สมุนไพรปรับอากาศ
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปรับอากาศ จังหวัดนนทบุรี
สมุนไพรนั้นอยู่คู่กับคนไทยมาช้านานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ถือได้ว่าสมุนไพรเปรียบเป็นคุณสมบัติทางยาหรือโอสถทิพย์ บรรพบุรุษไทยได้ใช้ทั้งภูมิปัญญาและภูมิความรู้ที่ค้นคว้ามาเป็นเวลานานนับร้อยปีได้เก็บไว้เป็นหลักฐานรวมถึงตำราต่างๆ ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้สืบทอดอย่างมากมาย
ดังเช่นในปัจจุบันเราสามารถนำมาประยุกต์และดัดแปลงให้เกิดความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบของสินค้าตัวอื่นๆ ในท้องตลาด ซึ่งนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ปรับอากาศได้หลายชนิด เช่น นำมาทำที่หุ้มเข็มขัดนิรภัยโดยนำสมุนไพรมาบรรจุไว้ด้านในคลุกกับน้ำมันหอมเพื่อใช้ส่งกลิ่นหอมปรับอากาศในรถ หรือหมอนรองต้นคอที่ใส่สมุนไพรไว้ในหมอนเพื่อให้ความหอมและผ่อนคลาย ส่วนด้านรูปลักษณ์ภายนอกตกแต่งด้วยผ้าไหมไทยสวยงามเย็บออกแบบด้วยความประณีตและดีไซน์ให้เข้ากับสีรถสีเบาะเป็นของใช้ที่ประยุกต์ระหว่างสมุนไพรไทยที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านผสานเข้ากับของใช้ในสภาวะการณ์ปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมลงตัว
แนวคิดที่จะนำมาซึ่งการผลิตนั้นจะต้องคำนึงถึงวัตถุดิบ เช่นเป็นวัตถุดิบภายในประเทศและมี ความสวยงามของลายผ้าหรือเนื้อของผ้าไหม การเย็บที่ประณีต เรียบร้อย และคุณภาพของสมุนไพรที่ใช้เป็นประเภทอโรม่า หรือการปรับอากาศในรถโดยรวมให้สดชื่น บรรเทาอาการหวัด คัดจมูกจากฝุ่นละอองที่มาจากช่องแอร์ กลิ่นของสมุนไพรที่จะทำให้จมูกโล่งสบาย หายใจสะดวก ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ขับลม รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายรักษาสมดุล
ผลิตภัณฑ์มีการพัฒนาขึ้นมาจากรูปแบบเดิมที่เพิ่มความแปลกใหม่โดยการบรรจุสมุนไพรไว้ภายในต่างจากในท้องตลาดทั่วไปและยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมได้รับการจดแจ้งสิทธิบัตรการออกแบบจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นประโยชน์ด้านการตลาดและยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น
การผลิตมาจากฝีมือแรงงานคนในชุมชนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและช่วยกันแก้ปัญหาทำให้เกิดรายได้มาสู่ชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในครัวเรือนได้อย่างดียิ่ง
สมุนไพรที่ผสมแล้ว 13 ชนิด เช่นตัวประกอบหลัก สารสกัดเกสร 5 ชนิด พิมเสน ขมิ้นชัน ไพล ยูคาลิปตัส ข่า
อุปกรณ์และวัตถุดิบที่ใช้
1. ผ้าไหมไทย หรือ ผ้าลายไทย
2. ผ้ามันสีทองกุ้นขอบ
3. เทปตีนตุ๊กแก
4. ผ้าสารูเย็บบรรจุสมุนไพร
5. แผ่นฟองน้ำชนิดหนา 4 มิลลิเมตร
กระบวนการผลิต (ขั้นตอนการผลิต วัตถุดิบและวัสดุสิ้นเปลือง เครื่องจักร และแรงงาน)
ขั้นตอนที่1
นำสมุนไพรมาบรรจุใส่ผ้าสารูที่เย็บแบ่งเป็นช่อง สี่ช่อง แล้วเย็บปิดให้ติดกับผ้าสารูอีกหนึ่งชิ้น และนำชิ้นผ้าลายไทยมาเย็บ เพื่อปิดรอยช่องที่บรรจุสมุนไพร
ขั้นตอนที่ 2
นำชิ้นที่บรรจุสมุนไพรแล้วมาบุฟองน้ำ และนำมาปะกบกับผ้าไหมหรือลายไทยเพื่อเย็บเทปตีนตุ๊กแกทั้งสองด้านพร้อมทั้งกุ้นขอบด้วยผ้าสีทองปิดให้ครบทั้งสี่ด้าน
ขั้นตอนที่ 3
นำผลิตภัณฑ์แพ็คใส่ถุงพลาสติกเพื่อเก็บกลิ่น และบรรจุใส่กล่องจำนวน 1 คู่
ใส่ความเห็น
Comments 0