ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ทำกระเป๋า
ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ทำกระเป๋า จังหวัดลพบุรี
ชาวบ้านทราย ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวไทยพวนที่อพยพมาจากรัฐเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อันมีการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดทั้งประเพณี วัฒนธรรม จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งตำบลบ้านทรายเป็นตำบลที่มีลักษณะเด่นคือมีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และมีการสืบทอดกันมานาน เช่น ประเพณีกำฟ้าพาแลง การเส่อกระจาด เทศน์มหาชาติ ทำบุญข้าวหลาม,ข้าวจี่ โดยเฉพาะชาวไทยพวนมีการสืบทอดอาชีพการทอผ้าที่สืบทอดกันมาโดยแรกเริ่มนั้นเป็นเพียงการทอเพื่อสวมใส่ ต่อมาเป็นที่แพร่หลายจึงกลายมาเป็นสินค้าชุมชน เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนขึ้น แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์ผ้าทอมัดหมี่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตกันมากในหลายอำเภอของจังหวัดลพบุรี ได้แก่ อำเภอบ้านหมี่ อำเภอโคกเจริญ อำเภอโคกสำโรง ซึ่งทุกกลุ่มทอผ้าจะมีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน
ดังนั้น จึงได้มีแนวความคิดโดยการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมัดหมี่ และสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตำบล โดยการเริ่มต้นของ นางคำไฝ จริงพูด ประธานกลุ่ม ซึ่งเดิมทีมีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่แล้วและได้รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าจากผ้าทอ กี่กระตุก เมื่อตัดเย็บผ้าทอกี่กระตุก
ตามที่ได้รับการว่าจ้างแล้วก็เห็นว่ามีเศษผ้าทอกี่กระตุกที่เหลือจากการตัดเย็บซึ่งเศษผ้าแหล่านี้มีสีสันสวยงามทำให้เกิดความเสียดาย และคิดที่จะนำเศษผ้าทอกี่กระตุกที่เหลือจากตัดเย็บเสื้อผ้า มาเย็บเป็นเสื้อผ้าเด็ก เป็นย่าม ต่อมาเมื่อประมาณ ปี 2551 ได้ประสานหน่วยงานพัฒนาชุมชนอำเภอ เพื่อขอรับคำปรึกษาในการจัดตั้งกลุ่ม และเรียนรู้ พัฒนาฝีมือ ทักษะด้านการตัดเย็บเพิ่มเติมจากการฝึกอบรมของหน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงาน หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2551 เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และสร้างมูลค่าให้กับผ้าทอมัดหมี่ โดยการแปรรูปผ้ามัดหมี่ภายในชุมชน ให้มีความหลากหลายของสินค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น กระเป๋า ของชำร่วยในงานพิธีต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าทอมัดหมี่ทำกระเป๋า เป็นการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมัดหมี่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของตำบลบ้านทราย ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยนำเอาเศษผ้ามัดหมี่ที่เหลือจากการตัดเย็บมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการแปรรูปทำเป็นกระเป๋า ซึ่งทางกลุ่มได้ให้ความใส่ใจ พิถีพิถันในการเลือกลวดลาย สีสัน และการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ผสมผสานกับฝีมืออันประณีตในการตัดเย็บ ทำให้ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากผ้าทอมัดหมี่ของกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ทำกระเป๋า หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นที่ยอมรับและรู้จักของคนทั่วไป
กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ทำกระเป๋า ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยมีสมาชิกกลุ่มที่มีความสนใจในการทำกิจกรรมร่วมกันของกลุ่ม จำนวน 20 คน อัน ก่อให้เกิดรายได้ให้แก่คนในชุมชน และเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้และมีการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้รู้จักการใช้เวลาว่าง และใช้วัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ พัฒนารูปแบบ และร่วมกันคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าและความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ ในปัจจุบันมีการสั่งซื้อกระเป๋าในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในงานพิธี เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เฉลี่ย เดือนละประมาณ 3,000 – 4,000 บาท/เดือน
วัตถุดิบที่ใช้เป็นเศษผ้ามัดหมี่ /ผ้าทอมัดหมี่ ที่มีลวดลายสวยงาม ซึ่งได้จากการผลิตผ้าทอมัดหมี่ ในชุมชน ในหมู่บ้าน ตำบลและบางส่วนได้จากร้านตัดเย็บเสื้อผ้าภายในจังหวัดลพบุรี
เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปมีดังนี้
1. จักรเย็บผ้า
2. จักรโพ้ง
3. กรรไกร กาว ไม้บรรทัด เข็มหมุด ด้าย ชอล์ก
4. ผ้าเคมีแข็ง ผ้าแก้ว ผ้ากาว ฟองน้ำ ผ้าเคมีแข็ง ฟองน้ำ
5. ใยสังเคราะห์ (สำหรับใส่ในหูกระเป๋า)
6. ซิป
7. กระดาษสร้างแบบ
8. วัสดุตกแต่งกระเป๋า เช่น กระดุม ลูกปัด
9. เตารีด
ขั้นตอนในการทำ
1. เลือกเศษผ้าทอมัดหมี่ โดยเลือกลวดลาย สีสันให้เหมาะสมกับรูปแบบกระเป๋าแต่ละชนิด
2. ทำการสร้างแบบลงบนกระดาษสร้างแบบ และเขียนแบบแพทเทิร์นกระเป๋าลงบนผืนผ้า
3. ตัดผ้ามัดหมี่ที่จะทำกระเป๋า และผ้าเคมีตามแบบที่สร้างไว้
4. นำเศษผ้าทอมัดหมี่ที่เลือกสรรแล้วมารีดเพื่อให้เห็นลวดลายที่ชัดเจน และง่ายต่อการตัดเย็บ
5. วางผ้าเคมีเข้ากับเศษผ้าทอมัดหมี่ แล้วขีดเส้นด้วยชอล์กบนผืนผ้า และเย็บตามรอยที่ขีดไว้
6. ตัดเย็บตามแบบ ใส่ซิบ และตกแต่งใส่ลูกปัดตามแบบที่ต้องการ
7. นำมารีดให้เรียบอีกครั้ง
8. บรรจุใส่ถุง/บรรจุภัณฑ์
ใส่ความเห็น
Comments 0