เครื่องจักสานบางเจ้าฉ่า
เครื่องจักสานบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง
การทำเครื่องจักสาน ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยสมัยก่อนจักสานเป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตะกร้า กระบุง ป้านน้ำชา ของทีใช้ดักจับสัตว์ ต่อมาได้ดัดแปลงมาเป็นของใช้ที่ทันสมัย เช่น กระเป๋า เป็นต้น ใช้เป็นของกำนัลให้กับผู้ใหญ่ เพื่อนสนิทในวันสำคัญต่างๆ ทางราชการจึงถือเอาเครื่องจักสานเป็นคำขวัญประจำจังหวัด
ต่อมาได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จักสานเป็นรูปทรงอื่นๆ และรูปแบบใหม่ ให้มีความทันสมัย ทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในต่างประเทศและต่างประเทศ
ผลิตภัณฑ์มีความประณีต สวยงาม รูปแบบมีการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญากับเอกลักษณ์ความเป็นไทย ลวดลายมีการปรับประยุกต์โดยนำลายผ้ามาผสมผสานใส่ในตัวผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มความแตกต่างและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สีสันมีความหลากหลาย ออกไปในแนวคลาสสิก
วัตถุดิบที่ใช้
1. ไม้ไผ่นวล
2. หวายหอม
3. ลูกปัดไม้
4. ผ้าไหม
5. สายยาง
6. มีด ( มีดโต้ใช้สำหรับผ่าไม้ มีดตอกใช้สำหรับจักตอกและหลาวเส้นตอก )
7. เลื่อย ใช้สำหรับเลื่อยตัดไม้
8. เลียด ใช้ในการปรับแต่งเส้นตอก เส้นหวายให้เท่ากัน
9. เหล็กหมาด ใช้ในการเจาะรูเพื่อใช้หวายผูกและพัน
10. แบบ ใช้สำหรับเป็นแบบเพื่อให้รูปแบบได้มาตรฐาน
ขั้นตอนในการผลิต
การเตรียมวัตถุดิบ
– เลือกไม้ไผ่ที่ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป การเลือกตัดไม้ไผ่ จะต้องเป็นไม้ที่มีอายุราวหนึ่งปีครึ่ง เนื้อไม้จะมีความเหนียวกำลังดี เลือกลำปล้องที่ยาว ไม่มีร่องลอยของสัตว์กัดแทะ
– ขูดผิวออก ผ่าเป็นซี่ๆ
– ตากแดดให้แห้ง
ลักษณะของเส้นตอกที่ใช้ในการสาน
1. ตอกตั้ง ลักษณะเป็นปื้นบาง สั้น การจักตอกปื้น แบ่งไม้ไผ่ออกเป็นชิ้นๆตามขนาดที่ต้องการใช้มีดจักตอกเอาส่วนในออก ( ขี้ตอก )จักในส่วนที่เหลือออกเป็นเส้นบางๆ แล้วคูดหลาวให้เรียบ เป็นมันวาว
2. ตอกสาน ลักษณะเป็นปื้นบางยาว การจักตอกตะแคงใช้วิธีเดียวกันกับการจักตอกปื้นเบื้องต้น แต่การจักให้เป็นเส้นตอกจะทำการจักทางด้านข้าง เป็นเส้นเล็กกว่าตอกปื้น ทำการหลาวให้เรียบ เป็นมันวาว
3. ตอกไพล ลักษณะเป็นเส้นกลม ยาว การจักไพล ใช้วิธีเดียวกับการจักตอกตะแคง แต่การหลาวจะหลาวให้เป็นเส้นกลมแบบเท่ากัน ทำการหลาวให้เรียบ
การย้อมสีเส้นตอก
1. ต้มน้ำให้ร้อน
2. ใส่สีที่ต้องการ
3. นำเส้นตอกมาต้มย้อมจนกว่าจะได้สีที่ต้องการ
4. ล้างสะอาด พึ่งให้แห้ง
การสาน
การสาน เป็นขั้นตอนที่ยาก และต้องใช้ความละเอียดมากที่สุด เริ่มจากการก่อฐานด้านล่างด้วยเส้นตอกสองชนิด คือ ตอกยืน (ตอก-ตั้ง) ซึ่งจะมีลักษณะคอดตรงกลางต่างจากตอกทั่ว ๆ ไป และตอกนอน (ตอกสาน) ที่มีขนาดกว้างเท่ากันเท่ากันทั้งเส้นตากปกติ เหตุที่ตอกยืนมีลักษณะพิเศษ เนื่องมาจากเมื่อสานเสร็จจะได้ตะกร้าที่มีฐานเล็ก และค่อย ๆ บานขึ้นบริเวณปาก
แบบดั้งเดิมจะก่อเป็นฐานสี่เหลี่ยม ซึ่งจะได้ตะกร้ารูปทรงสี่เหลี่ยม ต่อมาช่างรุ่นใหม่ดัดแปลงประยุกต์ให้เป็นตะกร้าทรงแปดเหลี่ยมซึ่งสวยงามและได้รับความนิยมมากกว่า เมื่อก่อฐานเสร็จก็จะสานตัวตะกร้าด้วยเส้นตอกและเส้นไพร แต่จะเกิดลวดลายขึ้นมาเองจากสีของเส้นตอกที่แห้งไม่เท่ากันตามธรรมชาติ สานเป็นลายไทย หรือสานยกเป็นตัวอักษรชื่อคน ชื่อต่างๆ ได้ตามต้องการ โดยใช้ตอกบางส่วนย้อมสี ซึ่งจะทำให้สนนราคาเพิ่มขึ้นตามความยากง่ายของลายที่ช่างแต่ละคนบรรจงสอดสานเส้นตอกที่ละเส้นๆ
การสานโดยก่อฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ให้พอดีกับฐานแบบ นำฐานที่ก่อไว้มายึดติดกับตัวแบบ แล้วสานด้วยลายขัดจนเต็มแม่แบบ
การประกอบและตกแต่ง
เป็นขั้นตอนต่อจากการสาน เพื่อเพิ่มความแข็งแรง สวยงาม แก่เครื่องจักสานด้วยหวาย ในส่วนที่ต้องการเสริมเป็นพิเศษ ได้แก่ ปาก ขา หู ที่จับ การผูกและพันด้วยหวาย จะเสริมให้เครื่องจักสานเกิดความสวยงาม กลมกลืนกับฝีมือการสาน เป็นชิ้นงานที่สวยงามมากขึ้น การผูกและพันด้วยหวายที่นิยม มี 3 แบบคือ
1. การผูกและการพัน ด้วยหวายเส้นเดียว
2. การผูกและการพัน ด้วยหวายสามเส้น
3. การผูกและการพัน ด้วยหวายห้าเส้น
ที่จับจะมีลักษณะอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1. ที่จับหวายใช้หวายต้นเป็นแกน แล้วถักพันทับด้วยหวายเส้น นำไปยึดติดกับตัวด้วยหวายอีกครั้ง
2. ที่จับสายลูกปัด ใช้สายยางขนาดเล็กเป็นแกน แล้วพันทับด้วยเชือกร่ม สีเชือกจะต้องกลมกลืนกับตัวกระเป๋า นำสายยางที่พันมาร้อยรวมกับลูกปัดไม้ แล้วยึดติดกับตัวกระเป๋าด้วยหวาย
เมื่อสานตัวหรือหุ่นเรียบร้อย ก็ถึงการรมควันโดยจะทำในวันที่ไม่มีลม ใช้ฟางข้าวชุบน้ำหมาด ๆ เป็นเชื้อเพลิงเพื่อให้เกิดควันมาก รมจนเครื่องจักสานมีสีเหลืองเท่ากันทั้งใบ แล้วพึ่งให้แห้ง เมื่อหุ่นแห้งสีจะเข้มขึ้น ขั้นตอนต่อไปก็นำมาเข้าส่วนประกอบหวาย มีการผูกปาก พันขา ใส่ฐานและหูหิ้ว
การบุผ้า
การบุผ้าเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และทำให้ชิ้นงานดูมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น การบุผ้าจะบุทั้งข้างนอกและข้างใน ในส่วนของข้างในผลิตภัณฑ์จะใช้ผ้าธรรมดาราคาไม่สูง เย็บทับฟองน้ำและตาข่าย ส่วนข้างนอกใช้ผ้าไหมแท้ ผ้าไหมเทียม ผ้าต่วน การใช้ผ้าก็ขึ้นอยู่กับเกรดของตัวผลิตภัณฑ์
การเคลือบเงา
การเคลือบเงาเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิต จะช่วยให้ชิ้นงานดูดีขึ้น ทั้งสีสันและลวดวายดูแจ่มชัดขึ้น อีกทั้งยังป้องกันความชื้น เชื้อรา แมลง และช่วยให้ชิ้นงานแข็งแรงมากยิ่งขึ้น การเคลือบเงาที่นิยมใช้คือ สเปย์แล็คเกอร์ น้ำมันวานิช ยูนิเทน
การนำเทคนิคการมัดย้อมผ้ามัดหมี่ มาปรับประยุกต์ใช้กับงานจักสาน โดยใช้เทคนิคการมัดย้อมเส้นใยผ้า มามัดย้อมเส้นตอก แล้วนำเส้นตอกมาสานจนเกิดเป็นลายน้ำไหล ลายผ้าที่สวยงาม
ใส่ความเห็น
Comments 0