ขนมโมจิ
ขนมโมจิ จังหวัดนครนายก
ขนมหวานญี่ปุ่นเรียกรวมกันว่า “วากาชิ” (Wagashi) มีมานานตั้งแต่สมัยนะระหรือประมาณ 1,300 ปีมาแล้ว แต่เฟื่องฟูสุดๆในช่วงเอโดะ (ปี ค.ศ. 1603-1867) โดยเฉพาะในเมืองเกียวโตและแต่ละร้านแข่งกันขายแข่งกันคิดขนมใหม่ๆจนกลายเป็นต้นตำรับของขนมญี่ปุ่น
ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นขนมหวานประจำชาติ แต่ชาวญี่ปุ่นก็ไม่ได้กินวากาชิกันบ่อยๆ เพราะนิยมกินผลไม้กันมากกว่า ส่วนวากาชินี้จะกินเป็นของว่างและในโอกาสพิเศษเมื่อมีพิธีการต่างๆเช่น พิธีแต่งงาน หรือพิธีชงชา แรงบันดาลใจของพ่อครัวแม่ครัวในการสร้างสรรค์ขนมวากาชินั้นก็ได้มาจากธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เช่น ฤดูใบไม้ร่วงจะทำขนมคิคุโกะโระโมะรูปดอกเบญจมาศ ส่วนฤดูหนาวก็ทำยูคิโมจิ หรือโมจิหิมะ
ขนมโมจิ สูตรสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นตอนที่กองทัพประเทศญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพใน จังหวัดนครนายก ซึ่งชาวบ้านในบริเวณตำบลศรีกะอาง ตำบลพิกุลออกอำเภอบ้านนา และตำบลพรหมณี ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก ได้นำสินค้าต่างๆ มาค้าขายกับทหารญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว (ปัจจุบันคือพื้นที่ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและบริเวณใกล้เคียง) สินค้าที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าพื้นเมืองประเภทผัก ผลไม้ และขนม โดยเฉพาะนางพันนา ซึ่งเป็นหญิงสาวชาวบ้านมีอายุประมาณ 18 ปี ได้ทำขนมพื้นบ้านเช่นไข่เหี้ย กล้วยทอด ซาลาเปาทอด ขายจนได้รู้จักกับทหารหนุ่ม ชาวญี่ปุ่นชื่อซาโต้ ได้สอนให้ทำขนมโมจิและบอกกับเธอว่า ขนมนี้จะเป็นตัวแทนของเขาและประเทศญี่ปุ่น ถ้าเขาไม่อยู่และนางพันนาคิดถึงเขาให้ทำขนมนี้ เมื่อทหารญี่ปุ่นได้สอนจนทำเป็นและได้กินขนมโมจิ แล้วบอกกลับนางพันนาว่าทำขนมญี่ปุ่นโมจิได้อร่อยที่สุด ซึ่งลักษณะของขนมโมจิที่ทหารญี่ปุ่นสอนเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีใส่เป็นถั่วกวน นำมาห่อกันแล้วนำไปต้มจนสุกหลังจากนั้นนำมาคลุกด้วยแป้งเพื่อป้องกันไม่ให้ขนมติดกัน รสชาดจะหวานนำเหมาะสำหรับรับประทานกับน้ำชา หรือกาแฟ
จนกระทั่งพ.ศ. 2547 พระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบประวัติเรื่องขนมโมจินี้ จึงให้ทหารคนสนิทไปสืบหาที่มาขนมโมจิสูตรดังกล่าว ซึ่งได้ไปหาอยู่หลายที่และนำมาให้เสวย แต่พระเทพทรงตรัสว่าไม่ใช่ขนมโมจิสูตรที่ตามหา ต่อมาอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก ได้ประชาสัมพันธ์และสืบหาจนได้ทราบจากนายมานพ ศรีอร่าม ข้าราชการพัฒนาชุมชนว่าผู้ที่ทำขนมโมจิดังกล่าวคือมารดาของตัวเอง ในขณะนั้นมีอายุมาแล้วแต่ความทรงจำยังดี สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆในอดีตได้เป็นอย่างดี พร้อมได้สอนให้บุตรและบุตรสะใภ้ได้ทำขนมดังกล่าว ถวายสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งยายพันนารอคอยวันนี้มานานแสนนาน วันที่ขนมโมจิของแกได้ถูกเผยแพร่อีกครั้ง เหมือนได้บอกกับซาโต้ว่ายังมีสาวบ้านนาคนนี้รออยู่ ปัจจุบันยายพันนาได้จากไปแล้ว โดยได้รับพระราชทานเพลิงศพจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และปัจจุบันขนมโมจิสูตรดังกล่าวได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีรสชาติที่อร่อย กลมกล่อมและมีไส้ให้เลือกหลายชนิด
เอกลักษณ์ของขนมโมจิสูตรสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีความพิเศษแตกต่างจากขนมโมจิที่วางขายในจังหวัดอื่น เนื่องจากขนมโมจิสูตรนครนายกทำจากแป้งข้าวเหนียวและนำไปต้ม จะมีความเป็นเอกลักษณ์ คงความสดอร่อย นุ่มและกลมกล่อม รวมทั้งมีไส้ที่หลากหลาย รสชาติใกล้เคียงกับขนมโมจิสูตรดั้งเดิม (ประเทศญี่ปุ่น)
วัตถุดิบที่ใช้
1. แป้งข้าวเหนียว
2. น้ำตาลปี๊บ
3. ถั่วแดง
4. ถั่วเขียว
ขั้นตอนในการทำ
1. ไส้ถั่วเขียวด้วยการนำถั่วเขียวต้ม ใช้ความร้อนปานกลาง ใส่น้ำตาลกวนให้เข้ากัน จนกระทั้งเหนียวปั้นไม่ติดมือ หลังจากนั้นตัดใส่ภาชนะทิ้งให้เย็น
2. นำไส้มาชั่งให้มีขนาดเท่าๆ กัน แล้วปั้นเป็นก้อนกลมๆ
3. นำแป้งข้าวเหนียวมาผสมกับน้ำแล้วตีให้เข้ากันโดยใช้เครื่องตีระดับปานกลา
4. นำแป้งตามข้อ 3 มาชั่งให้ได้ขนาดมาตรฐานเท่าๆ กัน แล้วปั้นเป็นลูก แล้วนำไส้มาใส่ตรงการห่อให้มิด
5. ต้มน้ำให้เดือด นำขนมใส่ลงไปในน้ำเดือด แล้วให้หรี่ไฟปานกลาง จนขนมสุก จะลอยขึ้นมา
6. ตักขนมแช่ลงในน้ำเย็น ใช้กระชอนตักแล้วนำขนมมาผึ่งไว้ให้เย็น และแห้ง
7. เมื่อขนมแห้งแล้วนำมาคลุกกับแป้งข้าวโพด แล้วปัดให้เนียนสวย
ใส่ความเห็น
Comments 0