ตุ๊กตาเสียกบาล
ภาพตัวอย่างตุ๊กตาเสียกบาล
การปั้นตุ๊กตาชาวบ้านส่วนใหญ่จะผูกพันถึงเรื่องไสยศาสตร์ ตลอดจนความเชื่อต่างๆ ของชาวบ้าน การปั้นตุ๊กตาดินเผาหรือตุ๊กตาดินเหนียวของไทยในอดีต หรือปัจจุบันก็ยังมีอยู่เพื่อการเซ่นไหว้ การบวงสรวง ตามความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้นว่า การใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนศัตรูหรือการทำลายล้างศัตรู ด้วยการใช้เวทมนต์คาถาอาคมเสกเป่า ทำร้ายด้วยการใช้เข็มเสียบตามอวัยวะตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนของศัตรู หรือด้วยการหักแขน หักขา ศัตรูเพื่อให้เกิดอันตราย เกิดความเจ็บปวดหรือความตายเกิดขึ้นแก่ฝ่ายตรงกันข้าม
นอกจากนั้นมีตุ๊กตาอีกชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นตามความเชื่อถือของชาวบ้าน คือ ตุ๊กตาเสียกบาลเป็นตุ๊กตาที่ทำขึ้น เพื่อปัดเป่าอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนเจ็บป่วย ด้วยการนำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ นั่งพับเพียบ ตุ๊กตาตัวนี้อาจเป็นดินเหนียวธรรมดา หรือดินเผา มีการทำกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนใหญ่จะพบตุ๊กตาไม่มีหัวจะพบที่สมบูรณ์ก็มีอยู่บ้าง ตามเตาเผาของสุโขทัยบ้าง จึงทำให้เรียกว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” คือ “เสียหัว”
ตุ๊กตาเสียกบาล ส่วนใหญ่ยังคงมีการทำอยู่ตามชาวชนบทหรือตามท้องถิ่น ที่ยังคงมีความเชื่อต่างๆ แฝงอยู่ เช่น ความเชื่อถือทางด้านคาถา, ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งสะท้อนความเป็นอยู่ของท้องถิ่นซึ่งต้องอาศัยสิ่งอื่นมาช่วยชีวิตของคนให้ดีขึ้น
เรื่องเล่าเกี่ยวกับตุ๊กตาเสียกบาล
เป็นวิธีสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อของคนโบราณ เริ่มจาก เลือกวันเสาร์ ที่ท้องฟ้าแจ่มใส แสงแดดดี ตอนเช้าให้ปั้นดินเหนียวเป็นตุ๊กตาเพื่อเป็นตัวแทน แล้วตากแดดให้ตุ๊กตาแข็งตัว รอจนเวลาเย็น พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ให้เตรียมเครื่องเซ่นแก่เทวดาให้พร้อม จากนั้น เอาตุ๊กตาแนบไว้กับตัวตลอดเวลาที่เดินไป เพื่อจะได้ดูดสิ่งไม่ดีต่างๆออกจากตัว เดินไปถึงที่ ทางสามแพร่ง แล้วนำเอาตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนวางลง จุดธูปเทียนบวงสรวงเทวดา แล้วจึงให้ต่อยหัวตุ๊กตาให้หลุดไป เป็นการแสดงว่าตุ๊กตาได้รับเคราะห์แทน พิธีนี้ที่จริงเป็นการเลียนแบบมาจากการ ตัดหัวนักโทษในสมัยโบราณ เขาจะทำกันในเวลาพระอาทิตย์ กำลังจะตกดิน ตรงทางสามแพร่ง เพื่อฆ่าให้ตายแล้วก็ถือว่าเป็นการสาปแช่งให้ผู้นั้นลับไป อย่าให้ผุด ให้เกิดอีกเหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน จะได้ไม่มาทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกต่อไป
Posted on ตุลาคม 2, 2011, in ประเภทสิ่งของที่ระลึก. Bookmark the permalink. ใส่ความเห็น.
ใส่ความเห็น
Comments 0