ทอผ้าพื้นเมือง
ทอผ้าพื้นเมือง จังหวัดสระบุรี
ตัวอย่างผ้าทอพื้นเมือง
ประวัติที่ผ่านมาคนไทยยุคก่อน ประวัติศาตร์ รู้จักทอผ้าใช้แล้ว โดยได้ค้นพบว่า แนวดินเผาที่ใช้สำหรับ ปั่นเส้นด้าย และยังพบร่องรอยของเศษฝ้าย และไหมติดอยู่กับกำไลและขวานสำริด และขวานสำริด ที่บ้านเชียง
คุณภาพฝ้าย พบว่าที่เกี่ยวกับการปั่นด้ายคือ กำลังเกาะหรือยึดเหนี่ยวต้องมีมากพอ เพราะเส้นใยบิดพันกันเป็นเกลียวมีความละเอียด และความยาวพอดี ความโค้งอ่อนตัวปานกลาง ยึดตัวออกได้บ้าง มีขี้ผึ้งธรรมชาติ หุ้มผิวเส้นใย ผ้าฝ้ายมีเนื้อสัมผัสนุ่ม เป็นฉนวนความร้อนดีเลิศ ดูดความชื้นได้มาก ดูดสีย้อมดี ความดีเหล่านี้รวมกับฝ้ายมีราคาค่อนข้างถูกทำให้ฝ้ายเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป
การทอผ้า เป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่เป็นงานหัตถกรรมของไทยที่อาศัยแรงงานและฝีมือประดิษฐ์คิดค้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสั่งสมประสบการณ์ และอุดมการณ์พื้นฐานในการดำรงชีวิต ศิลปะการทอผ้าจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักถึงสภาพความเป็นอยู่ที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบไทยๆ อันมีพัฒนาการสืบเนื่องมานานหลายร้อยปี ก่อให้เกิดความภูมิใจ ในความเป็นไทย
ในท้องที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เป็นอำเภอที่มีคน “ไท-ยวน” มากเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด และตำบลท่าช้าง อำเภอเสาไห้ ก็เป็นอีกตำบลหนึ่งที่มีคน “ไทย-ยวน” ซึ่งอพยพมาจากภาคเหนือของประเทศไทย คือมาจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หรือเดิมเรียกว่า แคว้นโยนกนคร คนไทยกลุ่มนี้จึงมีภาษาพูดและวัฒนธรรมละม้ายคล้ายกับคนในภาคเหนือ แถบเชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน ชนกลุ่มนี้ เรียกชื่อตนเองว่า “ไท-ยวน”
ชาวไทยวนที่ตำบลท่าช้าง ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีแบบชาวล้านนา เช่นภาษาพูด การแต่งกาย การทำบุญตามประเพณีแบบล้านนา เช่น ประเพณีสลากภัต การประกอบอาชีพของชาวไทยยวนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำนา รับจ้าง ค้าขาย และมีอาชีพเสริมหลังการทำนา คือ การทอผ้า
ประวัติความเป็นมาของกลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองตำบลท่าช้าง ผ้าทอท่าช้าง เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านท่าช้าง ที่ได้สืบทอดมาจากบรรพชน ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาวเชียงแสน อาณาจักรล้านนา หรือไท-ยวน ที่ได้อพยพมาตั้งแต่ พ.ศ. 2457 และได้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ตำบลท่าช้าง อำเภอเสาไห้ ในปัจจุบัน การแต่งกายและภาษาพูด ของคนท่าช้าง จะคล้ายกับคนทางภาคเหนือของประเทศไทย และจะเรียก ตัวเองว่าคน ไท-ยวน ภาษาพูดก็จะเรียกว่า ภาษายวน
สตรีชาวโยนกนคร หรือที่เรียกว่า ไท-ยวน จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้า ซึ่งในสมัยโบราณ ผู้หญิงจะทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน ทอกันเกือบทุกบ้าน เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านรูปแบบและวิธีการทอก็ได้รับการฝึกหัดถ่ายทอดสืบต่อกันจากบรรพบุรุษมาสู่ลูกหลาน โดยใช้กี่มือ หรือกี่พื้นบ้าน เป็นเครื่องทอ ลวดลายของผ้าจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละหมู่บ้าน
ชาวบ้านท่าช้าง เมื่อมีเวลาว่างจากการทำนา ก็จะทอผ้าไว้ใช้ ซึ่งในการทอผ้าช่วงแรก ๆ จะทอเป็นผ้าซิ่นริมผ้า หรือชาวผ้าจะเป็นสีแดง หากทอได้มากๆ ก็จะรวมกันเป็นหาบไปขายในงานเทศกาล นมัสการรอยพระพุทธบาท ในเดือนสามและเดือนสี่ ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นประจำทุกปี จนถือเป็นธรรมเนียมของคนที่มาเที่ยวงานว่าจะไหว้รอยพระพุทธบาทแล้วต้องมาหาซื้อผ้าทอ ไท-ยวน ด้วย ปีหนึ่ง ๆ ทำรายได้ให้กับสตรีชาวท่าช้างเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ. 2523 กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าตำบลท่าช้าง สมาชิกแรกตั้งมีจำนวน 30 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าวัสดุ, สีย้อม, ด้าย, กี่กระตุก เป็นเงิน 21,000 บาท โดยใช้สถานที่บ้านกำนันทอง บัวศิลา เป็นที่ทำการกลุ่มชั่วคราว
ผ้าทอของตำบลท่าช้างจะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง คือ ผ้าสี่เขา หรือผ้าสี่ตะกรอ เป็นผ้าทอโบราณซึ่งจะมี สีสันและลวดลายไม่เหมือนผ้าทอของที่อื่น ซึ่งได้สืบสานมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีและได้มีการทอผ้าลายอื่น ๆ อีกด้วย เช่น
1. ผ้าสี่เขา หรือผ้าสี่ตะกร้อ
2. การทอเป็นตัวอักษร
3. ทอลายเปลือกไม้
4. การยกดอก
5. เนื้อผ้า
6. ลายผ้า
ในปัจจุบัน มีที่ทำการกลุ่มเป็นอาคารถาวร มีสมาชิกกลุ่ม 20 คน การทอผ้ายังคง เอกลักษณ์ผ้าลายโบราณ แต่ได้มีการพัฒนาลวดลายผ้าตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาสนับสนุนฝึกอบรม เช่น ทอผ้าเช็ดหน้า, ผ้าสีพื้น, ผ้าขาวม้า และสีสันสวยงามตามสมัยนิยม ในอนาคตการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอท่าช้าง นอกจากจะทอเป็นผ้าถุง, ผ้าขาวม้า, ผ้าห่ม, ผ้าเช็ดตัว, ผ้าคลุมไหล่, ผ้าตัดเสื้อ, ผ้าเช็ดหน้า หรือถุงย่ามแล้ว สามารถทอเพื่อนำไปแปรรูปเป็นกระเป๋า, หมวก, หมอน, หมอนอิง, ซองโทรศัพท์, ถุงใส่ของวัยรุ่น ซึ่งจะทำให้ตลาดกว้างขวางยิ่งขึ้น
ชาวบ้านท่าช้าง จะอาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ต.ท่าช้าง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี สตรีส่วนใหญ่ ทอผ้าไว้ใช้เองเกือบทุกหลังคาเรือน หากทอได้มากก็จะนำไปขาย ซึ่งการทอผ้าของชาวบ้านท่าช้างก็จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง คือ ผ้าสี่เขา หรือผ้าสี่ตะกรอ เป็นผ้าทอโบราณ สะท้อนถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี ในปัจจุบัน ยังมีผู้สืบทอดภูมิปัญญาต่อไปและขณะเดือนกันก็สามารถนำภูมิปัญญาเดิมประยุกต์ ให้เข้ากับสมัยใหม่ตามความต้องการของตลาดในด้านสีสันและรูปแบบ
วัสดุ/อุปกรณ์
1. กี่กระตุก
2. ฟันหวี
3. หลอดใหญ่
4. หลอดเล็ก
5. เผื่อนผลัดหลอด
6. ที่เดินด้าย (ที่ม้วนฮูก)
7. ไหมประดิษฐ์สีต่าง ๆ
กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการผลิต
1. นำไหมประดิษฐ์ (สีตามต้องการ) จำนวน 2.5 ลูก ไปปั่นใส่หลอดใหญ่
2. นำไปเดินด้ายเพื่อหาความยาม จำนวน 150 เมตร
3. เดินด้ายเสร็จนำไปใส่ฟันหวีเพื่อหวีด้าย
4. นำวัสดุในข้อ 3 ไปใส่กี่กระตุก
5. เก็บตะกรอเพื่อทำให้เป็นลายขัดพื้นฐาน
6. พันด้ายสีตามที่ต้องการใส่หลอดเล็ก โดยอุปกรณ์เผื่อนผลัดหลอด
7. นำวัสดุในข้อ 6 ไปใส่กระสวยและนำไปพุ่งที่กี่กระตุกขณะทอ
8. จะได้ผืนผ้าความยามตามต้องการ
เคล็ดลับในการผลิต
1. การคิดรูปแบบ ลวดลายผ้าให้ทันสมัย
2. เนื้อผ้าคงทน สีไม่ตก
ใส่ความเห็น
Comments 0