กลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น

กลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น  จังหวัดอ่างทอง

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา

กลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น เริ่มดำเนินการ พ.ศ. 2534 จากการที่ นางปราณี จันทวร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี ของหมู่บ้านบางตาแผ่นหมู่ที่ 1 ตำบลคลองวัว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ได้รับการแพร่แนวคิดจากพัฒนากรผู้ประสานงานตำบล ผลักดันให้ คนในหมู่บ้านตำบลเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นชุมชนของตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชน โดยเฉพาะการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กัน ในเบื้องต้นได้จุดประกายให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่หลงเหลือ ให้ดำรงสืบต่อไปและพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดเป็นอาชีพของคนในชุมชน โดยมีการรวมกลุ่มที่สนใจ โดยเฉพาะองค์กรสตรีในตำบลคลองวัวจากหมู่บ้านต่างๆ ที่มีเวลาว่างจากการประกอบอาชีพเข้ารับการถ่ายทอดความรู้ด้านงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง “กลุ่มอาชีพจักสานไม้ไผ่”ของชุมชนบ้านบางตาแผ่น จากนั้นอุตสาหกรรมจังหวัดได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้เทคนิควิธีการใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยนวิธีการผลิตปรับเปลี่ยนพัฒนารูปแบบให้หลากหลายเหมาะสมต่อการใช้งานในแต่ละยุคสมัย มีการสนับสนุนเงินทุน จัดซื้อวัตถุดิบประเภทหวาย เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ซื้อนอกเหนือจากวัตถุดิบหลักคือ ไม้ไผ่

ต่อมาวัตถุดิบเริ่มขาดแคลนและมีราคาสูง การผลิตจึงประสบปัญหา จึงมีแนวคิดหาวัตถุดิบชนิดอื่นทดแทน ประกอบกับชุมชนประสบปัญหาผักตบชวารบกวนและกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำน้ำมาใช้ประโยชน์ ทำให้มีแนวคิดนำผักตบชวาอันเป็นวัชพืชที่ให้เส้นใยมาแปรสภาพเพื่อจักสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เริ่มแรกนำสมาชิกจำนวน 14 คน ศึกษาดูงานวิธีการผลิต ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิมผลิตสิ่งของเครื่องใช้จากผักตบชวา อาทิ กระเป๋า ตะกร้า ได้คุณภาพใกล้เคียงกับไม้ไผ่และหวาย มีผู้สนใจซื้อหาไว้ใช้เป็นจำนวนมาก สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องจักสานผักตบชวาแทน

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น ได้สนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่หลากหลาย พัฒนาวิธีการผลิต รูปแบบเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพคงทนเหมาะสมต่อการใช้งาน มีลวดลายที่สวยงามทันสมัย ควบคู่กับการอนุรักษ์ลวดลายดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างยาวนานแต่ครั้งอดีต ผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจอันเป็นมูลเหตุจูงใจให้กลุ่มฯสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 75 คน สมาชิกทำเป็นอาชีพเสริม มีรายได้เดือนละ 2,000 บาท – 3,000 บาท / คน / เดือน

ลักษณะที่โดดเด่นของจักสานผักตบชวา คือ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และใช้วัสดุจากธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายภายในหมู่บ้านตำบล และนำมาเพิ่มมูลค่า มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แบบไทย

สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตรีอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อว่างจากงานประจำก็จะใช้เวลามาจักสานผักตบชวา เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว นอกจากนี้ยังสอนให้กับลูกหลานเพื่อสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้คนในชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติพี่น้อง นอกจากนี้กลุ่มจักสานผักตบชวายังมีสวัสดิการช่วยเหลือชุมชนคือมอบทุนการศึกษาเด็ก

ผักตบชวา

วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้

1. ผักตบชวา

2. กรรไกร

3. ลอง

4. ตะปู หรือเข็มหมุด

5. สีย้อมผักตบชวา

 

ขั้นตอนในการทำ

หาผักตบชวาจากแหล่งธรรมชาติตามคลอง บึง แม่น้ำจากแหล่งชุมชนต่างๆ แต่การนำมาปลูกเอง ในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะจัดเก็บได้ง่าย ามารถจะดูแลบำรุงรักษาเพื่อให้ได้ขนาดที่พอเหมาะกับการนำมาจักสาน

ผักตบชวาจะเป็นกอ เวลาเก็บจะต้องเลือกเฉพาะตรงกึ่งกลางกอ เลือกลำต้นขนาดกลางไม่อ่อนไม่แก่และไม่อวบเกินไป เพื่อเหมาะในการนำมาจักสาน จากนั้นตัดโคนต้นและใบออกใช้เฉพาะก้านเท่านั้น นำมาล้างด้วยสารส้มเพื่อให้ลำต้นขาวสะอาด

นำก้านผักตบชวา มาตากแดดโดยวางบนสังกะสี เพื่อให้ผักตบชวาแห้งเร็วขึ้น ตากแดดจนแห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 5 – 7 วัน เมื่อเห็นว่าผักตบชวาแห้งดีแล้ว ควรเก็บไว้อย่าแช่ตากแดดทิ้งไว้นานเกินไป เพราะจะทำให้กรอบได้ ก่อนจะทำการรีดหรือสานจะต้องนำไปชุบน้ำยาป้องกันเชื้อราก่อน

 

การอบผักตบชวา

นำผักตบชวา ที่ตากแดดมาพ่นด้วยน้ำ ให้ชุ่มแล้วนำไปอบ จะทำให้มีสีขาว การอบโดยนำเข้าตู้อบ ใส่กำมะถันเพื่อป้องกันเชื้อราและมีสีสวย การอบต้องอบวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น เป็นเวลา 3 วัน

วิธีการอบตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งไม่ต้องใช้ตู้อบสามารถจะทำได้ ดังนี้

วิธีที่ 1 อบในโอ่ง โดยจุดกำมะถัน แล้ววางไม้ขีดไว้ แล้วใส่ผักตบชวา ปิดฝาโอ่งอบ วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น จำนวน 3 วัน ในการอบแบบนี้จะได้ผักตบชวาน้อย

วิธีที่ 2 อบโดยใช้พลาสติกหนา คลุมกลางแดด โดยทำโครงไม้ไว้ ส่วนล่างทำที่ไว้จุดกำมะถัน นำผักตบชวามากองไว้ด้านบนสูงเท่ากับโครงไม้ แล้วจุดกำมะถันกับกาบมะพร้าว นำพาสติกหนาที่เตรียมไว้ คลุมจนมิดถึงพื้นดิน ให้ชายทั้ง 4 ด้านกางออก นำก้อนหินทับทุกด้าน เพื่อกันไม่ให้ควันออก นำออกตั้งกลางแดด การอบด้วยวิธีนี้ เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะความร้อนจากกำมะถันกับแสงแดดจะช่วยไล่ความชื้นได้หมด และทำให้ผักตบชวามีสีขาวมากขึ้น วิธีการอบก็เหมือนเดิม คือ อบ 2 ครั้ง เช้า – เย็น เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นนำออกตากแดดอีก 2 วัน เพื่อให้แห้งสนิท ไม่มีกลิ่นของกำมะถัน และป้องกันเชื้อรา

วิธีที่ 3 อบโดยใช้ตู้อบจะอบได้ ในปริมาณมากสามารถ จะควบคุมอุณหภูมิ ในการอบได้ดี ประหยัดแรงงานแต่ใช้ทุนมากเพราะราคาแพง มีวิธีการอบโดยจุดกำมะถันรมควันไว้วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น เป็นเวลา 3 วัน แล้วนำมาแดด ต่ออีก 2 วัน เหมือน 2 วิธีแรก

 

การถักเปีย

นำต้นผักตบชวามาถักเป็นเปีย 3 ไว้สานกระเป๋าเล็ก เปีย 4 กระเป๋าใหญ่ เปีย 6 เปีย 8 ทำสายกระเป๋าไว้สะพายหรือหิ้ว นำมาทำเกลียวไว้พันโอ่ง และนำมาประกอบขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ

 

ผักตบชวาที่ผ่านการย้อมสีแล้ว

การย้อมสี

 

นำผักตบชวาที่ตากแห้ง ประมาณ 1 กิโลกรัม มาแช่น้ำ ครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ดูดสีได้ดีนำผักตบขึ้น นำกะละมัง ตั้งน้ำร้อนให้เดือดนำสีมาละลายน้ำ อุ่น 1 ซองต่อน้ำ 10 ลิตร ใส่สารส้ม 1 ช้อนโต๊ะ เพื่อให้ดูดสีให้ติดทนนาน เคี่ยวใช้ไฟกลางพอสีและสารส้มละลายเพื่อนำผักตบชวาใส่ เคี่ยวอีกครึ่งชั่วโมงพอสีติดทั่ว หมั่นกลับผักตบชวาบ่อยๆ เพื่อให้เสมอกัน นำมาล้างน้ำให้สะอาดจนน้ำใส สีไม่ตก ใส่ราวผึ่งแดดให้แห้ง1. เตรียมหุ่นรูปแบบตามที่ต้องการ

2. ทำการตกแต่งเส้นผักตบชวาตามต้องการเช่นการชุบสี

3. ทำการสานหุ่นขึ้นลาย โดยเริ่มจากการสานก้นก่อน โดยการสานลายขัด แล้วจึงทำเป็นลายต่างๆ ด้านข้าง แบ่งเป็นลายดั้งเดิมเช่น ลายแม่บท ลายพัฒนา และลายที่ปรับปรุงในเนื้องานผักตบชวา เช่น ลายขัด ลายก้นหอย ลายรวงข้าว

4. ทำการเก็บปาก มี 3 วิธีคือ

– เก็บแบบพับริม

– เก็บแบบสอด

-เก็บแบบพับสามชั้น

5. ทำการตกแต่งส่วนประกอบเสริม

-ใส่หูหิ้ว

-สายสะพาย

– ดอกไม้ประดับ

– ผุผ้าด้านใน

– ประดับด้วยโบว์

6. นำผลิตภัณฑ์ที่เสร็จแล้วไปอบกำมะถันอีกครั้ง ประมาณ24 ชั่วโมง

7. นำผลิตภัณฑ์ไปตากแดด

8. นำไปทาน้ำมันเคลือบเงา เพื่อให้อยู่รูปทรงและเป็นเงางาม

9. นำไปผุผ้าด้านใน

10. ติดตรา ยี่ห้อ และบรรจุหีบห่อ

ประเภทของผลิตภัณฑ์ มีรูปแบบหลากหลาย เช่น กระเป๋า ตะกร้า กล่อง กระเช้า หีบใส่ของ ที่ใส่ไวน์ ฯลฯ หลากหลายขนาด และรูปแบบตามคำสั่งซื้อ

การจักสานผักตบชวาให้มีความสวยงามจะต้องดึงผักตบชวาให้ตึงเสมอกัน และก่อนจะนำมาจักสานต้องแช่น้ำยาไม่ให้ผักตบชวาเป็นเชื้อรา นอกจากนี้ผู้ที่มาจักสานต้องมีใจรักและมีความเพียรและอดทนในงานจักสาน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: