คุ้กกี้ทานตะวันผสมชอคโกแลตชิพ
คุ้กกี้ทานตะวันผสมชอคโกแลตชิพ จังหวัดลพบุรี
ผลิตภัณฑ์คุ้กกี้ทานตะวัน
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชอนน้อยมีการรวมกลุ่มกันและจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงหยี มะขามแช่อิ่ม ถั่วลิสงเคลือบ เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 อำเภอพัฒนานิคม ได้เปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงได้มีการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอ และได้ผนวกแหล่งท่องเที่ยวทุ่งทานตะวันเข้าไปอีกด้วย โดยเฉพาะตำบลชอนน้อยมีการปลูกทานตะวันเป็นจำนวนมาก ในช่วงปลายฤดูฝน (กันยายน – พฤศจิกายน) มาตั้งแต่ปี 2535 เป็นการปลูกเพื่อส่งเมล็ดทานตะวันขายให้โรงงานนำไปผลิตน้ำมันและเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น ซึ่งราคาเมล็ดทานตะวันตกต่ำลงเรื่อยๆ คณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านจึงมีแนวคิดที่จะแปรรูปเมล็ดทานตะวันเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพราะเห็นว่าเมล็ดทานตะวันให้คุณค่าทางอาหารสูง จึงขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่เคหะกิจเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอพัฒนานิคม ให้เข้ามาฝึกอบรมการแปรรูปข้าวเกรียบจากเมล็ดทานตะวัน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรก ในระยะแรกๆผลิตภัณฑ์ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก สมาชิกกลุ่มจึงได้มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์จนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปและสามารถนำออกจำหน่ายทั้งตลาดในและต่างจังหวัด จนถึงปัจจุบันนี้
ต่อมาได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น และต้องการซื้อหาของฝากและของที่ระลึก แต่ยังไม่มีกลุ่มใดผลิตสินค้ามาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวได้เลย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มคิดที่จะแปรรูปผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเมล็ดทานตะวันตัวใหม่ ที่ผลิตขึ้นมาแล้วสามารถจำหน่ายได้เลย ใช้เป็นอาหารว่าง เป็นขนมขบเคี้ยว สามารถเก็บไว้ได้นาน และเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของผู้คนทั่วไป สมาชิกกลุ่มได้ร่วมกันคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ สามารถใช้เป็นของฝากได้ นั่นก็คือ คุกกี้ทานตะวัน นำไปวางจำหน่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ได้สักระยะหนึ่ง สมาชิกจึงคิดผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ คือ “คุกกี้ทานตะวันผสมช็อกโกแลตชิพ”
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
1. คุกกี้ทานตะวันผสมช็อกโกแลตชิพ มีความหอม หวาน กรอบ อร่อย รับประทานแล้วมีประโยชน์ต่อ ร่างกายสูง ซึ่งเมล็ดทานตะวันมีคุณสมบัติในการป้องกันการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันการเกิดมะเร็ง บำรุงสายตา ป้องกันการเป็นหมัน การแท้งลูก และป้องกันเนื้อเยื่อปอดถูกทำลาย ฯลฯ
2. คุกกี้ทานตะวันผสมช็อกโกแลตชิพ ของกลุ่มแม่บ้านตำบลชอนน้อย แตกต่างจากคุกกี้ของผู้ผลิตราย อื่น คือ ใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองในพื้นที่ มีความสดใหม่เสมอ และมีส่วนผสมของเมล็ดทานตะวันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหาซื้อได้ง่ายในพื้นที่ จึงทำให้ราคาของวัตถุดิบไม่สูงมากนัก
3. คุกกี้ทานตะวันผสมช็อกโกแลตชิพ มีสลากแสดงอยู่บนบรรจุที่มีความโดเด่น เป็นภาพทุ่งทานตะวัน สีเหลืองอร่าม สวยงามเป็นสัญลักษณ์เด่นเห็นได้อย่างชัดเจน
คุกกี้ทานตะวันผสมช็อกโกแลตชิพ ทำให้คนในชุมชนตำบลชอนน้อยได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมากมาย ดังต่อไปนี้
1. มีการจ้างแรงงานในพื้นที่ ทำให้คนในชุมชนมีงานทำเพิ่มขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริม / สร้างอาชีพใหม่ โดยการรับผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย
2. การรับซื้อเมล็ดทานตะวันจากเกษตรกรในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตทำให้สามารถขายเมล็ด ทานตะวันได้ในราคาสูงขึ้น
3. กลุ่มได้เปิดโอกาสให้ชาวตำบลชอนน้อยมารับผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง โดยให้รับของไป ขายก่อนแล้วจึงจ่ายเงินตอนหลัง (ให้เครดิต)
4. กลุ่มใช้เมล็ดทานตะวันเป็นวัตถุดิบในการผลิตในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรมีการพัฒนา ด้านเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งกรรมวิธีการปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
5. เป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกทานตะวันเพิ่มขึ้น เพราะมีตลาดกว้างขึ้น
6. สร้างความรักความสามัคคีแก่คนในชุมชน เกิดความหวงแหนและรักษาชื่อเสียงของตำบลเป็นอย่างดี
7. เป็นศูนย์การเรียนรู้ของคนในชุมชน ทั้งสตรี เด็ก เยาวชน ในพื้นที่และผู้สนใจทั่วไปนอกพื้นที่
8. ทำให้ชุมชน โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่ม เกิดกระบวนการเรียนรู้ในด้านการบริหารทุน/คน/วัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ
9. ทำให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆและเอกชน อย่างบูรณาการ
10. เป็นความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น เนื่องจาก คุกกี้ทานตะวันทำให้คนทั่วไปรู้จักตำบลชอนน้อยมากขึ้น
11.ทำให้คนในชุมชนตื่นตัว มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่มากขึ้น
12.ชุมชนเกิดการระดมทุนในหมู่บ้าน/ตำบล มากขึ้น เช่น การเพิ่มหุ้นในกลุ่ม, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
13.ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ในที่สุด
ตำบลชอนน้อยเป็นแหล่งปลูกทานตะวันที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอพัฒนานิคมและของประเทศไทย การนำเมล็ดทานตะวันซึ่งเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตคุกกี้ทานตะวัน ตามแบบอย่างโบราณที่สืบทอดกันมา เช่นเดียวกับการนำถั่ว งา มาเป็นส่วนผสมในการประกอบอาหาร นับว่ามีความสัมพันธ์กับทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างลงตัว จึงขอนำเสนอกระบวนการผลิต คุกกี้ทานตะวันผสมช็อกโกแลตชิพ พอสังเขป ดังนี้
ส่วนผสมของคุ้กกี้ทานตะวันผสมช็อกโกแลตชิพ
ส่วนผสมของคุกกี้ทานตะวันผสมช็อกโกแลตชิพ (วัตถุดิบ)
1. แป้งสาลี 30 %
2. เนยสด 23 %
3. น้ำตาลทราย 16 %
4. เมล็ดทานตะวัน 10 %
5. ไข่ไก่ 10 %
6. ผงฟู, เกลือ ,วานิลา 3 %
7. ช็อกโกแลตชิพ 8 %
อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต
1. ช้อนตวง
2. เครื่องชั่งน้ำหนัก
3. กะละมัง
4. พายพลาสติก,พายไม้
5. ที่ร่อนแป้ง
6. มีด , กรรไกร
7. ช้อนตักหยอด
8. ถาด
9. เครื่องตีไข่,เครื่องผสม
10. เตาอบ
11. ถังแก๊ส
12. ตู้เย็น
13. นาฬิกาจับเวลา
14. อุปกรณ์บรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงพลาสติก,กล่องพลาสติก,เทปกาว,กระดาษรองกล่อง,ฉลาก
15. เครื่องปิดปากถุง
16. ถุงมือยาง,ถุงมือกันความร้อน
17. ชุดกันเปื้อนและหมวก
ขั้นตอนในการทำ
1. คัดเลือกวัตถุดิบและส่วนผสมที่ดี มีคุณภาพ
2. ทำการชั่งตวงส่วนผสมตามอัตราส่วน
3. ร่อนแป้ง เกลือ และผงฟูรวมกัน
4. ตีเนยกับน้ำตาลพอขึ้นฟูขาว ใส่ไข่ตีต่อไปให้เข้ากันดี แล้วใส่วานิลา
5. นำส่วนผสมที่เตรียมไว้ตามข้อ 3 ลงไปผสมให้เข้ากันอีกครั้ง
6. ใส่เมล็ดทานตะวัน และช็อกโกแลตชิพลงไปส่วนหนึ่ง ผสมให้เข้ากัน (ส่วนที่เหลือนำไปโรยหน้า)
7. ตักหยอดใส่ถาด
8. นำไปอบในเตาอบ ด้วยความร้อน 350 องศาฟาเรนไฮด์ ประมาณ 20-30 นาที หรือจนกระทั่งสุกเหลือง แล้วนำออกมาพักไว้ก่อน เพื่อให้เย็น
9. บรรจุใส่ถุง,กล่องตามขนาดที่ต้องการ พร้อมจำหน่าย
เทคนิคในการทำ
ใช้วัตถุดิบที่มีความสด ใหม่ มีคุณภาพ และใช้ความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต และนำเอาภูมิปัญญามาผสานก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่คลุกเคล้าความเป็นไทยและสากลจนออกมาเป็นคุกกี้ทานตะวันผสมช็อกโกแลตชิพ
ใส่ความเห็น
Comments 0