เครื่องเบญจรงค์
เครื่องเบญจรงค์ (ศูนย์ฝึกวิชาชีพเครื่องเบญจรงค์ ต.นาดี) จ.สมุทรสาคร
การทำเครื่องเบญจรงค์ถือได้ว่าเป็นงานด้านศิลปหัตถกรรมของไทยที่มีมา ตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นงานของช่างฝีมือที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะของไทยในปัจจุบันมีการทำกันในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และสามารถใช้ได้กับบุคคลทั่วไป
เครื่องเบญจรงค์เป็นเครื่องถ้วยที่มีการลงสีที่พื้นและลวดลายเป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภท เซรามิคส์ (Ceramics) ใช้เนื้อดินประเภทพอร์ซเลน (Porcelain ware) โดยเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่เขียนลายด้วยวิธีลงยา หรือสีผสมเคลือบ (Enamel) เป็นงานที่มีต้น กำเนิดในประเทศจีน ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ในรัชสมัยพระเจ้าซวนเต๊อะ (พ.ศ. 1969-1978) สมัยราชวงศ์หมิง มีการผลิตครั้งแรก ในแคว้นกังไซ มณฑลเจียงซี (หรือที่คนไทยเรียกว่า กังไส) และพัฒนาต่อมาจนเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยพระเจ้าเฉิงฮั่ว (พ.ศ. 2008-2030) การเขียนลายตามแบบของจีนจะใช้ตั้งแต่ 3 สีขึ้นไป มีชื่อเรียกในภาษาจีนต่างๆกัน เช่น อู๋ไฉ่ โต้วไฉ่ เฝินไฉ่ และฝาหลั่งไฉ่ ส่วนที่เป็นของไทยนั้น จะนิยมลง 5 สีด้วยกัน คือ ขาว เหลือง ดำ แดง เขียว (คราม) จึงเรียกว่า เครื่องเบญจรงค์ หรือ 5 สี โดยทั้ง 5 สีนี้จัดได้ว่าเป็นแม่สีเครื่องถ้วยเบญจรงค์ของไทยและในบางครั้งอาจมีการใช้สีมากกว่า 5 สีด้วย เช่น ชมพู ม่วง แสด และน้ำตาล ในอดีตใช้การสั่งทำ ที่ประเทศจีนตามความคิดและลวดลายของไทย การสั่งทำนั้นจะมีช่างของไทยเดินทางไปควบคุมการผลิตเพื่อให้ได้รูปลักษณะที่เป็นแบบไทย เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคที่ 3 ช่วงประมาณรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173-2198) และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ. 2199-2231) ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย โดยเฉพาะใน สมัยพระเจ้าวั่นลี่ และต่อเนื่องจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง การสั่งทำจากประเทศจีนในสมัยนั้นได้สั่งทำเป็นโถปริก และโถฝาขนาดกลาง เขียน เป็นลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพนม ลายนรสิงห์ และยังมีที่เป็นลวดลายของจีน เช่นลายเทพนมจีน (เทวดาท้องพลุ้ย) มีพื้นสี ต่างๆ เช่น เหลือง ชมพู ม่วงอ่อน เครื่องถ้วยเบญจรงค์ของไทยมีทั้งสั่งทำที่เมืองจิงเต๋อเจิ้น และจากเตาเผาที่มณฑลฝูเจี้ยนและ กวางตุ้ง เครื่องเบญจรงค์ที่สั่งทำจากเมืองจิงเต๋อเจิ้น มักเป็นของใช้ในราชสำนักเพราะเนื้อดินปั้นละเอียด แกร่ง และช่างมี ฝีมือดี เขียนลายได้ละเอียดสวยงาม ส่วนเครื่องถ้วยลายน้ำทอง จะเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เขียนลายด้วยวิธีลงยาเช่น เดียวกันกับเครื่องเบญจรงค์ แต่จะใช้สีทองที่ทำจากทองคำ ในอดีตเริ่มต้นมาจากการสั่งทำจากประ เทศจีนเช่นเดียวกัน โดยลายน้ำทองนี้ นิยมในประเทศจีน ในสมัยราชวงศ์ชิง ใน รัชสมัยของพระเจ้า คังซี (พ.ศ. 2205-2266) และพระเจ้าหย่งเจิ้น (พ.ศ. 2266-2279) ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จ พระนารายณ์มหาราชจนถึงรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งในสมัยนี้มีการสั่งทำเครื่องถ้วยลายน้ำทอง จากประเทศญี่ปุ่นด้วย เครื่องถ้วยลายน้ำทองได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ปีพ.ศ. 2533 จ.อ.อนันตณัฏฐ์ ม่วงเผือก ได้รับจ้างทำเครื่องลายครามในโรงงานเสถียรภาพ ตำบล อ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในปัจจุบันได้ปิดกิจการแล้ว เมื่อทำงานในโรงงานเสถียรภาพได้เป็นเวลาหนึ่ง ก็ออกมาหัดทำเครื่องเบญจรงค์กับญาติที่ตำบลแคราย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร แต่เนื่องจากการผลิตเครื่องเบญจรงค์นั้นมีขั้นตอนในการทำยุ่งยาก ใช้เงินทุนสูง ทำให้ราคาของเครื่องเบญจรงค์สูงตามไปด้วย จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร และได้ปิดกิจการไปประกอบอาชีพอื่น จ.อ.อนันตณัฏฐ์ ม่วงเผือก ได้สานต่อภูมิปัญญานี้โดยการเปิดร้านทำเครื่องเบญจรงค์ ซึ่งในระยะแรกทำกันภายในครอบครัว แล้วค่อยๆขยายตัวทีละนิดจนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ส่วนผู้ที่ถ่ายทอดการทำเครื่องเบญจรงค์แก่ จ.อ.อนันตณัฏฐ์ ม่วงเผือก ยังคงมีชีวิตอยู่แต่ประกอบอาชีพอื่น
ปัจจุบัน จ.อ.อนันตณัฏฐ์ ม่วงเผือก ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญานี้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเชิญไปถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนและประชาชนที่สนใจในชุมชน โดยจัดตั้งศูนย์ฝึกวิชาชีพเครื่องเบญจรงค์ ซึ่งได้บริจาคที่ดินบริเวณใกล้บ้านตนเองให้แก่เทศบาลตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร บริหารจัดการ ส่วนการก่อสร้างอาคารได้รับงบประมาณจากจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 1,500,000 บาท นักเรียนที่เข้าฝึกงานที่ศูนย์แห่งนี้จะได้รับค่าตอบแทน โดยแบ่งนักเรียนที่เพิ่งเข้ามาฝึกใหม่มีฝีมือไม่ดีเท่าที่ควรก็จะได้รับค่าตอบแทน จำนวน 80 บาท ต่อวัน ส่วนนักเรียนที่มีประสบการณ์การทำงานมากขึ้นก็จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามแต่ฝีมือการทำงานเป็นจำนวน 100 บาท 150บาท 235 บาทและเหมาจ่ายเป็นชิ้นงาน ชิ้นงานละ 270 บาท
ลักษณะที่โดดเด่นของลวดลายเบญจรงค์ทองลงยาของศูนย์ฝึกวิชาชีพเครื่องเบญจรงค์ต.นาดี พื้นของภาชนะเราจะเคลือบน้ำยาก่อนทำลายเบญจรงค์ การเขียนที่ประณีตบรรจงทุกช่องของลวดลาย แต่ละลาย มีความสวยงามต่างกัน มีการพัฒนาฝีมือของช่างตลอดเวลา การให้สีจะเน้นสีที่สะดุดตา ละเอียดอ่อน สีจะอยู่ในช่องของลายแต่ละลาย ดูเรียบร้อยทุกชิ้นงาน มีทั้งตั้งโชว์ ประดับบ้านและใช้ในชีวิตประจำวันได้ ของทุกชิ้นจะได้รับมาตรฐาน มผช. ทุกชิ้น
วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้
1.เตาเผาไฟฟ้า
2.แป้นหมุนเขียนลาย
3.พู่กัน เป็นพู่กันสั่งทำพิเศษ ไม่ใช้พู่กันที่ใช้กันทั่วไป
4.สี บนเคลือบ
5.น้ำทอง ,เข็มฉีดยาเพื่อใช้ใส่น้ำทอง
6.ทินเนอร์
7.โถเซรามิค ทุกรูปทรงที่ต้องการ
ขั้นตอนในการทำ
1. นำรูปทรงต่างๆ ของเซรามิคที่คัดเกรด A มาเขียนลายที่ลูกค้าต้องการ ส่งให้ช่างลงสี ลงสีแต่ละสีให้สวยงาม
2. นำไปเผาใช้เวลาเผา 5ชั่วโมง 800 c๐ รอเตาเย็น 8 ชั่วโมง
3. รูปทรงที่จำหน่ายได้จำนวนมากมี แก้วมาร์ค ถ้วยกาแฟ ชุดขันโตก ชุดน้ำชากลาง ชุดน้ำชาใหญ่ หม้อข้าว ขันน้ำมนต์และรูปทรงต่างๆ เพื่อให้ทันสมัยในยุคปัจจุบัน พร้อมกับใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
การออกแบบลวดลายเบญจรงค์
นำเซรามิคเคลือบขาวมาทำความสะอาด เขียนลายด้วยน้ำทองลงบนเซรามิค เมื่อได้ลวดลายตามที่ต้องการก็ทำการลงสีโดยการใช้พู่กันแบบพิเศษสำหรับการระบายสีเครื่องเบญจรงค์โดยเฉพาะ
รูปทรงของเซรามิคทุกแบบจะคัดเกรด A ทุกชิ้น ลวดลายจะเขียนละเอียดเรียบร้อย ประณีต ลายจะเป็นลายโบราณและแบบประยุคตามสมัยนิยมของลูกค้า การเผาเบญจรงค์ทองลงยา ต้องไล่อุณหภูมิความเย็นในเตาออกให้หมด เบญจรงค์ทองลงยาที่ออกจากเตาเผาจะมีทองเปล่งประกายสะดุดตา สวยงาม
ใส่ความเห็น
Comments 0