ปลาสลิดทอดกรอบ
ปลาสลิดทอดกรอบ จังหวัดสมุทรปราการ
ปลาสลิดหรือปลาใบไม้เป็นปลาน้ำจืด มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่ตัวโต กว่าเป็นปลาพื้นบ้านของประเทศไทย มีแหล่งกำเนิดอยู่ในลุ่มน้ำภาคกลาง มีชื่อสามัญว่า Sepat siam หรือ Snake Skim Gourami นิยมเลี้ยงกันมากบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ส่วนที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ นั้นเป็นพันธ์ปลาที่ส่งจากเมืองไทย เมื่อประมาณ 90 กว่าปีที่ผ่านมา และประเทศเหล่านี้ได้เรียกปลาสลิดของไทยว่า “Sepat Siam”(เซปัต เซียม) ซึ่งคำว่า เซปัต เป็นภาษาแขก แปลว่า ใบไม้ และคำว่า เซียม แปลว่า สยาม สำหรับปลาสลิดที่มีชื่อสียงเป็นที่รู้จักกันว่ามีรสชาติดี หอม เนื้ออร่อย คือ ปลาสลิดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ดังคำขวัญจังหวัดฯ ว่า “ป้อมยุทธนาวี พระเจดีย์กลางน้ำ ฟาร์มจระเข้ใหญ่ งามวิไลเมืองโบราณ สงกรานต์พระประแดง ปลาสลิดแห้งรสดี ประเพณีรับบัว ครบถ้วนทั่วอุตสาหกรรม”
ประมาณปี พ.ศ.2539 นางภาวิณี ทองมาก อาชีพแม่บ้าน ได้นั่งคุยกับคุณแม่หน้าบ้าน แล้วมีแม่ค้าหาบปลาสลิดมาขาย คุณภาวิณี เกิดแนวความคิดว่า”ทำไมไม่ทำปลาสลิดให้ดี” เพราะอำเภอบางบ่อมีชื่อเสียงเรื่องปลาสลิด ถึงแม้นตัวเองจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำปลาสลิดเลย ก็น่าจะมีหน่วยงานที่สามารถช่วยตนเองได้ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงหาข้อมูลโดยการโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้พูดคุยกับ อ.มนูญ จันทร์ประเสริฐ ได้ให้คำแนะนำทั้งในเรื่องการผลิต การบรรจุภัณฑ์ การตลาด ให้ด้วย และแนะนำให้สมัครเป็นสมาชิกของชมรมส่งเสริมสุขภาพไทย โดยตัว อ.มนูญ เป็นประธานชมรม ถึงแม้จะได้ความรู้ในการผลิตมาแล้ว แต่ก็เป็นแค่พื้นฐานคุณภาวิณี จึงเริ่มลองผิดลองถูก เพื่อจะให้ได้ปลาสลิดทอดกรอบที่มีความกรอบจริงๆ สามารกเก็บรักษาได้นาน รสชาติถูกใจผู้บริโภค เสียวัตถุดิบในการทำไปเยอะ แต่ก็ไม่ท้อ ลองผลิตจนได้ปลาสลิดทอดกรอบที่มีความกรอบ รสชาติกลมกล่อม และสามารถเก็บรักษาได้นาน จึงผลิตออกขาย
ครั้งแรกได้ตลาดจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้พื้นที่ขายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาสีลม ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่จำหน่าย คือ ปลาสลิดหอม,ปลาสลิดหอมทอดกรอบ และน้ำพริกปลาสลิด ปรากฏว่า ขายดีมาก และยังได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ออกงานแสดงสินค้า OTOP TO THE WORLD(งานอาหารโลก) ในปี 2543 จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ยอดจำหน่ายก็ดีมากเช่นกันเนื่องจากคู่แข่งทางการตลาดยังน้อย และได้ชื่อเสียงจากปลาสลิดบางบ่อ เป็นการการันตี ในงานนี้เองได้มีโอกาสขายให้ชาวต่างชาติ(อเมริกา)ได้มาซื้อสินค้าที่งาน และยังมีสั่งซื้อปลาสลิดทอดกรอบอีก จำนวน 50,000 บาท จากผลตอบรับทางการตลาดที่ดีเยี่ยมทำให้คุณภาวิณีที่ครั้งแรกไม่ได้คิดที่จะทำเป็นอาชีพจริงจัง ได้หันกลับมาคิดทบทวนใหม่ แล้วเริ่มหาข้อมูลโดยเข้าไปติดต่อขอความรู้ในเรื่องการส่งออกตลาดต่างประเทศจากกรมส่งเสริมการส่งออกและกระทรวงพาณิชย์ ที่คิดจะเปลี่ยนเป็นต้องส่งออกต่างประเทศ ก็เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยไม่ชอบรับประทานปลาสลิดที่ใส่กล่อง ชอบซื้อรับประทานเป็นตัว และเริ่มเห็นช่องทางจากงานอาหารโลก เมื่อได้ข้อมูลทุกอย่างพร้อม ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มแรงงานผลิต คุณภาวิณีจึงรวบรวมคนในหมู่บ้านที่ว่างงานและบางคนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก รวมตัวกันจัดเป็น “กลุ่มแปรรูปปลาสลิดหอมบางบ่อ” ในปี พ.ศ.2540 สมาชิกเริ่มแรก จำนวน 15 คน โดยมาการแบ่งงานกันทำตามความถนัดของบุคคล ที่ถนัดเลี้ยงปลาสลิดก็เลี้ยงแล้วนำมาส่งที่กลุ่ม บางคนถนัดผลิต บางคนถนัดขาย เมื่อผลิตมากขึ้นก็มีปัญหาว่า หากจะนำออกขายสู่ตลาดสากลนั้น ปลาสลิดเป็นปลาที่เก็บรักษายาก ทางกลุ่มจึงนำมาดัดแปลงและแปรรูป โดยนำภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยโดยตรงมาใช้ พร้อมปรับปรุงกรรมวิธีการผลิต และรสชาติ โดยเน้นความเป็นอาหารไทย และให้เหมาะสมกับรสนิยมของผู้บริโภคทั้งตลาดในและต่างประเทศ
ปี พ.ศ.2545 กลุ่มแปรรูปปลาสลิดหอมบางบ่อ ก็ได้ไปลงทะเบียนและคัดสรรสินค้าได้ในระดับ 5 ดาว ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ปลาสลิดแปรรูปทั้งหมดของกลุ่มประกอบด้วย ปลาสลิดทอดกรอบ น้ำพริกปลาสลิดสูตรต่างๆ ผัดพริกขิงปลาสลิด ปั้นสิบไส้ปลาสลิด และปลาสลิดทอดกรอบ 3 รส ผลตอบรับทางการตลาดดีมากเพราะเป็นความแปลกใหม่ของตลาดปลาสลิด เป็นผลิตภัณฑ์ที่รับประทานง่าย และประกอบกับชื่อเสียงในเรื่องปลาสลิดบางบ่อก็โด่งดังอย่างที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ตลาดกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศและยังสอดคลองกับนโยบาย”หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ที่ส่งเสริมให้อาหารไทยแพร่หลายออกสู่ตลาดโลกอีกด้วย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาสลิดได้ขยายตลาดต่างประเทศจากประเทศสหรัฐอเมริกา ยังมีประเทศจีน กัมพูชา เวียดนาม อังกฤษ และออสเตรเลีย
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
1. นำปลาสลิดหอมบางบ่อ ซึ่งเป็นปลาที่มีคุณภาพ และมีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศ มีเนื้อที่หอม อร่อย ปราศจากสารพิษ มาแปรรูปทอดกรอบ
2. เก็บรักษาได้นานถึง 12 เดือน โดยไม่หื่นน้ำมัน
วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้
1. ปลาสลิดเค็มตากแห้ง 2 แดด
2. น้ำมันพืช
3. ลังถึง
4. เตาอบ
ขั้นตอนในการทำ
ขั้นตอนการทำ
1. นำปลาสลิดเค็มตากแห้ง 2 แดด(เนื้อปลาแห้งแข็ง) นำมาล้างทำความสะอาด
2. นำปลาสลิดที่ได้ลงนึ่งในลังถึงจนสุก ประมาณ 15 นาทีปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น
3. นำปลาสลิดมาแล่เอาก้างตรงกลางตัวตัวออกให้หมด
4. นำปลาลงทอดในน้ำมันพืชให้เหลืองกรอบ ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น
5. นำเข้าเตาอบประมาณ 15 นาที ใช้อุณหภูมิ 400 องศาฟาเรนไฮท์
6. นำบรรจุในถุงพลาสติกใส่ซองดูดซับออกซิเจน ซีลปากถุงให้สนิท เก็บรักษาได้นาน
เทคนิคในการทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถเก็บได้นานเป็นปี คือ ในการบรรจุจะใช้ถุงที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีคุณภาพดีกว่า และใช้สารดูดซับออกซิเจน ซึ่งดีกว่าระบบสุญญากาศ
ใส่ความเห็น
Comments 0