ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง
ภูมิปัญญาข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง
ประวัติความเป็นมา
ข้าวสังข์หยด เป็นพันธุข้าวพื้นเมือง เป็นพันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่นมีแหล่งปลูกดั้งเดิม อยู่ในจังหวัดพัทลุง ปลูกกันมานานไม่ต่ำกว่า 100 ปี มีลักษณะพิเศษ คือ ข้าวกล้องมีสีแดงเข้ม นิยมบริโภคในรูปแบบข้าวซ้อมมือ จมูกข้าว เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง
พันธุ์ข้าวสังข์หยดถูกเก็บรักษาไว้โดยวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวเมืองพัทลุง ตลอดระยะเวลายาวนาน จากหลักฐานการรวบรวมพันธุ์ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตามโครงการบำรุงพันธ์ข้าว เมื่อ พ.ศ. 2493 โดยกองบำรุงรักษาพันธุ์ กรมการค้าข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรากฏว่า ชื่อข้าวสังข์หยดเป็น 1 ใน 11 ตัวอย่างพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ที่เก็บรวบรวมจากอำเภอเมืองพัทลุง ซึ่งปรากฏใน Locality ที่ 81
ต่อมาในปี 2525 ได้มีการเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอีกครั้ง ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงเก็บรวบรวมพันธุ์ข่าวได้ 1997 พันธุ์ พันธุ์ข้าวสังข์หยด (KGTC 82039) เป็นตัวอย่างพันธุ์ที่เก็บรวบรวมจากแหล่งปลูกที่ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เป็นหนึ่งในจำนวนตัวอย่างที่ได้เก็บรวบรวม หลังจากนั้นในปี 2530 มี การปรับปรุงพันธุ์โดยเลือกพันธุ์ข้าวแบบหมู่ (Mass Selection) จนได้สายพันธุ์ข้าวสังข์หยดที่ดี มีความสม่ำเสมอตามลักษณะประจำพันธุ์ คือ มีลักษณะเมล็ดเรียวยาว อายุเบา ปริมาณ อมิโลสต่ำ ข้าวสารมีสีขาวขุ่น ข้าวกล้องมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวปนแดงจาง ๆ จนถึงแดงเข้ม เมื่อหุงสุกใหม่ ๆ จะมีความนุ่มมาก และยังคงนุ่มอยู่เมื่อเย็นตัวลง
ในปี 2549 ข้าวสังข์หยดพัทลุง ได้รับคำประกาศรับรองให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (ข้าว GI) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบงชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 โดยใช้ชื่อว่า “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2549 นับเป็นข้าว จี ไอ พันธุ์แรกของประเทศไทย
จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้เกิดการแปรรูปข้าวสังข์หยดในรูปแบบของการซ้อมมือเพื่อจำหน่ายในชุมชน และจังหวัดใกล้เคียง จนเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ปริมาณของสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ตลอดจนไม่มีการควบคุมและพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ทั้งการบรรจุภัณฑ์ และการพัฒนารูปแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
1. ข้าวกล้องมีสีแดงเข้ม
2. เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
ข้าวเปลือกพันธ์สังข์หยด (คัดเอาเฉพาะจากแปลงปลูกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าว GI เท่านั้น)
ขั้นตอนการผลิต
1. นำข้าวเปลือกไปตากให้แห้ง
2. นำเข้าเครื่องสี
3. คัดเลือกสิ่งเจือปน
4. นำไปบรรจุถุงเพื่อส่งจำหน่าย
เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต
1. รักษาคุณภาพ
2. รักษาความสะอาดในทุกขั้นตอนการผลิต
3. คัดเลือกสิ่งเจือปนด้วยมือก่อนบรรจุถุง
4. วัตถุดิบต้องมีคุณภาพ
ใส่ความเห็น
Comments 0