สาเหตุที่ทำให้ของที่ระลึกมีรูปแบบที่แตกต่างกัน

นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน  รูปแบบของที่ระลึกมีความแตกต่างกันออกไปอย่างมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นรูป ลักษณะของบริโภค  เครื่องใช้ไม้สอย  ตลอดจนเครื่องประดับ  หรือวัตถุทางศิลปะก็ตาม  สาเหตุที่ทำให้รูปแบบของสิ่งเหล่านี้แตกต่างกัน  ก็เนื่องมาจากเงื่อนไขอิทธิพลของ

1. ความแตกต่างอันเนื่องมาจากวัสดุที่ใช้ทำ (Material)  โดยสภาพทางภูมิศาสตร์และสภาพทางดินฟ้าอากาศ  อันแตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่น  ทำให้ทรัพยากรและวัสดุในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน  บางแห่งเป็นป่าเขา  บางแห่งเป็นที่ราบลุ่มประกอบด้วยแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ จุดเริ่มต้นของรูปแบบ  ก็คือมนุษย์นำเอาวัสดุธรรมชาติมาแปรรูปและประกอบกันเข้า  กลายเป็นสิ่งใหม่แทนชของธรรมชาติและกลายเป้นสัญลักษณ์หรือตัวแทนธรรมชาติที่ใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์  เช่น  งานแกะสลักไม้ของภาคเหนือ  งานเครื่องปั้นดินเผาแถบภาคกลาง  งานทอผ้าทางภาคอีสาน  งานแกะสลักหนังทางภาคใต้ ฯลฯ การที่วัสดุในแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน  ย่อมทำให้สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้นแตกต่างกัน  เช่น  ในท้องถิ่นที่เป็นป่าดงลาน  ก็ย่อมได้ลานมาทำผลิตภัณฑ์ใบลาน  ในท้องถิ่นที่ปลูกข้าว  ก็ได้ฟางมาเป็นเชื้อเพลิงในการทำเครื่องปั้นดินเผา  จากไร่จากสวนก็ได้  ใบตองมาสร้างสรรค์ศิลปะประดิษฐ์  จากป่าไผ่ก็ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน  เป็นต้น  และนั้นคือผลจากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นที่มนุษย์ผู้ทำอาศัยอยู่ต่างกัน

ส่วนความแตกต่างกันของรูปแบบอีกประการ  แม้ในท้องถิ่นเดียวกัน  ก็มักจะเอาวัสดุในการทำที่มีชนิดเดียวกันมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์  แต่รูปแบบของสิ่งที่สร้างก็อาจแตกต่างกันออกไป  เช่น  ในท้องถิ่นที่มีต้นไผ่  บ้างนำมาสานเป็นหมวก  บ้างทำตะกร้า  บ้างทำพัด  บ้างทำชะลอม  ฯลฯ  สุดแท้แต่เงื่อนไขประกอบ  คือ  ประโยชน์และหน้าที่ในการนำเอาไปใช้เป็นสำคัญ  นอกจากนี้การที่มนุษย์รู้จักการเอาวัสดุมาใช้ในแต่ละช่วงเวลาแห่งพัฒนาการ  ก็เป็นสาเหตุทำให้รูปแบบของสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นแตกต่างกันออกไปได้อีก  เช่น  มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์  รู้จักนำเอาวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาต เช่น  หิน เปลือกหอย หนังสัตว์  กระดูก ไม้ ใบไม้ ฯลฯ มาใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีพ  โดยส่วนใหญ่ได้คงรูปแบบธรรมชาติเดิมของวัสดุนั้นไว้  ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์ดัดแปลง  แต่งต่อเพิ่มเติม  ลดรูปแบบของวัสดุธรรมชาติให้เหมาะสม  มีประสิทธิภาพในการใช้สอยและมีความสวยงามยิ่งขึ้น  ครั้นเมื่อมนุษย์สามารถคิดค้นวัสดุอย่างใหม่ขึ้น  นอกเหนือจากวัสดุทางธรรมชาติ  รูปแบบของสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ก็เปลี่ยนแปลงไปอีก  โดยถือเอาความสอดคล้องกับคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุและคุณประโยชน์  ในการด้านการนำประโยชน์มาใช้เป็นสำคัญในระยะแรก  ระยะต่อมาจึงเห็นคุณค่าทางด้านความงามมาประกอบร่วมเมื่อความต้องการทางด้านการใช้สอยลดลง  ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า  ตราบเท่าที่มนุษย์ยังสามารถคิดค้นวัสดุอย่างใหม่ขึ้นไว้ใช้  รูปแบบของสิ่งที่มนุษย์จะพึงสร้าง  และมอบให้แก่กันก็จะเปลี่ยนแปลงไปตราบนานเท่านาน

2. ความแตกต่างอันเนื่องมาจากเทคนิคการทำ (Technique) สิ่งใดก็ตามที่ได้ถูกสร้างสรรค์โดยมนุษย์ย่อมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง  ทั้งในด้านรูปแบบและวิธีสร้าง  ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและมีวิวัฒนาการทางด้านการผลิตอันเป้นผลมาจากการเรียนรู้ทักษะและความชำนาญ  การพัฒนาทางด้านสติปัญญาทำให้รู้จักสร้างสรรค์ดัดแปลง  แต่งเติม เพิ่ม ลดรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการทางด้านการใช้สอยและความงาม  ส่วนวิวัฒนาการทางด้านการผลิตอันเป้นผลมาจากการเรียนรู้ทักษะและความชำนาญ ทำให้รู้จักดัดแปลงสร้างสรรค์เทคนิควิธีในการผลิต  ตลอดจนคิดค้นหาเครื่องมือเครื่องใช้  ที่มีประสิทธิภาพ  มาช่วยในการผลิต  ซึ่งทั้งเทคนิคในการสร้างและเครื่องมือช่วยในการสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้  ส่งผลให้รูปแบบสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นแตกต่างกัน  เพราะขีดจำกัดของความสามารถในการผลิตแต่ละเทคนิคการทำนั้นต่างกัน  โดยเฉพาะในปัจจุบัน  จากเทคโนโลยีและความก้าวหน้าในเรื่องเครื่องจักรกล  ยิ่งเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยในการสร้างผลิตสิ่งของ  เครี่องใช้ เครื่องประดับ ฯลฯ ให้มีรูปลักษณะที่ผิดแผก  แตกต่างกันออกไป  ตามการออกแบบสร่างสรรค์ของมนุษย์  ได้เกินกำหนด  และบางครั้งก็เกินความคาดหมาย  จากเทคนิคการทำอันมากมายนี้  ทำให้เราสามารถที่จะเลือกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกรรมวิธีที่ต่างกันได้  ซึ่งอาจเป็นงานฝีมือ  ที่ผลิตสร้างด้วยมือและเครื่องมือที่จำเพาะอันเป้นงานที่แสดงออกถึงความสามารถ  ทักษะและความชำนาญของตัวผุ้สร้าง  หรืออาจเลือกสิ่งที่สร้างขึ้นโดยอาศัยเทคนิคในการผลิตระหว่างงานฝีมือกับเครื่องจักรกล  ซึ่งแต่ละอย่างก็มีคุณค่าที่แตกต่างกันไป  ตามต้นกำเนิด  หากเป็นงานฝีมือ  คุณค่าของงานก็อาจอยู่ที่ความเพียรพยายาม  ความน่าทึ่งในฝีมือและสมองของผุ้ทำ  หากเป็นงานผสมร่วมระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรกล  คุณค่าของงานอาจอยู่ที่ความสามารถ  ในการผลิตเป็นจำนวนมาก  โดยใช้เวลาอันสั้น  อีกทั้งความประณีตทนทานอาจมากขึ้น  ส่วนผลงานที่ผลิตสร้างด้วยเครื่องจักรกลโดยตรง  คุณค่าที่ปรากฏอาจเป็นไปในด้านเศรษฐกิจ  คือมีราคาซื้อขายถูกลงจำนวนมากขึ้น  รูปแบบการผลิตอาจอยู่ในขีดขั้นเกินความสามารถของมนุษย์  เป็นต้น

3. ความแตกต่างอันเนื่องมาจากค่านิยมหรือประเพณีนิยมในท้องถิ่น (Tradition fashion)  แต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์  สภาพดินฟ้า อากาศ และทรัพยากร  และวัสดุในแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน  ทำให้รูปแบบและรูปร่างของสิ่งที่สร้างขึ้นต่างกันออกไปและมีการสืบทอดวัฒนธรรมทางรูปแบบ  โดยการสร้างสมในทางปฏิบัติกันจากชั่วคนหนึ่งมาอีกชั่วคนหนึ่งเป็นลำดับมา  และจากการศึกษารูปร่างของเครื่องใช้  ผลผลิต  ผลิตภัณฑ์บางชนิด  ทราบได้ว่าเทคนิคในการทำนั้นอาจคล้ายคลึงกัน  แต่ทางด้านรูปร่าง รูปแบบ หรือลวดลายย่อมมีความแตกต่างกันออกไปตามความนิยมของท้องที่และแต่ละท้องถิ่น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: