กลุ่มทอผ้าฝ้ายเปลือกไม้บ้านไม้ต่อเรือ
กลุ่มทอผ้าฝ้ายเปลือกไม้บ้านไม้ต่อเรือ จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติความเป็นมา
เนื่องจากพื้นที่อำเภอแม่แจ่มมีประชากรอาศัยรวมกันทั้งหมด 5 ชนเผ่า ซึ่งแต่ละชนเผ่าต่างกระจัดกระจายไปอาศัยตามพื้นที่ต่างๆ โดยมีการไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอยู่เสมอ วัฒนธรรมการแต่งกาย จะนุ่งผ้าฝ้ายทอมือ ที่ปลูกฝ้าย ย้อมสี ทอ และตัดเย็บ กันเองมาแต่โบราณ ห้อม เป็นราชาแห่งสีน้ำเงินที่คนทุกชนเผ่าของอำเภอแม่แจ่มใช้ย้อมฝ้าย ห้อม เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น และชื้น พื้นที่ของอำเภอแม่แจ่มจึงเหมาะสำหรับการปลูก พอความเจริญในด้านต่าง ๆ ของสังคมเข้ามา วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไปตามกระแสสังคม ห้อมหายากขึ้น และเกือบจะสูญพันธุ์ไป ชาวบ้านนิยมใช้สีห้อมแบบสำเร็จมาแทน ในปี 2540 โดยการนำของ นางแสงอรุณ ไชยรัตน์ ได้ศึกษาข้อมูลการปลูกและย้อมห้อม ฟื้นฟูภูมิปัญญาแบบดั่งเดิม ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง รวบรวมสมาชิก 7 คน และศึกษางานเย็บมือของชนเผ่า และคนพื้นเมือง พัฒนามาเป็นผ้าย้อมห้อม คราม เย็บจักรปักมือชนเผ่า ซึ่งมีการตอบรับจากกระแสสังคมปัจจุบันเป็นอย่างดี ซึ่งสังเกตได้จาก มียอดขายเพิ่มมากขึ้น กลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น และละครทีวีบางเรื่องใช้แต่งกาย ให้ตัวละคร ปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าฝ้ายเปลือกไม้บ้านต่อเรือมีสมาชิก 30 คน และมีเครือข่ายงานเย็บมือชนเผ่า ครอบคลุมพื้นที่ 6 หมู่บ้าน มีแปลงปลูกห้อม 3 ไร่ ปลูกคราม 5 ไร่ และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2548 และมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ทุก ๆ ปี
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
1. ผลิตภัณฑ์มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีการรวบรวมเอางานฝีมือของแต่ละชนเผ่ามารวมไว้ในผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น และสามารถเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ได้
2. มีกระบวนการผลิตที่ครบวงจร ทั้งกระบวนการผลิตเส้นใย การปลูกพืชให้สี การย้อมโดยใช้เตาประหยัดพลังงาน และการซักล้างอย่างเป็นระบบ
3. ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าชุมชน(มผช.) และได้ OTOP ระดับ 4 ดาว
4. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้สารเคมี
5. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ย้อมจากใบห้อม ซึ่งมีที่เดียวในจังหวัดเชียงใหม่
6. แหล่งผลิต เป็นศูนย์การเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เป็นแหล่งให้ความรู้กับลูกค้า
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. ฝ้ายปั่นมือ
2. ฝ้ายโรงงาน
3. สีย้อมจากห้อม และคราม
4. ด้ายเย็บผ้า(ใช้เย็บและปัก)
ขั้นตอนการผลิต
1. กลุ่มรับซื้อดอกฝ้ายจากชาวบ้านและสมาชิก
2. กลุ่มผู้สูงอายุจะรับผลิตเส้นใย
3. ปลูกพืชให้สี(ห้อม,คราม) หมักและก่อหม้อ
4. นำเส้นด้ายที่ปั่นได้ และซื้อจากโรงงาน มาต้มล้างไขมัน เพื่อให้เส้นฝ้ายอิ่มน้ำ บิดพอหมาด แล้วนำไปย้อมในหม้อที่ก่อไว้ จนได้สีที่ต้องการ นำไปล้างจนน้ำใส แล้วตากให้แห้ง นำมา กรอ และห้วนหูกเพื่อเรียงเส้นด้าย และส่งให้สมาชิกทอ
5. กลุ่มออกแบบตัดเย็บ โดยร่างภาพผลิตภัณฑ์ออกมาก่อน แล้วทำรูปแบบขึ้นงานตัวอย่างลอง สวมใส่ ส่งงานที่ตัดเย็บแล้วให้กลุ่มชนเผ่าปักมือ
6. ผู้ควบคุมคุณภาพการผลิตดำเนินการตรวจความเรียบร้อยและรีด เพื่อนำไปวางจำหน่าย
เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
มีกระบวนการผลิตที่ครบวงจร ทั้งกระบวนการผลิตเส้นใย การปลูกพืชให้สี การย้อมโดยใช้เตา ประหยัดพลังงาน และการซักล้างอย่างเป็นระบบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ย้อมจากใบห้อม ซึ่งมีที่เดียวในจังหวัดเชียงใหม่มีการรวบรวมเอางานฝีมือของแต่ละชนเผ่ามารวมไว้ ในผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น และสามารถเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ได้
ลักษณะของการขัดกันของด้ายพุ่งและ ด้ายยืนจะขัดกันแบบธรรมดาที่เรียกว่าลายขัด หรืออาจจะเพิ่มเทคนิคพิเศษเพื่อให้ผ้ามีลวดลาย สีสัน ที่สวยงามแปลกตาเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าแต่เดิมใช้กี่มือหรือที่ชาวบ้านในภาคเหนือเรียกว่า “ กี่ ” หรือ “ หูก ” ซึ่งพัฒนามาจากหลักการเบื้องต้นที่ต้องการให้มีการขัดลายกันระหว่างด้ายเส้นยืน กับด้าย เส้นพุ่งเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดเป็นผืนผ้าขึ้นได้ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการ ทอผ้า ปัจจุบันเรียกเครื่องมือที่ใช้ทอผ้าที่บ้านฝ้ายคำว่า “กี่กระตุก” การทอผ้ายก เป็นกรรมวิธีการทอให้เกิดลวดลายโดยการยกตะกอแยกด้ายเส้นยืน และในบางครั้ง การยกดอกจะมีการเพิ่มด้ายเส้น พุ่งจำนวนสองเส้น หรือมากกว่านั้นเข้าไปในผืนผ้าและยังมีการใช้ เทคนิคการสลับกระสวยคือการทอเส้นด้ายฝ้ายและไหมสลับกันไป
ใส่ความเห็น
Comments 0