ภูมิปัญญาศูนย์ทอผ้าซาโอริ
ภูมิปัญญาศูนย์ทอผ้าซาโอริ
ประวัติความเป็นมา
เมื่อเกิดพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิในภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 และได้สร้างความสูญเสียแก่ชีวิต และทรัพย์สิน ของพี่น้องชาวใต้เป็นจำนวนมาก หลายคนต้องเสียบุคคลที่รัก ที่เป็นหลักของครอบครัว หลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีแม้แต่เสื้อผ้าที่จะสวมใส่ และหมดกำลังใจในการมีชีวิตอยู่
หลังช่วงเวลาแห่งการสูญเสียได้ผ่านพ้นไป ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 มูลนิธิมายา โคตามี (Maya Gotami Roundation ) จากประเทศญี่ปุ่น ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดพังงาและได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัย ด้วยศิลปะการทอผ้าด้วยมือแบบซาโอริ ซึ่งในช่วงเริ่มต้น อาสาสมัครของมูลนิธิมายา โคตามี ได้นำเครื่องทอผ้าที่ทำจากไม้ จำนวน 10 ตัว และจักรเย็บผ้า จำนวน 2 ตัว มาใช้ในการสอน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดพังงา โดยมีเป้าหมายระยะยาวให้ราษฎรผู้ประสบภัย ประมาณ 300 ครอบครัว ในหมู่บ้านต่างๆ สามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ ไปพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อการพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินการไปด้วยดี มีราษฎรผู้ประสบภัย สนใจเข้าร่วมโครงการอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถพัฒนาทักษะและคุณภาพในการผลิตงานฝีมือ จากผ้าทอมือซาโอริได้ดีขึ้นเป็นลำดับ
เพื่อช่วยสนับสนุนโครงการดังกล่าวให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ราษฎรผู้ประสบภัยมีรายได้เลี้ยง ตัวเองและจุนเจือครอบครัว มูลนิธิฯ จึงขอเชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพี่น้องของเรา ด้วยการช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ซาโอริ ร่วมเป็นอาสาสมัครประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ร่วมสมทบทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหา เครื่องทอผ้า จักรเย็บผ้า และค่าใช้จ่ายในการขยายงาน
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 โครงการพัฒนาจิตและคุณภาพชีวิตด้วยศิลปะการทอผ้าด้วยมือแบบซาโอริ การฝึกอบรม
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
ลักษณะที่โดดเด่นศิลปะของการทอผ้าด้วยมือแบบซาโอริ เป็นการทอผ้ารูปแบบใหม่ของชาวญี่ปุ่นโดย นางมิซาโอ๊ะ โจ ( Mrs Misao Jo) แห่งเมืองโอซาก้า เป็นผู้คิดค้นขึ้น ในปี พ.ศ.2511 ปรัชญาการทอผ้าแบบซาโอริ ได้ยึดหลักแนวคิดของ “ ความเป็นอิสระ ” เป็นสำคัญ เพราะผู้ทอ ทุกคนสามารถเป็นศิลปิน ที่มีเสรีในการออกแบบลายผ้า ตามบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล โดยไม่จำกัดเพศ และการศึกษา และด้วยแนวคิดเช่นนี้ การทอผ้าแบบ ซาโอริ จึงสามารถสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆได้จากจินตนาการที่ไม่มีขีดจำกัด และ เป็นอิสระ โดยไม่ต้องคำนึงถึงรูปแบบ หรือลวดลายใด ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผ้าทอซาโอริ มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ไม่ซ้ำแบบใคร และไม่ซ้ำแบบกันเอง ซึ่งแม้แต่ผู้พิการที่บกพร่องทางด้านสติปัญญา ก็สามารถทอผ้าแบบ ซาโอริ ได้ด้วยจินตนาการที่เป็นอิสระของตน
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
วัตถุดิบจะสั่งเส้นฝ้าย และวัตถุดิบอื่น ๆ จากภาคเหนือ และกรุงเทพฯ
1. เครื่องทอผ้า
2.เส้นด้ายใช้ 2 แบบ คือ ด้ายฝ้ายหลากสี , ด้ายไหมประดิษฐ์หลากสี
3 ผ้าสำหรับซับใน
5. จักรเย็บผ้า
6. วัสดุอื่น ๆ
ขั้นตอนการผลิต
1. การปั่นด้าย
2. ต้องขึ้นด้ายความยาว ในแต่ละครั้งที่จะใช้แล้วแต่ ขนาดการใช้งาน 3,6,9,12 เมตร
3.ทำการแหย่ด้ายทั้งสองแผง
4.ทำการม้วนด้ายและผูก เสร็จ เริ่มทอผ้า
ขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์
1.ทอผ้าออกมาเป็นผืน
2. นำผ้าทอที่เป็นผืนไปออกแบบ และทำการตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ ม้วนด้ายเพื่อนำไปทอ
3.เมื่อได้เป็นผลิตภัณฑ์แล้วต้อง ผ่านการ Q.C. เพื่อตรวจสอบความ เรียบร้อยของสินค้า
4. ผลิตผ่านการ Q.C.แล้วทำการ บรรจุแพ็กถุงเพื่อส่งจำหน่ายต่อไป
เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต
เทคนิคการผลิตนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคลว่าจะทอผ้าออกมาแบบไหนลายใด ส่วนเคล็ดลับในการผลิตก็ต้องมองตามยุด ตามสมัยว่าส่วนใหญ่ ลูกค้าต้องการสินค้า แบบไหนมากที่สุดในปัจจุบัน วัสดุที่ใช้ในการผลิตต้องมีคุณภาพดี และผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นงานต้องผ่านการตรวจสอบ ความเรียบร้อยทุกชิ้นที่ผลิต ออกจำหน่าย
ใส่ความเห็น
Comments 0