รูปแกะหนังตะลุง
ภูมิปัญญารูปแกะหนังตะลุง
ประวัติความเป็นมา
เมื่อปี พ.ศ. 2500 นายส่อง สุวรรณมณี ซึ่งเป็นศิษย์ของนายหนังตะลุงแถบอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ได้ย้ายถิ่นฐานที่อยู่มาอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้แสดงหนังตะลุงในบริเวณที่อยู่อาศัย จนมาระยะหนึ่ง นายส่อง สุวรรณมณี ได้ใช้เวลาว่างในการแกะหนังตะลุงขึ้น ซึ่งอาศัยศิลปะการแกะหนัง จากการสังเกตตอนที่อยู่ระโนด จากช่างที่มาแกะหนังตะลุง ให้แสดงในเวลานั้น นายส่องจึงแกะหนังตะลุงเพื่อให้แสดงเอง แสดงจนมีชาวบ้านในหมู่บ้านสระพัง ตำบลเสาธง มีความสนใจและได้ฝึกการแกะหนังตะลุง จนมีลูกศิษย์หลายคนที่ยึดเป็นอาชีพการแกะหนังตะลุงต่อมา
จุดนี้เองจึงทำให้หมู่บ้านสระพังมีช่างแกะหนังฝีมือดีหลายคนเกิดขึ้น และ นายส่อง สุวรรณมณี ก็ได้ถ่ายทอดการแกะหนังให้ลูก ๆ และยึดเป็นอาชีพมาจนถึงทุกวันนี้
จากความรู้ความสามารถของนายส่อง สุวรรณมณี ได้ถ่ายทอดให้ลูก ๆ จนลูก ๆ ทุกคนมีความสามารถในงานศิลปะด้านแกะหนัง โดยเฉพาะ นายกิจติ สุวรรณมณี ได้สร้างผลงานด้านแกะหนัง จนมีฝีมือ เป็นที่ยอมรับและได้ส่งภาพหรือรูปหนังเข้าประกวดจนได้รับรางวัลและเกียรติบัตรมากมาย ทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ ได้เชิญให้ไปแสดงผลงานตามงานและเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนละแวกใกล้เคียงได้เชิญให้ นายกิจติ สุวรรณมณี ไปเป็นวิทยากร และสอนเด็กนักเรียนอยู่เป็นประจำ ทำให้ศิลปะการแกะหนังในหมู่บ้านสระพังมีผลงาน และเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วเป็นที่สนใจของชุมชนและเยาวชน ทำให้มีผู้มาเรียนรู้ในการแกะหนังมากขึ้น เนื่องจากสามารถสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัวเป็นอย่างดี
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
เป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นแสดงถึงเอกลักษณ์ของคนปักษ์ใต้ ที่มีการทำด้วยฝีมือประณีต สวยงาม และคงทน
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1.หนังวัว
2.สี
3.เขียงตอก (ไม้เนื้อแข็ง)
4.เขียงขุด (ไม้เนื้ออ่อน)
5.ตุ๊ดตู่(มุก)
6.มีดขุด
7.ฆ้อน
8.พู่กัน
9.น้ำมันวานิช
10.ไม้ตับ
11.เชือก
ขั้นตอนการผลิต
1.นำหนังมาฟอก
2.ตากหนังให้แห้ง
3.ตัดเป็นรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องการ
4.เขียนลาย
5.ตอกตามลวดลาย
6.ลงมือแกะหนัง
7.ระบายสี
8.เคลือบเงา
9.นำไปใส่กรอบ/ใส่ถุงจำหน่าย
เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต
เคล็ดลับอยู่ที่ฝีมือการแกะหนังที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ใจเย็น มีสมาธิในการทำ
ใส่ความเห็น
Comments 0