เรือจำลองไม้สักทอง
เรือจำลองไม้สักทอง จังหวัดเพชรบุรี
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบใต้ทะเลอ่าวไทย เป็นประจักษ์พยานสำคัญบ่งชี้ ให้เห็นว่า สยามประเทศ เป็นที่ตั้งเมืองท่านานาชาติสำคัญหลายแห่ง ซึ่งเอื้อต่อการค้าทางทะเล ทำให้กิจการพาณิชยนาวีของไทยในสมัยโบราณเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยอยุธยา ซึ่งในสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นเรือสำเภาที่เข้ามาทำการค้า และการแลกเปลี่ยนสินค้า โดยเรือต่อขึ้นจากไม้ที่มีความแข็งแรงที่สุด อย่างไม้ประดู่ใช้ทำกระดูกงูส่วนไม้ขึ้นกระดานเรือจะใช้ไม้สักหรือไม้ตะเคียน ความยาวเรือประมาณ 10-50 เมตร
ในยุคปัจจุบันวิทยาการต่อเรือก้าวหน้ายิ่งขึ้น เรือแบบเก่าก่อนจึงหาดูได้ยาก กลุ่มต่อเรือจำลองไม้สักทองจึงได้จำลองเรือในยุคนั้นขึ้น เพื่อเป็นสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิปัญญา และความสามารถในการต่อเรือของคนในยุคนั้น ให้กับผู้ที่สนใจได้ศึกษาหรือเก็บสะสม หรือนำไปเป็นของตกแต่งบ้าน อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมดวงชะตา โชคลาภ ตามความเชื่อของคนเชื้อสายจีน จึงเป็นที่นิยม นำมาเป็นของขวัญของฝากในแต่ละเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน เปิดกิจการห้างร้าน เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ต้อนรับบุคคลสำคัญ และโอกาสอื่นๆ
เป็นงานที่ต่อทีละชิ้น ต้องใช้ความประณีตทุกขั้นตอน ตัวเรือขึ้นโครงทุกลำ ทำให้ได้สัดส่วนตามมาตรา ใช้ไม้สักเกรดเอ เรือแต่ละขนาดมีความหมายที่เป็นมงคลตามตลับเมตรจีน ใบเรือเป็นผ้าไหมไทย แต่ละใบปักด้วยอักษรจีน ตามสมัยโบราณที่ใช้ในการเดินเรือ ใช้เชือก 100% จึงไม่ขาดง่าย
กลุ่มต่อเรือไม้สักทอง สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน มีการกระจายงานให้กับคนในชุมชน ที่ต้องการมีรายได้เสริม ตามความถนัดของงานแต่ละชิ้นงาน และมอบหมายงานตามรายการสั่งซื้อให้กับคนที่สามารถทำเองได้ทั้งหมดรับผิดชอบตามความถนัดของเรือแต่ละชนิด สมาชิกจะมีรายได้ตามชิ้นงานที่ทำ
อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้
- ไม้สัก
- ไม้มงคลต่างๆ
- กาวร้อน
- กาวลาเทกช์
- แลคเกอร์เงาและด้าน
- เชือก 100 %
- สีย้อมเชือก
- ผ้าไหม
- ด้ายไหมปัก
ขั้นตอนในการทำ
1. แปรไม้ให้เป็นเส้นๆเพื่อใช้เป็นกระดานเรือ แล้วนำมาตากแดดให้เนื้อไม้แห้ง
2. ตั้งกงเรือแล้วขึ้นกระดานทีละแผ่น
3. ขัดให้เรียบเนียน(ประมาณ5-6 ครั้ง) โดยเรียงตามเบอร์กระดาษทราย
4. เตรียมรายละเอียดที่จะติดเข้ากับตัวเรือให้ครบจำนวน ลอก กว้าน ลูกกง ประตู หน้าต่าง ช่องปืน บันได สมอ ท้องพระคลัง ห่วงเก็บเชือก ปืนใหญ่ หางเสือ เรือโบ้ท เสาเรือ
5. จากนั้นนำมาทำสี
6. ปักเสาแล้วติดใบเรือพร้อมโยงเชือกให้ได้ความสวยงาม และติดป้ายชื่อที่ฐานเรือ
การต่อเรือแต่ละลำจะมีแบบหรือบล็อก โอกาสพลาดจึงน้อย ทำให้การผลิตง่าย และรวดเร็วขึ้นประหยัดเวลา ชิ้นงานมีขนาดที่เท่ากัน เป็นการควบคุมคุณภาพได้อีกทาง เมื่อมีการกระจายงานให้คนในชุมชน การต่อเรือแต่ละลำจะมีแบบหรือบล็อก จำลองจากขนาดจริง
ใส่ความเห็น
Comments 0