ผ้ามัดหมี่ย้อมครามบ้านดงยาง
ผ้ามัดหมี่ย้อมครามบ้านดงยาง – พรพิบูลย์ จังหวัดอุดรธานี
ประวัติความเป็นมา
เดิมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดงยาง หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านแดง จัดตั้งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2525 มีสมาชกเริ่มจัดตั้ง 27 คน ต่อมาประชากรเพิ่มขึ้น การปกครอง การดูแลเอาใจใส่ของผู้นำหมู่บ้านดูแลไม่ทั่วถึงจึงได้แยกหมู่บ้านพรพิบูลย์ออกจากบ้านดงยาง เป็นหมู่บ้านพรพิบูลย์ หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านแดง และปัจจุบัน มีสมาชิกกลุ่มทอผ้า เพิ่มขึ้นเป็น จำนวน 75 คน มีที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่ที่ “ศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ย้อมคราม” หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านแดง อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา อาชีพเสริมเพิ่มรายได้ คือ หัตถกรรมสิ่งทอจากผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมครามธรรมชาติ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษหลายชั่วคน
ในปี 2541 หน่วยงานภาคราชการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลย์รักษ์ สำนักงานเกษตรอำเภอพิบูลย์รักษ์ ได้เข้าไปแนะนำในเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม กลุ่มจึงได้มีการระดมหุ้นเพื่อเป็นกองทนในการบริหารจัดการกลุ่ม หุ้นละ 100 บาท โดยดำเนินการทอผ้าที่ใต้ถุนบ้านตนเอง เนื่องจากยังไม่มีศูนย์รวม หรือที่ทำการเป็นของกลุ่ม แต่จะมีกรรมการฝ่ายผลิต และฝ่ายควบคุมคุณภาพ ออกติดตามและให้คำแนะนำตลอดเวลา เพื่อให้ได้ผ้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และในปี 2542 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นทุนในการดำเนินงานอีก จำนวน 100,000 บาท ซึ่งในช่วงนี้เอง ทำให้สมาชิกกลุ่มทุกคนได้มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น การผลิตผ้าทอก็เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ผ้าทอไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ก็ยังจำหน่ายให้กับพ่อค้าชาวหนองคาย และนาข่าเหมือนเดิม
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
1. ใช้ต้นครามหมักไม่ทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
2. ผ้าย้อมครามไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
3. ผ้าย้อมครามไม่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้เพราะครามเป็นสมุนไพรไทยรักษาบาดแผล ได้ผลดี
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. ฝ้ายสำเร็จหลอดใหญ่
2. โฮงค้นหมี่
3. โฮงมัดหมี่ (มัดโดยเชือกฟาง)
4. กง (สำหรับถ่างเส้นด้าย)
5. หลา (สำหรับปั่นหลอดด้าย)
6. กี่ (สำหรับทอผ้า)
7. ฟืม
8. กระสวย
ขั้นตอนการผลิต
ขั้นตอนที่ 1 การปลูกคราม
1.1 ฤดูการปลูกคราม ฤดูที่เหมาะสมในการปลูกครามควรเป็นต้นฤดูฝน คือ เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน
1.2 การเตรียมดิน ควรมีการไถดะ และไถแปร เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุย
1.3 วิธีการปลูก
– วิธีหว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์คราม ประมาณ 1-2 กิโลกรัม ต่อ ไร่
– วิธีโรยเป็นแถว ใช้เมล็ดพันธุ์คราม ประมาณ 1 ถึง 1.5 กิโลกรัม ต่อ ไร่
ขั้นตอนที่ 2 การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บเกี่ยวต้นครามเมื่อมีอายุ 3 เดือน โดยการตัดลำต้นให้เหลือแต่ตอไว้ประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้แตกกิ่งใหม่ ต้นครามจะเก็บเกี่ยวได้ 2 ครั้งต่อปี ในปีต่อไปพอถึงช่วงฤดูฝนต้นเดิมก็จะแตกใบและเจริญเติบโตต่อไป
ขั้นตอนที่ 3 การแช่คราม
– ตัดต้นครามเหนือพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วทำเป็นมัด ๆ มัดละขนาด 1 กำมือ
– นำมัดครามจำนวนประมาณ 24 กิโลกรัม มาแช่น้ำสะอาดในโอ่งมังกร โดยใช้น้ำประมาณ 60ลิตร
– แช่น้ำประมาณ 2-3 คืน ถ้าต้องการให้ได้เนื้อคราม จำนวนมาก ๆ ควรนำมัดครามมัดใหม่มาแช่น้ำซ้ำอีก
ขั้นตอนที่ 4 การทำเนื้อคราม
– เก็บมัดครามที่แช่น้ำได้ 2-3 คืน ออกจากโอ่งมังกร
– นำปูนขาว (ปูนกินหมาก) ประมาณ1 กิโลกรัม ใส่ลงในน้ำครามที่อยู่ในโอ่งมังกร หรือหม้อนิล โดยให้ใส่ปูนขาวลงที่ละน้อย
– ใช้กวักกระแทกให้เกิดฟองน้ำ จนกลายเป็นฟองน้ำสีครามซึ่งถือว่าใช้ได้แล้ว
– ปล่อยทิ้งไว้ให้เนื้อครามตกตะกอน
– รินน้ำปูนใสออกจากโอ่งมังกร ให้เหลือไว้แต่เนื้อคราม
– ทำการกรองเนื้อคราม โดยใช้ผ้าวางพาดปากตะกร้า แล้วเทเนื้อครามออกจากโอ่งมังกรใส่ลงในผ้าที่พาดไว้บนปากตะกร้า เพื่อให้น้ำปูนใสไหลออกให้หมด
– นำเนื้อครามที่กรองแล้วไปเก็บไว้ในตุ่ม หรือถังพลาสติก และควรใส่น้ำปูนใส หรือน้ำโดยหล่อเลี้ยงไว้
– สามารถเก็บเนื้อครามไว้ใช้ได้ 2-3ปี
ขั้นตอนที่ 5 การเก็บเตรียมน้ำด่าง
– นำกาบกล้วยแห้ง หรือต้นมะละกอแห้ง หรือเปลือกนุ่นแห้ง หรือเปลือกมะขามแห้งมาเผาเพื่อเอาขี้เถ้า
– ใส่ขี้เถ้าประมาณ 2-3 กิโลกรัม ลงในถังน้ำที่เจาะก้นถังเป็นรูเล็ก ๆ ประมาณ 5-6 รู แล้ววางไว้บนภาชนะที่สามารถเก็บน้ำได้ จากนั้นให้เติมน้ำประมาณ 2 ลิตร น้ำจะไหลซึมออกจากรูลงในภาชนะที่รองรับไว้ น้ำที่ได้นี้เรียกว่า “น้ำด่าง”
ขั้นตอนที่ 6 การก่อหม้อคราม
– นำน้ำด่างประมาณ 1-2 ลิตร มาผสมกับเนื้อครามประมาณ 1-2 ขีด และผสมกับปูนขาว 1 ช้อนกาแฟ
– ควรเติมน้ำด่าง 4-5 วัน ๆ ละ 1-2 ลิตร ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเติมน้ำด่างควรเป็นช่วงเย็น
– ถ้าเกิดหม้อคราม หรือหม้อขึ้น เมื่อใช้มือสัมผัสจะเกิดเป็นฟอง หรือใช้ผ้าฝ้ายจุ่มผ้าจะเป็นสีเหลือง ต่อมาจะกลายเป็นสีคราม หรือสีนิล ซึ่งแสดงว่าใช้ได้แล้ว
ขั้นตอนที่ 7 การย้อมคราม
– นำหัวหมี่ที่มัดแล้ว ไปแช่น้ำให้เปียกแล้วบิดน้ำออกให้พอหมาด ๆ จากนั้นเอาลงย้อมใน หม้อครามโดยใช้มือขยำให้น้ำครามกินเนื้อหัวหมี่จนทั่ว ควรย้อมเช้า เย็น ไปจนกว่าหัวหมี่ จะสีสวย (ประมาณ 5-6 ครั้ง)
– เสร็จแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง
– นำหัวหมี่ไปล้างให้สะอาดจนน้ำไม่มีสี แล้วตากแดดให้แห้ง
เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
ขั้นตอนการเตรียมด้าย
นำด้าย (ฝ้ายซึ่งต่อไปเรียกว่าหมี่) เป็นหลอดใหญ่ มาทำการใส่อุปกรณ์ที่เรียกว่า โฮงหมี่ เพื่อจัดระเบียบด้าย
วิธีมัดหมี่
นำด้ายที่ใส่โฮงค้นหมี่ มาใส่โฮงมัดหมี่ เพื่อทำ-ลายผ้า ทำการมัดหมี่โดยนำดินสอ ปากกา มาขีดลายบนหมี่ ที่ใส่โฮงมัดหมี่ โดยขีดเป็นลายตามต้องการ แล้วทำการมัดหมี่โดยใช้เชือกฟาง มัดลายหมี่ มัดให้แน่นหลาย ๆ รอบในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีครามมัดไว้ด้วยเชือกฟาง ส่วนที่ปล่อยว่างต้องการให้ติดสีย้อมคราม ดังนั้นหมี่ที่ย้อมครามแล้วจะเป็นลายสีน้ำเงินสลับขาว หากจะเติมสีโดยใช้สีเคมีแต้มที่ลายขาว ผ้าก็จะออกมามีสีที่สวยงาม (กลุ่ม ฯ ได้มีการพัฒนาลายผ้า ให้หลากหลาย โดยได้ทำตัวอย่างลายผ้าไว้ให้เลือกกว่า 50 ลาย ) ทั้งผ้าสี และผ้าพื้นน้ำเงิน-ขาว ซึ่งเรียกว่า ผ้าขาว-ดำ
นำด้ายที่มัดหมี่ มาย้อมคราม
โดยเตรียมน้ำครามตามขั้นตอนที่กล่าวไว้แล้ว โดยน้ำหัวหมี่ที่มัดแล้ว มาแช่ในน้ำสะอาด ปั้นหมาด ๆ แล้วนำไปแช่ในหม้อคราม ใช้มือขยี้นวดให้น้ำครามกินหัวหมี่จนทั่ว ควรย้อมเช้า เย็น ไปจนกว่าหัวหมี่จะสีสวย (ประมาณ 5-6 ครั้ง) แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง นำหัวหมี่ไปล้างให้สะอาดจนน้ำไม่มีสี แล้วตากแดดให้แห้ง
วิธีแก้หมี่
จะได้หมี่ที่มีสีน้ำเงิน ส่วนที่เชือกฟางมัดอยู่ นำมีดมากรีดเชือกฟางออก ตรงที่มัดเชือกฟางจะเห็นหมี่เป็นสีขาว ดังนั้นหมี่จะเป็นสีน้ำเงิน สลับขาว ในส่วนของสีขาว ถ้านำไปทอจะได้ผ้าเป็นสีน้ำเงิน-ขาว ปัจจุบันมีการนำสีสกรีนเสื้อยืด มาแต้มลายผ้า ทำให้เกิดสีสดใส สวยงาม และโดดเด่น
นำด้ายมาปั่นหลอด โดยใช้กง สำหรับถ่างเส้นด้าย และใช้หลา สำหรับปั่นหลอดด้าย
ขั้นตอนการทอ โดยการใช้กี่สำหรับทอผ้า โดยขึงด้ายเครือหูก (ทางยาว) เข้าใส่ฟืม เพื่อจะได้นำหลอดด้ายใส่ลงกระสวย แล้วสอด้าย(ทางขวาง) จากนั้นเริ่มการทอจากด้ายเส้นแรกทางขวางไปเรื่อย ๆ จะได้เป็นผืน ที่มีลวดลายสวยงาม
ใส่ความเห็น
Comments 0