หมี่คราบน้ำหนึ่งบ้านดอนกอย
หมี่คราบน้ำหนึ่งบ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร
ประวัติความเป็นมา
ความเป็นมาของหม้อนิล ตาสีนวล กับยายดำได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านดอนกอย ออกไปทำนา ทำไร่ในป่า วันหนึ่งยายดำนั่งพักเหนื่อยตามร่มไม้ในป่าก็เคี้ยวหมากไปด้วย สังเกตเห็นแมลงชนิดหนึ่งชาวบ้านเรียกแมงขาขง มีลักษณะเป็นสีนำเงิน กำลังกัดกินใบไม้อยู่ ยายดำสังเกตเห็นมีน้ำซึมคล้ายยางไม้ออกมาตรงที่แมลงกัด ด้วยความบังเอิญยายดำบ้วนน้ำหมากไปโดนน้ำยางที่ค้างอยู่ตามใบไม้ที่ร่วงตามพื้นดิน พอน้ำหมากโดนกับยางไม้ น้ำหมากก็กลายเป็นสีคราม พอลองอีกก็เป็นเหมือนเดิม เห็นแปลกดีจึงนำต้นไม้ชนิดนั้นกลับไปบ้านด้วย กลับไปบ้านก็นำไปแช่น้ำปรากฏว่าน้ำกลายเป็นสีเขียว ยิ่งแช่นานก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ยายดำก็ลองเอาปูนลงไปผสม แล้วเอามือกวนให้เข้ากันปรากฏว่าเป็นสีคราม และติดมือขึ้นมาด้วยก็เลยลองเอาฝ้ายมาลองจุ่มดู ฝ้ายก็เป็นสีคราม แต่พอโดนน้ำสีกลับจางหายไป ยายดำก็คิดหาวิธีให้สีครามติดกับผ้าฝ้ายตลอดไป ก็ทดลองเอาเปลือกไม้ชนิดต่าง ๆมาต้มเพื่อเอาน้ำ แล้วนำมาผสม เอาน้ำขี้เถ้า (เรียกว่าน้ำดั่ง) มาใส่ลงไปลงในหม้อเดียวกัน กวนให้เข้ากันดีแล้วก็เอาฝ้ายลงแช่ ปรากฏว่าสีครามจะอยู่ติดกับผ้าไม่จางหาย โดนน้ำก็ไม่จางหาย จึงเรียกหม้อที่ก่อว่า “หม้อนิล” และต้นไม้ที่เอาจากป่า เพื่อเอาใบมาแช่กับน้ำนั้น เนื่องจากได้น้ำเป็นสีคราม เลยตั้งชื่อว่า “ต้นคราม”
หลายปีต่อมายายดำยายดำได้ลูกสะใภ้คนหนึ่ง ชื่อว่านางพิมพิ์ แต่ยายดำก็ไม่ชอบ สะใภ้คนนี้นักวันหนึ่งนางพิมพิ์นั่งต่ำหูก(ทอผ้า) อยู่เห็นนกอีแอ่นบินเป็นฝูงอยู่บนท้องฟ้า สังเกตเห็น เหมือนลายผ้าที่ตนเองกำลังทออยู่จึงตั้งลายผ้าซิ่นที่กำลังทอว่า “ลายนกอีแอ่น” พอทอเสร็จก็เอาไปให้ยายดำยายดำเห็นแล้วก็ถูกใจลายนี้มาก หลังจากนั้นก็ทำให้ยายดำเริ่มเอ็นดูนางพิมพิ์ผู้เป็นสะใภ้
ต่อมาเมื่อนางพิมพิ์อายุมากขึ้นก็ได้กำชับลูกหลานให้อนุรักษ์ลายผ้านี้ไว้เพราะเป็นอนุสรณ์ทีนางพิมพิ์ที่ทำให้ยายดำผู้เป็นแม่ย่ารักตนขึ้นมาได้ ซึ่งลูกหลานก็ยังอนุรักษ์ไว้ และเปลี่ยนชื่อเป็น “ลายนกนางอ่น”
จวบจนปัจจุบัน เพื่อเป็นการสืบสาน และอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ลูกหลานบ้านดอนกอยยังคงมีการทอผ้าใช้กันอยู่ จากการที่ทอใช้กันในครัวเรือน ก็มีการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการลงหุ้น ออมเงิน โดยจัดตั้งกลุ่มเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2546 โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพรรณนานิคม สำนักงานเกษตรอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบลสว่าง ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางการบริหารจัดการกลุ่ม และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ริมฝั่งลำน้ำอูน บ้านดอนกอย มีลักษณะเป็นผา และมีดินโคลนสีแดงซึ่งในอดีตชาวบ้านจะนำผ้าขาวไปย้อมกับโคลนเพื่อถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ผามอดินแดง” ซึ่งอำเภอพรรณนานิคมจะมีที่บ้านดอนกอยแห่งเดียว
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทอด้วยมือ ทำจากผ้าฝ้าย กรรมวิธีการผลิตใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ มีสมุนไพรในตัว เป็นการย้อมเย็น สวมใส่สบาย ได้หลายโอกาส ผ้าครามจะมีสีสัน และกลิ่นเฉพาะ ใส่อากาศร้อนก็รู้สึกสบายไม่ร้อน ใส่ตอนอากาศหนาวก็จะรู้สึกอบอุ่น
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
- เส้นฝ้าย
- ใบคราม
- น้ำดั่ง
ขั้นตอนการผลิต
ขั้นตอนการทำเนื้อคราม
- นำใบครามที่แก่มามัดแล้วนำไปแช่ในน้ำ ประมาณ 10 ชม. หรือ 1 คืน แล้วกลับอีกด้านลงแช่ในน้ำอีก 1 คืน
- นำใบครามออกจากกถังแช่น้ำ และผสมปูนแดง โดยตีปูนแดงให้ละลายก่อน แล้วผสมลงในน้ำที่ได้จากการแช่ใบคราม ในอัตราส่วน น้ำ 5 ลิตร ต่อปูนแดง 200 กรัม
- ใช้ไม้ส้อมตีน้ำครามจนขึ้นฟอง ปล่อยทิ้งไว้ 1 คืน
- ใช้ผ้ากรองน้ำครามจะได้ตะกอนที่อยู่ก้นถัง เรียกว่า “เนื้อคราม” ทิ้งเนื้อครามไว้ในผ้ากรอง อีก 1 คืน ก็นำเนื้อครามไปใช้ได้
ขั้นตอนการทำน้ำเปลือกไม้
ส่วนผสม
- เปลือกมะม่วงกอสอ
- เปลือกต้นเพกา (หมากลิ้นฟ้า)
- เปลือกต้นสมอ (หมากส้มมอ)
- เปลือกต้นเหมือดแฉ
นำส่วนผสมทั้งหมดต้มประมาณ 30 นาที จนออกสีที่มีลักษณะคล้ายสีชา
ขั้นตอนการทำน้ำดั่ง
ส่วนผสม
- เหง้ากล้วย
- กาบมะพร้าว
- ต้นมะละกอ
- กาบงิ้ว
- เครือจาน
นำส่วนผสมทั้งหมดมาตากให้แห้ง แล้วนำมาเผาเพื่อเอาเถ้าที่เหลือจากการเผา เถ้าที่ได้เรียกว่า “ดั่ง” นำน้ำผสมกับดั่งใช้ไม้ตำดั่งให้แน่นแล้วค่อยๆเทน้ำผสมลงไปในถัง ข้างล่างถังจะเจาะเป็นรูโดยใช้เม็ดฝ้ายเป็นตัวกรอง
การทำน้ำครามหรือการก่อหม้อ
นำส่วนผสมทั้งหมดเทลงไปในหม้อดิน ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้
- น้ำต้มเปลือกไม้ที่เย็นแล้ว จำนวน 3 ขัน
- น้ำดั่ง 2 ขัน
- เนื้อคราม(น้ำเบือก) ประมาณ 1 กิโลกรัม
ในการก่อหม้อจะต้องใช้มือกวน เพื่อให้เข้ากัน และต้องมีการชิมรสชาติ ว่ามีรสชาติดีหรือยัง ซึ่งเมื่อปรุงให้ได้รสชาติตามที่ต้องการแล้วก็จะได้น้ำคราม และจะปล่อยทิ้งไวนาน 7 วันโดยจะมีการโจกหม้อ ในตอนเช้าวันละ 1 ครั้งซึ่งน้ำครามที่สามารถนำไปย้อมครามได้จะต้องขึ้นฟอง น้ำครามจะมีลักษณะสีเขียวถือว่าหม้อมาแล้ว สามารถนำผ้าลงมาทำการย้อมได้
ในการย้อมผ้าในแต่ละครั้ง ก่อนที่จะนำผ้าลงไปย้อม ต้องนำผ้าลงแช่ในน้ำธรรมดาเพื่อให้ผ้าเปียกน้ำก่อนแล้วใช้ไม้ทุบผ้าเพื่อให้เนื้อผ้าแตกตัวกัน เพื่อให้สีแทรกเข้ในเนื้อผ้าทุก ๆ เส้น
ขั้นตอนการทอผ้า
- นำฝ้ายครามที่ผ่านการย้อมครามเรียบร้อยแล้วมาเข้าสู่ขั้นตอนการกวักฝ้ายเพื่อให้ฝ้ายเรียงกันเป็นเส้นใน กะเบาะ เพื่อให้ง่ายในการปั่น หลังจากนั้นปั่นด้ายจากกะเบาะสู่หลอดด้าย
- นำหลอดด้ายใส่ในกระสวยแล้วนำเข้ากี่ เพื่อทำการทอผ้าโดยใช้แรงงานคน
ราคาผลิตภัณฑ์
1. ผ้าย้อมครามเอนกประสงค์ ราคา 350 – 1,000 บาท/ชิ้น
2. ผ้ามัดหมี่ ราคา 450 – 800 บาท/เมตร
3. ผ้าสไบ ราคา 150 – 250 บาท/ชิ้น
4. ผ้าครามลายขัดพื้นฐาน ราคา 250 – 300 บาท/ชิ้น
5. ผ้าเช็ดหน้า ราคา 25 บาท/ผืน
6. กระเป๋า ราคา 100-250 บาท/ใบ
เทคนิคเคล็ดลับในการผลิต
- ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ
- มีความตั้งในการผลิตสินค้า
- ผลิตภัณฑ์ที่ได้สีไม่ตก
- ย้อมจากวัตถุดิบจากธรรมชาติล้วนๆ
- ใช้น้ำครามที่มีคุณภาพ
ใส่ความเห็น
Comments 0