ภูมิปัญญากลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี
ภูมิปัญญากลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี
ประวัติความเป็นมา
ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดตรัง ประมาณ 11 กม. เป็นถิ่นฐานที่ตั้งของชาวไทยพุทธที่ทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะทำนาและสวนยางเป็นอาชีพหลัก
ในอดีต ลานใต้ถุนเรือนไม้ของชาวบ้านนาหมื่นศรีทุกหลังจะมีโหด (กี่พื้นบ้าน) ตั้งอยู่และมีอุปกรณ์ทอผ้าแขวนไว้บนเพดานใต้ถุน ศิลปะการทอผ้าจึงถูกสืบทอดต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่านานนับร้อยปี
การทอผ้าของชาวนาหมื่นศรีถูกผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จากภาวะขาดแคลน เส้นใยสังเคราะห์ย้อมศรีสำเร็จรูปจึงมาทดแทนฝ้ายพื้นบ้านย้อมสีธรรมชาติที่ใช้กันมาแต่เดิม ทำให้การทอผ้าหยุดชะงักไประยะหนึ่ง
ปี 2514 ชาวบ้านที่ยังทำงานทอผ้าแบบดังเดิม ด้วยความผูกพันกับมรดกวัฒนธรรมที่เสมือนเป็นชีวิต จิตใจ มารวมกลุ่มกันทอผ้าเพื่อใช้และแบ่งขายให้เพื่อนบ้าน ต่อมาได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ได้รับการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ และเทคนิคการทอผ้าด้วยกี่กระตุก จนปัจจุบันกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีมีสมาชิกจำนวน 84 คน
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าทอนาหมื่นศรี คือ มีลายผ้าเป็นของตนเองและเป็นลายผ้าโบราณที่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญากันมาสู่รุ่นต่อรุ่น จนปัจจุบันและได้คิดพัฒนาต่อยอดเป็นลายต่างๆอีกมากมายซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอนาหมื่นศรีโดยเฉพาะ ผ้าทอนาหมื่นศรีดูแลรักษาง่าย
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. ด้าย,เส้นใยสังเคราะห์
2. กี่กระตุ๊ก,กี่พื้นเมือง
3. จักรเย็บผ้า (แปรรูปเป็นผลิตที่หลากหลาย)
ขั้นตอนการผลิต
1. เตรียมวัตถุดิบ (ด้าย) ในการทอผ้าโดยการนำด้ายมากรอกับหลอดหลายๆหลอด ไปสอดกับเหล็กซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับเดินด้าย ในการเดินด้ายผู้เตรียมเดินด้ายต้องคิดล่วงหน้าก่อนว่าจะทอผ้าลายดอกอะไร เพราะการทอผ้าแต่ละลาย จำนวนเส้นด้ายจากการเดินด้ายจะไม่เท่ากัน
2. จากนั้นนำด้ายที่เก็บจากการเดินด้ายมาสอดฟันหวี ขั้นตอนนี้ต้องใช้ถึง 2 คน คนหนึ่งส่งด้าย อีกคนหนึ่งสอดด้ายเข้าฟันหวี
3. เมื่อสอดด้ายเข้าฟันหวีเสร็จเรียบร้อยแล้วนำด้ายมาม้วนกับแกนไม้ที่เตรียมไว้
4. ยกแกนไม้ที่ม้วนไว้เรียบร้อยแล้วสอดเข้าที่ทำการทอ
ใส่ความเห็น
Comments 0