เครื่องถักทอไหมพรม
เครื่องถักทอไหมพรม จังหวัดเพชรบูรณ์
ประว้ติความเป็นมา
กลุ่มวิสาหกิจเกษตรพัฒนาบ้านวังประสาน ก่อตั้งเมื่อปี 2549 โดยการรวมตัวกันของคนในชุมชน เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ จากประสบการณ์การทำงานจากโรงงานเพื่อที่จะรวมกันผลิตสินค้า และรับช่วงการผลิตจากโรงงาน เป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่ม ส่วนเส้นด้ายที่เหลือจากการผลิตก็จะนำไปให้กับคนในชุมชน แม่บ้าน ผู้พิการและคนชรา ทอผ้ามัดหมี่ ผ้าขาวม้า ผ้าไทยต่างๆ และมีการพัฒนาสินค้ารูปแบบ ลวดลายมาโดยตลอด มีการสำรวจความต้องการของผู้บริโภค วางแผนการผลิต การตลาด ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ มีความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน
จุดเด่น/เอกลักษณ์ผลิตภัณ์
รูปแบบผลิตภัณฑ์กลุ่มมีความหลากหลาย ลวดลายมีความสวยงาม วัสดุที่ใช้มีคุณภาพราคาไม่แพง
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. เส้นด้ายสำหรับทอ (ไหมพรม 100% ,cotton, Wool,เส้นใยประดิษฐ์)
2. เส้นด้ายสำหรับเย็บ,พ้ง
3. อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในงานแต่ละชนิด
4. ถุงบรรจุภัณฑ์
ขั้นตอนการผลิต
1. ออกแบบผลิตภัณฑ์ (ชิ้นตัวอย่าง)
2. พันเส้นด้าย
3. ทอชิ้นงาน (ตรวจสอบคุณภาพ ความแน่น)
4. เย็บ สอย (ตรวจสอบคุณภาพการเย็บ สอย)
5. ซัก
6. รีด (ตรวจสอบคุณภาพซ้ำ)
7. บรรจุภัณฑ์
เทคนิค/เคล็ดลับการผลิต
1. กลุ่มได้มีประสบการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบ สีสันสวยงาม
2. มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน และเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า
ผ้าทอบ้านวังขอนพัฒนา จังหวัดเพชรบูรณ์
กลุ่มทอผ้าบ้านวังขอนพัฒนา หมู่ที่ 17 ตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดตั้งขึ้นในปี 2545 เริ่มต้นจากการที่สมาชิกในหมู่บ้านมีภูมิปัญญาด้านการทอผ้า ซึ่งเดิมได้มีการทอผ้าถุง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ไว้ใช้ในครอบครัว และหลังจากนั้นกลุ่มสตรีในหมู่บ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพทอผ้า ซึ่งมีสมาชิกในขณะนั้น จำนวน 60 คน โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานราชการเช่น สำนักงาน
พัฒนาชุมชนอำเภอศรีเทพ เกษตรอำเภอศรีเทพ ฯลฯ เข้ามาให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ และได้แต่งตั้งประธานกลุ่มสตรี คือ นางเพียร ประเสริฐสัง ซึ่งมีความรู้ด้านการทอผ้าเป็นอย่างดี โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ลงหุ้นกันคนละ 100 บาท มีสมาชิกทั้งหมด 30 คน มีเงินทั้งสิ้น 5,000 บาท และได้นำเงินส่วนหนึ่งจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มาลงทุนในการทอผ้า ซื้อวัสดุประเภทด้าย สี และอื่นๆ ส่วนกี่ทอผ้า จะใช้ของสมาชิกเอง โดยวัสดุต่างๆ จะไปซื้อที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ส่วนตลาดก็นำไปส่งที่บ้านหมี่และขายตามท้องตลาดทั่วไป
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอของบ้านวังขอนพัฒนา มีความหลากหลาย ประณีต สวยงาม มีคุณภาพ และคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาไทย อาทิเช่น ผ้าทอมือลายขัดพื้นฐาน ผ้าทอมัดหมี่ฝ้ายและเส้นด้ายใยประดิษฐ์ ผ้าขาวม้า ผ้าทอสี ต่าง ๆ และผ้ายกดอกลายใบโพธิ์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรเป็นสุดยอด “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” OTOP ระดับ 4 ดาว ในปี 2553″ ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนและประชาชนทั่วไปที่มาพบเห็น กลุ่มจึงได้นำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายในชุมชนและนอกชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าทอ คือ เส้นใยที่ใช้ทอผ้ามีลักษณะเป็นมันเงาเหมือนไหมแท้ สีไม่ตก ดูแลรักษาง่าย ไม่ยืดไม่หดตัว มีทั้งลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์โบราณ และออกแบบลายประยุกต์
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
แหล่งที่มาของวัตถุดิบส่วนใหญ่หาซื้อได้จากท้องถิ่นในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ประกอบด้วย
อุปกรณ์สำหรับทอผ้า
1. ฟืม หรือฟันหวี
2. ตะกอ
3. กระสวย
4. ไม้แกนม้วนผ้า
5. คานเหยียบ
6. สายกระตุก
7. ระหัดถักด้าย
8. หลอดด้ายพุ่ง
9. หลอดด้ายยืน
10. ผัง
11. ไนปั่นด้าย
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมด้าย
1. ดอกหวิง
2. ไน
3. หลอดด้ายค้น
4. รางค้น
5. หลักค้น
6. ฟืม
7. ลูกหัด
8. ไม้นัด
9. ไม้ขัดด้าย
10. เครื่องม้วนด้าย
11. ตะขอเกี่ยวด้าย
ขั้นตอนการผลิต
1. เตรียมเส้นด้ายมัดหมี่ มัดลาย
2. นำเส้นด้ายมาย้อมสี ย้อมลาย ตามต้องการ
3. แก้ปอออกเพื่อนำด้ายไปปั่นหลอด
4. นำหลอดด้ายใส่กระสวยเพื่อเตรียมใส่กี่ทอ
5. นำด้ายที่ผ่านกระบวนการเสร็จแล้วมาเข้ากี่แล้วทอเป็นผืน
6. เมื่อทอเสร็จก็จะได้ออกมาเป็นผืนสามารถนำไปตัดเย็บได้ตามต้องการ
1. การทำลายผ้าต้องใช้ความชำนาญในการมัดด้ายให้ตรงและแน่น
2. วิธีย้อมผ้าต้องเน้นหลักการผสมสี เพื่อให้ลวดลายที่สวยงาม
3. จับลายผ้าให้ตรง เพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงาม
4. ปั่นด้ายเข้าหลอดให้แน่นเพื่อไม่ให้เส้นด้ายพันกัน
ใส่ความเห็น
Comments 0