ถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่ง

ภูมิปัญญาถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่ง
 

ประวัติความเป็นมา

ถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่ง เป็นผลิตภัณฑ์จากส่วนของมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจมหัศจรรย์ที่ทุกส่วนของมะพร้าวใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพของมนุษย์ ตั้งแต่รากใช้เป็นสมุนไพรตำหรับโบราณ ลำต้นแปรรูปเป็นไม้ ใช้ก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทำเสา ทำสะพาน ทางมะพร้าวใช้เป็นเชื้อเพลิง มุงหลังคา ก้านใบใช้ทำไม้กวาด จั่นแห้งใช้กวาดลานบ้าน ผลอ่อน-แก่ใช้เป็นอาหาร และทำเป็นของใช้ เช่น กระบวย-กะโหลกงวงมะพร้าว ทำให้เกิดน้ำหวาน ทำน้ำตาล กะลามะพร้าวดั้งเดิมใช้ก่อไฟ ทำเครื่องใช้ในครัวเรือน และของใช้ในชีวิตประจำวัน และได้ปรับปรุงพัฒนา ตามภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง

มะพร้าวปลูกได้แทบทุกภาคของประเทศไทย ปกติมะพร้าวจะขึ้นได้ดีในแถบที่มีฝนตกชุก อากาศอบอุ่น ค่อนข้างร้อน แสงแดดมากในประเทศไทย ปลูกมากในภาคกลาง ภาคใต้แถบชายฝั่งทะเลตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด แต่ภาคใต้ของไทยปลูกมะพร้าวได้ดีที่สุด

โดยปกติเกษตรกรปลูกมะพร้าวเพื่อจำหน่ายผลเป็นส่วนใหญ่ มีนักธุรกิจที่เล็งเห็นประโยชน์จากผลผลิตของมะพร้าว บางกลุ่มเริ่มนำเปลือกมะพร้าวมาทำเป็นใยมะพร้าว ส่งจำหน่ายโรงงานผลิตเครื่องใช้ต่าง ๆ อีกมากมาย ส่วนกะลามะพร้าวที่ได้นำเนื้อเยื่อไปทำประโยชน์อย่างอื่นแล้ว กะลายังถูกทิ้งขว้างเป็นมลภาวะที่มีปัญหาต่อชุมชน เพราะย่อยสลายยาก

ทางภาครัฐได้ส่งเสริมแนวคิดนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาให้เป็นเศรษฐกิจ ที่เกิดมูลค่ามากขึ้นในระยะไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลได้ปิดป่าถาวร แก๊สหุงต้มราคาสูงขึ้น กอปรกับการตื่นตัวเรื่องมลภาวะและความปลอดภัยสูงขึ้น จึงมีผู้ที่พยายามนำกะลามะพร้าวมาทำถ่านเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการใช้กะลามะพร้าวเป็นเชื้อเพลิงก็เคยมีมาแล้วตั้งแต่โบราณ โดยการใช้เป็นวัตถุดิบก่อไฟให้ความร้อนและแสงสว่าง ต่อมาก็เผากะลาเป็นถ่านเก็บไว้ก่อไฟในรูปของถ่านกะลามะพร้าวธรรมดา แต่จะไม่สะดวกเก็บ สะดวกใช้ เพราะกะลามะพร้าวในรูปถ่านบาง เปราะ แตกหักง่าย อาจจะเป็นผงถ่านไม่สะดวกใช้ ตลาดไม่นิยม จึงมีผู้ค้นผลิตถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่ง ให้เป็นที่นิยมของตลาด เพื่อหวังเป็นธุรกิจคู่กับความต้องการพลังความร้อนของการครองชีพของมนุษย์ เพื่อช่วยชะลอการตัดไม้ทำลายป่า ช่วยประหยัดพลังงานแก๊สธรรมชาติที่มีจำกัด ช่วยประหยัดเงินชาติ ที่ต้องสั่งแก๊สหุงต้มเข้ามาจากต่างประเทศ ช่วยลดมลภาวะจากวัสดุเหลือใช้จากผลิตภัณฑ์มะพร้าว และช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ท้องถิ่น “ถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่ง” จากโรงงานสิชลพืชผล หมู่ที่ 1 ตำบลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรี ซึ่งเป็นแหล่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแหล่งปลูกมะพร้าวพันธุ์ดี แถบชายฝั่งอ่าวไทย และพยายามคิดค้นพัฒนาทั้งรูปแบบการผลิต การบริการ และการสร้างงานในชุมชนจึงได้เกิดขึ้น

ร้านสิชลพืชผลรับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นผู้มีประสบการณ์ คลุกคลีกับเกษตรกรมาโดยตลอด ตั้งแต่การรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะรับซื้อมะพร้าวผล มะพร้าวแห้ง จากการติดต่อซื้อขายในธุรกิจมะพร้าว สัมผัสกับเจ้าของสวน โรงงานครบวงจร ทำให้เห็นช่องทางของธุรกิจมะพร้าวในยุคปัจจุบัน จึงได้นำกะลามะพร้าวมาพัฒนาเป็นถ่านอัดแท่ง เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายของรัฐ จัดจำหน่ายทั้งภายในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ

โดยเป้าหมายต่อไปพยายามให้กะลามะพร้าวที่เหลือทิ้งทุกครัวเรือน และทุกโรงงานในท้องถิ่นเข้าสู่โรงงานผลิตถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่ง “สิชลพืชผล” เป็นการกระจายงาน กระจายรายได้ในท้องถิ่นต่อไป

 

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์

สะดวกในการใช้เก็บรักษาง่าย ให้พลังงานความร้อนสม่ำเสมอ ค่าความร้อนมากกว่า 7,000 แคลอรี่/กรัม นานถึง 4 ชั่วโมง ไม่มีควันและไม่เกิดประกายไฟ ในขณะจุดติดหรือเผาไหม้ ใช้วัตถุดิบเหลือใช้ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ในกรณีใช้ไม่หมด สามารถใช้ได้ในครั้งต่อไปได้อีก โดยการนำไปจุ่มน้ำแล้วตากแดดให้แห้งก่อนเก็บใช้ทดแทนถ่านไม้หรือแก๊ส ลดต้นทุนการผลิตอาหารหรือใช้ในการดูดซับกลิ่นในตู้เย็นหรือห้องทำงานที่มีกลิ่น หรือในรถได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับปิ้ง ย่าง โดยไม่ก่อให้เกิดสารพิษใด ๆ

การเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่งกับถ่านไม้

1. ประหยัดหมายถึงให้ความร้อนได้มากกว่าจากไม้ 1. ถ่านหมดเร็วมีความหนาแน่นน้อยกว่า
2. ไม่แตกประทุไม่มีกลิ่นเพราะผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100 % ไม่ผสมสารเคมีใด ๆ 2. มีการแตกประทุเนื่องจากธรรมชาติของถ่านไม้ที่จะมีรูอากาศภายในเมื่อมีการเผาไหม้ จึงเกิดการประทุขึ้น
3. ไม่มีควันจากตัวถ่านอัดแท่งเพราะถ่านได้รับการเผาไหม้เต็มที่ด้วยอุณหภูมิเกิน 800 องศาเซลเซียส 3. มีควันเนื่องจากไม้มีความชื้นซึ่งไม่สามารถเผาหมดได้โดยวิธีการเผาถ่านไม้ปกติ
4. แข็งแกร่ง,ไม่แตก,ไม่ยุ่ย 4. แตกหักได้ง่าย
5. ไม่ดับกลางคันเมื่อติดแม้จะอยู่ในทีที่อากาศไหลเวียนน้อย 5. ต้องใช้อากาศถ่ายเทจำนวนมากในการเผาไหม้ เมื่อมีอากาศน้อยจึงดับและต้องเพิ่มถ่านบ่อย
6. สะดวกและสะอาด เนื่องจากวัสดุภัณฑ์จะมีการบรรจุกล่องประหยัดเนื้อที่ หยิบใช้ง่าย ประหยัด 6. ถ่านไม้บรรจุกระสอบทำให้เสียเนื้อที่ในการเก็บ

 

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

วัตถุดิบ ประกอบด้วย

1. กะลามะพร้าว

2. แป้งมันสำปะหลัง

3. น้ำ

อุปกรณ์ ประกอบด้วย

1. ถังน้ำมัน 200 ลิตร สำหรับเผาถ่าน

2. เครื่องบดถ่าน

3. เครื่องผสม

4. เครื่องอัดถ่าน

5. ตู้อบถ่าน

 

ขั้นตอนการผลิต

ขั้นตอนที่ 1

เริ่มจากการเผากะลามะพร้าวให้เป็นถ่าน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อนเผาต้องคัดกะลามะพร้าวไม่ให้มีเศษวัสดุอื่นเจือปน จะทำให้ถ่านไม่มีคุณภาพ

ขั้นตอนที่ 2

นำถ่านที่ได้จากการเผาแล้วนำไปบด โดยบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เนื้อถ่านที่มีคาร์บอนลงตัวไม่ต่ำกว่า 82%

ขั้นตอนที่ 3

หลังจากบดถ่านเสร็จแล้ว นำเข้าเครื่องผสม โดยใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นตัวประสาน 10% และเติมน้ำสะอาด 8% เพื่อที่จะให้ส่วนผสมทุกส่วนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้มือหยิบดูว่าส่วนผสมเข้ากันหรือยัง ถ้ายังไม่เข้ากัน ใช้เครื่องผสม ผสมต่อไป สาเหตุที่ต้องใช้แป้งมันสำปะหลัง ผสมกับถ่านกะลา เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวการณ์เกาะตัวกัน

ขั้นตอนที่ 4

 นำถ่านที่ผสมแล้ว ไปเข้าเครื่องอัดแท่ง ซึ่งออกแบบโดยผู้ผลิตเอง เป็นเครื่องอัดเกลียวชนิดสกรู แรงดันสูงที่ 1,100 – 1,700 กก./ตร.ซม. ทำให้ได้ความหนาแน่นที่เหมาะสมในการเผาไหม้ ไม่สิ้นเปลือง ส่วนที่เหลือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก (ถ่านกะลามะพร้าว ยังสามารถใช้ดับกลิ่นในตู้เย็นได้ดี) จัดเป็นรูปทรงกระบอกหกเหลี่ยม และมีรูกลวงตรงกลาง ขนาด 1 ซม. แล้วแต่ความต้องการของตลาด จากนั้นตัดเป็นท่อน ๆ ตามขนาดที่ต้องการใช้งาน

ขั้นตอนที่ 5

นำถ่านที่ตัดเป็นท่อน เข้าตู้อบที่มีอุณหภูมิ 80-90 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการอบ ประมาณ 12 – 15 ชั่วโมง โดยใช้ไม้ฟืนจากไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงในการอบ หรือตากแดดประมาณ 8 วัน เป็นการไล่ความชื้นในขั้นสุดท้าย

 

เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต

การตรวจสอบคุณภาพ โดยการสังเกต จากการใช้มือบีบถ่าน ถ้าแห้งสนิทจะบีบไม่แตก หรือถ้าถ่านอัดแท่งที่แห้งสนิทดีแล้ว ถ้านำเคาะจะเกิดเสียงดังกังวาน จากนั้นนำถ่านที่แห้งสนิทดีแล้วมาบรรจุถุงพลาสติก ขนาดน้ำหนัก 1 กก. หรือบรรจุกล่อง กล่องละ 27 กิโลกรัม ตามที่ตลาดต้องการ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: