การเจียระไนพลอย
การเจียระไนพลอย จังหวัดตราด
ตัวอย่างพลอยที่เจียระไนแล้ว
อำเภอบ่อไร่ ดินแดนแห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ สัตว์ป่าและพืชพรรณธัญญาหาร และที่สำคัญคือมีสินแร่ที่มีค่ามหาศาล เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2510-2539 พลอยเป็นอัญมณีที่พบมากในอำเภอบ่อไร่ ในอดีตรัฐบาลให้มีการขุดพลอยอย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นเนินเขา ที่ราบหรือลำคลอง จะขุดพลอยพบแทบทุกแห่งจากคำเล่าขานปากต่อปาก จึงทำให้ผู้คนทั่วทุกภูมิภาคได้อพยพเข้ามาประกอบอาชีพทำพลอย พลอยมีหลากหลายชนิด เช่น ทับทิมแดง/พลอยแดง โกเมน เพทาย ฯลฯ พลอยที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังทำรายได้ให้กับชาวอำเภอบ่อไร่ รู้จักกันในนาม “ทับทิมสยาม” ในอดีตแหล่งซื้อขายพลอยคือตลาดพลอยหัวทุ่ง
การทำพลอยช่วงแรกใช้แชลงแรงงานคนขุด เมื่อพลอยเป็นที่ต้องการมากขึ้นจึงนำเครื่องจักรกลหนักมาขุดแทน ทำให้พลอยลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว อาชีพทำพลอยถูกปิดตัวลง แหล่งพลอยที่โด่งดังเศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองก็ซบเซาลงทันที แต่พลอยในบ่อไร่ก็ไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว มีประชาชนในพื้นที่เก็บสะสมไว้ยังไม่นำมาออกจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญา เก็บรักษาพลอยให้อยู่คู่บ่อไร่ และเพื่อเป็นการต่อรองราคากับพ่อค้าพลอย รวมทั้งเพื่อให้การผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน
นางกัญชรา เอื้อการณ์ ผู้มีประสบการณ์ด้านพลอยมากว่า 30 ปี จึงจัดตั้งกลุ่มเจียระไนพลอยบ้านบ่อไร่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2545 โดยได้รับการสนับสนุนจาก นายอำเภอบ่อไร่ และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ่อไร่ ในขั้นแรกได้ระดมเงินทุนจากสมาชิกภายในกลุ่มมาดำเนินการ มีการใช้กระบวนการประชาคมเชิญชวนชาวบ้านบ่อไร่ หมู่ที่ 3 หน่วยงานราชการเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันในการคัดเลือกพลอยเป็นสินค้า OTOP ของอำเภอบ่อไร่
อุปกรณ์/วัสดุในการทำ
- พลอย
- เครื่องเจียระไนพลอย
- โซดาไฟ(เมทธิลแอลกอฮอล์)
- เงิน
- ทองสำหรับทำ
- ตัวเรือนเครื่องประดับ
- เครื่องเจียระไนพลอย
การเจียระไนพลอย
การเจียระไนพลอยได้สืบทอดภูมิปัญญามาจากคนรุ่นก่อน ๆ มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกพลอยนำมาเข้าเครื่องโกรนพลอย เพื่อตัดแต่งพลอยลบเหลี่ยมที่แหลมคมให้ได้รูปทรงที่ต้องการ เพราะพลอยที่ขุดได้จากธรรมชาติลักษณะเหมือนก้อนหินมีเหลี่ยมแหลมคม
ขั้นตอนที่ 2 นำพลอยที่โกรนแล้วมาติดกับไม้ทวนด้วยครั่งนำเข้าเครื่องเจียระไนแต่งหน้าพลอยให้เรียบหน้ากระดาน ตีบ่าพลอยเป็นเหลี่ยมสี่แซมด้วยเหลี่ยมแปด ขึ้นรูปพลอยเป็น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม รูปหัวใจ หลังเบี้ยหรือกลมเกลี้ยงให้ได้ลักษณะตามรูปทรงที่ต้องการ และเพื่อเพิ่มความเงางาม มันวาวของเม็ดพลอย
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อเจียระไนเสร็จแล้วนำไปแช่ในแอลกอฮอล์ (เมทธินแอลกอฮล์) 10 นาที หรือแช่โซดาไฟ ประมาณ 30 นาที เพื่อทำความสะอาดและนำขึ้นเช็ดด้วยผ้าขนหนูที่สะอาดให้แห้ง
ขั้นตอนที่ 4 คัดขนาดของพลอย นำไปขายตามน้ำหนักเป็นกะรัต
การควบคุมการผลิต
เน้นการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ใช้พลอยแท้น้ำพลอย 70% ขึ้นไป ใช้ ฝีมือช่างที่มีประสบการณ์ มีสมาธิ มีความอดทนและประณีต มีจินตนาการณ์รูปลักษณ์ของพลอย โกรนพลอยให้ได้รูปตามต้องการ เม็ดพลอยสวยเหลือเศษน้อยที่สุด คัดเลือกพลอยที่มีคุณภาพขายลูกค้า
ใส่ความเห็น
Comments 0