งานแต่งงาน
ของชำร่วย
ของชำร่วย หมายถึง ของตอบแทนผู้มาช่วยงาน เช่น งานแต่งงาน งานมงคลสมรส งานวันเกิด งานเกษียณอายุ งานขึ้นบ้านใหม่ งานฌาปนกิจศพ แต่ในปัจจุบันความหมายของ “ ของชำร่วย ” มีความหมายกว้างขึ้น เพราะวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันมีกิจกรรมมากมาย จึงตอบแทนโอกาสอื่นๆ เช่น เปิดกิจการบริษัทห้างร้าน เป็นต้น การประดิษฐ์ของชำร่วยควรประดิษฐ์ในลักษณะสวยงาม กะทัดรัด อาจประดิษฐ์ด้วยดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง บุหงา พวงกุญแจ และมีวัสดุที่สามารถทำได้อีกมาก
การสืบหาหลักฐานความเป็นมาของชำร่วยทำได้ยาก เนื่องจากมิได้มีการบันทึกหรือมีหลักฐานใดๆ ที่กล่าวโดยตรง มีการกล่าวถึงพิธีแห่ขันหมากในหนังสือ “ประเพณีเนื่องในการปลูกเรือน – แต่งงาน” ของพระยาอนุมานราชธนว่า “มีของชำร่วยแถมพกสำหรับทุกคนในขบวนขันหมาก” ของแถมพกในปัจจุบันมักจะเป็นเงินใส่ซองและกล่าวถึงของชำร่วยโดนตรงในพิธีรดน้ำว่า “แขกที่รดน้ำออกมาก็ได้รับของชำร่วย ซึ่งบางทีก็มีการแบ่งชั้น ถ้าเป็นแขกผู้ใหญ่มีหน้ามีตาก็ได้รับพวงมาลัยถ้าเห็นว่าเป็นแขกสามัญก็ได้รับแต่ช่อบุหงา” ของชำร่วยจำแนกได้หลายประเภท ตามลักษณะต่างๆ ดังนี้
1. จำแนกตามประเภทของวัสดุ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามชนิดของวัสดุ คือ
1.1 ประเภทดอกไม้สด ได้แก่ ช่อดอกไม้สดติดเสื้อ บุหงาดอกไม้สด มาลัยคล้องมือ มาลัยตุ้ม มาลัยผ้าเช็ดหน้า มาลัยตัวกระแต และมาลัยตัวสัตว์ชนิดอื่นๆ
1.2 ประเภทของแห้ง ได้แก่ ของชำร่วยแห้งทุกชนิด แยกได้ดังนี้
– บุหงาดอกไม้แห้ง
– ของชำร่วยจากผ้า เช่น ผ้าฝ้าย, ผ้าไหม
– ของชำร่วยทำจากกระดาษ เช่น กระดาษสา, กระดาษย่น
– ของชำร่วยทำจากไม้ เช่น ไม้ไผ่, ไม้มะขาม
– ของชำร่วยทำจากพืช เช่น ผักตบชวา, ป่าน, ปอ
– ของชำร่วยทำจากเศษวัสดุ เช่น เปลือกหอย, เกล็ดปลา, รังไหม
– ของชำร่วยทำจากพลาสติก เช่น ตลับ, กล่อง
– ของชำร่วยทำจากเซรามิก เช่น ตุ๊กตาต่างๆ, แจกัน, โอ่ง
– ของชำร่วยทำจากโลหะ เช่น ตลับทองเหลือง เงิน ทองแดง อะลูมิเนียม
2. จำแนกตามวัฒนธรรม แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
2.1 ของชำร่วยตามวัฒนธรรมไทย ได้แก่ มาลัยคล้องมือ มาลัยตุ้ม มาลัยผ้าเช็ดหน้า มาลัยตัวกระแต ช่อดอกไม้สดติดเสื้อ บุหงาดอกไม้สด บุหงาดอกไม้แห้ง ตุ๊กตาสัตว์หรือรูปอื่นๆ จากการพับผ้าเช็ดหน้า
2.2 ของชำร่วยตามความนิยม เนื่องด้วยวิถีชีวิตที่ต้องการความรวดเร็วสะดวกสบายของคนยุคปัจจุบัน จึงมีธุรกิจจัดทำของชำร่วยตั้งแต่ราคาถูกจนถึงราคาแพงวางขายมากมายหลายแบบและมาจากวัสดุหลายประเภท ทั้งพวงกุญแจ พลาสติก โลหะ ตุ๊กตาเซรามิก ขนมไทยงานจากแป้ง แจกันโอ่งใบเล็กๆ ช้อนกาแฟ ที่เปิดขวด ขันใบเล็กๆ หรือแม้แต่ตะเกียบสวยๆ ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในท้องตลาดมีให้เลือกและมีหลายราคาแล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้ ปัจจุบันสินค้า OTOP ก็นิยมผลิตของชำร่วยจำหน่าย ของชำร่วยในงานทั่วไป ลักษณะงานมักจะต้องการความรวดเร็วเป็นส่วนใหญ่ ของชำร่วยจึงนิยมแจกเหมือนกันทั้งหมด
บุหงารำไป
บุหงารำไปเป็นสิ่งที่คู่กับชาวไทยมานาน เนื่องจากบุหงาสามารถนำมาประดิษฐ์คู่กับสิ่งของต่างๆ ได้หลายแบบหลายชนิดและมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันออกไป จากหนังสือ “บันทึกเรื่องราวความรู้ต่างๆ” ซึ่งเป็นจดหมายที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงเขียนเป็นเชิงแลกเปลี่ยนความรู้กับพระยาอนุมานราชธนในเรื่อง “บุหงารำไป” ว่า “ที่ตลาดบันดุงมีห่อใบตองขาย เขาบอกว่าบุหงารำไปได้ยินรู้สึกซึมทราบดี คำนี้อยู่ในเรื่องอิเหนา ซื้อมาแก้ออกดูในนั้นจะมีกลีบลำเจียก จำปี จำปา กระดังงา กุหลาบ ใบเตยหั่นฝอยกับช่อเนียมปนอยู่ พวกเราที่ไปอยู่บันดุงก่อน บอกว่าดอกอะไรก็ได้ สุดแต่มีกลิ่นหอมเป็นใช้ได้ทั้งนั้น
ข้อความนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับ “บุหงารำไป”ของชวาไว้ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากของไทยนัก จึงสันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นของชวาแล้วรับเข้ามาจนกลายเป็นของไทยและพัฒนารูปแบบเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน
บุหงา คือ ถุงที่บรรจุดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมและปรุงด้วยเครื่องหอม เช่น น้ำอบไทย ถุงที่ใส่ดอกไม้ทำด้วยผ้าโปร่ง เพื่อให้กลิ่นหอมระเหยได้ บุหงาแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ บุหงาสดและบุหงาแห้ง
บุหงาสด จะทำด้วยดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม ในปัจจุบันใช้ดอกไม้ที่ชื่อมีความหมาย เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก เพราะในปัจจุบันดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมหายาก ดอกไม้ที่นำมาใช้จะนิยมใช้ 9 ชนิด ถือว่าเป็นสิริมงคลและมักผสมใบเตยหอมลงไปด้วย ดอกไม้ที่ใช้มีดังนี้
1. ดอกมะลิ
2. ดอกกระดังงา
3. ดอกเทียนกิ่ง
4. ดอกขจร
5. ดอกกุหลาบ
6. ดอกจำปา
7. ดอกชมนาด
8. ดอกลำเจียก
9. ดอกพิกุล
บุหงาแห้ง สามารถเตรียมล่วงหน้าได้เพราะดอกไม้จะต้องตากแห้งก่อน แล้วพรมด้วยน้ำหอมหรือน้ำปรุง ภาชนะใส่บุหงาต้องมีลักษณะโปร่ง เช่น ถุงผ้าโปร่ง ใบโพธิ์ลอกเยื่อแล้ว ตลับใบเตย ตลับใบลาน ตะกร้า หมวกสาน พัด ลูกไม้ถัก
ในสมัยก่อนนั้นนิยมทำบุหงาแห้งด้วยวิธีแบบโบราณ กลิ่นของบุหงาจะเป็นกลิ่นน้ำปรุง กลิ่นน้ำหอมแบบไทยๆ ซึ่งวิธีการทำก็ยุ่งยาก นิยมนำกลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกมะลิ กลีบกุหลาบ ดอกพิกุล ใบเตย กลีบดอกกระดังงา ดอกไม้บางชนิดนอกจากกลิ่นหอมแล้วยังมีสีสวยอีกด้วย การทำดอกไม้แห้งในสมัยนั้นนิยมนำดอกไม้มาใส่ภาชนะแบนและมีปากกว้าง เช่น กระด้ง เวลาที่จะนำดอกไม้ใส่ต้องเบามือเพราะกลีบดอกไม้จะช้ำง่าย เกลี่ยให้ทั่วกระด้ง ควรใส่ดอกไม้บางๆ ไม่ควรใส่หนา ดอกไม้จะได้แห้งเร็วๆ เวลานำตากไม่ควรตากกลางแดดจัดเพียงแต่ให้ดอกไม้อยู่ใกล้ไอแดดก็พอแล้ว ถ้าถูกความร้อนจัดจะทำให้สีของดอกไม้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทำให้สีไม่สวย การตากแดดอาจจะมากกว่า 1 วัน เพราะจะต้องให้ดอกไม้แห้งจริงๆ มิฉะนั้นจะเกิดเชื้อรา เมื่อดอกไม้แห้งสนิทแล้วนำมาใส่ภาชนะทรงสูงมีฝาปิด ปากกว้าง ลักษณะคล้ายโถเบญจรงค์ ควรเลือกใช้โถกระเบื้องมากกว่าโถแก้ว นำบุหงาแห้งมาอบควันเทียนโดยจุดเทียนอบให้ถึงตัวเทียน เพราะถ้าจุดแค่ไส้เทียนแล้วดับจะไม่ได้กลิ่นหอมและไม่เกิดควัน ต้องให้ละลายถึงตัวเทียนอบด้วยควรอบควันเทียนหลายครั้งจนหมดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ จนเหลือแต่กลิ่นหอมอ่อนๆ ของเนื้อดอกไม้ หลังจากนั้นพรมด้วยน้ำปรุงหอมระเหยหลายๆครั้ง อบให้หอม วิธีการพรมน้ำหอมสมัยโบราณนิยมพรมน้ำหอมใกล้ๆ ค่ำ แล้วปิดฝาวันรุ่งขึ้นก็พรมเวลาใกล้กันทำซ้ำๆ หลายๆ วันจนบุหงาแห้งดูดกลิ่นหอมจนได้กลิ่นที่ต้องการ ทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้ความชื้นระเหย จะเก็บไว้ได้นานไม่ขึ้นรา วิธีนี้ส่วนมากจะใช้กับการทำบุงหาแห้งที่มีจำนวนไม่มากนักและค่อนข้างยุ่งยากซึ่งต่างจากปัจจุบันจะเน้นการทำเครื่องหอมเพื่อธุรกิจจะต้องทำทีละมากๆ และใช้เวลาทำให้สั้นลง
กรรมวิธีการทำบุหงาแห้งในปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปจากอดีตบ้าง แม้แต่เรื่องของตัววัสดุคือดอกไม้ กลิ่น กรรมวิธีในการผลิต จำนวนการผลิต ระยะเวลาในการผลิตเครื่องไม้เครื่องมือล้วนเปลี่ยนไปตามนวัตกรรมใหม่ๆ เราแทบลืมวิธีทำบุหงาแห้งแบบโบราณไปเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง บุหงาแห้งในปัจจุบันจึงเป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ทำอย่างเป้นกอบเป็นกำจนสามารถตั้งเป็นรูปของบริษัทผลิตบุหงาแห้งได้ซึ่งมีกลิ่นและสีสันสวยงามมากขึ้น กลิ่นที่คงทนอาจเกิดจากการนำสารเคมีเข้ามาช่วยด้วย
ปัจจุบันบุหงาแห้งไม่ได้เน้นแค่ดอกไม้ แต่ยังรวบรวมวัสดุธรรมชาติรูปแบบแตกต่างกันไป เช่น ลูกสนแห้ง ใบเฟิร์น นำมาอบแห้งด้วยเตาอบอุณหภูมิต่ำ ถ้าใช้อุณหภูมิสูงจะทำให้วัสดุที่ใช้ทำบุหงาแห้งกรอบเป็นผงละเอียดได้ง่าย บางทียังมีการนำวัสดุที่ใช้มาฟอกขาวเพื่อทำให้สีหม่นของวัสดุธรรมชาติ เป็นสีขาวนวลเมื่อเวลานำมาย้อมสีจะเกิดความสวยงาม สีของวัสดุธรรมชาติที่ผ่านการฟอกสีเวลาย้อมสีจะสดใส เพราะเมื่อวัสดุธรรมชาตินั้นเป็นสีขาวจะย้อมสีใด ก็จะดูดสีนั้นจนแปรเปลี่ยนไปตามที่เราต้องการ แต่วัสดุสีคล้ำ เช่น ลูกสน จะเน้นย้อมสีเข้มสีจะออกมาค่อนข้างคล้ำ แต่เมื่อนำมาผสมกับสีสดจะช่วยในการเบรกสีให้เกิดความพอดีของบุหงา ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บุหงาในปัจจุบันมีสีค่อนข้างคลาสสิก รู้สึกสบายตา การย้อมสีบุหงาแห้ง โดยทั่วไปมักจะย้อมร้อนโดยใช้สีย้อมไหมที่เราใช้ในปัจจุบันละลายกับน้ำร้อนแล้วนำขึ้นตั้งไฟในอุณหภูมิพอเหมาะ นำบุหงาแห้งใส่ลงไปใช้ไม้พายตะล่อมให้บุหงาอยู่ใต้น้ำ การย้อมสีควรแยกบุหงาออกแบ่งว่าต้องการให้บุหงาเป็นสีอะไร ย้อมสีอ่อนก่อน เช่น สีเหลือง สีชมพู ควรใช้บุหงาแห้งที่ฟอกขาวเมื่อเวลาย้อมสีจะได้สีสดใส ส่วนวัสดุธรรมชาติอื่น เช่น ลูกสน, ใบเฟิร์น นิยมย้อมสีเข้ม เช่น ม่วง ขาว แดง เพราะสีจะออกมาคล้ำๆ เวลาผสมกับสีอื่นๆ ที่สดใสจะได้สีของบุหงาที่ลงตัวพอดี เมื่อวัสดุที่ใส่ลงในสีย้อมดูดน้ำสีจนเพียงพอต่อความต้องการแล้วจึงนำขึ้นให้สะเด็ดน้ำก่อนนำไปตาก หรืออบให้แห้งเพื่อให้ความชื้นหมดไปกรรมวิธีเช่นนี้ มีข้อเสีย คือ บุหงาจะกรอบแตกง่าย
น้ำปรุง
น้ำปรุงหรือน้ำอบปรุงคือน้ำหอมชนิดหนึ่งที่ใช้ประพรมร่างกายตลอดจนเสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า และบุหงา จะมีกลิ่นหอมเย็นให้ความรู้สึกแบบไทย ลักษณะของน้ำปรุง มีส่วนคล้ายกับน้ำอบฝรั่งหรือน้ำหอมโคโลญจน์ เพราะใช้เอธิลแอลกฮอล์เป็นส่วนผสมหลัก มาผสมปรุงแต่งตามกรรมวิธี การอบ การร่ำ ด้วยดอกไม้สด เทียนอบ ฯลฯ จนมีกลิ่นหอมเป็นที่พอใจแล้วจะต้องหมักหรือเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องอีกประมาณ 45 วัน เพื่อให้ได้กลิ่นหอมเย็น ไม่มีกลิ่นฉุนของแอลกอฮอล์ การเก็บน้ำปรุงควรเก็บรักษาไว้ในภาชนะขวดแก้วทึบแสงไม่ควรถูกความร้อนและแสงแดด
วิธีทำ
1. เตรียมวัสดุ เครื่องปรุงตามอัตราส่วนที่กำหนด
2. เตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้
3. นำแอลกอฮอล์ผสมกับมัสเขย่าให้เข้ากัน
4. เตรียมต้มน้ำสะอาดลอยด้วยดอกไม้และอบควันเทียน
5. หั่นใบเตยฝอยใส่ขวดแก้ว แล้วเทแอลกอฮอล์ให้พอท่วมประมาณ 30 นาที จนได้สีตามต้องการแล้วกรองเอาใบเตยออก
6. นำพิมเสนและกำยานบดละเอียดใส่ผสมลงในแอลกอฮอล์
7. ใส่ไฮซีนและหัวน้ำมันหอมแต่ละชนิดผสมลงในแอลกอฮอล์
8. เติมน้ำสะอาดที่อบร่ำแล้วที่ละน้อยๆ เขย่า จนกว่าน้ำจะหมดน้ำปรุงจะใส่ไม่ขุ่นเก็บไว้สักประมาณ 2-3 วัน แล้วกรองด้วยกระดาษกรองบรรจุใส่ขวดปิดฝาให้สนิท
การพับผ้าเช็ดหน้า
การพับผ้าเช็ดหน้าเป็นรูปดอกไม้และรูปสัตว์ต่างๆ เป็นศิลปะอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งยังไม่เคยปรากฏว่ามีชาติไหนประดิษฐ์งานฝีมือนี้มาก่อน การพับผ้าเช็ดหน้าจึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย แต่เดิมใช้ผ้าเช็ดหน้าโดยใช้ปลายผ้าผูกมัดกันให้เป็นรูปสัตว์ตามต้องการไม่มีการเย็บตรึงปรากฏว่าทำตัวสัตว์ได้น้อยตัว ต่อมาการพับตัวสัตว์ได้แพร่มีการทำวัสดุเสริมประดิษฐ์ตัวสัตว์เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเย็บตัดและใช้วัสดุเสริมบ้างเพื่อให้แน่น และไม่ควรพรมน้ำปรุง น้ำหอม เพราะจะทำให้เกิดรอยด่างได้ ผ้าที่นิยมพับควรเป็นผ้าฝ้ายชนิดต่างๆ เช่น ผ้าลินิน ผ้าป่าน ผ้ามัสลินชนิดไม่หนา ไม่ควรใช้ผ้าที่มีสารสังเคราะห์ผสมเพราะจะทำให้พับยากและไม่อยู่ตัว
หลักการพับผ้าเช็ดหน้า
1. ควรเลือกสีผ้าให้เหมาะสม เช่น พับกระต่ายควรใช้ผ้าขาว ดอกกุหลาบควรใช้ผ้าสีแดง สีชมพู
2. ผ้าที่พับไม่ควรอ่อนหรือแข็งจนเกิน ถ้าอ่อนจะไม่คงรูป ควรลงแป้งเสียก่อน ถ้าผ้าแข้งและหนาจะพับยาก
3. ถ้าผ้าไม่เรียบควรรีดเสียก่อน
แกะสลักสบู่
การแกะสลักสบู่ เป็นงานที่ต้องใช้ศิลปะพอสมควร การออกแบบงานพื้นฐานมีความจำเป็นจะต้องนำเรื่องของลายเส้นมาใช้ เพราะลายเส้นมีส่วนช่วยสร้างงานให้อ่อนช้อยสวยงาม เช่น การทำใบไม้ เพราะใบไม้มีรูปแบบแตกต่างกันไป
งานแกะสลักทั่วไปแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. วัสดุเนื้อแข็ง ได้แก่ หิน โลหะ ไม้ แก้ว และอื่นๆ
2. วัสดุเนื้ออ่อน ได้แก่ เทียน น้ำแข็ง สบู่ ผัก ผลไม้ หยวกกล้วยและอื่นๆ
สบู่แกะสลัก
สบู่แกะสลัก นอกจากจะเป็นงานที่ให้คุณประโยชน์หลายด้านด้วยกัน คือ ให้คุณค่าทางจิตใจและเป็นความงดงามความเจริญทางด้านศิลปะของความเป็นเอกลักษณ์ไทย แล้วยังใช้เป้นของฝาก ของขวัญ ของที่ระลึกในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด วันขึ้นปีใหม่เป็นของขวัญและของฝากอวดฝีมือฝีมือชาวต่างชาติและสามารถนำไปประกอบอาชีพได้
คุณสมบัติที่ดีของสบู่ที่นำมาใช้แกะสลัก
1. ควรเลือกสบู่ที่ออกจากโรงงานใหม่ๆ
2. สบู่มีเนื้อนิ่มและเหนียว
3. มีสีสวยงาม
4. มีกลิ่นหอม
5.มีรูปทรงดี
6. มีสัดส่วนพอเหมาะ
ข้อดีของสบู่แกะสลัก
1. เป็นงานเผยแพร่อนุรักษ์ สืบสานมรดกงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย
2. เป็นหลักฐานการแสดงออกทางภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยในอดีต
3. เป็นวัสดุที่หาง่าย มีสีให้เลือกมากมาย
4. มีกลิ่นหอมและสีสวยงาม
5. ออกแบบลวดลายการแกะสลักได้อย่างอ่อนพลิ้วสวยงามได้ง่าย
6. เก็บงานสำเร็จรูปให้คงอยู่สภาพได้นาน แต่ควรเลี่ยงบริเวณที่มีแสงและความร้อน
7. เศษสบู่สามารถนำมาหลอมใช้ใหม่ได้
งานอุปสมบท
เหรียญโปรยทาน
การโปรยทาน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่พบเห็นกันบ่อยๆ ในพิธีอุปสมบท โดยผู้ที่บวชจะนิยมนำเหรียญมาโปรยเป็นทานก่อนเข้าโบสถ์ ซึ่งเชื่อกันว่า การโปรยทานนั้นเป็นการสละทรัพย์ เพื่อให้ตนเองละจากสิ่งที่เป็นทุกข์ ส่วนผู้ที่เก็บเงินจากการโปรยทานได้จะนิยมนำไปเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ เพื่อเป็นเงินขวัญถุงหรือเงินก้นถุง นอกจากนี้ยังพบการโปรยทานในงานศพก่อนนำศพเข้าเผา
เหรียญโปรยทานในอดีตมีรูปแบบไม่มากนัก แต่ในปัจจุบันจะพบเห็นเหรียญโปรยทานที่มีสีสันสะดุดตาและมีหลายรูปแบบมากขึ้น รวมทั้งวัสดุที่นำมาใช้ก็แตกต่างไปจากเดิม
วัสดุและอุปกรณ์
1. ไหมพรม
2. เข็มโครเชต์
3. ริบบิ้น
4. เทปสาย
5. ผ้าแก้ว
6. ผ้ากรองทอง
7. ผ้าโปร่ง
8. ผ้าระบายสำเร็จ
9. ดิ้น
10. ริบบิ้นสีทองและสีเงิน
11 ดอกไม้กระดาษสา ลูกปัด ด้าย และอื่นๆ
งานฌาปนกิจศพ
มอบให้แก่ผู้มาร่วมงานเพื่อรำลึกถึงการจากไปของบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ที่มอบให้แก่ผู้มาร่วมไว้อาลัยผู้ที่จากไปในงานศพ เป็นพิธีที่จัดขึ้นในโอกาสการเสียชีวิตของบุคคล ประเพณีเกี่ยวกับงานศพนั้นแตกต่างไปตามวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนาที่มีอิทธิต่อวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ชาวไทยพุทธท้องถิ่นมีกิจกรรมงานศพหลายขั้นตอน นับแต่วันตาย วันตั้งศพ วันฌาปนกิจศพ และวันหลังฌาปนกิจศพ เมื่อมีคนตายก็จะกระจายข่าวให้รู้กันทั่วไป บรรดาญาติมิตรผู้สนิทสนามรู้จักมักคุ้นกับญาติผู้ตาย เมื่อมีผู้ตาย แรกคือบรรจุโลงจัดศพผู้ตายให้นอนไปทางทิศตะวันตก ดอกไม้ ธูปเทียนให้ผู้ตายถือไว้แล้วคลุมด้วยผ้าดิบสีขาว แต่งตัวศพ นิมนต์พระภิกษุทำพิธีมัดตราสัง ชาวไทยมีความเชื่อเชื่อว่า ห้ามไม่ให้บรรลุศพลงในโลงในวันพุธ ถ้าตายวันพุธก็จะรอเวลาจนผ่านเที่ยงคืนไปแล้ว ค่อยบรรจุศพลงโลงได้ เมื่อมีผู้มาร่วมงานจึงมาการแจก
ของชำร่วย งานศพให้เป็นการระลึกถึงผู้ตายที่ได้จากโลกนี้ไปแล้ว กลางคืนพระสวดพระอภิธรรม กลางวัน ทำบุญถวายสังฆทาน เตรียมอาหารไว้จัดเลี้ยงผู้มาฟังสวด เมื่อถึงวันเผาหรือฝัง ญาติมิตรเพื่อนฝูงที่รู้จักจะมาร่วมพิธีสวดมาติกาบังสุกุล เผาหรือฝังตามประเพณี
ของชำร่วยงานฌาปนกิจศพ ที่นิยม คือ ยาหม่อง ยาหอม ผ้าเช็ดหน้า มีการตกแต่งแบบง่ายๆ ด้วยริบบิ้นสีดำ และผ้าโปร่งสีขาว เช่น ยาดมห่อด้วยผ้าโปร่งสีขาวผูกริบบิ้นสีดำ เทียนหอม, เครื่องเซรามิก, งานประดิษฐ์, หนังสือคาถาชินบัญชร, หนังสืองานศพ
ใส่ความเห็น
Comments 0