกว่า “ศีรษะโล้น” มงกุฎที่สวมหัวโขนนั้นโดยทั่วไปแล้วมักจะทำติดกันตายตัว แต่บางครั้งก็ทำให้ถอดแยกออกจากกันได้ ในการทำหัวโขนนั้น สิ่งสำคัญจะต้องมีหุ่นหัวโขน ซึ่งทำด้วยปูนหรือสลักไม้ก็ได้ (หุ่นนี้จะมีลักษณะของใบหน้าและรูปศีรษะเป็นเค้าพอให้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มีหลายชนิด เช่น หุ่นหัวยักษ์ หัวลิงอ้าปากและหุบปาก หัวฤาษี หัวช้าง ฯลฯ) หลังจากนั้นก็ใช้กระดาษฟางหรือกระดาษสา หรือกระดาษข่อยอย่างบางชุบน้ำพอเปียกแล้วนำมาวางทาบกับหุ่นให้ทั่วหัว ประมาณ 3-4 ชั้น ชั้นต่อมาใช้กระดาษทาแป้งเปียกปิดทับลงไปอีก จนหนาพอสมควรแล้วนำไปผึ่งแดดให้ (ภายนอก) แห้ง แล้วขัดถูด้วยชิ้นไม้ไผ่หรือเขาสัตว์ให้เรียบทั่วหัว แล้วผึ่งแดดอีกครั้งหนึ่ง พอแห้งสนิทจึงรีด (ขัด) ให้กระดาษที่ปิดขึ้นมันและเรียบ จากนั้นใช้มีดกรีดผ่าตั้งแต่กลางศีรษะจนถึงท้ายทอย (ไม่ผ่าด้านหน้า เพราะจะเป็นรอย) ค่อยๆ ลอกเอากระดาษที่ปิดออกจากหุ่น แล้วเย็บรอยผ่าให้สนิท ใช้กระดาษบางๆ ทาแป้งเปียกปิดทับรอยเย็บให้เรียบร้อย สำหรับการตกแต่งหัวโขนนั้น ใช้รักสมุกปั้นเป็นหางคิ้ว หนวด ริมฝีปาก และส่วนที่ต้องการให้นูนขึ้น ส่วนลวดลายต่างๆ ก็ใช้รักสมุกกดลงในแม่พิมพ์หินอ่อน ซึ่งแกะเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายเทศตาอ้อย ตากนก ฯลฯ เมื่อได้พอแก่ความต้องการแล้ว ก็ใช้รักอย่างใสทาปิดประดับลงในที่ๆ ต้องการจนทั่ว แล้วก็ตกแต่งด้วยสีอีกทีหนึ่ง โดยลงสีพื้นเสียก่อน ส่วนภายในของหัวโขนนั้นมักใช้สีหรือรักอย่างใสทาเพื่อป้องกันตัวสัตว์มาแทะ
วิธีการและกระบวนการทำหัวโขน โดยวิธีการอันเป็นไปตามระเบียบวิธีแห่งการช่างทำหัวโขนตามขนบนิยมอันมีมาแต่ก่อน และยังคงถือปฏิบัติการทำหัวโขนของช่างหัวโขน บางคนต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน อาจลำดับระเบียบวิธีของวิธัการและกระบวนการทำหัวดขน ดังนี้
วัสดุ กระดาษสา กระดาษข่อย กระดาษฟาง ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง รักน้ำเกลี้ยง และรักตีลาย สมุกใบตองแห้ง สมุกใบลาน สมุกใบจาก โดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง น้ำมันยาง ปูนแดง ชันแดง ชัยผง องคำเปลว กระจกสี พลอยกระจก หนังวัวแห้ง สีฝุ่น กาว และแป้งเปียก ยางมะเดื่อ ลวดขนาดต่างๆ
เครื่องมือ แม่พิมพ์หินสบู่ ไม้ตีกระยัง ไม้เสนียด ไม้คลึงรัก มีดตัดกระดาษ เพชรกระจก ไม้ตับคีบกระจก กรรไกร เข็มเย็บผ้า แลด้าย สิ่วหน้าต่างๆ และตุ๊ดตู่ เขัยงไม้ แปรงทาสี พู่กันขนาดต่างๆ
การเตรียมวัสดุ วัสดุที่จะต้องจัดเตรียมขึ้นโดดยเฉพราะสำหรับทำเป็นลวดลายต่างๆ ประดับตกแต่งทำหัวโขนแต่ละแบบๆ คือ รักตีลาย ซค่งต้องเตรียมทำขึ้นไว้ใช้ให้พอแก่งานเสียก่อน รักตีลาย ประกอบด้วย รักน้ำเกลี้ยง ชันน้ำมันยาง ผสมเข้าด้วยกัน เอาขึ้นตั้งไฟอ่อน ๆ เคี่ยวไปจนงวดเหนียวพอเหมาะแก่การเอา ลงกดในแม่พิมพ์หินทำเป็นลวดลาย ซึ่งแข็งตัวแล้วไม่เปลี่ยนแปลง
การเตรียมหุ่น หุ่นในที่นี้คือ หุ่นหัวดขน แบบต่างๆ ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบสำหรับทำหัวโขน หุ่นเป็นต้นแบบ ที่จะใช้กระกาษปิดทับให้ทั่วแล้ว ถอดออกเป็น หัวโขน ซึ่งภายในกลวงเพื่อที่จะใช้สวมครอบศีรษะได้พอเหมาะ หุ่นหัวดดขนชนิดสวมครอบศีรษะและปิดหน้ามักทำเป็นหุ่นอย่าง รูปโกลน มีเค้ารอย ตา จมูก ปาก ขมวดผม
การปิดหุ่น ว่าด้วยการปิดกระดาษทำหัวโขน การปิดกระดาษทับลงบนหุ่นนี้ ช่างบางคนเรียกว่า “พอกหุ่น” ก็มีเรียกว่า “ปิดหุ่น” ก็มี คือ การเอากระดาษสา กระดาษข่อยและกระดาษฟาง อย่างใดอย่างหนึ่งตัอเป็นสี่เหลี่ยมขนาดย่อมกว่าฝ่ามือเล็กน้อย นำมาทาแป้งเปียกให้ทั่ว่ แล้วปิดกระดาษทับ ซ้อนกันสัก 2-3 แผ่น จึงเอาไปปิดทับลงบนหุ่นเป็นลำดับกันไปจนทั่วหุ่นศรีษะแบบนั้นๆ ทำเช่นนี้หลายชั้นให้หนาพอที่จะทรงตัวอยู่ได้ในภายหลังที่ถอดศรีษะกระดาษออกจากหุ่น จึงเอาหุ่นที่ปิดกระดาษเรียบร้อยแล้วออกตั้งผึ่งแดดให้แห้งสนิท ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 3 วัน
การถอดหุ่น การเอาศรีษะกระดาษออกจากหุ่นซึ่งทำโดยการใช้มีดปลายแหลม กรีดตรงศรีษะกระดาษจากตอนบนให้ขาดเป็นทาง ลงไปด้านหลังจนสุดขอบกระดาษตอนล่าง จึงถอดศรีษะกระดาษออกจากหุ่น ศรีษะกระดาษซึ่งถอดออกจากหุ่นแล้วต้องจัดการเย็บประสานริมกระดาษที่ขาดเป็นแนวนั้น ให้ติดสนิทกัน แล้วปิดกระดาษทับแนวทั้งด้านนอกและด้านในให้เรียบ จึงตัดริมส่วนขอบล่างของศรีษะให้เรียบร้อย พอเสร็จการขั้นนี้ก็จะได้ศรีษะกระดาษที่เรียกว่า “กะโหลก” พร้อมที่จะนำมาปั้นกระแหนะรักทำส่วนละเอียดต่างๆ ออกไป
การปั้นใบหน้าหัวโขน หรือกระแหนะ เป็นขั้นตอนทำส่วนละเอียดต่างๆ คือ การใช้ลักตีลายทำให้อ่อนตัวนำมาปั้นกระแหนะเพิ่มเติม ลงบนกระโหลก ทำส่วน คิ้ว ตา จมูก ปาก ไพรปาก ขอบคาง ให้ได้รูปร่างชัดเจนและแสดงอารมณ์ของใบหน้านั้นตามขนบนิยมในใบหน้าแต่ละแบบนั้นส่วนหนึ่ง กับทำการ ประดับลวดลายแต่งลงบนตำแหน่งที่เป็นเครื่องศิราภรณ์สำหนับหัวโขนแต่ละหัว เช่น ประดับส่วนเกี่ยวก้อยรักร้อย ประดับกระจังซุ้มบนวงล้อมจอมชฎามงกุฏ เป็นต้อน และในขั้นนี้จะต้องจัดการทำส่วนหูสำหรับศรีษะยักษ์ ลิง พระ และนางแบบปิดหน้า เป็นต้น กับทำกรรเจียกจอนหูสำหรับประกอบชฎาและมงกุฎ ด้วยการใช้แผ่นหนังวัวแห้ง นำมาตัด สลักฉลุทำเป็นลวดลายโกลนๆ ขึ้นก่อนจึงปั้นรักตีลาย
ปั้นรักตีลาย ใช้รักตีลายตีพิมพ์เป็นลวดลายละเอียดติดประดับให้ครบถ้วนตามแบบที่เป็นนิยม ติดประทับให้ตรงตามตำแหน่งบนกะโหลก ที่ได้ปั้นหน้าติดลวดลายประดับไว้พร้อมอยู้แล้ว ก็จะสำเร็จเป็นศรีษะหรือหัวโขนขั้นหนึ่ง
การลงรักปิดทอง เป็นงานตกแต่งหัวโขนให้สวยงามงานขั้นนี้งานใช้รักน้ำเกลี้ยงทาทับส่วนที่ทำเป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งต้องการทำให้เป็นสีทองคำโดยทารักสัก ๒-๓ มีล . แต่ละทับหรือครั้งต้องปล่อยให้รักที่ได้ทาไว้คราวหนึ่ง ๆ แห้งสนิทและเรียบเนียนทุกครั้งไป จนขั้นสุดท้ายทาด้วยรักน้ำเกลี้ยงแต่บาง ๆ จึงนำทองคำเปลวมาปิดทับ บนพื้นที่ ๆ ได้ทารักไว้นั้นจนทั่ว
การประดับกระจกหรือพลอยกระจก เป็นการตกแต่งส่วนละเอียดให้มีขึ้นในลวดลาย โดยเฉพาะที่ไส้ตัวกระจังไส้กระหนก ไส้ใบเทศ เป็นต้น ให้เกิดเป็นประกายแวววาว เมื่อรับแสงสว่าง ทำให้แลดูคล้ายประดับด้วยอัญมณีต่างๆดังที่มีในเครื่องศิราภรณ์จริง ๆกระจกที่นำมาตัดเป็น ชิ้นเล็กๆมีรูปร่างพอเหมาะแก่การประดับลงเป็นส่วนไส้ลวดลายดังกล่าวข้างต้น เรียกว่า กระจกเกรียบ ปัจจุบันกระจกชนิดนี้หาไม่ได้ง่ายนัก ช่างทำหัวโขน จึงใช้พลอยกระจกประดับลงเป็นไส้ลวดลายแทน การประดับกระจกก็ดี ประดับพลอยกระจกก็ดี ทำให้ติดกับตัวลายต่างๆ ที่ปิดทองคำเปลวไว้แล้วนั้นได้ด้วย การใช้ เทือกรัก ทาบางๆลงตรงตำแหน่งที่จะประดับกระจกหรือพลอยนั้น เทือกรักก็ยึดชิ้นกระจกหรือพลอยนั้นติดทนอยู่นาน ๆ
การระบายสีและเขียนส่วนละเอียด เป็นขบวนการทำหัวโขนขั้นหลังที่สุด โดยก่อนที่จะระบายสีและเขียนส่วนละเอียดบน ใบหน้าของหัวดขน ต้องใช้กระดาษปิดทับเนื้อที่ในวงหน้าทั้งหมดให้ทั่วเสียชั้นหนึ่งก่อน ปิดกระดาษให้ผิวเรียบพิเศษ แล้วผึ่งให้แห้งสนิทจึงจัดการระบายและเขียนสี ต่อไปได้ สีที่ใช้ระบายและเขียนส่วนใบหน้าหัวโขนนี้ ช่างทำหัวโขนตามขนบนิยม มักใช้สีฝุ่นผสมกาวกระถินหรือยางมะขวิด โดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่งผสมน้ำ เรียกว่ากันว่า สีน้ำกาว บ้าง สีฝุ่นบ้าง สีชนิดนี้มีคุณลักษณะสดใสและนุ่มนวลทำให้เกิดความต่างกันระหว่างความนุ่มนวลบนหน้ากับความแวววาว ของเครื่องศิราภรณ์ที่เป็นสีทองและประกายแก่วที่ติดตกแต่งไว้อย่งกลมกลืนกัน
หน้ากาก
หน้ากาก ใช้สวมใส่เพื่อร่วมแสดงในขบวนแห่ เช่นเดียวกันกับหัวโต เช่น การแสดง “กระตั้วแทงเสือ” หน้ากากกระตั้วจะมีเพียงครึ่งเดียว ไม่เหมือนกับหัวโขนหรือหัวโต ส่วนหัวเสือนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับหัวสัตว์ในการแสดงโขน ผู้สวมจะแต่งตัวด้วยผ้าสีลายคล้ายลายเสือ และผูกหางเสือด้วยเพื่อให้มองดูสมจริง
สมุดไทย
สมุดไทย เป็นหนังสือของไทยโบราณที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งมิได้เย็บเป็นเล่มเหมือนหนังสือในปัจจุบัน ใช้กระดาษยาวติดต่อกันเป็นแผ่นเดียวพับกลับไปกลับมาเป็นเล่มหนาหรือบาง กว้างหรือยาวเท่าใดก็ได้ตามแต่ความต้องการของผู้ใช้ ส่วนมากการเขียนหนังสือนั้น ในสมัยก่อนนิยมเขียนใต้เส้นบรรทัด การเขียนหนังสือบนเส้นบรรทัดเพิ่งจะมานิยมกันในสมัยที่ตัวอักษรโรมันเข้ามาสู่ประเทศไทย ประมาณปลายรัชกาลที่ 3 วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายอย่าง เช่น ดินสอขาว น้ำหมึก ซึ่งมีสีดำที่ทำจากเขม่าไฟ หรือหมึกจีน สีขาวทำจากเปลือกหอยมุก สีแดงทำจากชาด สีทองทำจากทองคำเปลว และสีเหลืองทำจากส่วนผสมของรงและหรดาล สมุดไทยมีความแตกต่างกันในตัวของมันเอง เป็นเหตุให้เรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น เรียกชื่อตามประโยชน์ที่ใช้ ได้แก่ สมุดถือเฝ้า สมุดรองทรง และสมุดไตรภูมิ เรียกชื่อตามสีของเส้นอักษร ได้แก่ สมุดดำเส้นขาว สมุดดำเส้นหรดาล สมุดเส้นรง และสมุดเส้นทอง อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันหมดความนิยมไปแล้ว เพราะอุปกรณ์การเขียนสมัยใหม่หาได้ง่ายและราคาถูก และมีการผลิตจำนวนมากสำหรับใช้กันทั่วโลก จึงได้รับความนิยมกันโดยทั่วไป ทำให้การเขียนแบบเก่าในสมุดไทย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญของไทยเราค่อยๆ ลบเลือนไป
กระดาษในเมืองไทย
ประวัติการใช้กระดาษในประเทศไทย หรือสยามนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนค่ะว่ากระดาษเข้ามาในเมืองไทยได้อย่างไร แต่ในสมัยนั้นเราใช้วัสดุอื่นๆในการจดบันทึก คนไทยมีกระดาษที่เรียกว่า “สมุดไทย” ซึ่งผลิตจากเยื่อไม้ทุบละเอียด เอามาต้มจนเปื่อยแล้วใส่แป้งเพื่อให้เนื้อกระดาษเหนียว เสร็จแล้วนำไปกรองในกระบะเล็กๆทิ้งไว้จนแห้ง แล้วลอกออกมาเป็นแผ่น พับทบไปมาจนตลอดความยาวจึงได้เป็นเล่มสมุด เรียกว่า “สมุดไทยขาว” หากต้องการให้สมุดเป็นสีดำก็จะผสมผงถ่านในขั้นตอนการผลิต เรียกว่า “สมุดไทยดำ”
“สมุดไทย” ทำจากใบข่อยหรือใบลาน นำมาพับขวางทบกลับไปกลับมา ใช้บันทึกข้อมูลและความรู้ต่างๆ ถือเป็นหนังสืออ้างอิงแบบดั้งเดิมของไทยและของวัฒนธรรมอื่นๆในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เดิมสมุดไทยหรือสมุดข่อย มีไว้สำหรับบันทึกหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ต่อมาจึงใช้บันทึกข้อมูลความรู้ เกี่ยวกับวิทยาการด้านต่างๆด้วย ถือได้ว่าเป็นแหล่งอ้างอิงวิชาต่างๆสำหรับอนุชนรุ่นหลัง และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของไทยได้เป็นอย่างดี
หนังสือสมุดไทย คือ เอกสารโบราณที่ทำจากเปลีอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษได้ เช่น เปลีอกปอ เปลีอกสา ใยสับปะรด เป็นต้น ทำให้หนาพอสมควร และเป็นแผ่นยาว ๆ ติดต่อกันพับกลับมาได้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้รองรับการเขียน การชุบตัวอักษร การเขียนภาพ การเขียนลายเส้นต่าง ๆ และเขียนได้ทั้ง ๒ ด้าน ในลักษณะเป็นหนังสือจดหมายเหตุบ้าง หมายรับสั่งบ้าง ตำนานบ้าง ตำราบ้าง หนังสือสมุดถือเฝ้าบ้าง ที่ท่านเรียกว่า หนังสือสมุดข่อย เพราะส่วนมากใช้เปลือกข่อยทำเป็นกระดาษ เมื่อคนไทยเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์ขึ้น จึงเรียกว่าหนังสือสมุดไทย มี ๒ สี คือ สีดำ เพราะย้อมกระดาษเป็นที่ดำ จึงเรียกว่าหนังสือสมุดไทยดำ สีขาว เพราะกระดาษไม่ได้ย้อมสีอะไร เป็นธรรมชาติ เรียกว่า หนังสือสมุดไทยขาว
ภาพสมุดไทยดำ – สมุดไทยขาว
สมุดไทยดำ
การทำสมุดไทย
สมุดไทยทำจากเปลือกของต้นข่อยซึ่งเป็นไม้วงศ์เดียวกันกับมะเดื่อ มักขึ้นตามป่าและริมแม่น้ำลำคลองในเขตภาคกลางของประเทศไทย ใบข่อยมีขนาดเล็ก ผิวสากลายใช้แทนกระดาษทรายได้ และคนใบราณนิยมนำกิ่งและรากข่อยมาขัดทำความสะอาดฟ้น
ขั้นตอนการทำสมุดไทย
– ลอกเปลือกข่อยจากกิ่งที่ไม่แก่จัด ตากแห้งแล้วมัดรวมไว้
– แช่เปลือกข่อยทั้งมัดในน้ำคลอง หรือร่องน้ำที่มีไหลผ่านนาน 3 – 4 วัน เพื่อให้เปลือกเปื่อย
– นำขึ้นจากน้ำบีบให้แห้ง แล้ว เสียด หรือฉีกให้เป็นฝ่อย
– หมักเปลือกข่อยที่เสียดแล้วในอ่างปูนขาวผสมน้ำ แต่ถ้าให้ทั่วปิดให้มิดชิดทิ้งไว้ประมาณ 2 คืน
– นึ่งเปลือกข่อยในภาชนะไม้ไผ่สานที่เรียกว่า รอม ใช้ความร้อนสม่ำเสมอนานประมาณ 24 ชั่วโมง กลับเปลือกข่อยในรอมเพื่อช่วยให้สุกทั่ว แล้วนึ่งต่ออีก 24 ชั่วโมง
– หมักเปลือกข่อยที่นึ่งสุกแล้วด้วยน้ำต่างจากปูนขาวในตุ่ม หรือโอ่งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
– นำขึ้นจากน้ำต่าง ล้างให้สะอาดแล้วบีบน้ำให้แห้งสนิท วางบนกระดานหรือเขียงจขนาดใหญ่ทุนให้ละเอียด จากนั้นพรมน้ำให้เปียกแล้วทุบอีกครั้ง วนไปมา 6 – 7รอม เรียกการทุบครั้งหลังนี้ว่า สบข่อย ถ้าให้คนทุบสองคนและลงค้อนคนละทีเรียกว่า สบรายคน ให้ทบจนละเอียดนุ่นพร้อมที่จะใช่เป็นเยื่อกระดาษ
– ปั้นเยื้อข่อยเป็นก้อนเสมอกันเท่ากับมะตูม นำลงละลายน้ำในภาชนะไม้ไผ่สานตาสี่ที่เรียกว่า ครู ไม้มือตีให้เยื่อละลายปนกับน้ำดีแล้ว วาง พะแนง คือ แบบพิมพ์ที่จะใช้ทำแผ่นกระดาษลงในน้ำนึ่ง เทเยื่อข่อยที่ละลายลงในพะแนงให้ทั่ว ยกพะแนงขึ้นจากน้ำในแนวระนาบ
– วางพะแนงตามแนวนอนพิงให้เอียงประมาณ 80 องศา ใช้ไม้ชางยาว ๆ คลึงรีดเยื่อข่อยบนพะแนง เพื่อให้ผิวหน้ากระดาษเรียบเสมอกันทั่วแผ่นตากไว้จนแห้งสนิท แล้วลอกอออกได้กระดาษแผ่นยาว
– ทากระดาษด้วยแป้งเปียกที่ทำจากทำปูนขาวผสมแป้งข้าวเจ้าทั้งสองหน้ากระดาษ ขั้นตอนนี้เรียกว่า สบสมุด แล้วตากให้แห้งสนิท จะได้กระดาษที่สบเสร็จแล้วพร้อมที่จะทำสมุดไทยขาว ถ้าจะทำสมุดไทยดำให้ใช้เขม่าไฟหรือถ่านบดละเอียด หรือกาบมะพร้าวเผาไฟในแป้งเปียก เมื่อทา(ลบ) ก็จะได้กระดาษสีดำ
– นำกระดาษที่สบแล้วมาขัดให้เรียบแล้วขึ้นมันด้วยหินที่มีผิวเกลี้ยง จากนั้นพับกระดาษซ้อนกลับไปมาได้มาเป็นเล่มสมุด โดยใช้แผ่นไม้หนาวางเป็นแบบพยายามพับให้เป็นแนวตรงเสมอกัน สามารถพับกระดาษต่อไปได้ตามความหนาเท่าที่ต้องการ ตัดริมทั้งสองข้างให้เรียบเสมอกัน
– ทำปกสมุดโดยตัดแถบกระดาษกว้างประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร ทาแป้งเปียกติดริมขอบของปกสมุดทั้ง 4 ด้าน ติดเรียงซ้อนกัน 1 – 5 ชั้น ให้ขนาดลดหลั่นกันเรียกว่า ติดคิ้วสมุด ช่วยให้สมุดมีความแข็งแรงและสวยงามด้วย
กระดาษเพลา คือ กระดาษที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่าง ๆ เหมือนอย่างทำหนังสือสมุดไทยแต่ทำให้เป็นแผ่นบาง ๆ ทั้งนี้ต้องการทำเพื่อใช้ในรูปแบบหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) มีไปมาระหว่างกรุงเทพฯ ถึงหัวเมืองหรือจากหัวเมืองถึงกรุงเทพฯ ทำเป็นใบบอกบ้างใบฏีกาและอื่น ๆ บ้างนิยมเขียนด้วยดินสอ ไม่นิยมเขียนด้วยเส้นหมึก เพราะกระดาษบางหมึกจะซึมทำ ให้อ่านตัวอักษรไม่ชัดเจน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวบ้างสั้นบ้าง แล้วแต่เรื่องจะบันทึก นิยมเขียนหน้าเดียวจะมีเขียน ๒ หน้าอยู่บ้างกระดาษนี้เรียกว่ากระดาษเพลา
กระดาษเพลาสมัยรัชกาลที่ 3
กระดาษสา คือ กระดาษที่ทำจากเปลือกของต้นสาโดยตรง ถ้าต้องการทำเพื่อใช้ในรูปหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) ใบบอก ใบฎีกา ทำสำเนาและอื่น ๆ ก็จะทำเป็นแผ่นบาง ๆ ถ้า ต้องการทำเป็นหนังสือจดหมายเหตุ หมายรับสั่ง ตำนาน พงศาวดาร เป็นต้น ก็ทำให้หนาแข็งแรงพอที่จะเป็นหนังสือได้
ใบจุ้ม คือ เอกสารที่ทำมาจากฝ้าย ผ้าไหม หรือด้าย ทอเป็นผืนยาว รูปสี่เหลี่ยมเหมือนผ้าอาบน้ำ จุดประสงค์เพื่อต้องการใช้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ตำนานพงศาวดารที่พบเป็นเอกสารโบราณของทางราชการ บันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และตำนาน ลักษณะเส้นอักษรที่ปรากฎ คือ เส้นจากการใช้ปากกาคอแร้ง หรือปากไก่จุ้มหรือจุ่มหมึกแล้วเขียนตัวอักษรโบราณ ลักษณะการใช้ปากกาคอแร้งหรือปากไก่จุ่มหรือจุ้มหมึกเขียนอย่างนี้ จีงเรียกว่า ใบจุ้ม ที่ปรากฏเป็นวัตถุอื่นนอกจากผ้าดังกล่าวมีน้อยมาก
ในสมัยโบราณ มีพระธุดงค์รุปหนึ่งมาปักกลดที่ตำบลบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่ปรากฎว่ามีลมแรงพัดกลดเสียหายใช้การไม่ได้ ชายชราชื่อนายเผือก เป็นชาวบ้านบ่อสร้างได้ซ่อมให้ แล้วก็เกิดความคิดว่า ถ้ากลดมีคันยาวก็้จะใช้ถือไปไหนมาไหนได้สะดวกจึงคิดดัดแปลงจากกลดโดยใส่คันร่มเข้าไปจนกลายเป็นร่ม ในสมัยแรก ๆ ก็ใช้สีของเปลือกไม้ทาเป็นลักษณะสีพื้นสีเดียวคือสีแดง ครั้นต่อมาได้วิวัฒนาการเขียนลวดเป็นดอกไม้ โดยทาพื้นเป็นสีต่างๆตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันหมู่บ้านตำบลบ่อสร้างก็ยังคงทำร่มกันทุกครัวเรือนและเป็นหมู่บ้านเดียวใน ประเทศไทยที่ยังรักษาเอกลักษณ์ในการทำร่มนี้ไว้
ในการจัดนิทรรศการทางการท่องเที่ยวที่ ลอส แองเจลิส อเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2518 ได้มีประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยจัดร้านเข้าประกวดรวม 372 ร้าน สำหรับร้านของไทยนั้น อ.ส.ท. สำนักงาน อลส แองเจลิส ได้จัดให้มีการเผยแพร่เอกสารการท่องเที่ยว และได้มีการวาดร่มพื้นเมืองทางเหนือเป็นศิลปพื้นบ้านของไทย โดย น.ส. จิตรา สุวรรณ์ จาก ร้านบ้านสุวรรณ์ บ่อสร้าง อ. สันกำแพง เชียงใหม่ ซึ่งเป็นของเป็นของแปลกสำหรับคนต่างประเทศ ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ ไปชมงานอย่างกว้างขวาง และปรากฎว่าร้านนิทรรศการของประเทศไทยที่ อ.ส.ท. จัดขึ้นได้รับรางวัลชนะเลิศทุกประเภท
ร่มเป็นของใช้สอยอย่างหนึ่งสำหรับกันแดด และฝนซึ่งเรารู้จักใช้ร่มกันมานาน แล้ว เราอาจจำแนกร่มออกได้เป็น 2 ชนิด ด้วยกัน คือ ร่มโครงเหล็กปิดด้วยผ้าหรือแพรอย่างหนึ่งกับร่มโครงไม้ไผ่ปิดด้วยกระดาษหรือผ้าอีกอย่างหนึ่งร่มผ้าหรือร่มแพรนั้นโครงร่มนและส่วนประกอบ มักจะทำด้วยโลหะ มีร่มบางชนิดใช้พลาสติกหุ้มแทน ผ้าร่มดังกล่าวมีราคาแพง และบางชนิดต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ ส่วนร่มกระดาษเป็นร่มที่สามารถผลิตขึ้นได้ภายในประเทศ โดยใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่หาได้ในประเทศ เช่น กระดาษปิดร่ม โครงร่ม สีและน้ำมันทาร่มตลอดจนส่วนประกอบอื่นๆ การผลิตร่มกระดาษนี้ในปัจจุบันได้มีราษฎรทำการผลิตกันเป็นแบบหัตถกรรมในครอบครัว โดยทำการผลิตทางภาคเหนือของประเทศไทย การทำร่มกระดาษนี้ไม่ใช่เป็นของที่ทำยาก และไม่ต้องลงทุนมาก ถ้าหากว่าเราผลิตร่มที่มีคุณภาพดีเป็นที่นิยมของผู้ใช้แล้วก็จะหาตลาดได้ง่าย ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้แล้วยังเป็นการส่งเสริมศิลปพื้นบ้านอย่างอื่นๆภายในประเทศด้วย เช่น การทำกระดาษสา ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ อุตสาหกรรมสีและน้ำมันทาร่ม เป็นต้น
1. การทำหัวร่ม ตุ้มร่ม นำไม้สำหรับทำหัวร่ม และ ตุ้มร่ม ขนาดโตวัดเส้นผ่า ศูนย์กลางขนาด 2-2.5 นิ้วนำเอามาตัดท่อนๆความเท่ากับขนาดของหัวร่มและตุ่มร่มที่ต้องการแล้วเจาะรูตรงกลางขนาดพอที่จะใส่คันร่มชนิดนั้นๆ ได้แล้วจึงเอาไปกลึงเป็นหัวร่มรือตุ่มร่มตามแบบที่ได้กำหนดไว้
2. การทำซี่ร่ม หลังจากได้ไม้ไผ่มาแล้งก็นำเอามาตัดออกเป็นท่อนๆถ้าเป็นไม้ไผ่ที่มีปล้องยาวก็ตัดระหว่างข้อ แต่ถ้าเป็นไม้ปล้องสั้นก็ตัดให้ข้อไม้อยู่ตรงกลางความยาวของท่อนไม้ที่ตัดเท่าับขนาดของร่มที่จะทำ เช่น ทำร่มขนาด 20นิ้วก็ตัดไม้ไผ่ยาว 20นิ้วเป็นต้นเมื่อตัดไม้ไผ่เป็นท่อนยาวแล้วก็ใช้มีดขูดผิวไม้ออกให้หมดแล้วทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรูไว้
โดยการใช้ตะปูตอกบนไม้ ขอให้ปลายตะปูโผล่ออกมานิดหนึ่งแล้วใช้ไม้ขอขีดรอบปล้องไม้ตรงกับระยะที่ต้องการเจาะรูแล้วจึงผ่าไม้ออกเป็น 4 ชิ้น แต่ละชิ้นขนาดเท่ากันใช้มีดตรงท้องตามระยะที่ได้กะไว้ให้เสมอกันทุกชิ้น ให้ทางปลายซี่เรียว และใช้มีดจักเป็นซี่ๆตรงหัวไม้ ความหนาแต่ละซี่ประมาณ 1/8 นิ้ว แล้วใช้มือฉีกออกเป็นซี่ๆ ถ้าฉีกไม่ออกก็ใช้มีดผ่าออกไปตรงๆ แล้วเหลาทั้งสองข้างให้ เรียบและปาดตรงหัวซี่ทั้ง 2 ให้บางพอดีที่จะใส่เข้าร่องหัวร่มได้แล้วซี่ตรงท้องนิดนึงเพื่อให้มุมมนแล้วเหลาตรงท้องซึ่งให้ ้ปลายซี่ร่มเรียวเท่ากันทุกๆซี่ ใช้มีดปลายแหลมแทงลงไปตรงรอยปาดท้องซี่ ให้ปลายมีดทะลุออกด้านหลังซึ่งตรงกลางแล้ว ผ่าตรงออกไปตามยาวประมาณ 2 นิ้ว เพือให้ปลายซี่สั้นสอดเข้าไปเวลาร้อยคือ ประติดกับซี่สั้น
ส่วนการทำซี่ร่มสั้นนั้น ตัดไม้ยาวตามขนาดที่ต้องการแล้วเกลาเอาผิวไม้ออก แล้วทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรู แล้ว จักเป็นซี่ๆ เหลาสองข้างให้เรียบร้อย ปลายซึ่งข้างหนึ่งปาดท้องซี่ให้เป็นมุมแล้วเหลา 2 ข้าง ให้บางที่จะสอดเข้ารองตุ่มร่มได้ ส่วนอีกข้างหนึ่งเหลาปลายให้มน และเหลาตรงปลาย 2 ข้างให้บางพอสมควร
3. การเจาะรูซี่ร่มสั้นและซี่ร่มยาว ใช้เหล็กแหลมชนิดปลายเป็นสามเหลี่ยมเจาะโดยการหมุนไปหมุนมาหรือ จะใช้เหล็กแหลมเผาไฟให้ร้อนแล้วเจาะรูก็ได้(ถ้าไม่มีเครื่องเจาะ) แต่ถ้ามีเครื่องเจาะซี่ร่มโดยเฉพาะ ก็ใช้เครื่องเจาะเพราะจะได้เร็ว
4. การมัดหัวร่มและตุ่มร่มนำเอาซี่ร่มยาวและซี่ร่มสั้นที่เจาะรูแล้วร้อยติดกันเรียงเป็นตับโดยร้อยเอาทางหลัง ซี่ขึ้นข้างบนทุกซี่ แล้วเอาหัวร่มที่ผ่าร่องซี่แล้วมาปาดซี่ออกเศีย 1 ช่อง เพื่อสำหรับจะได้ไว้ผูกปมเชือก เอาซี่ร่มที่ร้อยแล้วใส่ลงไป ในหัวร่มช่องละซี่ แล้วดึงเชือกให้ตึงแล้วใส่ต่อไปอีกจนครบทุกช่อง แล้วดึงปลายเชือกทั้ง 2 ข้างให้ตึง เอาปลายเชือกผูกให้แน่น แล้วตัดเชือกที่ผูกออกให้เหลือปลายเชือกไว้ประมาณข้างละ 1 นิ้ว การมัดหัวร่มและตุ้มร่มทำด้วยวิธีเดียวกัน
สายรุ้งเป็นแถบกระดาษสีต่างๆ ขนาดเล็กและยาว ใช้ขว้างแสดงความรื่นเริง หรือใช้ตกแต่งสถานที่โดยโยงติดกับตัวอาคาร ส่วนธงเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนมากมีรูปร่างสามเหลี่ยมหน้าจั่วและสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสีต่างๆ กัน มักใช้ในงานเฉลิมฉลองต่างๆ ที่มีลักษณะชั่วคราว มีก้านทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้จริงเป็นด้ามกลมหรือสี่เหลี่ยม
ส่วนฉัตรนั้นมีรูปคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่าง ลดหลั่นกันทำด้วยแผ่นกระดาษแข็งเป็นวงกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร ขอบกระดาษแข็ง ปิดด้วยกระดาษสี กระดาษเงินหรือทอง ชายกระดาษตัดเป็นแฉกๆ มีก้านทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้รวก ส่วนยอดจะเป็นธงสามเหลี่ยม ฉัตรใช้ปักประดับบริเวณวัดในเทศกาลต่างๆ และในงานทอดกฐินและผ้าป่า
ส่วนธงกระดาษแก้วสีต่างๆ ขนาดเล็ก มักนิยมใช้ปักเจดีย์ทรายในงานวัดทั่วไป
หัวโต
หัวโต มีลักษณะเช่นเดียวกับหัวโขน แต่ใช้สวมใส่เพื่อร่วมแสดงในกระบวนแห่ต่างๆ เช่น บวชนาค หัวโตมักจะทำกันสองลักษณะคือ หัวผู้หญิงและหัวผู้ชาย วิธีการทำหัวโตนั้น เช่นเดียวกับหัวโขน แต่ไม่ละเอียดและประณีตเท่าเทียมกัน ปกติแล้วจะสร้างให้มีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริงมาก ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการสวมใส่ประการหนึ่งและเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน (ตลก) ให้กับผู้พบเห็นมากขึ้นอีกประการหนึ่ง
หมูและตุ๊กตา
หมูและตุ๊กตากระดาษ เป็นของเล่นที่นิยมกันมากในหมู่ชาวชนบท มักจะทำออกจำหน่ายตามงานวัดในเทศกาลต่างๆ การทำก็เช่นเดียวกับหัวโขน กล่าวคือ จะต้องมีตัวหุ่นทำด้วยไม้หรือปูนปลาสเตอร์ เป็นรูปหมูและตุ๊กตา หมูบางตัวมีขนาดใหญ่พอที่เด็กตัวเล็กๆ จะขี่เล่นได้ บางครั้งคนทำจะนำหมูตัวเล็กมาเจาะรูที่ส่วนหลังสำหรับใส่สตางค์ เป็นที่สะสมเงินให้กับเด็กๆ ได้อีกด้วย
ว่าว
ว่าว เป็นเครื่องเล่นชนิดหนึ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้ลอยอยู่ในอากาศได้ด้วยแรงลมและมีสายป่านคอยบังคับให้ลอยอยู่ในทิศทางที่ต้องการ ว่าวไทยในอดีตนั้นมีกล่าวอยู่ในพงศาวดารเหนือว่า พระร่วงทรงเล่นว่าวอย่างไม่ถือพระองค์ว่าเป็นท้าวเป็นพระยาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ( พ.ศ. 1893-2300 ) ก็มีการเล่นว่าวกันมากถึงกับมีกฎมณเฑียรบาลห้ามมิให้ประชาชนเล่นว่าวทับพระราชวัง ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีการเล่นว่าวดังเช่นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงโปรดให้ใช้สถานที่ในพระราชวังดุสิตและสนามสโมสรเสือป่าเป็นที่เล่นว่าวจุฬากับปักเป้า เป็นต้น ว่าวของไทยที่ทำขึ้นเล่นกันเป็นพื้น มีอยู่ 4 ชนิดด้วยกันคือ อีลุ้ม ปักเป้า จุฬาและตุ๋ยตุ่ย
ว่าวอีลุ้ม
ว่าวอีลุ้ม มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีไม้ไผ่เป็นโครงสองอันคือ อกและปีก อกจะสั้นกว่าปีกเล็กน้อยกระดาษที่ใช้ปิดทาบลงบนโครงนี้ คือ กระดาษว่าว ซึ่งบางเป็นพิเศษ ส่วนปลายของปีกทั้งสองข้างจะติดพู่กระดาษเพื่อช่วยในการทรงตัวในขณะที่ว่าวลอยอยู่ในอากาศ
ว่าวปักเป้า มีลักษณะเช่นเดียวกับว่าวอีลุ้ม แต่ทว่าไม้โครงส่วนที่เป็นปีกจะแข็งกว่าปีกของอีลุ้มมาก จึงต้องมีหางซึ่งทำด้วยผ้าเป็นเส้นยาวถ่วงอยู่ที่ส่วนก้น เมื่อชักขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศแล้วจะไม่ลอยอยู่เฉยๆ จะส่ายตัวไปมาน่าดูมากและเมื่อถูกคนชักกระตุกสายเชือกป่านตามวิธีการแล้ว มันจะเคลื่อนไหวโฉบเฉี่ยวไปในท่าทางต่างๆ ตามต้องการ
ว่าวจุฬา
ว่าวจุฬา มีลักษณะเป็น 5 แฉก ประกอบเป็นโครงขึ้นด้วยไม้ 5 อัน นักเลงว่าวจะเสาะหาไม้ไผ่สีสุกที่มีปล้องยาวเรียว เรียกว่า “เพชรไม้” มาเหลา อันกลางเรียกว่า “อก” เหลาปลายเรียวหัวท้าย 1 อัน อีก 2 อันผูกขนาบตัวปลายให้จรดกันเป็นปีก และอีก 2 อัน เป็นขาว่าวเรียกว่า “ขากบ” จากนั้นขึงด้ายเป็นตารางตลอดตัวว่าว เรียกว่า “ผูกสัก” แล้วใช้กระดาษสาปิดทับลงบนโครง สำเร็จเป็นว่าวจุฬา ถ้าหากไม่ถูกสัดส่วนแล้ว ว่าวจะไม่อาจลอยตัวขึ้นได้เลย
ว่าวตุ๋ยตุ่ย
ว่าวตุ๋ยตุ่ย มีรูปร่างแบบเดียวกับว่าวจุฬา แต่ขากบเป็นรูปเดียวกับปีกติดอยู่ซ้อนกัน ส่วนบนใหญ่และส่วนล่างเล็ก สุดตัวตอนล่างมีไม้ขวางอีกอันหนึ่ง สำหรับผูกหาง ซึ่งมีสองหางช่วยในการทรงตัวเมื่อขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศ ส่วนบนของหัว ไม้อันที่เป็นอกยื่นออกมาในราวหนึ่งคืบ เป็นเดือยในลักษณะสี่เหลี่ยม เพื่อเสียบที่ทำเสียง ซึ่งเป็นคันเหมือนคันกระสุนหรือธนู ทำด้วยไม้ไผ่ เจาะรูให้เป็นสี่เหลี่ยมกึ่งกลางคันให้พอดีกับเดือยสี่เหลี่ยมที่ยื่นออกมา ตัวการที่ทำให้เกิดเสียงนั้น ใช้ไม้ไผ่หรือหวายเส้นโตๆ เหลาให้เป็นแผ่นบางๆ แล้วเอาปลายเชือกสองข้างผูกติดกับปลายคัน เมื่อติดเครื่องทำเสียงนี้แล้ว ก็จัดการให้ว่าวขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ ไม้ไผ่หรือหวายแผ่นบางๆ ที่ถูกขึงตึงอยู่นั้น เมื่อสายลมมาปะทะ ก็จะพลิ้วตัว ทำให้เกิดเสียงดังตุ๋ยตุ่ยอยู่ตลอดเวลา ว่าวนี้ทำเล่นกันตามชนบท โดยมากพระเป็นผู้ทำนิยมชักขึ้นในเวลากลางคืน
นอกจากนี้แล้วยังมีว่าวเบ็ดเตล็ดอีกหลายชนิด เช่น ว่าวงู ว่าวกบ ว่าวตะขาบ ฯลฯ ว่าวไทยเรามีความสวยงามและประณีต นอกจากจะใช้เล่นแล้วยังนำมาแขวนเป็นเครื่องประดับอาคารสถานที่ได้อีกด้วย
ใส่ความเห็น
Comments 0