ผ้าทอพื้นเมืองโบราณลาวชี-ลาวครั่ง

ผ้าทอพื้นเมืองโบราณลาวชี-ลาวครั่ง จ.สุพรรณบุรี

 

จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ การทอผ้าของชาวไทยเชื้อสายลาว แห่งบ้านทุ่งก้านเหลือง หมู่ที่ 5 ตำบลป่าสะแกไม่เพียงแต่หมายถึงการทอเพื่อใช้สอยเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ต่างๆ ในอดีต และบ่งบอกถึง ความเป็น “กุลสตรี”ของหญิงสาวในชุมชนได้อีกด้วย

นางสมจิตร ภาเรือง ประธานกลุ่ม ซึ่งเป็นสตรีในหมู่บ้านที่คลุกคลีอยู่กับการทอผ้าและการตัดเย็บเสื้อด้วยมือที่คุณแม่สั่งสอนมาตั้งแต่จำความได้ และประกอบกับตนเองมีความชื่นชอบผ้าทอโบราณเป็นทุน เริ่มสะสมมาเรื่อย จนมีจำนวนมาก ปี 2545 เลยเกิดความคิดว่า น่าจะมีการฟื้นฟู การทอผ้าขึ้นมาในชุมชน อีกทั้งฟื้นฟูประเพณีลาวซี-ลาวครั่งในอดีตที่มีคุณค่า เพื่อที่จะได้ให้ลูกหลานร่วมกันอนุรักษ์ไว้ จึงได้ชักชวนพี่น้องคนไทยเชื้อสายลาวจาก 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ่อกรุ ตำบลหนองกระทุ่ม และตำบลป่าสะแก มาร่วมกันเป็นกลุ่ม นับได้ 65 ครอบครัวที่สนใจในอาชีพทอผ้า เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ปี พ.ศ.2545 กลุ่มเปิดตัวครั้งแรกต่อสาธารณะชนโดยการจัดกิจกรรมบวชนาคหมู่เฉลิมพระเกียรติตามประเพณีลาวซี-ลาวครั่ง เชิญแขกเหรื่อมาทั่วสาระทิศ รวมไปถึงสื่อมวลชน ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย หลังจากนั้นกลุ่มเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ในแวดวงผ้าโบราณไม่มีใครไม่รู้จักผ้าทอโบราณลาวซี-   ลาวครั่งบ้านทุ่งก้านเหลือง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปีพ.ศ.2546 กลุ่มได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนชุมชน จำนวน 640,000 บาทเพื่อนำมาก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนด้านการทอผ้าโบราณ และวัฒนธรรมต่างๆของลาวซี-ลาวครั่ง

ปี พ.ศ.2546 กลุ่มส่งผลิตภัณฑ์เข้าสู่การคัดสรรสุดยอดสินค้า โอทอป ได้ระดับ5 ดาว

ปี พ.ศ.2546ได้รับรางวัลชนะเลิศผ้าทอโบราณระดับภาคกลาง

ปี พ.ศ.2547ชนะเลิศ รางวัลผ้าทอพื้นเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี

ผ้าทอโบราณลาวซี-ลาวครั่ง บ้านทุ่งก้านเหลือง หมู่ที่ 5 ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นการนำทั้ง ฝ้ายและไหม มาทอ โดยใช้วิธีการจก และมัดหมี่ ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ คือผ้าซิ่นมัดหมี่ตีนจก มีความหลากหลายลวดลาย เช่น ผ้าทอลายมะเขือผ่าโผ่ง ผ้าทอลายพญานาค เป็นต้น รวมไปถึงการแปรรรูปเป็นเสื้อเป็นซิ่นเย็บด้วยมือ

 

การย้อมด้วยครั่ง

1.บดหรือตำครั่งให้มีขนาดเท่าเม็ดกรวด

2.ต้มน้ำให้เดือด แล้วตักน้ำราดลงในครกที่ตำครั่ง

3.ใช้สากนวดให้สีครั่งออก

4.ตักน้ำครั่งใส่โอ่งมังกร เก็บไว้ประมาณ 1 อาทิตย์

5.ถึงขั้นตอนการย้อม ทั้งเส้นไหม เส้นฝ้าย ต้องนำใบเหมือด ใบส้มป่อย ใบชะมวง ใบชงโค ใบมะขาม อย่างละครึ่ง กิโลกรัม ต้มผสมกับครั่งและเส้นไหมมัดหมี่ให้เดือน ยกเส้นไหมมาทุบ ขยี้ นวดสีให้เข้ากัน ทำแบบนี้ทั้งวัน จนแน่ใจว่าสีติด

 

การย้อมด้วยคราม

1.นำใบคราม และกิ่งอ่อน ตัดครึ่งต้นมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

2.นำมาแช่ในโอ่งน้ำ ใส่น้ำให้ท่วมใบคราม เอาไม้ทับ ขัดให้คราม จมน้ำ

3.พักแช่ไว้ 24 ชั่วโมง ขยำใบครามให้ละเอียด

4.กรองเอาแต่น้ำ เอากากทิ้ง

5.ใส่ปูนแดง(กินหมาก) 2 ขีด/1 โอ่งละลายน้ำคราม

6.นำน้ำเนื้อครามไปกรองกับผ้าขาว เพื่อกรองเศษใบและกิ่งคราบออก ใช้เวลาในการกรอง ประมาณ 1 คืน หรือถ้ามีเนื้อครามมาก อาจใช้เวลาถึง 2 คืน ขึ้นอยู่กับปริมาณของเนื้อคราม หากจะนำครามใบใช้ เลยให้นำครามเหลวใส่หม้อดินใว้เพื่อเตรียมย้อม ในการย้อมครามจะย้อมในช่วงตอนเย็นๆ หรือตอนกลางคืน โดยนำเส้นด้ายหรือผ้าที่จะย้อมไปขยำในหม้อคราม หากจะนำครามเก็บไว้เป็นปี ให้ปั้นครามเป็นก้อนตากแดดให้แห้ง

7. ส่วนผสมที่ใช้ในการย้อมคราม ประกอบด้วยด่าง 1 ขัน และครามครึ่งกิโลกรัม ตีให้เป็นฟอง ต้องการสีอ่อนย้อมเพียงครั้งเดียว หากต้องการย้อมเป็นสีเข้มต้องย้อมประมาณ 3 ครั้ง แล้วนำมาตากแดด เก็บไว้ทอ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: