ภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์จากต้นตาล
ภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์จากต้นตาล
ประวัติความเป็นมา
ต้นตาลเป็นต้นไม้ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษชนชาติพุทธกาล บ้านหารบัว บ้านนาใต้ และพื้นที่อื่นๆในตำบลโคกกลอย มีต้นตาลโตนดเป็นจำนวนมาก เป็นต้นตาลที่แก่จัดแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร บางครั้งชาวบ้านในชุมชนได้ตัดทำลายต้นตาลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์เพื่อปรับพื้นที่ไปทำประโยชน์ในการเกษตรและอื่นๆ
นาย จำนงค์ รอดบน เป็นผู้ที่ชื่นชอบและให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับต้นตาลมาก่อน เมื่อมีโอกาสได้ย้ายกลับมายังบ้านนาใต้ ได้พบเห็นชาวบ้านในชุมชนทำลายต้นตาลโดยไม่เห็นคุณค่า จึงบังเกิดความเสียดาย เลยเริ่มเก็บเศษส่วนต่างๆของต้นตาลโดยเฉพาะลำต้นที่เป็นเนื้อไม้ และพบเห็นงวงตาลตกอยู่รอบๆต้นตาลจึงเก็บมาคิดทำเล่น ภายหลังคนในชุมชนและเพื่อนๆได้เห็นผลิตภัณฑ์จากต้นตาลและงวงตาล จึงมีการรวมกลุ่มเกิดขึ้นทำให้เกิดภูมิปัญญาและจินตนาการของชาวบ้านในพื้นที่ที่นำเศษส่วนของต้นตาลและงวงตาลมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่ม คือ งวงตาลหอม เกิดจากงวงตาลที่ไม่มีค่าในพื้นที่ นำมาประดิษฐ์และตกแต่งด้วยดอกไม้ ใบไม้จากธรรมชาติที่มีอยู่รอบๆชุมชนให้มีความสวยงาม พร้อมนำมาประกอบเป็นที่แขวนผ้าเช็ดมือที่มีกลิ่นหอมในตัวผลิตภัณฑ์เป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุจากธรรมชาติที่สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของขวัญ ของฝาก หรือของที่ระลึกให้กับผู้ใหญ่ หรือของกำนัลในเทศกาลต่างๆ
ผลิตภัณฑ์จากต้นตาลเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านได้รวมตัวขึ้นมาเมื่อปลายปี พ.ศ.2552 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากมือของคนในชุมชน ซึ่งเป็นผลงานและชิ้นงานที่คนในชุมชนภาคภูมิใจเป็นการหารายได้เพิ่มให้กับสมาชิกในชุมชนเดือนละไม่น้อย นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้กับตำบลโคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
ลักษณะที่โดดเด่นของผลิตภัณฑ์ภูตาล คือ ผลิตภัณฑ์จากต้นตาลของกลุ่มเกิดจากการสร้างสรรค์และจินตนาการที่ทำได้จริง ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของกลุ่มเป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ตาลที่มีลายของไม้ตาลอันสวยงามในตัว ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงวงตาลเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นชิ้นงานนำมาตกแต่งเป็นช่อดอกไม้ลงบนงวงตาลอย่างสวยงามโดยมีกลิ่นหอมเป็นธรรมชาติ ถ้ากลิ่นหายให้นำไปตากแดดแล้วกลิ่นจะกลับมาเหมือนเดิม
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. ต้นตาล ( ที่ชาวบ้านตัดทิ้งนำพื้นที่ไปปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น )
2. งวงตาล ( ที่ไม่มีค่า )
3. ดอกไม้ ,ดอกหญ้า ,เมล็ดพืชต่างๆ,ใบไม้ ( ที่มีอยู่ในท้องถิ่น )
4. กาวแท่ง,ปืนกาว
5. เชือกปอ
6. แท่งกลึง
7. เครื่องเจาะ
8. เครื่องขัด
9. เครื่องตัด
10. กระดาษทรายเบอร์ต่างๆ
11. สว่าน
12. ตู้อบแสงอาทิตย์
13.อุปกรณ์อื่นๆ
ขั้นตอนการผลิต
นำงวงตาลสดมาขึ้นรูปทำเป็นวงกลมแล้วนำมาอบ หรือตากแดดให้แห้ง เมื่องวงตาลแห้งแล้วนำมาตกแต่งและพันด้วยเชือกปอเพื่อทำเป็นที่แขวน หลังจากนั้นนำมาแต่งเป็นช่อดอกไม้โดยใช้ดอกไม้, ดอกหญ้าที่เป็นวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่อบแห้งแล้ว ตามรูปแบบที่ต้องการ เมื่อทำเป็นช่อดอกไม้เสร็จแล้วก็นำมาอบด้วยกลิ่นหอมตามต้องการและตกแต่งให้เรีบยร้อยสวยงามอีกครั้ง พร้อมใส่กล่องบรรจุและจำหน่าย
เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต
ในการตากและอบด้วยตู้พลังแสงอาทิตย์จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาของบรรพบุรุษในการเก็บรักษา อบกลิ่นให้หอมด้วยตู้อบพลังแสงอาทิตย์ จนทำให้งวงตาลมีกลิ่นหอมโดยกลิ่นจะเข้าไปอยู่ในงวงตาล เมื่อกลิ่นหายสามารถนำมาตากแดดหรืออบใหม่ กลิ่นจะกลับมาเหมือนเดิม
ใส่ความเห็น
Comments 0