ไข่เค็มสมุนไพรใบเตย
ไข่เค็มสมุนไพรใบเตย จังหวัดลพบุรี
ผลิตภัณฑ์จากไข่เค็มสมุนไพรใบเตย
ไข่เค็มเป็นภูมิปัญญาของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ซึ่งคนสมัยก่อนทำไข่เค็มเพื่อเก็บไว้บริโภคในยามที่ขาดแคน หรือเพื่อยืดอายุการเก็บของไข่ ที่เหลือจากการบริโภคสด และถือเป็นภูมิปัญญาที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาช้านาน ต่อมาไข่เค็มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น มีความหลากหลาย ทั้งวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสม มีคุณประโยชนที่หลากหลาย มีรสชาติที่แตกต่างกัน ปัจจุบันมีการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการค้า มีการไปจำหน่ายในรูปของไข่เค็มทั้งที่เป็นไข่สด และไข่ที่ต้มแล้วสามารถนำไปบริโภคได้เลย หรืออาจนำไปทำเป็นไส้ขนมต่าง ๆ เช่น ขนมเปี๊ยะ ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมบ๊ะจ่าง ตลอดจนนำใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารต่างๆ ได้อีกด้วย
ในเขตพื้นที่ตำบลโคกสำโรง ผู้ริเริ่มทำไข่เค็มคนแรก คือ คุณยายสำลี ในสมัยก่อนวิธีทำจะใช้ดินเหนียวผสมเกลือแล้วนำมาพอกไข่ทิ้งไว้จนเค็มแล้วจึงนำไปต้ม หากไม่ต้องการรับประทานก็ยังไม่ต้องล้างดินออก แต่ไข่อาจมีรสชาติเค็มกว่าเดิมบ้างเล็กน้อย เมื่อปี พ.ศ. 2544 กลุ่มสตรีในเขตเทศบาลตำบลโคกสำโรง ได้รวมตัวกัน จัดตั้งเป็นกลุ่มสตรีแม่บ้านโคกสำโรง มีสมาชิก 13 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการใช้เวลาว่าง ให้เกิดประโยชน์ และต้องการมีอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก จึงคิดที่จะผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายโดย และได้ระดมเงินทุนกัน ครั้งแรก เป็นเงิน 15,600 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันหกร้อยบาทถ้วน) ซึ่งสมาชิกได้ตัดสินใจที่จะทำไข่เค็ม เพราะเห็นว่าในตลาดไข่เป็ดมีราคาถูกและมีเป็นจำนวนมาก
แนวความคิดซึ่งได้มาในตัวผลิตภัณฑ์ จากสมัยก่อนที่คุณยายสำลีได้ทำไข่เค็มโดยใช้ดินเหนียวพอก แต่คุณระวิวรรณ ยุ้ยจำเริญทรัพย์ ประธานกลุ่ม ฯ กลับเห็นว่าจังหวัดลพบุรี เป็นแหล่งผลิตดินสอพองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้ดินสอพองมีราคาถูก ทั้งยังเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลพบุรีอีกด้วย จึงได้แนวคิดดังกล่าวนำมาผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP “ ไข่เค็มดินสอพอง”
ต่อมากระแสการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชนได้รับความนิยมสูง กลุ่มสตรีแม่บ้านโคกสำโรง จึงได้มีความคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย โดยพัฒนา ไข่เค็มดินสอพองสูตรดั้งเดิมเป็นผลิตภัณฑ์ไข่เค็มชนิดต่าง ๆ ประกอบด้วย
1. ไข่เค็มดินสอพองผสมใบเตย
2. ไข่เค็มสมุนไพรใบมะกรูด
3. ไข่เค็มดองน้ำผึ้ง
ไข่เค็มแต่ละชนิดดังกล่าวข้างต้นจะมีรสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันออกไป ถ้าเป็นไข่เค็มที่ผสมใบเตย ไข่จะมีกลิ่นหอมของใบเตย ไข่เค็มที่มีส่วนผสมของสมุนไพรใบมะกรูด จะมีกลิ่นหอมของใบมะกรูด ส่วนไข่เค็มที่ดองน้ำผึ้งนอกจากจะมีกลิ่นหอมของน้ำผึ้งแล้ว ไข่จะมีรสชาติไม่เค็มจัด เป็นที่นิยมของตลาดที่กรุงเทพมหานคร
ไข่เค็มใบเตย มีเทคนิคกระบวนการผลิตที่ไม่เหมือนใคร ไข่แดงจะมีสีแดง มัน มีกลิ่นและรสชาติ ที่แตกต่างกัน ตามส่วนประกอบที่ใช้พอกไข่ และมีรสชาติไม่เค็มจัด
ฝีมือ แรงงานที่ใช้เป็นคนในชุมชนที่แท้จริง ถ่ายทอดภูมปัญญาจากคนรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้ คนในชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติพี่น้องรวมกลุ่มกันขึ้นและขายในชุมชน เขตเทศบาลตำบลโคกสำโรง เป็นพื้นที่ที่มีความเจริญ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้าง การผลิตไข่เค็มกลุ่มสามารถหาตลาดเพื่อวางสินค้าได้ง่าย นอกจากนั้นกลุ่มยังหาตลาดจากภายนอกพื้นที่ได้มาก เพราะญาติ ๆ และเพื่อนบ้าน ที่อยู่นอกพื้นที่ได้อาศัยการบอกแบบปากต่อปาก ทำให้สินค้าเป็นที่แพร่หลายในชุมชนแบบสัมพันธ์ชุมชน
วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต
วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต
1. ไข่เป็ดสด 5,000 ฟอง/วัน
2. ใบเตย 2 กิโลกรัม
3. ดินสอพอง 25 กิโลกรัม
4. เกลือไอโอดีน 8 กิโลกรัมน้ำสะอาด 10 กิโลกรัม
5. น้ำสะอาด 10 กิโลกรัม
6.แกลบดำ ขี้เถ้าแกลบ 3 กิโลกรัม
ขั้นตอนในการทำ
1. นำดินสอพอง เกลือ ใบเตยปั่นละเอียด มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำ สะอาดให้พอดี จนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน ให้มีความเข้มข้นที่พอเหมาะ ไม่เหลวหรือข้นมากเกินไป
2. นำไข่เป็ดคลุกเคล้าในส่วนผสม
3. นำไข่ที่คลุกเคล้าในส่วนผสมแล้ว นำมาคลุกขี้เถ้าแกลบเผา เพื่อป้องกัน ไม่ให้ไข่ติดกัน และป้องกันการระเหยของน้ำ
4. นำไข่ใส่ถุงพลาสติกและบรรจุกล่อง
5. การรับประทานไข่เค็ม หลังจากบรรจุกล่องแล้ว สามารถนำมามาบริโภคได้หลายรูปแบบตามอายุของไข่เค็ม ซึ่งเริ่มนับจากวันบรรจุกล่อง ดังนี้
1-5 วัน ต้มไข่หวาน
7-10 วัน ทอดไข่ดาว
10-20 วัน ต้มให้สุก
ใส่ความเห็น
Comments 0