ผ้าทอมัดหมี่กลุ่มเกษตรกรหินปัก

ผ้าทอมัดหมี่  กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหินปัก ม.6 ต.หินปัก จังหวัดลพบุรี

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

การทอผ้ามัดหมี่เป็นภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนอำเภอบ้านหมี่ ที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากแขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อประมาณสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะนิยมทอกันไว้ใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับตนเอง และสมาชิกภายในครัวเรือนแล้ว ยังมีการทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรม ประเพณีต่างๆ ความเชื่อทางศาสนาและสังคมด้วย คำว่า “ผ้ามัดหมี่” เป็นชื่อที่เรียกกรรมวิธีการทอผ้าอย่างหนึ่ง ที่นำเอาเส้นด้ายมามัดเป็นเปลาะๆ ตามลายแล้วนำไปย้อมสีให้เกิดสีสัน และลวดลายตามที่ต้องการเรียกวิธีการมัดย้อมแบบบ้านหมี่ ต่อมาจึงเหลือเพียง “มัดหมี่” ผ้าที่ทอจากเส้นด้ายที่มัดหมี่ จึงเรียกว่า “ผ้ามัดหมี่” ซึ่งความงดงามและความเป็นเอกลักษณ์ของผ้ามัดหมี่ คือ รอยสีที่ค่อย ๆ ซึมในเนื้อผ้าที่ติดกับลวดลาย ทำให้ได้ลวดลายที่แปลกตา เพิ่มความงดงามและความมีเสน่ห์ให้แก่ผ้ามัดหมี่ ในสมัยก่อนจะทอกันในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากฤดูทำนา ผ้าที่นำมาทอจะเป็นผ้าซิ่นลายมัดหมี่ ผ้าขาวม้า และเครื่องนุ่งห่ม เพื่อใช้ในครัวเรือน

ในปัจจุบันการทอผ้ามัดหมี่ถือเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว จึงได้มีการรวมกลุ่มสมาชิกทำการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหินปักขึ้นมา โดยได้มีแรงจูงใจในการอนุรักษ์ลายโบราณ และเพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และชุมชน รวมถึงหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการประกอบอาชีพทอผ้ามัดหมี่ และเป็นการสืบทอดเอกลักษณ์ ภูมิปัญญาของท้องถิ่นในการทอผ้ามัดหมี่ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้นิยมใช้ผ้าไทยกันอย่างแพร่หลาย ตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้ผ้าไทย กลุ่มฯ จึงได้มีการพัฒนา สร้างสรรค์ลวดลายให้มีความหลากหลายและทันสมัย แต่ยังคงคุณลักษณะผ้าทอพื้นเมืองแบบดั้งเดิมอยู่ โดยการผสมผสานลวดลายโบราณตามความเชื่อ ความศรัทธา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชาวไทยพวน และตามจินตนาการ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทออันประณีตและทรงคุณค่า อีกทั้งเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาควรค่าแก่การอนุรักษ์ต่อไป

ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าทอมัดหมี่ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหินปักเป็นการแสดงภูมิปัญญาเดิมของบรรพบุรุษ กล่าวคือ ใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ด้วยการทอด้วยมือ อันเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยพวน โดยเน้นลายโบราณที่สืบทอดกันมา ตามความเชื่อ ความศรัทธา พญานาค จึงได้นำรูปพญานาคอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยพวน มาออกแบบดัดแปลงผสมผสานกับลวดลายใหม่ ๆ เป็นลายผ้ามัดหมี่ ลายขิด ซึ่งลักษณะจะเป็นลวดลายที่มีความละเอียดสวยงาม ทั้งนี้เพราะการทำเส้นด้ายจะมีลักษณะเป็นหมี่ 2 เกร็ด ทอหมี่ 2 ด้าย 3 การตั้งชื่อลายจะเรียกลายเหล่านี้ว่า “ลายไทยพวน”

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมัดหมี่ เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอารยธรรมของคนในท้องถิ่นที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน อันแสดงให้เห็นถึงมรดกวัฒนธรรมอันเกิดจากภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ที่สืบทอดกันมา และเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันทรงคุณค่านี้ไว้มิให้สูญหายรวมทั้งต้องการสร้างให้เป็นลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ จึงได้มีการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งภูมิปัญญา และสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน อันก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน เอื้ออาทรต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และกิจกรรมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน อีกด้วย

วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้

1. เส้นด้าย หรือมีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า “ไหมประดิษฐ์”

2. เชือกฟาง

3. โฮงหมี่

4. สีย้อมผ้า

5. กี่ทอผ้า (กี่กระตุก)

6. กระสวย

7. หลา เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับปั่นด้ายและเป็นเครื่องปั่นด้ายด้วยมือ

8. กง ใช้สำหรับขึงด้ายให้ตึงทำด้วยไม้

9. อุปกรณ์ขึ้นด้าย (คิดประดิษฐ์โดยภูมิปัญญาท้องถิ่น)

10. แป้งสำหรับทำให้ด้ายแข็งตัวมีความคงทน

 

ด้ายยืนที่ขึ้นเรียบร้อยแล้วเตรียมสำหรับการทอ

การทอผ้าด้วยกี่กระตุก

 

ขั้นตอนการทำ

1. การขึ้นด้ายยืนเพื่อใช้ทอ (โบราณนิยมใช้ด้ายสีดำ ปัจจุบันพัฒนาเป็นด้ายหลายหลากสี)

– นำด้ายที่เป็นไจมาลงแป้ง เพื่อให้ด้ายมีความคงทน อยู่ตัวไม่หด

– กรอด้ายใส่หลอดใหญ่เพื่อที่จะนำมาขึ้นเป็นด้ายยืน

– นำด้ายยืนประกอบในกี่ทอผ้า แล้วเก็บตะกอ

2. การเตรียมเส้นด้ายพุ่ง

– การค้นหมี่ คือ การนับจำนวนเส้นด้ายพุ่งตามลวดลายที่ได้ออกแบบไว้ทั้งผืน เพื่อเตรียมมัดลายและย้อมสี

– การมัดหมี่ เครื่องมือมัดหมี่ เรียกว่า “โฮงมัดหมี่” มีความกว้างเท่ากับหน้ากว้างของผ้าที่ทอ นำด้ายที่ค้นแล้วมาใส่โฮงมัดหมี่ เพื่อมัดลาย

– การย้อมสี เมื่อมัดหมี่เสร็จแล้วถอดด้ายออกจากโฮงมัดหมี่ นำไปย้อมสี การย้อมแต่ละครั้งต้องย้อมหลาย ๆ หัว เพื่อไม่ให้เปลืองสี ถ้าผ้าที่ออกแบบลวดลายหลายสีต้องย้อมหลายครั้ง (บริเวณที่เชือกฟางมัดไว้จะกลายเป็นลายของผ้ามัดหมี่)

– นำหมี่ที่มัดและผ่านการย้อมสีตามความต้องการแล้วมาแกะเชือกฟางออก

– กรอหมี่ใส่หลอดขนาดเล็กพร้อมที่จะนำไปทอเป็นผืนผ้า

3. การทอผ้ามัดหมี่

– นำหลอดหมี่ที่กรอไว้มาพุ่งผ่านด้ายยืนที่กี่ทอผ้า ทีละเส้นกลับไปกลับมา

– ขณะทอต้องระวังให้ลวดลายชัดเจนสวยงามจนกระทั่งเสร็จเป็นผืนผ้า

ปัจจัยที่จะทำให้ผ้ามัดหมี่ลายสวย เนื้อเรียบขึ้นอยู่กับกระบวนการก่อนทอ กล่าวคือ

1. การมัดลาย ต้องมัดลายให้ตรงกัน

2. การปั่นด้าย ด้ายที่นำมาปั่นต้องแห้งสนิทเป็นด้ายที่มีคุณภาพดี ไม่ยึด

3. การค้นด้าย ต้องใช้แรงค้นอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ด้ายยึดตัวเท่าๆ กัน

4. การขึ้นเครือด้ายต้องขึ้นให้ด้ายมีความตึงเสมอกันทุกเส้น และขนาดความยาวของด้ายพุ่ง ที่กำหนดไว้แต่ละลาย ต้องมีความยาวเท่ากับหน้าผ้าพอดี

5. การทอ ต้องทอให้น้ำหนักมือสม่ำเสมอโดยเฉพาะเมื่อทอผ้าได้ยาวได้ระดับหนึ่ง จะต้องม้วนผ้าเข้าแกน ม้วนผ้าระยะแรกต้องผ่อนแรง (ทั้งนี้แล้วแต่ความชำนาญและความเคยชินของช่างทอ)

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: