หน้ากากผีตาโขน
หน้ากากผีตาโขน จังหวัดเลย
ประวัติความเป็นมา
ผีตาโขนมีที่มาจากประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆปี ในช่วง เดือนเจ็ด ถึงเดือนแปด (ตามจันทรคติ) เป็นประเพณีที่รวมเอาความเชื่อและศรัทธาของชาวอีสานมารวมกันไว้ คือ งานประเพณีบุญพระเวส (บุญมหาชาติชาวด่านซ้ายเรียกบุญหลวง) บุญบั้งไฟ(ชาวอีสานทั่วไปจะจัดงานบุญพระเวส ในเดือน สี่ และบุญบั้งไฟ ในเดือน หก) ซึ่งในประเพณีดังกล่าวจะมีลักษณะที่แสดงออกถึงความสนุกสนานบรรดาผีตาโขน ที่ตามเสด็จของขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ซึ่งบรรดาผู้เข้าร่วมจะสวมหน้ากาก ทำจากหวดนึ่งข้าวและทางมะพร้าวตัดเป็นรูปหน้าและประกอบจมูกยื่นยาว ตัดรูปตาและเขียนลวดลายตามความถนัดของช่างแต่ละคน เพื่อสวมบนศีรษะและผู้ที่สวมหน้ากากจะสวมชุดที่ยาวรุ่มร่าม ขาดรุ่งริ่ง คล้ายผี เพื่อให้เกิดความน่ากลัว แต่ปัจจุบันรูปแบบได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเน้นที่ลวดลายความสวยงาม สามารถนำไปเก็บหรือประดับตกแต่งได้ (เดิมหน้ากากผีตาโขนเมื่อสวมใส่เสร็จพิธีงานบุญแล้วจะต้องทิ้งลงแม่น้ำเท่านั้น ถ้าผู้ใดเก็บไว้จะมีเหตุที่ไม่ดีเกิดขึ้น) โดยในตำนานที่เล่าขาน คำว่า “ผีตาโขน” มีที่มาจากหลายลักษณะ คือ บางกลุ่มก็บอกว่าผีตาโขน มาจาก คำว่า ผีตามคน(ตามขบวนพระเวสสันดร) และเพี้ยน เป็นผีตาโขน ประเด็นที่ 2 คือผีที่ใส่หน้ากากคล้ายสวมหัวโขน แต่ก็มีบางกลุ่มที่เล่าว่าที่มาของผีตาโขน เดิม เรียก ม้าตาโขน เพราะขบวนที่ตามเสด็จส่งพระเวสสันดร จะขี่ม้าซึ่งตกแต่งลวดลายบนใบหน้า คล้ายการเขียนรูปหน้ากากในปัจจุบัน
เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
เป็นงานศิลปะที่ทำด้วยมือ และนำเอกลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น ทั้งงานประเพณีผีตาโขน และสภาพภูมิอากาศที่เย็นสบายและมีความหนาวไปนำเสนอ เหมาะเป็นของที่ระลึก ของฝาก แก่คนทั่วไปและเป็นการส่งเสริมรายได้แก่สมาชิกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่ใช้ความรู้ ในด้านหัตถกรรมการจักสาน เพิ่มพูนรายได้ในครอบครัว
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. ไม้นุ่น
2. คัตเตอร์
3. พู่กัน
4. สีน้ำ สีน้ำมัน
5. แลกเกอร์
6. กระดาษทราย
ขั้นตอนการผลิต
1. นำไม้นุ่นที่ตากแห้งแล้วมาตัดและเหลาให้ขึ้นรูปผีตาโขนครึ่งตัว (เริ่มจากรูปหัว ตัว และหน้า)
2. ขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบ
3. รองพื้นด้วยสีขาว นำไปผึ่งให้แห้ง (ประมาณ 30 นาที)
4. ระบายสีเป็นรูปหน้ากากผีตาโขน (ตามความถนัด) ถ้าเป็นสีน้ำต้องเคลือบด้วยแลกเกอร์ แต่ถ้าเป็นสีน้ำมันไม่ต้องเคลือบอีก
ใส่ความเห็น
Comments 0