ถั่วเหลืองเครื่องทรง

ถั่วเหลืองเครื่องทรง จังหวัดลำพูน


ประวัติความเป็นมา
ถั่วเหลืองเป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากทางภาคเหนือเพื่อการบริโภคมาแต่ในอดีต  เพราะมีโปรตีนสูงทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ได้ การนำถั่วเหลือมาแปรรูปจึงมีมานานนับตั้งแต่ในสมัยบรรพบุรุษสืบทอดต่อกันมาเพื่อให้มีถั่วเหลือสามารถเก็บไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยแต่เดิมการแปรรูปถั่วเหลืองนิยมทำกันเองภายในครัวเรือนโดยการหมักซึ่งคนทางภาคเหนือรียกถั่วเหลืองแปรรูปโดยการหมักว่าถั่วเน่า ถั่วเน่าสามรถนำไปดัดแปลงเพื่อการบริโภคได้หลากหลายเช่นน้ำไปใส่อาหาร(แกง)เป็นเครื่องปรุงเพื่อเพิ่มรสชาติ ห่อในใบตองย่างไฟรับประทานเป็นอาหารจานหลัก ทำน้ำพริกฯลฯ

ในปี 2546 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในหมู่บ้านกิ่วมื่นได้คิดรวมตัวกันนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นดั่งเดิมตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ในการแปรรูปถั่วเหลืองเพื่อเก็บไว้บริโภคมาผลิตเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายเป็นการเพิ่มรายได้ โดยได้คิดดัดแปลงถั่วเหลืองหมัก(ถั่วเน่า)มาผสมเครื่องปรุงต่างๆเพื่อให้มีรดชาดเพิ่มมากขึ้น และนำมาบดตากให้แห้งเรียกว่าถั่วเหลืองทรงเครื่อง(ถั่วเน่าแผ่น) ออกจำหน่ายและเมื่อได้ รับการตอบรับจากตลาด จึงได้มีการผลิตห่อหมกถั่วเหลืองทรงเครื่องซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของคนยอง ออกจำหน่ายเพิ่มขึ้น ต่อมากลุ่มได้รับคำแนะนำและได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทางราชการในการนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ ทำให้กลุ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย กลุ่มจึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอย่างหลากหลาย เพิ่มขึ้น ปัจจุบันกลุ่มได้มีการผลิตสินค้าจากถั่วเหลืองทั้งหมด 8 ชนิด คือ

1. ถั่วเหลืองทรงเครื่อง(เจ)

2. ข้าวเกรียบถั่วเหลือง

3. น้ำพริกเผาสูตรเจ

4. น้ำพริกเผาสูตรธรรมดา

5. น้ำพริกนรกสูตรเจ

6. น้ำพริกนรกสูตรธรรมดา

7. ห่อหมกถั่วเหลือง

8. ข้าวเกรียบถั่วเหลือง (เจ)

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์ที่เด่นและได้รับความนิยมและกลุ่มได้นำส่งเข้าร่วมคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยได้รับการจัดระดับ 4 ดาวในปี 2553ได้แก่ถั่วเหลือแผ่นทรงเครื่องซึ่งมีลักษณะที่โดดเด่นของถั่วเหลืองทรงเครื่องของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกิ่วมื่น คือ ถั่วเหลืองที่นำมาบด เพื่อนำมาทำเป็นถั่วทรงเครื่องแผ่นนั้น จะมีความละเอียดของเนื้อถั่วเหลือง และส่วนผสมประกอบด้วยพริกและงา เข้าด้วยกัน จึงทำให้ดูมีสีสันสวยงามตามธรรมชาติ น่ารับประทาน สามารถนำมาใช้ประกอบในการทำอาหารได้หลายอย่าง เป็นการเพิ่มรสชาติให้แก่อาหารของคนทางภาคเหนือใช้แทนผงชูรส เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นในการทำวัตถุปรุงแต่งรสอาหารซึ่งสืบทอดมาแต่ดั่งเดิม

 วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1. ถั่วเหลือง 5 กก.

2. พริกแห้ง 2 ขีด(นำมาป่นให้ละเอียด)

3. เกลือป่น 3 ขีด

4. งาขาว 5 ขีด

5. น้ำมันพืช 1 ลิตร(สำหรับทอด)

ขั้นตอนการผลิต

นำเมล็ดถั่วเหลืองที่คัดมาอย่างดีแล้ว ไปล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำไปต้มให้สุกจนเปื่อย แล้วจึงนำไปล้างน้ำให้สะอาดอีกครั้ง ทิ้งไว้หนึ่งคืนเพื่อให้ถั่วเหลืองสะเด็ดน้ำ พอเสร็จนำไปหมักกับ พริก เกลือและงาขาว และนำไปบดโดยใช้เครื่องโม่ไฟฟ้าเพื่อทุ่นแรง ให้ละเอียดจนเป็นเนื้อเดียวกัน

นำถั่วเหลืองที่บดเรียบร้อยแล้วมาปั้นเป็นลูกกลมๆแล้วห่อด้วยแผ่นพลาสติก นำไปวางอัดให้เป็นแผ่นวงกลมบางๆด้วยเครื่องอัดแผ่นซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำให้ถั่วเหลืองเป็นแผ่นและบางได้ จากนั้นนำแผ่นถั่วเหลืองที่ได้ไปแกะออกจากแผ่นพลาสติก นำไปตากแดดประมาณครึ่งวัน เมื่อแผ่นถั่วเหลืองแห้งดีแล้ว ก็นำมาทอดในน้ำมันพืชร้อน เสร็จแล้ววางไว้ให้เย็นและสะเด็ดน้ำมัน แล้วบรรจุถุงซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ติดฉลากให้เรียบร้อย

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

วัสดุหลักที่ใช้ได้แก่ถั่วเหลือซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามีโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ และการใช้เครื่องปรุงที่มีคุณภาพเช่นพริกป่นที่ใช้เป็นพริกป่นที่มีความละเอียดและใหม่ ทำให้แผ่นถั่วเหลืองมีสีสันสวยงาม ดูน่ารับประทาน อีกทั้งการเพิ่มงาขาวให้มากขึ้น ทำให้มีความหอมอร่อย กลมกล่อมและมีประโยชน์ ในการผลิตไม่ใส่ผงชูรส เหมาะสำหรับคนที่รักสุขภาพ จึงทำให้ได้รับความนิยมมาก    ยิ่งขึ้น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: