ร้อยลูกปัด
ร้อยลูกปัด จังหวัดชัยนาท
การร้อยลูกปัดของกลุ่มอาชีพร้อยลูกปัดบ้านคลองสำโรง หมู่ที่ 2 ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท ริเริ่มมาจากเมื่อสมัยสาวๆ นางบุญช่วย วันเดช และเพื่อนๆ เป็นคนรักสวยรักงาม ได้นำเมล็ดกระถินดำเนิน (ดำเนิน : เม็ดที่แก่เต็มที่แต่ยังไม่แห้ง) มาร้อยทำสร้อยคอ สร้อยแขนใส่เล่น โดยนำลูกปัดมาลัยพลาสติกสำหรับไหว้ศาลที่เขาทิ้งแล้ว มาร้อยสลับกับเมล็ดกระถิน มีความสวยงามตามประสาคนชอบ ต่อมาได้หาซื้อลูกปัดมาฝึกร้อยสำหรับใช้เอง แต่มีคนสนใจขอซื้อ จึงร้อยสร้อยแขน สร้อยคอขายให้เด็กสาวในละแวกบ้าน และเมื่อปี พ.ศ. 2550 หน่วยงานราชการได้ส่งเสริมให้มีจัดตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นในหมู่บ้าน จึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มอาชีพร้อยลูกปัดขึ้นมา มีสมาชิกก่อตั้ง จำนวน 10 คน คิดค้นรูปแบบในการร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับและของใช้ขึ้นเอง และค้นคว้ารูปแบบเพิ่มเติมจากคอลัมน์ในนิตยสารเย็บปักถักร้อย ได้พัฒนาฝีมือการร้อยมาเรื่อยๆ ฝึกออกแบบลวดลายรูปแบบต่างๆ โดยใช้กระดาษเขียนลายกำหนดสี และลวดลายให้หลากหลายให้มีเอกลักษณ์แบบไทยๆ หรือสัญลักษณ์ของจังหวัดชัยนาท เช่น ลายไทย ลายนก ลายหนู ลายหัวใจคู่ เป็นต้น หลังจากได้ลงทะเบียนเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรฯ จึงมีโอกาสได้นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มออกจำหน่ายตามงานต่างๆ ทำให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์จากลูกปัดอย่างแพร่หลาย จึงได้คิดค้นผลิตของใช้ตามความนิยมและความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เช่น พวงกุญแจ แหวน กระเป๋าโทรศัพท์ กระเป๋าใส่เหรียญ กระเป๋าสตรี ที่คาดผม เข็มขัด การประดับตกแต่งหมวกคาวบอย เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่นิยมของลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศ และ ปี พ.ศ. 2553 ได้ส่งเข็มขัดลูกปัดลายไทย เข้าคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ได้ระดับ 5 ดาว จึงทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การใช้สีสันสะดุดตา การออกแบบลวดลายแสดงถึงความเป็นไทย สามารถออกแบบลวดลาย และรูปแบบตามความต้องการของลูกค้าได้
ฝีมือแรงงานเป็นคนในชุมชนอย่างแท้จริง ตั้งแต่การคิดรูปแบบ ลวดลาย ที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และการถ่ายทอดสู่เยาวชนในชุมชน จึงทำให้มีความผูกพันกันเหมือนลูกหลาน ญาติพี่น้อง มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างงานสร้างรายได้
วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้
1. เม็ดลูกปัด
2. เส้นเอ็น/ด้าย
3. เฟรม
4. หวี
5. เข็ม /กรรไกร
6. กระดาษเขียนลาย
7. เมจิก
8. แผ่นพีวีซี , แผ่นหนัง
9. พลาสติกคาดผม
10. กิ๊ปปากเป็ด
11. ห่วงพวงกุญแจ
12. ห่วงก้ามปู
ขั้นตอนในการทำ
1. เขียนลายลงแผ่นกระดาษ
2. คัดเลือกเม็ดลูกปัดขนาดเล็ก / ใหญ่ และสี ตามลวดลายที่ต้องการ
3. ขึงเชือกและเส้นเอ็นลงบนไม้เฟรม
4. ใช้เส้นเอ็นร้อยลูกปัดสอดไปมาบนเส้นด้ายตามลวดลายที่เขียนไว้ในแบบ สลับสีไปมาตามขนาดที่กำหนด
5. เข็มขัดลูกปัดลายไทย 1 เส้น ใช้เวลาร้อย 5 – 6 วัน
เคล็ดลับในการทำ
1. ความสามารถในการออกแบบลวดลาย และรูปแบบเป็นที่ต้องการของตลาด
2. ความละเอียด ประณีต ร้อยแน่นไม่หลุดง่าย
3. ใช้ลูกปัดที่มีสีสดงดงาม
ใส่ความเห็น
Comments 0