โคมไฟไม้มะพร้าว
โคมไฟไม้มะพร้าว จังหวัดราชบุรี
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์โคมไฟไม้มะพร้าว
กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้มะพร้าวตำบลอ่างทอง จัดตั้งและดำเนินการเมื่อ ปี พ.ศ. 2543 โดย นายอิทธิพันธ์ โพธิปิติ เป็นผู้มีความรู้ความถนัดเชี่ยวชาญในงานหัตถกรรมเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว และมีใจรักในงานศิลปหัตถกรรม ประกอบกับในหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียงมีการปลูกต้นมะพร้าวกันมากและเมื่อมะพร้าวไม่ให้ผลผลิตแล้วชาวบ้านก็จะตัดทิ้งไม่ได้นำทำให้เกิดประโยชน์อะไร นายอิทธิพันธ์ โพธิปิติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของไม้มะพร้าวน่าจะนำมาทำเครื่องใช้ สิ่งของตกแต่งบ้านหรือสำนักงานได้ จึงได้นำไม้มะพร้าวมาทำเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ทัพพี ครก แก้วกาแฟ แก้วไวน์ และนำไปขายปลีกขายส่งบ้างให้กับร้านค้าในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียงสามารถมีรายได้ให้กับครอบครัว ต่อมาเมื่อผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นจึงได้ชักชวนคนในหมู่บ้านที่มีความรู้ด้านช่างและผู้ว่างงานร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้มะพร้าวตำบลอ่างทองขึ้น
ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์/รูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆเกิดจากการคิดค้นและออกแบบจากสมาชิกในกลุ่ม และ ตามความต้องการของลูกค้าตลอดจนจากการได้เข้ารับการอบรมพัฒนาองค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆของรัฐ เช่น กรมพัฒนาชุมชน, กระทรวงพาณิชย์,กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปลักษณะที่โดดเด่นมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์ไม้มะพร้าวส่งผลต่อวิถีชีวิตชุมชนในแง่ของการเป็นอาชีพเสริม และ อาชีพหลัก สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นศูนย์ถ่ายทอดภูมิปัญญาและอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น งานช่างสิบหมู่ให้คงอยู่และสืบทอดไปสู่ชนรุ่นหลังได้ ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมผลิตภัณฑ์ไม้มะพร้าวไม่ทำให้เกิดมลภาวะเนื่องจากใช้ไม้มะพร้าวที่ไม่ออกผลผลิตแล้ว นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชุมชน และยังเป็นการลดปริมาณมลภาวะ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ชุมชนได้
อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้
1. ไม้มะพร้าว
2. แลกเกอร์
3. ทินเนอร์
4. กระดาษทราย
5. ชุดอุปกรณ์ไฟฟ้า
6. โคมไฟ
ขั้นตอนในการผลิต
1. นำไม้มะพร้าวมาตัดและวัดขนาดตามที่ต้องการ
2. นำไม้มะพร้าวขึ้นเครื่องกลึงโดยทำการตั้งศูนย์
3. ทำการวัดตามรูปแบบที่ต้องการ
4. ใช้มีดกลึงขึ้นรูปตามแบบโดยขึ้นรูปทรงภายนอกก่อนหลังจากนั้นจึงทำการคว้านภายในโดยใช้เครื่องมือวัดความสูง ความหนาให้ได้ตามแบบและเป็นมาตรฐานเดียวกันซึ่งความหนาจะอยู่ประมาณ ๑ เซนติเมตร
5. ทำการขัดด้วยกระดาษทราย
6. ทำการตรวจสอบชิ้นงาน และนำชิ้นงานที่ได้ออกจากเครื่องกลึง
7. นำชิ้นงานที่ได้ไปเข้าเครื่องอบความร้อนเพื่อไล่ความชื้นและฆ่าเชื้อรา
8. ทำการลงน้ำยาเคลือบผิว
9. ทำการขัดชิ้นงานด้วยกระดาษทรายและลงน้ำยาเคลือบผิวทำซ้ำ ๓ ครั้ง
10. ทำการพ่นชิ้นงานและตรวจสอบความเรียบร้อย
การออกแบบรูปลักษณ์ของตัวผลิตภัณฑ์จะต้องให้มีความโดดเด่นสวยงามสะดุดตาเป็นจุดขายที่สามารถเรียกลูกค้าและกำหนดราคาได้ ผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพ สร้างความเชื่อใจและมั่นใจให้กับลูกค้า
ใส่ความเห็น
Comments 0