ตะกร้าสี่เหลี่ยมสอดลายพิกุล
ตะกร้าสี่เหลี่ยมสอดลายพิกุล
ไม้ไผ่ เป็นพืชพื้นถิ่นที่มีอยู่มากในพื้นที่ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนชาติไทยที่มักนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตเพียงเท่านั้น ต่อมาเมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยนแปลงไปภูมิปัญญาของการจักสานเริ่มหายไปตามกาลเวลา ในปี พ.ศ. 2544 กลุ่มสตรีบ้านหนองเจริญได้รวมกลุ่มกันและได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆรวมทั้งสำนักงานจัดหางานจังหวัดกาญจนบุรีได้จัดให้มีการฝึกอบรมด้านการจักสานขึ้นในหมู่บ้านและมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นำไม้ไผ่มาสานใช้ในครัวเรือน มีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบมากขึ้น พัฒนาเพิ่มรายละเอียดมากขึ้น
เอกลักษณ์/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
ลักษณะที่โดดเด่นของเครื่องจักสานตะกร้าสี่เหลี่ยมสอดลายพิกุล คือ ความละเอียดของลายสานตะกร้า ความทนทานและความสวยงามของเนื้อไม้ที่มีความเงางามในตัวไม้เอง ตะกร้าสี่เหลี่ยมสอดลายพิกุล ในการเลือกใช้ไม้ไผ่ควรใช้ไม้ไผ่ข้าวหลามที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำ 5 – 8 เซนติเมตร เนื้อบาง ปล้องยาวประมาณ 30 เซนติเมตร สูงประมาณ 7 – 8 เมตร มีอายุ 1 ปีหรือไม้ไผ่ 1 น้อง คือไม้ไผ่ที่มีหน่อ 1 หน่อเนื่องจากถ้าไม้ไผ่อ่อนเกินไปจะทำให้ตอกที่จักออกมาห่อตัว แต่ถ้าแก่เกินไปจะกรอบนำมาทำเครื่องจักสานไม่ได้
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
- ไม้ไผ่ พันธุ์ไม้ไผ่ข้าวหลาม ( Cephalostachyum pergracile)
- ยูรีเทน
ขั้นตอนการผลิต
- นำไม้ไผ่มาตัดข้อทิ้ง
- ขูดผิวสีเขียวของไม้ไผ่ออก
- จักตอกไม้ไผ่ให้เป็นเส้น
- นำตอกที่ได้ไปผึ่งแดด 1 แดดให้แห้ง
- นำมาสานโดยขึ้นรูปทรงตามตัวอย่างที่มีได้ครึ่งลูกจึงนำแบบทรงออกและใช้นิ้วมือกดจนกระทั่งเป็นรูปทรงตามที่ต้องการ
- นำผลิตภัณฑ์ที่ได้มาทายูรีเทนเพื่อป้องกันหมอด และนำไปตากแดด 1 แดดหรือนำเข้าตู้อบให้แห้ง
ใส่ความเห็น
Comments 0